"มังคุด" ราชินีแห่งผลไม้ไทย


1,670 ผู้ชม


  • ในบรรดาผลไม้ไทยทั้งหลาย "มังคุด" ได้รับการยกย่องให้เป็น "ราชินีแห่งผลไม้" ด้วยลักษณะภายนอกของผลที่มีกลีบเลี้ยงติ�
��อยู่ที่หัวขั้วของผลคล้ายมงกุฎของพระราชินีส่วนเนื้อในก็มีสีขาวสะอาด รสชาดอร่อย อย่างยากที่จะหาผลไม้อื่นมาเทียบได้ ในขณะที่ "ทุเรียน" จัดเป็น "ราชาแห่งผลไม้" ด้วยทั้งลักษณะภายนอกของผลที่เป็นหนามคล้ายมงกุฎของพระราชา และเนื้อในที่มีสีเหลืองทอง รสชาติที่แสนอร่อยที่ยากจะหาผลไม้อื่นมาเทียบได้ขณะเดียวกัน
  • เมื่อย่างเข้าฤดูฝนก็จะมีทั้งราชาและราชินีของผลไม้ไทย ออกมาให้ได้รับประทานกันอย่างเต็มอิ่ม แถมยังมีราคาถูกอย่างไม่น่าเชื่อ จนเป็นที่อิจฉาของชาวต่างประเทศในหลายประเทศ ถึงขนาดที่พวกเขายอมลงทุนขึ้นเครื่องบินมากินทุเรียนและมังคุดในเมืองไทยกันปีละครั้งกันเลยทีเดียว เพราะมีไม่กี่ประเทศในโลกที่ปลูกทุเรียนและมังคุดได้ และทุเรียนและมังคุดของไทยก็จัดว่าอร่อยที่สุด
  • มังคุด(Mangosteen) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Gardinia mangosteen Linn. จัดอยู่ในวงศ์ Guttiferae จัดเป็นไม้ผลเมืองร้อน แต่ชอบฝนชุ่มฉ่ำ จึงปลูกมากทางภาคใต้ของประเทศไทย เป็นไม้ยืนต้น ต้นตั้งตรงสูง 10 - 25 เมตร ใบสีเขียวเข้ม ทรงพุ่มแน่นกลม ดูงามสง่า และทุกส่วนจะมียางสีเหลืองมีใบเดี่ยวรูปไข่เนื้อ ใบหนา ค่อนข้างเหนียวคล้ายหนัง สีเขียวเข้มเป็นมัน ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง กลีบเลี้ยงสีเขียวอมเหลือง กลีบดอกสีแดงฉ่ำน้ำ เนื้อในของผลมังคุดสีขาวห่อหุ้มด้วยเปลือกหนาสีม่วงอมแดง หรือม่วงอมน้ำตาลอันมีกระจุกของกลีบเลี้ยงของดอกติดอยู่ที่ขั้วของผลอันเป็นเอกลักษณ์ของมังคุด มังคุดจัดเป็นไม้ผลชนิดเดียวที่ไม่มีการกลายพันธุ์ จึงมีลักษณะดั้งเดิมเหมือนสมัย 100 ปีที่ผ่านมา
  • มังคุดเป็นผลไม้ยอดนิยมที่สุดชนิดหนึ่งของคนไทย จะมีออกมาให้เราบริโภคเพียงปีละครั้ง คือช่วงย่างเข้าฤดูฝน การบริโภคมังคุด จะให้พลังงานต่ำ เหมาะเป็นผลไม้สำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก กากใยจากเนื้อของมังคุดช่วยในการขับถ่าย และยังได้สารอาหาร วิตามินและเกลือแร่อื่นๆ อีกหลายชนิด เช่น น้ำตาล กรดอินทรีย์ แคลเซียม ฟอสฟอรัส และเหล็ก
  • เคล็ดลับในการรักษามังคุดให้สดนานที่สุด คือ เก็บไว้ในตู้เย็นที่อุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส โดยบรรจุในถุงพลาสติกไม่เจาะรู ปิดปากถุงให้แน่น และเลือกมังคุดที่ยังเป็นสีชมพู วิธีนี้จะรักษามังคุดไว้ได้นานราวๆ 49 วัน
  • ประโยชน์ของมังคุดมิได้มีอยู่แค่เนื้อในของมังคุดที่เราใช้เป็นอาหารเท่านั้น เปลือกของมังคุดกับมีประโยชน์มากมายที่สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคอย่างได้ผล คนไทยรู้จักการใช้ประโยชน์จากเปลือกมังคุดมาเป็นยารักษาโรคมานานแล้ว เพราะคนไทยสมัยโบราณค้นพบว่าเปลือกมังคุดรสฝาดสมาน จึงนำเปลือกมังคุดมาใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย แก้ท้องร่วงเรื้อรัง ถ่ายเป็นมูกเลือด โดยการใช้เปลือกสดหรือเปลือกแห้งฝนกับน้ำรับประทาน หรือจะใช้เปลือกแห้งต้มกับน้ำรับประทานก็ได้ผลเช่นเดียวกัน
