การปลูกย้ายรากผม ( Hair Transplantation )


1,080 ผู้ชม


  • การปลูกย้ายเซลรากผม ( Hair transplantation) เป็นการแก้ปัญหาผมบาง ศีรษะล้านโดยการทำศัลยกรรมตกแต่ง โดยการปลูกผมทดแทน คือ การย้ายห
นังศีรษะรวมทั้งตุ่มผม( hair follicles) จากบริเวณที่มีผมดกไปทำการปลูกทดแทนในบริเวษหนังศีรษะที่ไม่มีผม ผมบาง หรือตุ่มผมไม่ทำงาน ระยะเวลาและจำนวนครั้งในการทำผ่าตัดขึ้นอยู่กับขนาดของบริเวษศีรษะที่ไม่มีผม โดยเซลล์ผมที่ย้ายมาปลูก จะมีลักษณะเหมือนกับเส้นผมที่ท้ายทอย ซึ่งทนทานไม่ร่วงหลุดได้ง่ายเหมือนผมด้านหน้า
  • การปลูกย้ายเซลรากผม ( Hair transplantation) มักทำใน คนไข้มีอายุมากพอสมควรก่อน ( ส่วนใหญ่ก็อายุเกินสี่สิบไปแล้ว) จนอิทธิพลจาก ฮอร์โมนเพศชาย DHT (ซึ่งเป็นสาเหตุของผมร่วง) น้อยลงแล้ว และแนวเส้นผมจะร่นล้านขึ้นไปคงที่แล้ว จึงพิจารณาทำการย้ายรากผม หรือไม่ก็ควรรับประทานยา Finasteride ควบคู่ไปด้วย เพื่อไม่ให้แนวเส้นผมเดิมร่นเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดที่ว่าง ระหว่างแนวผมที่ทำขึ้นมาไหม่กับแนวเส้นผมเดิมจากปัญหาฮอร์โมน DHT
  • จำนวน การปลูกย้ายรากผม จะมีปริมาณมากน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละคน แต่หลักการก็คือ แพทย์ที่ทำจะการตัดหนังศรีษะที่มีรากผมแข็งแรงจากท้ายทอยออกมาให้ได้เซลรากผม ( Hair Folicles) จำนวนเพียงพอที่จะปลูก (แผลตรงนี้ก็จะเย็บปิดเหมือนแผลทั่วไป ปกติจะยาวประมาณ 7-10 ซม.) แล้วเอาหนังศรีษะที่ได้มาตัดซอยด้วยกล้องจุลทรรศน์ ออกเป็นรากๆแยกจากกัน แล้วนำไปปลูกลงในบริเวณที่ไม่มีผมโดยใช้เข็มปักเป็นรูนำทางไว้ก่อน โดยไม่เย็บแผลตรงที่ปลูกใหม่
  • ปกติแล้ว ขั้นตอนการปลูกย้ายรากผม จะค่อยๆแบ่งทำ โดยครั้งแรกอาจจะให้ห่างกันเล็กน้อย เพื่อมิให้ไปทำลายเส้นเลือดที่มาหล่อเลี้ยงมากนัก อาจจะประมาณ 25-40 รากต่อหนึ่งตารางซม.โดยใน 1 ราก (ปกติจะมีเส้นผมเฉลี่ย 1-4 เส้น คนไทยเราจะเฉลี่ยอยู่ประมาณสองเส้น) และถ้าปลูกได้ประมาณ 60-70 รากต่อตารางซม. ก็จะดูหนาได้เหมือนธรรมชาติ ดังนั้นอาจจะต้องทำการปลูกย้ายรากผม เป็นจำนวน 2-4 ครั้ง โดยแต่ละครั้งต้องเว้นระยะห่างกันประมาณ 6 เดือน
  • ผลตามมาที่อาจเกิดได้หลังทำการผ่าตัดปลูกย้ายรากผม 
