การอาบเหงื่ออบตัว(Sauna & Steam room)


961 ผู้ชม


  • ปัจจุบันการอบตัวเป็นที่นิยมมากในบ้านเรา เพราะนอกจากจะทำให้ได้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อแล้ว การอบตัวยังช่วยเปิดรูขุมข��
� ทำให้ขับถ่ายสิ่งสกปรกที่ร่างกายไม่ต้องการ ทำให้ผิวพรรณสดใสและกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดในร่างกาย ซึ่งในสภาวะย่างเข้าหน้าหนาวอย่างนี้ ทำให้หนุ่มสาวตลอดจนทุกวัย จึงนิยมเข้าห้องอบตัวเพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย ลองมารู้จักเกร็ดน่ารู้บางอย่างเกี่ยวกับการอบตัว
  • การอบตัว สามารถแบ่งออกได้ 2 แบบ คือ 1. แบบอบแห้ง ( Sauna) และ 2. แบบอบเปียก หรืออบไอน้ำ (Stream) ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการอบแบบไหน สามารถให้คุณประโยชน์ที่หมือนกัน ไม่แตกต่างกัน ดังนี้ 
      1. ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่เกิดจากความเกร็งตึง หรืออาการเมื่อยล้าหลังจากทำงานหนัก หรือการออกกำลังกาย 
      2. กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ความร้อนจะทำให้ผิวหนังและโครงสร้างของผิวหนังได้รับออกซิเจนและสารอาหารดีขึ้น 
      3. กระตุ้นระบบหายใจ ทำให้การหายใจสะดวกขึ้น ดีขึ้น เพราะน้ำที่ใส่ไว้รดก้อนหินนั้น มักจะมีส่วนผสมของพิมเสน การบูร และน้ำมันยูคาลิปตัส นอกจากนี้ไอน้ำใน Stream จะทำให้ลมหายใจมีน้ำมากขึ้น ช่วยทำให้ขับเสมหะและสิ่งสกปรกในหลอดลมได้ดี 
      4. ช่วยเปิดรูขุมขน ทำการขับถ่ายสิ่งสกปรกและสารพิษที่อยู่ในร่างกาย ในรูปของเหงื่อ 
      5. ช่วยรักษาสมดุลย์ความเป็นกรด-ด่าง ของผิวหนังที่อาจจะถูกทำลายจากแสงแดดหรือสารเคมี 
      6. กระตุ้นระบบประสาท ระบบฮอรโมนต่างๆ ในร่างกาย ทำให้มีชีวิตชีวา นอกจากนี้ยังปรับกระบวนการทางเคมีของเซลล์ทั่วร่างกายให้ระบบเสริมสร้างและระบบย่อยสลายอาหารเข้าสู่สมดุลใหม่ 
      7. ช่วยให้จิตใจผ่อนคลาย สบาย นอนหลับได้ง่าย 
      8. ช่วยทำให้ผิวหนังอ่อนนุ่มและชุ่มชื้น เพื่อเตรียมความพร้อมในการทำทรีทเม้นต์อย่างอื่นๆ เช่น การกรอผิว การนวดตัว การทาครีมบำรุง
  • ขั้นตอนการอบตัวที่ถูกต้อง 
      1. ก่อนเข้าห้องอบตัว ควรจะอาบน้ำชำระร่างกายเสียก่อน เพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมเข้าสู่การอบตัว และเป็นชะล้างทำความสะอาดระดับหนึ่งก่อน 
      2. ถอดเครื่องประดับที่เป็นโลหะ ทอง เครื่องเงิน ออกก่อนเพราะเป็นตัวนำความร้อน อาจจะทำให้ผิวหนังใหม้ได้ 
      3. กระโจมอก สำหรับผู้หญิง หรือใช้ผ้าเช็ดตัวสำหรับผู้ชาย เป็นชุดที่ดีที่สุดกรณีที่อบตัวในที่ส่วนรวม หรือจะถอดออกหมดก็ได้ (กรณีในที่ลับเฉพาะ) เพื่อให้ความร้อนกระจายทั่วร่างกาย และรูขุมขนเปิดทั่วๆ ไป 