  • นอกจากนี้ เปลือกมังคุดยังมีสรรพคุณในการสมานแผล ช่วยให้แผลหาเร็ว เช่นใช้รักษาบาดแผลผุพอง แผลเน่าเปื่อย แผลเป็นหนอง โดยการใช้เปลือกมังคุดฝนกับน้ำปูนใสทาบริเวณแผล น้ำต้มเปลือกมังคุดแห้งต้มน้ำล้างแผลใช้แทนการด้วยน้ำยาล้างแผลหรือด่างทับทิมได้ด้วย
  • สรรพคุณที่โดดเด่นทางด้านผิวหนังก็ คือ มีการใช้เปลือกมังคุดรักษาโรคผิวหนัง เช่น กลากเกลื้อน บรรเทาอาการผดผื่นทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี โดยใช้เปลือกมังคุดแห้งต้มน้ำอาบ หรือใช้น้ำต้มเปลือกมังคุดทาบริเวณที่มีอาการผื่นคันทั้งหลาย โดยผลที่ได้นี้ ได้รับการพิสูจน์และยืนยันจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบว่า รสฝาดในเปลือกมังคุดนี้มีสารแทนนิน (Tannin) และสารแซนโทน (Xanthone) ที่มีชื่อเรียกเฉพาะชื่อเดียวกับมังคุดว่า สารแมงโกสติน (mangostin) สารแทนนินมีฤทธิ์สมานแผลช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น สารแมงโกสตินมีฤทธิ์ช่วยลดอาการอักเสบ และต้านเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดหนอง สารแซนโทนในเปลือกมังคุดยังมีฤทธิ์ในการยับยั้งเชื้อราที่เป็นสาเหตุของโรคผิวหนังและกลากได้
  • ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้ช่วยยืนยันและช่วยรื้อฟื้นให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านให้กลับมาเข้ายุคเข้าสมัยได้อีกครั้งหนึ่ง ปัจจุบันวงการเครื่องสำอางและ ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดได้ให้ความสนใจนำสารสกัดจากเปลือกมังคุดไปใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สบู่เปลือกมังคุด ที่ช่วยดับกลิ่นเต่าช่วยบรรเทาโรคผิวหนัง รักษาสิวฝ้า ซึ่งใช้ได้ผลดีและเป็นที่นิยมของผู้บริโภค
  • ฤดูฝนนี้ เมื่อได้ลิ้มรสของเนื้อในของมังคุดอย่างอิ่มเอมแล้ว ก็อย่าได้ทิ้งขว้างเปลือกมังคุดให้เป็นขยะเน่าเหม็นโดยเปล่าประโยชน์เลย รวบรวมแล้วตากให้แห้งสนิทเก็บใส่ขวดโหล ไว้ใช้ทำยาแก้ท้องเสีย ยารักษาแผล ยารักษาโรคผิวหนัง หรือแม้แต่นำไปทำสบู่เปลือกมังคุดสำหรับอาบน้ำดับกลิ่นตัว ก็จะเพิ่มค่าอีกมากโข คุ้มเกินคุ้มกว่าราคากิโลละ 25-30 บาทที่เราซื้อมาเสียอีก หากเผลอไผทิ้งขว้างไป เมื่อผ่านพ้นฤดูของมังคุดไปก็จะหามังคุดอีกไม่ได้ จะมาเสียดายภายหลัง ต้องรอถึงฝนหน้าจึงจะได้ยลโฉมราชินีของผลไม้อีกที 
    เรียบเรียงและค้นคว้าโดย นพ.จรัสพล รินทระ........................31 May,2006 
    เอกสารอ้างอิง. "สมุนไพรน่ารู้" วันดี กฤษณพันธ์ สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ 3 พ.ศ. 2541 
    "สุขภาพดีด้วยสมุนไพรใกล้ตัว (9)" โครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง สำนักพิมพ์ ประพันธ์สาส์น กรกฏาคม 2541 
    "รู้คุณรู้โทษโภชนาการ " นิตยสารรีดเดอร์ ไดเจสท์ สำนักพิมพ์ รีดเดอร์ส ไดเจสท์( ประเทศไทย) จำกัด กันยายน 2543

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=2&sdata=&col_id=302

อัพเดทล่าสุด