เชื้อราผิวหนัง โรคเชื้อราผิวหนัง สาเหตุเชื้อราผิวหนัง


1,568 ผู้ชม


เชื้อราผิวหนัง โรคเชื้อราผิวหนัง สาเหตุเชื้อราผิวหนัง

 

 

ปกป้องลูก...จาก เชื้อราผิวหนัง (Mother & Care)


         ใน ช่วงที่อากาศร้อนมักจะทำให้เหงื่อออกมากจนเกิดการอับชื้นตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย จึงทำให้เกิด เชื้อรา ได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่ผิวยังบอบบาง และสนุกกับการวิ่งเล่นโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย... 
ดังนั้นเวลาที่ลูกมีเหงื่อออกมาก คุณพ่อคุณแม่จึงต้องดูแล และรักษาความสะอาดผิวหนังของลูกน้อยให้ดี เพื่อไม่ให้เกิดการติดเชื้อราที่ผิวหนัง พญ. ฐิตาภรณ์ วรรณประเสริฐ กุมารแพทย์ด้านผิวหนังเด็ก ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโรคติด เชื้อราที่ผิวหนัง เพื่อคุณพ่อคุณแม่จะได้ปกป้องผิวของลูกจากการติด เชื้อรา และรับมือได้อย่าง ถูกต้อง การติดเชื้อราที่ผิวหนัง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีอาการและการรักษาที่แตกต่างกันไป กลาก(Dermatophytosis) เกิดจากการได้รับเชื้อจากการสัมผัสผู้ที่เป็นโรคหรือติดจากสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว หรือถอดรองเท้าเล่นในพื้นดินที่มีเชื้อรา อาการ : ผิวหนังเป็นผื่นแดง คัน เป็นวงมีขุย หรือตุ่มแดงที่ชอบพบบริเวณหน้า ลำตัว แขน ขา แต่หากเป็นผื่นบริเวณศีรษะจะเรียกว่า ชันนะตุ (Kerion) เป็นก้อนนูน อาจมีตุ่มหนอง พอแตกจะมีน้ำเหลืองเยิ้ม ซึ่งอาจพบผมร่วงหรือมีต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วย รักษา : ถ้า เป็นกลากที่ผิวหนังให้ใช้ยารักษาเชื้อรา ทาวันละ 2 ครั้ง ประมาณ 2-3 สัปดาห์ ส่วนกลากบริเวณศีรษะต้องกินยาร่วมด้วย โดยยาหลักในเด็กคือ กริซีโอฟุลวิน (Griseofulvin) กินนาน 6-8 สัปดาห์ และสระผมด้วยแชมพูที่มีตัวยานี้เป็นส่วนผสมด้วย ป้องกัน : ล้างมือและเท้าของลูกให้สะอาดทุกครั้งหลังการเล่นอาบน้ำทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง หลังอาบน้ำและสระผมแล้ว ควรเช็ดตัวและผมให้แห้ง โดยเฉพาะก่อนนอน เพื่อไม่ให้เกิดการอับชื้น ระวังอย่าให้ลูกคลุกคลีกับผู้ที่เป็นโรค และหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว หวี ผ้าปูที่นอน หมอน เป็นต้น เกลื้อน (Tinea versicolor) พบได้บ่อยทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ พบมากในช่วงอากาศร้อนและในเด็กที่มีเหงื่อออกมาก อาการ : ผิวหนังจะเป็นด่าง เป็นวงสีขาว สีแดง หรือสีขี้เถ้า เป็นขุยละเอียดโดยเริ่มจากจุดเล็กๆ ถึงเป็นวงใหญ่ พบตามลำตัว แขน ขา หน้า หรือคอ มักจะไม่มีอาการคัน รักษา : ใช้ยาทาสำหรับโรคเกลื้อน เช่น โซเดียม ,ไทโอ ซัลเฟต, เซเลเนียม ซัลไฟด์ (Selenium sulfide) หรือยา กลุ่มอิมิดาโซล (Imidazoie) ทาวันละ 2 ครั้ง นานประมาณ 2-4 สัปดาห์ ป้องกัน : รักษาความสะอาดและความแห้งของร่างกายและเสื้อผ้าอยู่เสมอ อย่าใส่เสื้อผ้าที่อับหรือเปียกเหงื่อนานๆ หลังอาบน้ำแล้วให้เปลี่ยนเสื้อใหม่ อย่าใส่เสื้อตัวเดิมที่อับเหงื่อ ยีสต์ (Candidiasis) พบ ได้บ่อยในเด็กตั้งแต่แรกเกิด-อายุ 3 ปี โดยสาเหตุที่พบบ่อยเกิดจากการติดเชื้อแคนดิดาอัลบิแคนส์ (Candida albicans) นอกจากนี้ ยังเกิดจากการได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานาน ในเด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือเด็กที่อ้วนมากจะทำให้เป็นมากขึ้นอาการ : เป็นผื่นแดงเปื่อยบริเวณข้อพับ คอ รักแร้ ขาหนีบ ก้น หรือตามบริเวณที่อับชื้นของร่างกาย ส่วนในทารกแรกเกิดจะมีผื่นในช่องปากตามกระพุ้งแก้มหรือเพดานปาก ลักษณะเป็นแผ่นฝ้าสีขาวคล้ายน้ำนม รักษา : ใช้ยากลุ่มอิมิดาโซล (Imidazole) ทาวันละ 2 ครั้ง นานประมาณ 1-2 สัปดาห์ ถ้าเป็นภายในช่องปากใช้ยาเจนเซียน ไวโอเลต (Gentian violet) หรือใช้ Nystatin suspension ทาวันละ 1-2 ครั้ง ประมาณ 1-2 สัปดาห์ ป้องกัน : หากลูกยังใส่ผ้าอ้อมควรระวังอย่าให้อับชื้น หลังอาบน้ำควรทำความสะอาดและซับตัวให้แห้ง โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ ขาหนีบ และตามซอกไม่ควรโรยแป้งบริเวณที่มีผื่น เพราะเวลาเหงื่อออกจะทำให้ผิวบริเวณที่โรยแป้งมีความอับชื้นมากขึ้น ทั้ง นี้ ถึงแม้ว่าโรคติดเชื้อราทางผิวหนังทั้ง 3 ชนิด จะมีอาการใกล้เคียงกัน แต่หากลูกเริ่มมีอาการหรือสงสัยว่าจะเป็น โรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง คุณพ่อคุณแม่ควรรักษาความสะอาดผิวหนังของลูกให้ดี พาลูกไปพบแพทย์ผิวหนัง เพื่อจะได้วินิจฉัยโรคอย่างถูกต้อง และไม่ควรซื้อยามาทาให้ลูกเอง เพราะอาจเป็นอันตรายได้ค่ะ... 

แหล่งที่มา : 108health.com

อัพเดทล่าสุด