      4. ไม่ทาครีมบำรุงผิวใดๆ ก่อนเข้าห้องอบตัว เพราะเนื้อครีมจะเคลือบผิวหนังไว้ และปิดรูขุมขนทำให้การขับสิ่งสกปรกไม่ได้เต็มที่ 
      5. สามารถใช้ครีมหมักผม ครีมบำรุงเส้นผมก่อนเข้าห้องอบตัวได้ เพราะจะสามารถอบไอน้ำให้กับเส้นผมไปพร้อมๆ กัน 
      6. การอบตัว ควรใช้เวลาประมาณ 3-5 นาทีต่อครั้งไม่ควรเกิน 15 นาที แล้วควรออกจากห้องอบ เพื่อใช้ความเย็นช่วยปิดรูขุมขน เช่นอาจจะ ลงไปจุ่มตัวในสระน้ำเย็น 1-2 นาที หรือสระน้ำจากุ๊ซซี่ ที่อุณหภูมิ 13-18 องศาเซลเซียส ประมาณ 1-2 นาที แล้วค่อยเข้าไปอบตัวใหม่ ไม่ควรใช้น้ำเย็นเกินไป เพราะร่างกายจะปรับตัวลำบาก หรือถ้าใช้น้ำที่อุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียสจะไม่กระตุ้นเราอวัยวะภายในได้เต็มที่ 
      7. หลังจากออกจากห้องอบตัว ควรอาบน้ำและเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น เพื่อปิดรูขุมขน 
      8. ดื่มน้ำสะอาดทุกครั้งหลังจากการอบตัว เพื่อทดแทนน้ำในร่างกายที่ต้องสูญเสียไปกับเหงื่อ
  • ข้อควรระวังในการเข้าอบตัว 
      1. ไม่แนะนำให้คนที่มีปัญหาโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เข้าอบตัว เนื่องจากจะทำใหัหัวใจทำงานมากกว่าปกติได้ ความดันโลหิตสูงขึ้น ทำให้เกิดเป็นลม หน้ามืด หมดสติได้ 
      2. คนสูงอายุ หรือเด็กที่มีอายุน้อย ไม่ควรอบตัว อาบเหงื่อ เพราะสภาพร่างกายไม่สมบูรณ์พอ 
      3. ไม่ควรใส่ชุดว่ายน้ำในการอบตัว เพราะเส้นใยอีลาสติน เมื่อโดนความร้อน จะทำให้ยืดและหดตัวแห้งกรอบ และอาจจะใหม้ได้ 
      4. การอบตัวนานกว่ากำหนด จะทำให้ร่างกายสูญเสียเหงื่อ และน้ำมากเกินไป ทำให้เกิดอาการมึนศีรษะ เป็นลม ชัก และหมดสติได้ 
      5. สตรีมีครรภ์ไม่ควรอบตัว เพราะมีงานวิจัยว่าทำให้เด็กในครรภ์จะน้ำหนักน้อยกว่าปกติ
  • ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการอบตัว 
      1. ความร้อนจากการอบตัว ไม่ใช่วิธีการในการลดน้ำหนัก เพียงช่วยปรับสมดุลการทำงานของต่อมฮอร์โมนต่างๆ ดังนั้นการที่อบตัวนานๆ ในตู้อบ ทำให้น้ำหนักลดได้ก็จริงจากการเสียน้ำ แต่เมื่อดื่มน้ำทดแทน น้ำหนักก็จะกลับมาเท่าเดิม 
      2. ความร้อนจากการอบตัว ไม่ได้ช่วยละลายไขมันสะสมในร่างกาย 
      3. การอบตัวโดยใช้ความร้อน และความเย็นสลับกันไปมา ไม่ได้ทำให้ร่างกายไม่สบายได้ ในประเทศเมืองหนาวบางประเทศ จะมีห้องอบตัว และห้องที่เปิดให้ความเย็นด้านนอกเข้ามาสลับกันด้วยซ้ำ 
    เรียบเรียงและค้นคว้าใหม่ โดยนพ.จรัสพล รินทระ .......ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด.....6 September 2005

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=2&sdata=&col_id=227

อัพเดทล่าสุด