ประวัติความเป็นมาของวันภาษาไทยแห่งชาติ วันภาษาไทยแห่งชาติ 2554 ความสำคัญของวันภาษาไทยแห่งชาติ
|
วันภาษาไทยแห่งชาติ
วันที่ ๒๙ กรกฎาคม เป็น “วันภาษาไทยแห่งชาติ” ถือกำเนิดขึ้นด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยในปัญหาการใช้ภาษาไทยที่มีแนวโน้มว่าจะตกต่ำ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธาน และร่วมประชุมทางวิชาการกับผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาไทย ณ ห้อง ๑๐ ตึก ๑ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๕ ซึ่งถือเป็นวันประวัติศาสตร์แห่งวงการ ภาษาไทย ทีเดียว
“ภาษา” เป็นเครื่องหมายแห่งอารยธรรม ชาติใดมีภาษาของตนเอง สามารถสร้างสรรค์วรรณกรรมไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติมากเท่าใด ก็ยิ่งบ่งบอกได้ว่า ชนชาตินั้นๆเป็นผู้มีความรู้ มีความฉลาดปราดเปรื่อง และบ้านเมืองมีความเจริญรุ่งเรือง
ชาติไทยเราก็มี “ภาษา” ของตนเองใช้สื่อสารสืบทอดกันมานานหลายร้อยปี นับตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ทรงประดิษฐ์อักษรไทย เมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๖ เป็นต้นเลยมาทีเดียว และด้วยระยะเวลาที่ยาวนานเช่นนี้ ความเปลี่ยนแปลงทางภาษาย่อมเกิดขึ้นทั้งที่เหมาะ ที่ควร และไม่เหมาะ ไม่ควร เป็นเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชหฤทัยห่วงใยในการใช้ภาษา ได้ทรงมีพระราชดำรัสแจกแจงถึงปัญหาในการใช้ภาษาไทยและพระราชทานพระราชทัศนะต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการใช้ภาษาไทยไว้สามประการ
ประการแรก ได้แก่ การอ่าน หรือ พูด คำบางคำ เสียงไม่ตรงกับตัวเขียนทำให้ภาษาเสียหายได้ ทรงยกตัวอย่างการออกเสียงว่า “หมาวิทยาลัย” ในขณะที่เขียนว่า “มหาวิทยาลัย” เป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ ต้องคัดค้านแก้ไข เป็นต้น
ประการที่สอง เรื่องของการใช้คำแทนรูปประโยค ทรงยกตัวอย่างการนำคำว่า “อุบัติเหตุ” ( accident) ซึ่งมีความหมายถึง สิ่งที่อุบัติขึ้นโดยที่มนุษย์ไม่ต้องประสงค์ ไปใช้กับสิ่งที่มีความหมายของ “เหตุการณ์” ( incident) อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยที่มีความต้องการของมนุษย์ ว่าเป็นการใช้ที่ไม่ถูก ทรงมีพระราชดำรัสว่า มีคำชนิดนี้อีกหลายคำ
ประการที่สาม คือเรื่องของศัพท์บัญญัติ ที่ทรงขอให้ใช้ความระมัดระวังในการบัญญัติและการใช้คำ ดังพระราชดำรัสตอนหนึ่งว่า
“.......คำใหม่ที่ตั้งขึ้น มีความจำเป็นทางวิชาการไม่ใช่น้อย แต่บางคำที่ง่ายๆ ควรจะมี ควรจะใช้คำเก่าที่เรามีอยู่แล้ว ไม่ควรจะมาตั้งศัพท์ใหม่ให้ยุ่งยาก แต่ก็อาจเป็นด้วยเห็นว่าไม่ให้พอ จึงต้องใช้คำใหม่ๆ แต่การตั้งคำใหม่มีหลักหลายประการ และผู้ที่ตั้งคำนั้นต้องรู้คำและหลักของภาษาลึกซึ้ง ทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศ คือ มาจากไหน มาจากความคิดอะไร เพื่อจะไม่ให้ผิดไปอย่างตลกขบขัน.......”
“....เห็นด้วยที่เราควรจะรักษาภาษาภาคเหนือ ภาคใต้ ต้องระวังให้ดี เพราะเป็นแหล่งที่จะไปศึกษาภาษาโดยแท้......การรักษาภาษาในชนบทนั้นต้องทำ อาจไม่ทราบว่าภาษามาจากไหน ภาษาของไทยเราเป็นของจริง อยู่ที่ไหน เพราะว่าเราพยายามก่อขึ้นมาโดยไม่มีหลักฐาน ไม่มีความรอบคอบพอ แล้วก็แพร่ไปต่างจังหวัด ไปทำลายภาษาพื้นเมือง ซึ่งจะเป็นหลักประกันความบริสุทธิ์ของภาษา”
เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังได้ทรงมีพระราชดำรัส ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา แสดงความห่วงใยที่สื่อมวลชนมักออกเสียงวรรณยุกต์ของคำผิด ดังจะขออัญเชิญมาตอนหนึ่ง ว่า
“มีการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์ เสียงสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีกลายเป็นเสียงจัตวา เลยทำให้ฟังดูแปลกๆ...”
เนื่องในโอกาสที่วันภาษาไทยแห่งชาติได้เวียนมาถึง จึงได้น้อมนำความห่วงใยในการใช้ ภาษาไทย และพระราชทัศนะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาทบทวนกันอีกครั้ง เพื่อต่างจะได้สำรวจตนเองว่า นับตั้งแต่ วันที่ ๒๙ กรกฎาคม ปี ๒๕๐๕ และวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๓๔ ที่พระองค์ท่านได้ทรงแสดงความห่วงใยในการใช้ ภาษาไทย ดังที่กล่าวแล้วนั้น มาถึงปี ๒๕๔๙ นี้เหล่าพสกนิกรไทยได้น้อมนำมาปฏิบัติ ใช้ภาษาไทยกันอย่างถูกต้อง คงความงดงาม คงคุณค่าได้มากน้อยเพียงใด
ที่มา
- พระราชกรณียกิจ : สำนักข่าวไทย ๗ พ.ย. ๓๙
- นิตยสารสกุลไทย : ๒๑ ธ.ค. ๔๒
ข้อมูลจาก : บทความพิเศษประกอบรายการของสถานีวิทยุ อสมท. เรื่อง "วันภาษาไทยแห่งชาติ" ผลิตโดย งานบริการการผลิต ส่วนสนับสนุนการผลิตวิทยุ ฝ่ายออกอากาศวิทยุกรุงเทพ