โรคสันนิบาตลูกนก โรคสันนิบาต โรคพาร์กินสัน แตกต่างกันอย่างไร


15,750 ผู้ชม

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่รู้จักกันครั้งแรกในวงการแพทย์ในปี พ.ศ. 2360 โดยนายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ชาวอังกฤษ เป็นผู้รายงานโรคพาร์กินสันเป็นคนแรก


โรคสันนิบาตลูกนก    โรคสันนิบาต    โรคพาร์กินสัน     แตกต่างกันอย่างไร

โรคพาร์กินสัน เป็นโรคทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย เกิดขึ้นกับผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่ คนไทยเรียก สั่นสันนิบาต หรือ สันนิบาตลูกนก

โรคพาร์กินสันเป็นโรคที่รู้จักกันครั้งแรกในวงการแพทย์ในปี พ.ศ. 2360 โดยนายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ชาวอังกฤษ เป็นผู้รายงานโรคพาร์กินสันเป็นคนแรก
บุคคลที่มีชื่อเสียงที่เป็นโรคพาร์กินสัน ได้แก่ สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2, มูฮัมหมัด อาลี, ไมเคิล เจ. ฟ็อกซ์, โจเซฟ สตาลิน, พล พต, ยัสเซอร์ อาราฟัต, ดัดลีย์ มัวร์ และจอนนี่ แคช
โรคพาร์กินสันเกิดจากการเสียสมดุลของสารโดปามีนในสมอง เซลล์สมองส่วนที่สร้างโดปามีนตายไปมากกว่าร้อยละ 80 โดปามีนเป็นสารเคมีในสมอง ทำหน้าที่ควบคุมระบบการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อสมองขาดโดปามีน จึงเกิดอาการเคลื่อนไหวผิดปกติขึ้น

