คำแนะนำการใช้ยาสำหรับโรคผิวหนัง 2


739 ผู้ชม



  • การใช้ยาทาสำหรับโรคผิวหนังสำหรับกลุ่มอื่นๆ ก็มีคำแนะนำและเกร็ดเล็กน้อยที่บางครั้ง ผู้จ่ายยาแก่ท่าน อาจจะให้ราย
ละเอียดได้ไม่ชัดเจน ทำให้ประสิทธิผลการรักษาอาจจะไม่เต็มที่ หรือเกิดผลข้างเคียง......ที่ไม่พึงประสงค์ได้ ซึ่งจะได้นำประเด็นหลักๆ สำคัญมาให้ทราบดังนี้
  • ยากลุ่ม Coal tars(น้ำมันดิน) 
    - เป็นยาที่ใช้สำหรับรักษาปัญหาผื่นผิวหนังอักเสบ รังแค สะเก็ดเงิน ซึ่งอาจจะอยู่ในรูปของครีม ขี้ผึ้ง หรือแชมพู สำหรับแชมพู หลักการใช้ควรใช้น้ำอุ่นชโลมหนังศีรษะให้เปียกก่อน แล้วค่อยใช้แชมพูที่พอเหมาะทาถูให้ทั่วหนังศีรษะ แล้วทิ้งไว้ 2-3 นาที แล้วค่อยล้างออก อาจจะต้องสระซ้ำอีกครั้ง อาจจะสระทุกวันหรือทุกอาทิตย์แล้วแต่แพทย์จะสั่ง ส่วนกรณีที่เป็นแบบครีมหรือขี้ผึ้ง หลังทาควรจะเลี่ยง แสงแดด ระวังตัวยาเปรอะเปื้อนเสื้อผ้า หรือเส้นผม เพราะจะทำให้เสื้อผ้าและเส้นผมเปลี่ยนสีได้
  • ยารับประทานรักษาเชื้อรา 
    -ได้แก่ยา Griseofulvin และยา Ketoconazole ควรแนะนำให้รับประทานหลังอาหารทันที หรือรับประทานพร้อมอาหารที่มีไขมันสูง จะทำให้ตัวยาดูดซึมได้ดี สำหรับยา Griseofulvin เมื่อรับประทานรักษาเชื้อรา ควรเลี่ยงแดดและทาครีมกันแดด เพราะมีผลทำให้ผิวหนังไวต่อแสงแดด และเลี่ยงการรับประทานอัลกอฮอล์เพราะจะทำให้ปวดศีรษะได้ ส่วนยา Ketoconazole ไม่ควรรับประทานพร้อมยาลดกรด จะประสิทธิภาพของยาจะลดลง ยาทั้งสองตัว ควรรับประทานให้ครบกำหนดเวลาที่แพทย์สั่ง ไม่ควรหยุดยาเอง ส่วนกรณียาฆ่าเชื้อราแบบฟอกตามลำตัว (สำหรับรักษาสิวจากเชื้อราที่หลัง หรือกลาก เกลื้อน) ควรจะใช้หลังจากฟอกสบู่เสร็จแล้ว แล้วทาทิ้งไว้ 15-20 นาที จึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด โดยไม่ต้องฟอกสบู่ซ้ำอีก
  • ยารับประทานแก้แพ้ 
    เช่นยากลุ่ม Antihistamine เช่น Chlorpheniramine,Atarax ยากลุ่มนี้ทำให้เกิดอาการง่วงซึม ควรระมัดระวังในการขับขี่หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องกล ไม่ควรดื่มอัลกอฮอล์ หลังรับประทานยาแก้แพ้ เพราะจะเสริมฤทธิ์ทำให้ง่วงมากขึ้น นอกจากนี้ยาทำให้เกิดอาการปากแห้ง คอแห้ง และควรระวัดระวังในผู้ที่มีอาการหอบหืด ต้อหิน ยากลุ่มนี้ ไม่จำเป็นต้องทานตามแพทย์กำหนด เมื่ออาการดีขึ้น อาจจะหยุดยาเองได้
  • ครีมทาลดรอยดำ ( Depigmenting agents) 
    ได้แก่ กลุ่มยา Hydroquinone ซึ่งจัดเป็นยาที่ใช้ได้ แต่ต้องอยู่ในความควบคุม หรือสั่งจ่ายได้เฉพาะจากแพทย์เท่านั้น จัดเป็นตัวยารักษารอยดำที่ได้ผลดีตัวหนึ่ง แนะนำให้ทาเฉพาะรอยดำตามลำตัวได้วันละ 2 ครั้งแต่ถ้าทาที่ใบหน้าให้ทาเฉพาะก่อนนอน และเลี่ยงแดด หรือทาครีมกันแดด ยาตัวนี้ ควรใช้เท่าที่จำเป็น เพราะยากลุ่มนี้ใช้ไปนานๆ อาจจะเกิดผลข้างเคียง เช่น ด่างขาวถาวร หรือรอยดำมากขึ้นจากผลของยา ปัจจุบันมียาตัวใหม่ๆ ที่มีสรรพคุณไวเทนนิ่งที่ปลอดภัยกว่ายาตัวนี้ ดังนั้นปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยาทุกครั้ง ไม่ควรเลือกใช้ยาเอง ยากลุ่มนี้ควรเก็บในช่องเย็นธรรมดาไม่ต้องแช่แข็ง
