| - ในปัจจุบันนี้ ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่และความตื่นตัวในเรื่องของธรรมชาติ จึงทำให้สาวๆ หลายท่านให้ความสนใจก��
|
�บผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จากสารสกัดธรรมชาติ ( natural extracts) แม้แต่นักวิจัยก็เริ่มให้ความสำคัญ เนื่องจากโครงสร้างของพืชและมนุษย์ นั้นมีลักษณะใกล้เคียงกันมาก เพราะต่างก็มีน้ำเป็นองค์ประกอบถึงร้อยละ 90 และนอกจากนี้สารประกอบหรือน้ำมันที่สกัดได้จากพืช จึงสามารถซึมซาบและให้ความอ่อนโยนต่อผิว มากกว่าน้ำมันหรือสารที่สกัดจากแร่ธาตุ หรือสารเคมี เรามาเรียนรู้รายละเอียดของสารเหล่านี้กันดีกว่านะครับ เพื่อประกอบการตัดสินใจในการเลือกซื้อเครื่องสำอาง - สารสกัดจากมังคุด( Garcenia mangostana) จัดเป็นพืชสมุนไพรพื้นบ้านของไทย โดยเราได้ใช้เปลือกมังคุดมาต้มหรือฝนกิน เพื่อรักษาอาการท้องร่วง หรือใช้รักษาแผลหนองหรือแผลเปื่อยได้ ต่อมามีการค้นพบสาร GM-1 ในมังคุด มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อหรือระงับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แก้แพ้ โดยไม่มีผลข้างเคียงเหมือนสเตียรอยด์ ช่วยกระชับรูขุมขน สมานผิว และต้านอนุมูลอิสระที่ทำให้เกิดภาวะริ้วรอย จึงนิยมนำมาเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์รักษาผิวหน้า และช่วยรักษาสิว เช่น Garcenia facial soap,Garcenia beauty fluid with GM-1, Garcenia acne cream with GM-1 ของบริษัทเอเชียน นูทราซูติคอล เป็นต้น
- ส้มแขก ( Garcenia atroviridis) ส้มแขก เป็นพืชในตระกูลการ์ซิเนีย เช่นเดียวกับมังคุด ชะมวง และมะดัน พบมากทางตอนใต้ของไทย จะมีกรดอินทรีย์ที่ชื่อ Hydroxycitric acid-HCA พบว่ามีความคงตัวและปลอดภัยในการใช้ จึงนำมาใช้ในการลดความอ้วน โดย HCA มีความสามารถในการดักจับกับเอนไซม์ที่จำเป็นในการเปลี่ยนคาร์โบไฮเดรต และ กลูโคสที่ร่างกายรับประทานเข้าไป ให้เป็นไขมัน และยังช่วยเร่งสลายไขมันได้อีกด้วย จึงทำให้อิ่มได้นานขึ้น และอยากอาหารน้อยลง ทำให้น้ำหนักตัวลดลงในที่สุด จึงไม่ทำให้ขาดสารอาหาร และไม่เกิดผลข้างเคียง เช่น ปฏิกริยา yo yo effects
- ใบแป็ะก๊วย ( Ginkgo Biloba) เป็นพืชโบราณของจีน โดยชาวจีนโบราณนำมารับประทานเพื่อรักษาโรคหอบหืด และเป็นยาขับปัสสาวะ แต่ในใบของจิงโก มีสารสำคัญคือ Ginkgolides ซึ่งมีสาร Antioxidants ป้องกันภาวะชรา และช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ในระบบประสาท และป้องกันการตีบตันของเส้นเลือด โดยเพิ่มพลังงานให้เซลล์ กระตุ้นการไหลเวียนโลหิต ในปัจจุบันในทวีบอเมริกาและยุโรป ได้นำมาช่วยป้องกันภาวะความจำเสื่อม( อัลไซเมอร์) หอบหืด ภูมิแพ้ อาการชาตามปลายมือปลายเท้า ส่วนในเรื่องของเครื่องสำอาง ได้นำมาสกัดและผลิตเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงาม ชะลอริ้วรอย ขับสารพิษออกจากผิว ทำให้ผิวดูสดใส เปล่งปลั่ง
