Filler Agents (สารเติมเต็ม) ในแวดวงความงาม


1,425 ผู้ชม


  • เนื่องจากว่าเมื่อเวลาล่วงเลยผ่านไปเรื่อยๆ หลายๆ ปี เราก็จะมีอายุที่มากขึ้นทุกปี แน่นอนสังขารของเราย่อมมีการเปลี
่ยนแปลง ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ง่าย และชัดเจน ก็คือ ใบหน้าของเราเอง โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่แก่ลง ก่อให้เกิดร่องรอยแห่งวัย ผิวขาดความยืดหยุ่น กล้ามเนื้อขาดความหนาแน่น รวมถึงสภาพชั้นไขมันใต้ผิวหนังเปลี่ยนไป ทำให้ผิวหย่อนยานไม่กระชับ เกิดร่องแก้ม ร่องปาก ตีนกา ฯลฯ ซึ่งพอจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้ 
1. ผิวหนัง (DermisX เริ่มบางลง คอลลาเจนลดลง ริ้วรอยเกิดได้ง่ายขึ้น 
2. ขั้นไขมัน มีการลดลง และย้ายที่ ทำให้เห็นหน้าโครงกระดูกชัดเจน ขึ้น เช่น ที่บริเวณขมับ โหนกแก้ม ร่องตาลึก ( Fat loss and re-distribution) 
3. โครงหน้าของกระดูกทีการเปลี่ยนแปลง ยุบตัวลง จากภาวะกระดูกพรุน (Bone Remodelling) 
4. ชั้นกล้ามเนื้อเริ่มไม่กระชับ มีการหย่อยคล้อย หน้าที่เคยเรียวเล็ก เป็นสามเหลี่ยมโดยมีฐานที่คาง แคบ กลับกว้างยาวขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น (ดูภาพประกอบที่ 1 ด้านล่าง)
  • การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ข้างบนนี้ จึงทำให้ใบหน้าเรามีการเปลี่ยนแปลง นอกจากริ้วรอยแล้ว ที่พบอีกอย่างก็คือ มวลเนื้อของผิวหน้าโดยรวมลดลง ( Volumn Loss in Aging Face) ทำให้เกิด ร่องแก้มลึก ขอบตาลึก คิ้วตก มุมปากตก ปากบางลง ขมับเป็นร่องลึก หัวคิ้วเป็นร่องลึก คางบุ๋ม ฯลฯ (ดังภาพประกอบที่ 2 )
  • Filler Agents (สารเติมเต็ม)คือ สารที่ใช้ฉีดเพื่อเติมหรือเสริมในชั้นผิวหนัง (Dermis) หรือใต้จากผิวหนัง (Sub-dermis) เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณมวลเนื้อ (Volumn) เพื่อลด แก้ไข หรือรักษาปัญหาบางประการของผิวหนังเช่น รอยย่นต่างๆ จากอายุที่มากขึ้น แผลเป็นชนิดหลุม หรือฉีดเติมในบริเวณที่พร่องหรือ ขาดเช่น ร่องแก้ม ริมฝีปาก คาง และจมูก เป็นต้น
  • Filler Agents (สารเติมเต็ม) มีการจัดแบ่งได้หลายแบบ แต่ที่นิยม จัดแบ่งกันมาก แบ่งได้เป็น 
    1. การแบ่งตามชนิดของสารที่ฉีด : แบ่งได้เป็น 
    1.1. สารที่มาจากธรรมชาติ ที่สกัดมาจากเนื้อเยื่อมนุษย์ : สารที่อยู่ในกลุ่มนี้ตัวอย่าง เช่น acellular dermal material (Alloderm เป็นต้น ) เป็นสารที่มีมาตั้งแต่ปี 1990 และสามารถใช้โดยการเปิดแผลเล็กๆ แล้วเติมเข้าไปในส่วนที่ต้องการ แต่ในเวลาต่อมาพบว่ามีปัญหาเรื่องเกี่ยวกับการสลายตัวไปรวดเร็วประมาณ 6 เดือนถึงหนึ่งปีเท่านั้น จึงมีสารตัวอื่นๆ เช่น cadaver-derived human collagen (Dermalogen) ออกมาใช้แพร่หลายในเวลาต่อมา แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องการสลายตัว และอาจจะเกิดการแพ้ได้ นอกจากนั้นยังมีตัวอื่น เช่น Autologen (autologous dermal material) ซึ่งอยู่คงทนมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม autologen