เอดส์: ระยะความรุนแรงและกลุ่มอาการทางคลินิก


1,404 ผู้ชม


  • ภาวะการติดเชื้อเอดส์ HIV ในปัจจุบันได้มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ แม้จะมีหลายหน่วยงานได้รณรงค์ ให้ความรู้กันอย่างมากมาย
และในช่วง 10 กว่าปีมานี้ อาการแสดงของคนไข้ที่มีอาการ ก็มีรูปแบบให้สังเกตได้มากมาย ผู้เขียนคิดจะเขียนเรื่องนี้หลายๆครั้ง แต่เนื่องจากอาการของผู้มีติดเชื้อ HIV มีมากมายเหลือเกิน หลายๆ บทความตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ มีทั้งละเอียดมากๆ สำหรับเฉพาะบุคคลากรทางการแพทย์ได้อ่านให้เข้าใจตามหลักวิชา หรือกล่าวไว้กว้างๆ พอดีได้พบบทความหนึ่งที่ตีพิมพ์ค่อนข้างกระชับ ชัดเจนและไม่ใช้ศัพท์ทางการแพทย์มากนัก จึงจะคัดย่อ นำมา เสนอให้แก่ทุกท่านได้พอทราบพอสังเขปนะครับ
  • การแบ่งระยะความรุนแรงของผู้ติดเชื้อเอดส์ HIV : โดยจะประเมินจากการตรวจพบเชื้อครั้งแรก ดังนี้ 
    1. การซักประวัติ: แพทย์มักจะซักถามถึงระยะเวลาในการติดเชื้อ มีอาการอื่นๆที่นำมาพบแพทย์ การรักษาก่อนหน้านี้ ประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ประวัติการแพ้ยา คู่สมรสหรือคู่นอนติดเชื้อหรือไม่ ครอบครัว การใช้ยาเสพติด ฯลฯ 
    2. การตรวจร่างกาย: จะทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียด ทั้งความดันโลหิต ชีพจร การหายใจ อุณหภูมิ ต่อมน้ำเหลือง ตับ ม้าม ปอด ลักษณะผิวหนังภายนอก ฯลฯ 
    3. การตรวจทางห้องแลบ : มักจะตรวจเลือดเพื่อหาจำนวน CD4+T lymphocyte ซึ่งจะบ่งบอกความรุนแรงของภูมิคุ้มกันที่บกพร่อง และจำนวนเชื้อ HIV RNA ในพลาสมา ( viral load) ที่จะบอกถึงความเสี่ยงสูงของโรคที่จะดำเนินต่อไปสู่ระยะรุนแรงหรือไม่ 
    แล้วนำมาจัดแบ่งภาวะความรุนแรงของความบกพร่องของภูมิคุ้มกัน ดังนี้ 
       1. ระยะแรก : จะมีระดับจำนวน CD4+ T cell มากกว่า 500 เซลล์/ลบ.มม หรือไมโครลิตร 
       2. ระยะกลาง : จะมีระดับจำนวน CD4+ T cell 200- 500 เซลล์/ลบ.มม หรือไมโครลิตร 
       3. ระยะรุนแรง : จะมีระดับจำนวน CD4+ T cell น้อยกว่า 200 เซลล์/ลบ.มม หรือไมโครลิตร ซึ่งในกลุ่มนี้มักจะมีโรคแทรกซ้อน มีการติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น มะเร็ง หรือโรคทางระบบประสาท วัณโรคระยะลุกลาม หรือ เชื้อโรคอื่นๆ ที่ไม่ค่อยเกิดในคนที่มีภูมิคุ้มกันปกติ
  • การติดเชื้อไวรัส HIV ถือว่าเป็นการติดเชื้อเรื้อรัง ไม่หายขาด โดยเมื่อระยะเวลาเปลี่ยนแปลงไป ไวรัสที่อยู่ในร่างกายสามารถที่จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องลงมากขึ้นตามระยะเวลาในการติดเชื้อ ดังนั้นองค์การอนามัยโลกและศูนต์ควบคุมโรคติดต่อแห่งอเมริกา จึงได้พยายามแบ่งกลุ่มอาการของผู้ติดเชื้อ HIV อย่างง่ายๆ หลายครั้งและครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2536-37 โดยจัดแบ่งกลุ่มในผู้ใหญ่ดังนี้ 