- ชาออสซี่ หรือ ทีทรี( Tea Tree) มีต้นกำเนิดจากประเทศออสเตรเลีย ชาวพื้นเมืองได้นำมาใช้เพื่อรักษาแผลสดและป้องกันการติดเชื้อ โดยน้ำมันจากใบ มีสารเคมีที่สำคัญคือ Terpenan-4-ol ที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส เชื้อราได้หลายชนิด ทำให้นำมารักษาโรคหวัด ไอ ใช้บ้วนปากทำความสะอาด ฝี หนอง จึงได้มีการนำสารดังกล่าว มาใช้ในผลิตภัณฑ์ล้างหน้าเพื่อลดความมัน ช่วยป้องกันและรักษาสิว นอกจากนี้ยังใช้ในกลุ่มพวก แชมพู สบู่อาบน้ำ และคลีนเซอร์ เป็นต้น
- ชาเขียว ( Green Tea) เป็นพืชสมุนไพรของจีน เดิมใช้รักษาอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อย อาหารไม่ย่อย หดหู่ ไป ไข้หวัด ช่วยขับของเสียออกจากร่างกาย ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง ( เหมือนสาวญี่ปุ่น) ชาวตะวันตกพบว่า ในชาเขียว มีสาร Polyphenols อยู่เป็นจำนวนมาก และมีคุณสมบัติในการต่อต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) ที่ทำให้เกิดริ้วรอย ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็ง ลดระดับคลอเลสเตอรอล แล้วยังพบป้องกันฟันผุ และโรคเหงือกได้ด้วย ในวงการเครื่องสำอาง ได้นำมาผสมในผลิตภัณฑ์ป้องกันและลดริ้วรอย ฟื้นฟูสภาพผิวให้เปล่งปลั่ง สดใส และเชื่อว่า ป้องกันรังสียูวีได้ด้วย
- โสม ( Gingeng) พืชสมุนไพรที่ขึ้นชื่อที่สุดของจีน พบทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน รัสเซีย และเกาหลี โดยมีส่วนประกอบของสาร Ginsenoside ที่มีคุณสมบัติชะลอความเสื่อมของเนื้อเยื่อต่างๆ ทำให้แก่ช้า ช่วยปรับสภาพร่างกายให้ทนต่อความเครียด และลดการอ่อนล้า เพื่มพลังงานให้แก่ร่างกาย ช่วยยับยั้งการอักเสบและติดเชื้อ ช่วยให้รากผมแข็งแรง ดังนั้นในด้านความงาม ได้นำคุณสมบัติของโสมดังกล่าว มาใช้ในครีมบำรุงผิวหน้า ชะลอความแก่ ผสมในโลชั่นบำรุงรักษารากผมให้แข็งแรง รวมถึงแชมพูสระผมที่ช่วยลดผมร่วง ครีมบำรุงผิวกาย
- แม้ว่าผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ จะมีประโยชน์ และถ้าใช้ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ก็อาจทำให้เกิดโทษได้เช่นกัน เช่น ความเข้มข้นมากไป ผสมในตัวทำละลายที่ไม่เหมาะสม อาจเกิดการระคายเคืองในคนที่ผิวแพ้ง่าย นอกจากนี้ขั้นตอนในการใช้ ต้องเก็บในที่ที่เหมาะสม เช่น แห้ง เย็น และไม่มีแสงแดด เช่นในตู้เย็นเป็นต้น ดังนั้นก่อนตัดสินใจเลือกใช้ ควรได้ทดสอบกับผิวหนังบริเวณท้องแขนดูก่อน แล้วปิดทับไว้ 24 ชั่วโมง หากเกิดการระคายเคือง ผื่นคัน ก็แสดงว่าไม่ควรใช้สารดังกล่าวต่อไป
เรียบเรียงและค้นคว้า โดย นพ.จรัสพล รินทระ.................................. 27 มีนาคม, 2548 |
ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=1&sdata=&col_id=99