การเสพบุหรี่ ถือเป็นการเสพสารเสพติดชนิดหนึ่ง


1,098 ผู้ชม


  • การสูบบุหรี่ ถือว่าเป็นมหาอัตวินิบาตกรรมที่พบได้มากสุดในโลก โดยคนทั่วโลกได้เสียชีวิตจากพิษภัยของบุหรี่มากกว่า 3
ล้านคนในแต่ละปี ทั้งๆ ที่สาเหตุดังกล่าวสามารถหลีกเลี่ยงได้จากการไม่สูบบุหรี่ ดังนั้นการที่ท่านสามารถทำให้เพื่อนรอบข้าง หรือคนที่รู้จักสามารถเลิกบุหรี่ได้ถือว่าเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่และเป็นผลงานที่ทรงเกียรติยิ่งทีเดียว
  • การสูบบุหรี่เป็นการเสพติดนิโคติน การเลิกสูบบุหรี่ในบางคน สามารถทำได้ยากแสนยาก เนื่องจากบุคคลนั้นได้เสพติดกับสารนิโคติน ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของบุหรี่ ซึ่งสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้จัดให้การสูบบุหรี่เป็นการเสพติดชนิดหนึ่ง คล้ายกับการเสพติดเฮโรอิน โคเคนหรือยาบ้า เลยทีเดียว
  • หลักฐานงานวิจัยที่สนับสนุนว่า นิโคตินเป็นสารเสพติด มีดังต่อไปนี้ 
    1. การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมที่ไม่อาจยับยั้งได้: เพราะได้เคยมีรายงานว่า แม้คนป่วยจากพิษบุหรี่เอง ก็สามารถจะเลิกบุหรี่ได้เพียงไม่เกิน 50 % 
    2. นิโคตินออกฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ ความรู้สึก : ทำให้ก่อให้เกิดความพึงพอใจ ผ่อนคลายซึ่งเป็นปฏิกริยาตอบสนองต่อความเครียด มีความตื่นตัว จึงทำให้อยากสูบบุหรี่อีก โดยเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขสภาพแวดล้อมที่ติดต่อกันในระยะเวลาหนึ่ง และนำพาให้เกิดการผูกติด ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงอยากจะสูบบุหรี่ในแต่ละวันเกิดขึ้นมากในบางอารมณ์ เช่น หลังอาหารเวลาเครียด โกรธ หรือในขณะสังสรรค์กับเพื่อนฝูง 
    3. บุหรี่...สูบแล้วไม่เคยอิ่ม : ปกติหลังการสูบบุหรี่และสูดควันเข้าไปในปอด นิโคตินจะเข้าสู่สมอง ใช้เวลาไม่เกิน 19 วินาที และถึงจุดสุดยอดเมื่อบุหรี่หมดมวน ทำให้ทันอกทันใจแก่ผู้สูบบุหรี่ จึงแสดงพฤติกรรมซ้ำแล้วซ้ำอีก (ซึ่งในการเสพด้วยวิธีอื่น เช่นการเคี้ยว จะใช้เวลามากกว่ามาก ) 
    4. นิโคติน ทำให้เกิดการดื้อได้ : ดังนั้นผู้ที่สูบบุหรี่อย่างติดต่อกันนานๆ มักจะมีแนวโน้มสูบบุหรี่ปริมาณมากขึ้น สังเกตได้จากผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ในตอนแรกจะมีอาการมึนงง คลื่นไส้ อาเจียน แต่อาการดังกล่าวจะหายไปเมื่อสูบมวนต่อไป 
    5. นิโคติน ทำให้เกิดอาการได้ ถ้าระดับนิโคตินในเลือดต่ำลง : ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ค่อนข้างชัดว่า บุหรี่เป็นสารเสพติด เช่นเดียวกับยาบ้า หรือ เฮโรอิน แต่อาจจะมีอาการน้อยกว่า ดังนี้ อาจจะหงุดหงิดง่าย กระวนกระวาย เซื่องซึม ไม่มีสมาธิ อยากอาหารเพิ่ม น้ำหนักตัวเพิ่ม ความรุนแรงของอาการขาดนิโคตินมากน้อย แตกต่างกันในแต่ละคน และสัมพันธ์กับปริมาณนิโคตินที่ได้รับก่อนหน้าจะหยุดสูบบุหรี่ 
    6. เมื่อเลิกบุหรี่ได้แล้ว ก็ยังจะมีโอกาสกลับมาสูบได้อีก : คนส่วนใหญ่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ มักจะต้องพยายาม มากกว่า 1 ครั้ง การหวนกลับมาสูบบุหรี่อีกเป็นปรากฏการณ์เดียวกับที่พบในผู้ป่วยที่พยายามจะเลิกเสพเฮโรอิน หรือเลิกดื่มสุรา โดยพบว่าผู้ที่พยายาม จะเลิกบุหรี่ ร้อยละ 60 จะกลับมาสูบบุหรี่อีกในเวลา 3 เดือน และร้อยละ 75 ในเวลา 6 เดือน 
    7. บุหรี่ ทำให้เกิดอาการอยากเสพอย่างรุนแรงได้ : พบว่าในบางคนที่หยุดสูบบุหรี่กระทันหัน จะมีอาการเสี้ยน ยาไม่แตกต่างจากสารเสพติดชนิดอื่นๆ และอาจจะมากกว่าผู้เสพติดเฮโรอิน สุรา หรือโคเคนเสียอีก
  • ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บุหรี่นอกจากจะให้โทษแก่ร่างกายมากกว่าประโยชน์ที่ได้รับแล้ว ยังทำให้เกิดการเสพติดและเลิกได้ยากมาก ซึ่งทางที่ดี ควรจะไม่ริหัด อยากสูบบุหรี่ตั้งแต่แรกจะดีกว่า ในบทความต่อไป จะว่าด้วยการรักษาบุหรี่ด้วยยา อย่าลืมติดตามนะครับ 
    เรียบเรียงและค้นคว้าโดย นพ. จรัสพล รินทระ 
    อ้างอิงจากบทความของ ผศ.นพ. ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล แห่งศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ลงตีพิมพ์ในวารสารคลินิก

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=2&sdata=&col_id=220

อัพเดทล่าสุด