    1. กลุ่มที่ 1 Acute HIV (retroviral) syndrome : เมื่อเริ่มมีการติดเชื้อครั้งแรก จะพบไวรัสในกระแสเลือดหลังจากการติดเชื้อประมาณวันที่ 4-11 โดยสามารถเพาะเชื้อจากกระแสเลือดได้ภายใน 5 วัน แล้วหลังจากนั้นเชื้อจะแพร่ไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะอื่นๆ ภายหลังการติดเชื้อไม่กี่วันหรือหลายสัปดาห์ ผู้ป่วยประมาณร้อยละ 50-70 จะมีอาการได้ดังนี้ ไข้ (ร้อยละ 80-90) อ่อนเพลีย (ร้อยละ 70-90) ลมพิษ หรือผื่นแดงราบ (ร้อยละ 40-80) ปวดกล้ามเนื้อและปวดข้อ( ร้อยละ 50-70) ปวดศีรษะ (ร้อยละ 30-70) คลื่นใส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย ( ร้อยละ 30-60) ต่อมน้ำเหลืองโต (ร้อยละ 40-70) เหงื่อออกกลางคืน (ร้อยละ 50) คออักเสบ(ร้อยละ 50-70) ปากเป็นแผล (ร้อยละ 10-20) แผลที่อวัยวะเพศ(ร้อยละ 5-15) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (ร้อยละ 25) เม็ดเลือดขาวต่ำ(ร้อยละ 40) เกร็ดเลือดต่ำ (ร้อยละ 45) และเอนไซม์ตับสูงขึ้น (ร้อยละ 20) เป็นต้น 
    อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่ประมาณไม่กี่วันถึง 2 สัปดาห์ ซึ่งจะคล้ายกับอาการจากการติดเชื้อโรคเฉียบพลันอื่นๆ ทำให้สังเกตได้ยาก ถ้าไม่ได้มีการเจาะ เลือดตรวจหาเชื้อ HIV และระดับแอนตี้บอดี้จะยังไม่เกิดซึ่งจะเกิดหลังจากการติดเชื้อ 2-3 สัปดาห์ ดังนั้นถ้าในครั้งแรกตรวจไม่พบเชื้อ แต่ถ้ายังไม่แน่ใจ อาจจะเจาะเลือดตรวจซ้ำอีก 3 เดือนข้างหน้า อาการในระยะแรกนี้จะเริ่มเป็นปกติ และผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะแฝง หรือระยะไม่มีอาการในกลุ่มที่ 2 
    2. กลุ่มที่ 2 Asymtomatic infection : กลุ่มนี้จะเกิดขึ้นภายหลังจากการติดเชื้อครั้งแรกประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยอาการต่างๆ จะค่อยๆ หายไปเอง และระดับไวรัส HIV RNA ในพลาสมาจะค่อยๆ ลดลง และคงที่ในระดับหนึ่งประมาณ 1 ปี ส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะนี้เฉลี่ยประมาณ 10 ปี ค่าระดับไวรัส ที่คงที่นี้จะเรียกว่า Viral set point ซึ่งถ้าใครมีค่านี้สูง ก็จะบ่งบอกการดำเนินต่อของโรคสู่ระยะที่ 3 ได้เร็วกว่าคนที่มีค่านี้ต่ำกว่า ซึ่งในกลุ่มนี้จะตรวจ ระดับ CD4 T cell ได้ประมาณ 800-1,200 เซลล์ต่อไมโครลิตร และจะค่อยๆลดลงประมาณ 50 เซลล์ต่อไมโครลิตรทุกๆ 1 ปี 
    3. กลุ่มที่ 3 Peristent generalized adenopathy: กลุ่มนี้จะเริ่มมีต่อมน้ำเหลืองโตมากกว่า 1 ซม. ในบริเวณมากกว่า 2 แห่งในร่างกาย พบได้บ่อยในบริเวณรักแร้ คอ ข้อพับ ท้ายทอง ใต้คาง แต่ทั้งนี้จะไม่นับต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ เพราะอาจจะเกิดจากการอักเสบติดเชื้ออย่างอื่นได้ และโตนานกว่า 3 เดือนไม่ยุบลง ซึ่งเมื่อตรวจระดับ CD4 T cell จะพบว่าต่ำกว่า 500 เซลล์ต่อไมโครลิตร กลุ่มนี้บางครั้งจะเรียกว่า กลุ่มโรคเอดส์ระยะเริ่มต้น ( pre-AIDS หรือ AIDS related complex) โดยอาจจะพบการติดเชื้อราที่ช่องปาก การติดเชื้องูสวัด หรือภาวะมีปื้นขาวและขนที่ลิ้นที่ขูดไม่ออก ( hairy leukoplaskia) การติดเชื้อหูดหงอนไก่ การติดเชื้อหูดข้าวสุก ซึ่งอาการมักจะลุกลามและรุนแรงกว่าคนปกติที่ได้รับเชื้อดังกล่าว 