นั้นเป็นสารที่ใช้ฉีดได้ค่อนข้างยากและการฉีดที่ไม่ดีพอจะทำให้เกิดการขรุขระได้ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ autologous dermal fat (คือการใช้ไขมันตัวเอง) อาจจะได้ผลดีเหมือนกันแต่พบว่า ต้องฉีดปริมาณมากกว่าปกติ เพราะไขมันจะสลายไปได้เร็วมากกว่า 30-40% และก็ยังมีผลเกี่ยวกับผลในระยะยาวเหมือนกัน ขณะเดียวกัน ยังขึ้นอยู่กับเทคนิกในการสกัดจากร่างกายด้วยเหมือนกัน และก็พบว่าในระยะหลัง ๆ นี้มีการเปิดตัวสารใหม่คือ Cymetra (micronized acellular dermal material) ซึ่งทางผู้ผลิตคิดว่าน่าจะอยู่ได้ยาวนานกว่าสารตัวอื่น ๆ แต่เนื่องจากเป็นตัวใหม่อยู่จึงต้องติดตามผลการรักษาในระยะยาวเสียก่อนจึงจะบอกผลได้ว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร 
    1.2 สารที่สกัดมาจากสัตว์ : สารในกลุ่มนี้มีการใช้มาตั้งแต่ช่วงปี 1980 มาแล้ว ได้แก่พวก zyplast, zyderm แต่ผลการรักษานั้นดูจะ ยังไม่ค่อยน่าจะประทับใจเท่าไหร่ เพราะมีปัญหาหลายอย่างเช่นเรื่องของการแพ้, การเกิดการอักเสบ (low grade inflammation) และยังมีปัญหาเรื่องการสลายตัวเมื่อเวลาผ่านไปด้วย สารชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันนี้ที่เป็นตัวใหม่ๆ ก็ได้แก่พวก Permacol ซึ่งเป็น collagen มาจากหมู และผลิตออกมาเป็นแผ่นๆ แต่เมื่อนำมาใช้ก็พบว่าผลการรักษาก็ดูจะคล้ายๆ กับกลุ่ม zyderm, zyplast เรียกว่าไม่ค่อยแตกต่างกันเท่าไหร่ 
    1.3 สารสังเคราะห์ที่มาจากสิ่งมีชีวิต หรือมนุษย์ : สารกลุ่มนี้ที่เป็นที่รู้จักกันดีก็ได้แก่ Gore-Tex ซึ่งได้มีการใช้และรายงานในวารสาร ทางการแพทย์มาอย่างต่อเนื่องนานหลายปีแล้ว และยังมีตัวที่พัฒนามาจาก Gore-Tex คือ SoftForm ซึ่งต่อมาก็พบว่ามีปฏิกริยาต่อผิวหนังและเยื่อบุค่อนข้างมากจึงถูกถอดออกจากท้องตลาดไปตั้งแต่ปี 2000 ปัจจุบัน มีสารสังเคราะห์ที่ได้จาก hyaluronic acid ซึ่งพบว่าเป็นสารกลุ่มน้ำตาลเชิงซ้อน ที่พบว่ามีข้อดีสำหรับการเอามาฉีดเสริมส่วนต่างๆ ทั้งนี้เนื่องจากสารตัวนี้สามารถพบได้ ในเนื้อเยื่อของคนเราอยู่แล้ว โดยเป็นส่วนประกอบของ chondroitin sulfate, collagen เป็นต้น ดังนั้นสารนี้จึงถูกนำมาผลิตและขายในท้องตลาดในหลายรูปแบบด้วยกัน ได้แก่ Hylaform, Hyalaform gel, Synvisc, Biomatrix, Restylane, Restylane-5, Perlane,Juvederm,Prevelle Silk เป็นต้น แต่สารกลุ่มนี้บางชนิดจัดว่ายังเป็นของใหม่ บางยี่ห้อก็ผ่านอย.แล้ว บางยี่ห้อก็ยังไม่ผ่าน หรือกำลังขอยื่นจดทะเบียน แต่ส่วนใหญ่สารกลุ่มนี้ ค่อนข้างปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย เช่นการเกิดปฏิกริยาของร่างกาย การสลายตัว (Resorption) ซึ่งผู้ผลิตต่าง ๆ ก็พยายามที่จะทำให้สารเหล่านี้บริสุทธิ์ขึ้นเพื่อจะได้มีปฏิกริยาลดลง และต่างก็แข่งขันการพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีอายุได้นานขึ้น 