โรคพาร์กินสัน...อาการสั่นที่รักษาได้
 
โรคพาร์กินสันในอดีตคนไทยน้อยคนที่จะรู้จักโรคนี้ ในยุคปัจจุบันคนไทยมีอายุเฉลี่ยยืนยาวกว่าเดิมมาก ดังนั้นโรคในผู้สูงอายุต่างๆ จึงพบบ่อยขึ้นมากในคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคทางระบบประสาทอย่างโรคพาร์กินสันนี้
โรคพาร์กินสัน คือโรคอะไร ?
โรคพาร์กินสันนี้เป็นโรคที่รู้จักกันครั้งแรกในวงการแพทย์ในปี พ.ศ.2360 หรือเกือบ 200 ปีมาแล้ว โดยนายแพทย์เจมส์ พาร์กินสัน ชาวอังกฤษ เป็นผู้รายงานโรคพาร์กินสันเป็นคนแรก โรคนี้ส่วนมากจะเป็นในผู้สูงอายุ (อายุเกิน 60 ปีขึ้นไป) ทำให้มีอาการทางระบบประสาทที่เด่นชัด 3 ประการ ได้แก่
อาการสั่น
อาการเกร็ง
อาการเคลื่อนไหวช้า
ในอดีตโรคนี้รักษาไม่ได้ และทำให้มีอาการเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเคลื่อนไหวไม่ได้เลยต้องนอนอยู่กับเตียงตลอด จนในที่สุดก็จะเสียชีวิตเพราะโรคแทรกซ้อน ในปัจจุบันความก้าวหน้าทางการแพทย์ทำให้สามารถรักษาโรคนี้ได้อย่างดี ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันดีขึ้นมาก
ความผิดปกติในสมองคือเหตุแห่งโรคพาร์กินสัน
ในอดีตแพทย์เข้าใจว่าโรคพาร์กินสันนี้มีความผิดปกติที่ไขสันหลัง แต่ในปัจจุบันเป็นที่ทราบกันแน่นอนแล้วว่าพยาธิสภาพของโรคนี้เกิดขึ้นที่ในส่วนลึกๆ ของตัวสมองเอง หรือบกพร่องในหน้าที่ในการปล่อยสารเคมีที่เรียกว่า โดปามีน จึงทำให้เกิดอาการเคลื่อนไหวช้า เกร็ง และสั่นเกิดขึ้นตามลำดับ ดังนั้นในปัจจุบันการรักษาโรคนี้จึงหวังมุ่งให้สมองมีระดับโดมามีนกลับสู่ค่าปกติ ซึ่งอาจทำได้โดยการรับประทานยาหรือผ่าตัดสมอง
สาเหตุของโรคพาร์กินสันมีอะไรบ้าง ?
โรคพาร์กินสันอาจเกิดได้จากสาเหตุต่างๆ มากมาย ได้แก่
ความชราภาพของสมอง ทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีนมีจำนวนลดลง เป็นกลุ่มที่พบบ่อยที่สุด และจัดว่าเป็นกลุ่มที่ไม่มีสาเหตุจำเพาะแน่นอน มักพบในผู้ที่อายุเกิน 65 ปีขึ้นไป และพบได้บ่อยพอๆ กันในผู้ชายและผู้หญิง ไม่มีใครทราบว่าในอนาคตใครจะเกิดโรคนี้บ้างในช่วงวัยชรา แต่จากสถิติอุบัติการณ์เกิดโรคนี้ในต่างประเทศจะพบราว 1-5 % ในผู้ที่มีอายุเกิน 50 ปี สำหรับประเทศไทยเรายังไม่ทราบสถิติของโรคนี้
ยากล่อมประสาทหลัก หรือยานอนหลับที่ออกฤทธิ์กดหรือต้านการสร้างสารโดปามีน ซึ่งผู้ป่วยโรคทางจิตเวชจำเป็นต้องได้ยากลุ่มนี้ เพื่อควบคุมอาการคลุ้มคลั่ง เพ้อหรือสับสน ยากลุ่มนี้ในอดีตใช้กันมาก ในปัจจุบันยานอนหลับรุ่นหลังๆ ปลอดภัยกว่าและไม่มีผลต่อการเกิดโรคพาร์กินสัน
ยาลดความดันโลหิตสูง ในอดีตมียาลดความดันโลหิตที่มีคุณสมบัติออกฤทธิ์ทำให้สมอง ลดการสร้างสารโดปามีน จึงเกิดโรคพาร์กินสันได้ อย่างไรก็ตามยาควบคุมความดันโลหิตสูงในระยะหลังๆ ส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์ขยายหลอดเลือดส่วนปลาย จึงไม่มีผลต่อสมองที่จะทำให้เกิดโรคพาร์กินสันอีกต่อไป
หลอดเลือดในสมองอุดตัน ทำให้เซลล์สมองที่สร้างสารโดปามีน มีจำนวนน้อยหรือหมดไป
สารพิษทำลายสมอง ได้แก่ พิษสารแมงกานีสในโรงงาน พิษจากสารคาร์บอนมอนนอกไซค์ ซึ่งสามารถทำให้เซลล์สมองเสื่อมและเกิดโรคพาร์กินสันได้
สมองขาดออกซิเจน ในผู้จมน้ำ ถูกบีบคอ หรือมีการอุดตันในทางเดินหายใจจากเสมหะหรืออาหาร เป็นต้น