        1. หลังทำภายใน 1-3 วันแรก หรือภายในอาทิตย์แรก ใบหน้า ตา อาจบวมฟกช้ำได้จากการอักเสบ สิ่งที่ช่วยบรรเทา คือ การประคบด้วยน้ำแข็งและนอนศีรษะสูง การใส่แว่นดำช่วยอำพราง ถ้าต้องออกไปนอกบ้าน แต่ประมาณอาทิตย์ที่ 2-3 ก็จะเริ่มหายเป็นปกติ 
        2. อาการชาบริเวณที่ปะปลูกผม ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายในเวลา 2-3 เดือน 
        3. อาการคันบริเวณหนังศีรษะที่เจาะเอาผมออก การรับประทานยาแก้คัน เช่น Chorpheniramine, Atarax จะช่วยได้ 
        4. การเสียเลือดจากการผ่าตัด (แต่ก็พบได้น้อย) 
        5. การติดเชื้อแทรกซ้อน หลังจากการผ่าตัด (แต่ก็พบได้น้อยมาก) 
        6. หลังจากปลูกผมไประยะหนึ่ง ผมที่ปลูกมาจะเริ่มหลุดออกไป แต่จะเริ่มกลับขึ้นมางอกใหม่เหมือนผมใหม่ตามปกติ เมื่อย่างเข้าเดือนที่ 2-3 และจะยาวเพิ่มขึ้นเหมือนผมปกติ โดยจะมีอัตราการงอกประมาณ 1 ซม.ต่อเดือน เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 6 เดือน แพทย์ที่ทำผ่าตัด จะทำการพิจารณาว่าจะเริ่มทำการปลูกซ่อมแซมใหม่อีกรอบ หรือทำผ่าตัดในบริเวณอื่นต่อไป 
        7. เส้นผมที่นำมาปลูกใหม่ หรือที่งอกใหม่ อาจจะมีรูปร่างคล้ายบริเวณที่ทำการย้ายมา ดังนั้นบางครั้งอาจจะมีลักษณะหยักศกกว่าบริเวณที่ผมเก่าอยู่เดิม 
        8. ส่วนด้านท้ายทอยที่ตัดหนัง แผลจะหายไปเหมือนแผลเย็บธรรมดา โดยจะมีเส้นผมข้างเคียงบดบัง จนสังเกตไม่เห็น
  • ค่าใช้จ่ายในการทำการปลูกย้ายรากผม แตกต่างกันแล้วแต่คลินิก หรือ รพ. รวมทั้งเทคนิคในการทำผ่าตัด เช่น เทคนิคของ ดร.สเตร๊าซ์ (ซึ่งว่ากันว่าเป็นเทคนิคที่ดีในปัจจุบัน) การคิดค่าใช้จ่ายจะคิดราคาเป็นแต่ละ hair follicles โดยปกติจะทำครั้งละ ประมาณ 400-500 ราก ถ้าทำ 3 ครั้ง ราคาก็ประมาณ 80-150 บาทต่อรากผม ก็จะประมาณ 40,000-100,000 บาทต่อครั้งที่ทำ
  • การรักษาวิธีนี้มักไม่ค่อยได้ผล ในผู้หญิงซึ่งมักบางบริเวณส่วนกลางศรีษะ หรือ ผู้ชายที่มีผมบางทั่วหนังศีรษะ ผู้ที่ผมร่วงจากโรคประจำตัว เช่น SLE,มะเร็ง หรือ ผู้ที่เป็นแผลเป็นรอยนูน (keloids) ได้ง่าย 
    เรียบเรียงและค้นคว้าใหม่โดย นพ.จรัสพล รินทระ .......................26 July,2005

ตัวอย่างภาพประกอบ


ตัวอย่าง เส้นผมที่นำมาปลูกทางด้านหน้าที่บาง


ตัวอย่างบริเวณที่ทำการตัดรากผมด้านท้ายทอย

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=7&sdata=&col_id=70

อัพเดทล่าสุด