    1.4. สารสังเคราะจากสารเคมีล้วนๆ : สารในกลุ่มนี้ที่ เราพอจะรู้จักกันดีได้แก่ Silicone, Bioplastique,Artecoll เมื่อไม่นานมานี้ทาง FDA ของสหรัฐได้ยอมรับการใช้ Silicone เหลว 2 ชนิดคือ Adatosil 5000 และ Silikon 1000 สำหรับการใช้ในการรักษา retinal detachment (แต่ไม่ใช่รักษาหรือฉีดเสริมสวยอย่างที่เรานำมาใช้กันในเมืองไทยโดยหมอเถื่อน ซึ่งไม่ว่าที่ไหนก็ไม่มีการรับรอง) ส่วน Bioplastique ซึ่งผลิตโดย Geleen ประเทศเนเธอร์แลนด์ นั้นเป็นสารที่ประกอบด้วย microparticles ของ solid-state polydimethylsiloxane (หรือซิลิโคนนั่นเอง) แต่ได้รับการผสมด้วย biocompatible carrier gel หุ้มภายนอกอีกทีหนึ่ง และเคยมีการใช้ในอเมริกาอยู่ช่วงสั้นๆ แต่ก็สาบสูญหายไปโผล่ในประเทศแถบยุโรปและเอเซียแทน ส่วนผลการรักษานั้นดูจะไม่ค่อยแน่นอนนักและยังต้องการการศึกษาทั้งในด้านความปลอดภัยและเทคนิกการฉีด และที่สำคัญสำหรับสารชนิดนี้คือการเลาะออก หากไม่ต้องการค่อนข้างจะยากและอาจจะต้องเสียเนื้อเยื่อรอบด้านไปด้วย 
    2. การแบ่งตามการคงตัว(Stable ) ของสารที่ฉีด : : ซึ่งในศาสตร์การแพทย์ด้านความงาม นิยมจัดการแบ่งสาร Filler Agents (สารเติมเต็ม) ด้วยวิธีนี้มากกว่า แบ่งได้เป็น 
    2.1 สารเติมเต็มแบบไม่ถาวร (Non-permeanent filler) : : สารกลุ่มนี้ จะทำให้คงอยู่ในร่างกายได้อย่างนานประมาณ 1-2 ปี สารที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มักจะได้แก่สารกลุ่ม Hyaluronic acid ( ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อในปัจจุบัน อาทิเช่น Restylane,Perlane,Hyalaform,Juvederm,Precelle Silk,Captian ฯลฯ ) หรือ สารกลุ่มคอลลาเจน เช่น Zyderm และ ZyPlast สารในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะปลอดภัย ไม่ค่อยมีผลข้างเคียง และมักจะผ่าน อย.หรือ FDA ของประเทศต่างๆ แต่ก็ไม่ทั้งหมด ต้องตรวจสอบให้แน่ใจ 
    2.2 สารเติมเต็มกึ่งถาวร (Semi-permanent filler) : : สารกลุ่มนี้ จะทำให้คงอยู่ในร่างกายได้อย่างนานประมาณ 2-5 ปี สารในกลุ่มนี้ มีค่อนข้างหลากหลายชนิด หลายยี่ห้อ และมีการผลิตจากแหล่งกำเนิด แตกต่างกัน อาทิ เช่น Articoll (เป็นสาร Polymethyl methacrylate ที่แขวนลอยอยู่ใน คอลลาเจน ),Dermalive (เป็นสาร methylmethacrylate เช่นเดียวกับ Articoll แต่แขวนลอยอยู่ใน ไฮยาลูแรน ), Aquamid (เป็นสาร polyacrylamide 2.5 % ผสมในน้ำ 97.5%) , Radiance (เป็นสาร Calcium Hydroxyapatite ซึ่งเป็นส่วนประกอบของไขมันและกระดูก) , Scaptra หรือ Newfill (เป็นสาร synthetic poly lactic acid ในกลุ่ม polylaclic acid ) สารในกลุ่มนี้มีเพียงบางชนิด ที่ FDA ของบางประเทศ ยอมรับว่าปลอดภัย แต่ก็ไม่ทั้งหมด แต่ในเมืองไทย ยังไม่พบว่า ผ่าน อย. แม้แต่ตัวเดียว 
    2.3 สารเติมเต็มแบบถาวร (Permanent filler) : : สารกลุ่มนี้ จะทำให้คงอยู่ในร่างกายตลอดไป ไม่สูญสลาย ได้แก่ ซิลิโคนเหลว ซึ่งถือเป็นสารแปลกปลอม เมื่อฉีดเข้าร่างกาย แล้วจะมีโอกาสเกิดการอักเสบอย่างต่อเนื่อง และรุนแรง เพราะร่างกายจะพยายามกำจัดสารแปลกปลอมนี้ มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ที่สำคัญ ซิลิโคนเหลวจะไหลไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก มีรายงาน พบว่า ซิลิโคนเหลวเป็นสารที่ฉีดแล้วสามารถเสริมใบหน้าได้สวยงามแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น คือ ประมาณ 8 เดือน - 1 ปี โดยที่หลังจาก 1 ปี สารพวกนี้จะไหลไปที่ต่าง ๆ และเกิดผลข้างเคียงมากมากมาย ดังนั้น อย.ทุกประเทศ มักจะไม่อนุญาตให้ฉีดสารตัวนี้เข้าร่างกาย