อุบัติเหตุศีรษะถูกกระทบกระเทือน หรือกระแทกบ่อยๆ เช่น อุบัติเหตุรถยนต์หรือมอเตอร์ไซด์ นักมวยที่ถูกชกศีรษะบ่อยๆ จนเป็นโรคเมาหมัด เช่น โมฮัมหมัด อาลี เป็นต้น
การอักเสบของสมองเอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้
โรคทางพันธุกรรม เช่น โรควิลสัน ที่มีโรคตับพิการร่วมกันโรคสมอง เนื่องจากมีธาตุ ทองแดงไปเกาะในตับและสมองมากจนเป็นอันตรายขึ้นมา
อาการของโรคพาร์กินสันมีอะไรบ้าง ?
คนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการแสดงมากน้อยแตกต่างกันได้มาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอายุของผู้ป่วยระยะเวลาการเป็นโรค และภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา นอกจากมีอาการเด่นคือ สั่น เกร็ง เคลื่อนไหวช้า ทั้ง 3 อย่างนี้แล้วยังอาจเกิดอาการอื่นๆ ร่วมด้วย
อาการสั่น ราว 60-70% ของผู้เป็นโรคพาร์กินสันจะมีอาการสั่นเป็นอาการเริ่มต้นของโรค อาการสั่นนี้จะมีลักษณะเฉพาะคือ สั่นมากเวลาอยู่นิ่งๆ แต่ถ้าเคลื่อนไหวหรือยื่นมือทำอะไรอาการสั่นจะลดลงหรือหายไป (ผิดจากอาการสั่นอีกแบบที่พบบ่อยในผู้สูงอายุทั่วๆ ไปที่จะสั่นมากเวลาทำงาน ถ้าอยู่เฉยๆ จะไม่สั่น) อาการสั่นในโรคพาร์กินสันนี้ถ้านับอัตราเร็วจะพบว่าสั่นราว 4-8 ครั้งต่อวินาที และอาการสั่นของนิ้วหัวแม่มือ-นิ้วมือคล้ายการปั้นลูกกลอน การสั่นจากโรคนี้อาจเริ่มเกิดขึ้นที่มือ แขน ขา คาง ศีรษะหรือลำตัวก็ได้ ระยะแรกของโรคอาจเกิดข้างเดียวก่อนและต่อมาจึงมีอาการทั้งสองข้างก็ได้
อาการเกร็ง จะทำให้รู้สึกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อของร่างกาย โดยเฉพาะแขนขาและลำตัว ทั้งที่ไม่ได้เคลื่อนไหวหรือทำงานหนักแต่อย่างใด กล้ามเนื้อของร่างกายจะมีความตึงตัวสูงและเกร็งแข็งอยู่ตลอดเวลา จนบางคนต้องกินยาแก่ปวดเมื่อยหรือหายามาทาบรรเทาตามร่างกายส่วนต่างๆ หรือหาหมอนวดมาช่วยบีบคลายเส้นเป็นประจำ
อาการเคลื่อนไหวช้า ในระยะแรกๆ จะรู้สึกว่าตัวเองทำอะไรช้าลงไปจากเดิมมาก ไม่กระฉับกระเฉงว่องไวเหมือนเดิม เดินช้า และงุ่มง่าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะต้นๆ ของการเคลื่อนไหว ในรายที่เป็นมากขึ้นอาจพบว่าหกล้มบ่อยๆ จนกระดูกต้นขาหัก สะโพกหัก หลังเดาะ แขนหัก หัวแตก เป็นต้น ในรายที่เป็นมากอาจเดินเองไม่ได้ต้องใช้ไม้เท้า หรือคนคอยพยุง
ท่าเดินผิดปกติ ผู้ที่เป็นโรคพาร์กินสันจะมีลักษณะท่าเดินจำเพาะตัวที่ผิดจากโรคอื่น คือจะเดินก้าวสั้นๆ แบบซอยเท้าในช่วงแรกๆ และต่อมาจะก้าวยาวขึ้นเรื่อยๆ จนเร็วมากและหยุดทันทีทันใดไม่ได้จะล้มหน้าคว่ำเลย นอกจากนี้ส่วนใหญ่จะเดินหลังค่อม ตัวงอโค้งและแขนไม่แกว่งตามเท้าที่ก้าวออกไป มือจะชิดแนบตัวเดินแข็งทื่อแบบหุ่นยนต์
แสดงสีหน้าเฉยเมย ไม่มีอารมณ์เหมือนคนใส่หน้ากาก ไม่ยิ้มหัวเราะหน้าตาทื่อเวลาจะพูดก็จะมีมุมปากขยับเพียงเล็กน้อย เหมือนคนไม่มีอารมณ์
เสียงพูดเครือๆ คนกลุ่มนี้จะพูดเสียงเครือๆ และค่อยมากจนฟังไม่ชัดเจน และยิ่งพูดนานๆ ไป เสียงจะค่อยๆ หายไป ในลำคอ บางรายที่เป็นไม่มากเสียงพูดจะค่อนข้างเรียบรัว และอยู่ในระดับเดียวกันตลอด ไม่มีพูดเสียงหนักเบาแต่อย่างใด
เขียนตัวหนังสือยากขึ้น เป็นไปด้วยความลำบาก และตัวเขียนจะค่อยๆ เขียนเล็กลงๆ จนอ่านไม่ออก
การกลอกตากระตุก ในผู้ป่วยเป็นโรคนี้จะกลอกตาได้ลำบากช้า และไม่คล่องแคล่วในการมองซ้ายหรือขวา บนหรือล่าง ลูกตาจะเคลื่อนไหวแบบกระตุกไม่เรียบ