    4. กลุ่มที่ 4 อื่นๆ : คือกลุ่มอาการโรคเอดส์ที่ไม่เฉพาะ หรือกลุ่มอาการอื่นๆ ซึ่งแบ่งย่อยได้เป็น มักจะเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตมากที่สุด 
    4.1 Subgroup A: ได้แก่กลุ่มที่มีอาการไข้ ท้องเสีย น้ำหนักตัวลดมากกว่าร้อยละ 10 อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด 
    4.2 Subgroup B: ได้แก่กลุ่มที่มีอาการทางระบบประสาทจากเชื้อไวรัส HIV ที่พบได้บ่อยคือ ภาวะความจำเสื่อม (AIDS dementia complex) มะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่ระบบประสาทส่วนกลาง เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ปลายประสาทอักเสบหรือสูญเสียความรู้สึกสัมผัส เหน็บชา 
    4.3 Subgroup C: ได้แก่กลุ่มอาการที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน การติดเชื้อฉวยโอกาส เช่น ปอดอักเสบจากเชื้อ Pneumocystis carinii การติดเชื้อรา Candida ที่ปาก หลอดอาหาร การติดเชื้อไวรัส CMV การติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ซึ่งในภาวะคนปกติจะไม่ค่อยพบการติดเชื้อลักษณะนี้ 
    4.4 Subgroup D: ได้แก่กลุ่มที่มีการเกิดมะเร็งต่างๆ ขึ้น เช่น Kaposi's sarcoma,B cell lymphoma ที่สมอง ไขกระดูก ทางเดินอาหาร 
    4.5 Subgroup E: ได้แก่กลุ่มที่มีอาการเกิดกับอวัยวะอื่นๆ ทั่วร่างกาย เช่น ที่กระดูกและข้อ อวัยวะภายในช่องท้อง เป็นต้น
  • หลักการรักษาทั่วไปในผู้ป่วยติดเชื้อ HIV : การรักษาจะพบว่ามีตัวยา หรือสูตรยา(regimen) มากมายและเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เนื่องจากโรคนี้ ยังไม่มีการรักษาให้หายขาดได้ในปัจจุบัน จึงมีการคิดค้นยาใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา และพบว่ายาต้านไวรัสในระยะหลังๆ ได้ช่วยให้คนไข้มีอายุยืนยาว ขึ้นและคุณภาพดีขึ้น แต่ราคาในปัจจุบันก็ยังสูงอยู่มาก คนไข้ส่วนใหญ่จะอยู่ในความดูแลของแพทย์เฉพาะทางและชำนาญด้านนี้อยู่ โดยมีหลักการรักษา ในกรณีที่เพิ่งได้รับการติดเชื้อใหม่ๆ และเป็นระยะแรกๆ เฉียบพลัน แพทย์มักจะให้การรักษาด้วยยาที่ดีและเต็มที่ แต่ถ้าผ่านไประยะหลังๆ ก็จะให้การรักษา ตามอาการและโรคแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อเอดส์ และการตรวจเช็คเลือดในระยะแรกๆ หรือสม่ำเสมอ จะให้ผลดีมากกว่าเมื่ออาการ ของโรคได้ลุกลามและดำเนินไปยังระยะหลังๆ แล้ว 
    เรียบเรียงและค้นคว้าใหม่ โดยนพ.จรัสพล รินทระ .......ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด.....6 September 2005 
    อ้างอิงจากบทความของ รศ.นพ.ปราโมทย์ ธีรพงษ์,คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล ตีพิมพ์ใน วารสารคลินิก ฉบับเดือนธันวาคม 2541

ที่มา : https://www.clinicneo.co.th/detailcolumn.php?grp=8&sdata=&col_id=229

อัพเดทล่าสุด