  • ดังนั้นจะเห็นว่า กลุ่ม Filler Agents (สารเติมเต็ม) มีมากมาย หลายชนิด หลายแบบ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ ทั้งแพทย์ผู้ทำการรักษา และผู้รับคำปรึกษาควรทำความเข้าใจ ว่าสารตัวไหนที่เหมาะกับปัญหาของเรา เป็นสำคัญนะครับ โดยผู้เขียน ขอแนะนำว่าก่อนการไปรับบริการฉีดสารต่างๆ ควรมีข้อคิดคำนึงดังนี้ 
    1. ในผู้ที่ไม่เคยฉีดใบหน้าเลย ควรฉีดสารเติมเต็มแบบไม่ถาวร (Non-permeanent filler) เพราะส่วนใหญ่จะปลอดภัยและผ่าน อย. และถ้าผลการฉีดไม่เป็นที่ถูกใจก็จะหายไปในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งได้แก่กลุ่ม Collagen และ Hyalururonic Acid (HA) อีกอย่างโครงหน้าของคนเรา มีการเปลี่ยนแปลงทุกปี ดังนั้น การฉีดสารเติมเต็ม ณ เวลานี้ อาจจะไม่ใช่ตำแหน่งที่เหมาะสมเมื่อเวลาผ่านไป ผู้เขียนแนะนำให้ฉีดสารเติมเต็มที่มีอายุไม่มากเกิน 2 ปี จะดีกว่า เพราะจะได้หมั่นเติมในตำแหน่งที่เหมาะสม ในแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านไป 
    2. ถ้าฉีด สารเติมเต็มแบบไม่ถาวร (Non-permeanent filler) แล้วพอใจ ในการฉีดครั้งที่ 2 อาจเลือก สารเติมเต็มกึ่งถาวร (Semi-permanent filler) ในการฉีดต่อไปได้ แต่ต้องตรวจสอบว่าผ่าน อย. หรือยัง ปลอดภัยหรือไม่ เหราะหลายๆ ตัว ก็ยังไม่ผ่าน อย. เมืองไทย 
    3. การฉีดสารเติมเต็ม สารที่ฉีด ต้องสอบถามเสมอว่า ปัจจุบันมีความปลอดภัยและผ่านการรับรองของ FDA ของประเทศต่างๆ และมีรายงานทางการแพทย์ชัดเจน และที่สำคัญผ่าน อย. เมืองไทยหรือยังนะครับ ไม่งั้น ถ้านำมาฉีดก็ถือว่าผิดกฏหมายเช่นกัน 
    4. ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการฉีดถึง ชนิดของสารที่ฉีด,ผลข้างเคียงทั้งระยะสั้นและระยะยาว,วิธีแก้ไข สามารถดูดออกได้หรือไม่,ระยะเวลาการดูดทำได้ภายในกี่วัน 
    5. ในกรณีที่ไม่ทราบชนิดสารที่ฉีดและต้องการฉีดมากจริงๆ แล้วไม่แน่ใจว่าเป็นซิลิโคนเหลวหรือไม่ (ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ฉีดที่ไม่ใช่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มักจะโกหกว่าคือ คอลลาเจน ต้องตรวจสอบดีๆ ) แนะนำให้ฉีดที่บริเวณคาง จะเป็นตำแหน่งที่มีปัญหาน้อยที่สุด เนื่องจากบริเวณคาง สารที่ฉีดถ้ามีการไหลก็จะไหลลงปลายคาง ตำแหน่งที่ไม่ควรฉีดในครั้งแรก ได้แก่ หน้าผากและแก้ม เนื่องจากมีโอกาสไหลไปที่ตำแหน่งอื่นมากกว่า 80% 
    6. ควรขอผลิตภัณฑ์ที่ฉีด , กล่องของสารที่ฉีด รวมทั้งผลิตภัณฑ์ ฉลาก 
    7. ฉีดในสถานที่ที่มีสถานประกอบวิชาชีพที่แน่นอน ไม่ควรฉีดตามรถที่รับฉีดหรือผู้ที่ถือกระเป๋าฉีดตามบ้านและที่ต่างๆ 
    เรียบเรียงและค้นคว้าโดยนพ.จรัสพล รินทระ 
    ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด ..................................07 August,2009

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=9&sdata=&col_id=349

อัพเดทล่าสุด