น้ำลายไหล เป็นอาการที่พบได้บ่อยอย่างหนึ่ง คือมีน้ำลายสออยู่ที่มุมปากสองข้างและไหลลงมาที่บริเวณคาง โดยจะมีน้ำลายมากอยู่ตลอดเวลา
โรคพาร์กินสันรักษาอย่างไร ?
โรคพาร์กินสันนี้ในปัจจุบันสามารถรักษาได้ผลอย่างดีจนเป็นที่น่าพอใจ ทำให้กลับสู่สภาพปกติได้ โดยรักษาด้วย 3 วิธีหลัก คือ
การรักษาทางยา แม้ว่ายาจะไม่สามารถทำให้เซลล์สมองที่ตายไปแล้วฟื้นตัวกลับมาหรืองอกใหม่ทดแทนเซลล์เดิมได้ก็ตาม แต่ยาก็จะทำให้สารเคมีโดปามีนในสมองมีปริมาณที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายได้ การปรับขนาดยาในแต่ละคนที่มีอาการมากน้อยต่างกันจึงมีความสำคัญที่จะไม่ให้ยามากหรือน้อยเกินไป เพราะยาทุกชนิดเป็นดาบสองคมมีทั้งคุณและโทษ ถ้าใช้ไม่ถูกต้องหรือขนาดไม่เหมาะสม โดยเฉพาะยากลุ่มที่ใช้รักษาโรคนี้อาจมีผลแทรกซ้อนต่อหลอดเลือดหัวใจ โรคต้อหิน โรคต่อมลูกหมากโต (ทำให้ปัสสาวะลำบาก) บางคนอาจมีการเคลื่อนไหวผิดปกติหรืออาจมีความสับสนวุ่นวายอันเป็นผลจากยา เป็นต้น อาการที่พบบ่อยอันเป็นผลจากยา คือ อาการทางระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ อาการคลื่นไส้อาเจียนและท้องผูก
การรักษาทางกายภาพบำบัด จุดมุ่งหมายของการรักษาโรคพาร์กินสัน คือทำให้ผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพชีวิตที่ใกล้เคียงกับคนปกติให้มากที่สุด สามารถเข้าสังคมได้ ช่วยเหลือตนเองได้ และมีความสุขทั้งทางด้านจิตใจและร่างกาย การรักษาทางกายภายบำบัดจะช่วยในเรื่องการเคลื่อนไหว ท่าเดิน นั่ง การทรงตัว ตลอดจนแก้ไขอาการต่างๆ เช่น หลังโกง ไหล่ติด ปวดหลัง ปวดเอว ปวดคอ ปวดขา เป็นต้น
การรักษาโดยการผ่าตัด ปัจจุบันมีกรรมวิธีก้าวหน้าทางประสาทศัลยกรรม ซึ่งเพิ่งเริ่มทำกันมาได้ราว 10 ปีนี้เอง เป็นการผ่าตัดสมองโดยเอาเนื้อเยื่อจากต่อมหมวกไต หรือปมประสาทบริเวณคอไปปลูกเลี้ยงในโพรงสมองเพื่อให้เนื้อเยื่อเหล่านี้สร้างสารเคมีโดปามีนขึ้นมาทดแทนส่วนที่สมองขาดไปได้ วิธีการนี้เริ่มใช้กันมากขึ้นทั้งในต่างประเทศและประเทศไทย ผลดีของการรักษาวิธีนี้คือ ผู้ป่วยอาจไม่ต้องรับประทานยาหรือลดขนาดยาลงได้ เพราะยาส่วนใหญ่มีราคาแพงส่วนผลแทรกซ้อนของการผ่าตัดก็ย่อมเกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยมากนิยมผ่าตัดในคนที่อายุน้อยและมีอาการไม่มากนัก ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคพาร์กินสันในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตามภายหลังจากที่ผู้ที่ป่วยเป็นโรคพาร์กินสันได้รับการรักษาแล้วก็อาจกลับมามีการดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และอาจมีอายุยืนยาวเหมือนคนทั่วไป แต่ถ้าไม่ได้รับการรักษาในที่สุดอาจจะพิการและต้องนอนอยู่แต่บนเตียง มีบางคนที่นอนอยู่กับเตียงมานานนับปี เพราะญาติเข้าใจว่าเกิดจากโรคสมองเสื่อมหรือโรคอัมพาตนอนแข็งกับเตียงมาตลอด เดินไม่ได้จึงไม่ได้ให้การรักษาแต่อย่างใด เมื่อมาหาหมอจึงทราบว่าเป็นโรคพาร์กินสัน หลังจากได้รับการรักษาก็ทำให้คุณภาพชีวิตครอบครัวกลับมาดีเหมือนเดิมอีกครั้ง ดังนั้นโรคพาร์กินสันนี้เป็นโรคสั่นสันนิบาต ในปัจจุบันสามารถรักษาได้และคืนชีวิตที่สดใสได้ดังเดิม
ที่มา : นิตยสาร Healthtoday

อัพเดทล่าสุด