  • คำแนะนำอื่นๆ โดยทั่วไป 
    1. การปิดทับยา มักจะใช้เพื่อต้องการให้ยาซึมผ่านผิวหนังได้ดีขึ้น มักจะใช้กับยาที่รักษาหูด หรือตาปลา โดยหลังทายาควรใช้ผ้าพันแผลหรือเทปปิดทับบริเวณที่ทายาทิ้งไว้ทั้งคืนหรือประมาณ 12 ชม. 
    2. การเก็บรักษายา โดยทั่วไปจะระบุไว้ที่ฉลากการใช้ยา ถ้าไม่ระบุ ควรจะเก็บยาที่อุณหภูมิห้อง อากาศถ่ายเทสะดวก อย่าปล่อยยาให้โดนแสงแดดเพราะจะทำให้ยาเสื่อมสภาพได้ ไม่ควรเก็บยาในที่ที่มีความชื้นสูง เช่น ห้องน้ำ ห้องครัว และหลีกเลี่ยงการเก็บยาไว้ในที่มีอากาศร้อน และไม่ควรเก็บยาไว้ในตู้เย็น ยกเว้นยาครีมบางชนิด แต่ก็ไม่ใช่ช่องแช่แข็ง 
    3. ครีมหรือขี้ผึ้ง ให้สังเกตการแยกชั้นของตัวยา หรือการหดตัวของครีม หรือจุดด่างดำที่เนื้อครีม (ซึ่งแสดงว่ามีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์) ถ้าสังเกตพบ แนะนำให้หยุดใช้ยานั้นทันที เพื่อป้องกันผลข้างเคียง หรือประสิทธิภาพของยาอาจจะลดลง 
    4. ยาเม็ดที่เปลี่ยนสี แตกร่วน หรือสีซีดลง หรือมีกลิ่น แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนจะใช้ยาต่อไป 
    5. ยาแคบซูล ที่มีลักษณะเปลี่ยนไป เช่น บวมหรือพองออก หรือจับกันแน่น ผงยาเปลี่ยนสี ควรหยุดรับประทานและปรึกษาแพทย์ 
    6. ยาน้ำ ถ้ามีการตกตะกอน หรือความสม่ำเสมอของยาไม่เท่ากัน มีการแยกชั้น ซึ่งเมื่อเขย่าให้เข้ากันแล้ว ทำไม่ได้ ควรหยุดใช้ทันที 
    7. การสังเกตยาหมดอายุ ควรดูวันที่ที่ผลิต และวันหมดอายุ ถ้าไม่มีระบุไว้ ให้ใช้หลักเกณฑ์ดังนี้ 
    7.1 ยาเม็ด มักจะมีอายุได้ประมาณ 5 ปี นับจากวันที่ผลิต หรือวันที่ได้รับยาจากแพทย์ 
    7.2 ยาน้ำ มักจะมีอายุได้ประมาณ 3 ปี นับจากวันที่ผลิต หรือวันที่ได้รับยาจากแพทย์ 
    7.3 ยาฉีด มักจะมีอายุได้ประมาณ 3 ปี นับจากวันที่ผลิต หรือวันที่ได้รับยาจากแพทย์ 
    7.4 ยาครีม มักจะมีอายุได้ประมาณ 2 ปี นับจากวันที่ผลิต หรือวันที่ได้รับยาจากแพทย์ 
    7.5 ยาขี้ผึ้ง มักจะมีอายุได้ประมาณ 2 ปี นับจากวันที่ผลิต หรือวันที่ได้รับยาจากแพทย์ 
    เรียบเรียงและค้นคว้าโดย นพ.จรัสพล รินทระ..................ข้อมูลล่าสุด..........5 September,2006
    เอกสารอ้างอิง : คู่มือการจ่ายยาของเภสัชกร พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล(ประเทศไทย);2543 
    เอกสารอ้างอิง : คู่มือความรู้เบื้องต้น เรื่อง การคงสภาพของยาและแนวทางการเก็บรักษายา;สำนักงานคณะกรรมอาหารและยา ;2542

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=8&sdata=&col_id=306

อัพเดทล่าสุด