รังแค ผมร่วง แก้ปัญหารังแค วิธีการขจัดรังแค


1,942 ผู้ชม


รังแค ผมร่วง แก้ปัญหารังแค วิธีการขจัดรังแค

 

ปัญหารังแค

ปัญหารังแค เกิดขึ้นที่เซลล์ชั้นบนสุดของหนังศีรษะลอกตัวหลุดออก ตามปกติแล้วเซลล์หนังศีรษะของคนเรา ซึ่งเกิดใหม่จะค่อยๆ เลื่อนจากใต้ผิวหนังขึ้นมาจนถึงผิวชั้นบนสุด และหลุดออกไปในเวลา ประมาณ 28 วันโดยเฉลี่ย โดยเซลล์ที่หลุดออกจะเป็นชิ้นเล็กๆ ที่ตาเปล่ามองไม่เห็น แต่ถ้ามีสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้วงจรนี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้น เช่น จาก 28 วัน เหลือแค่ 7-21 วัน โดยเซลล์ที่หลุดออกแทนที่จะเป็นชิ้นเล็ก กลับมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นขุยสีขาวหรือเทา และมองเห็นได้ชัด แถมยังจะมีอาการคันศีรษะร่วมด้วย แสดงว่ามีรังแคเกิดขึ้น หนังศีรษะมีเซลล์ที่ตายแล้วหลุดลอกอยู่ตลอดเวลา แต่คนที่มีรังแคนั้นเซลล์ผิวหนังจะหลุดลอกเร็วมาก อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ความเครียด ไปจนถึงต่อมน้ำมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป รวมทั้งผิวหนังอักเสบที่เรียกว่า ผื่นรังแค (seborrhoeic dermatitis)

รังแคเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก บางคนอาจมี รังแค มาก บางคนอาจมีรังแคน้อย หรือไม่มีเลยก็ได้ หนังศีรษะที่มี รังแค จะคัน และมีกลิ่นเหม็น จากสถิติพบว่ารังแคมักเกิดขึ้นตั้งแต่อายุก่อน 20 ปี โดยทั่วไปวัยรุ่นจะเริ่มมีรังแค และเมื่ออายุ 50 ปี จะสังเกตพบว่า รังแค เริ่มหายไป จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าชาวคอเคเชียนประมาณครึ่งหนึ่งมีปัญหาเรื่องรังแค

สาเหตุ

  1. รังแคเกิดได้อย่างไรยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเชื้อราชนิดหนึ่ง และฮอร์โมนแอนโดรเจน มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเกิด รังแค ภาวะที่ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สบาย มีความเครียด รังแคอาจกำเริบขึ้นมาอีกได้
  2. เชื้อราที่เกี่ยวข้องกับการเกิดรังแคเป็นเชื้อราเซลล์เดียว หรือที่เรียกว่า 'เชื้อยีสต์' ชื่อวิทยาศาสตร์คือ malassezia หรือชื่อเดิมว่าpityrosporum เชื้อราพวกนี้อาศัยอยู่ที่หนังศีรษะ กินน้ำมันที่สร้างมาจากต่อมรากผมและต่อมไขมันเป็นอาหารโดยปกติไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด แต่บางครั้งพบว่าเชื้อกำเริบและเติบโตรวดเร็วผิดปกติ จะก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังศีรษะ ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวที่เร็วขึ้น และพบมีเซลล์ที่ตายแล้วอยู่บนหนังศีรษะเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดเป็นรังแคในที่สุด
  3. คนที่หนังศีรษะมันมากจึงมักเป็นรังแคง่าย มีหลักฐานบ่งชี้ว่ารังแคมักเกิดจากเชื้อราเซลล์เดียว หรือที่เรียกว่า 'เชื้อยีสต์' ชื่อ พิไทโรสโพรัม ออร์บิคูแลร์ (pityrosporum orbiculare) ซึ่งกินน้ำมันที่ผิวหนังเป็นอาหาร
  4. รังแคยังอาจเกิดจากการรบกวนต่อหนังศีรษะ ซึ่งอาจเป็นทางเคมีหรือกายภาพก็ได้ การรบกวนทางเคมี เช่น แชมพู น้ำยาดัดผม หรือน้ำยาย้อมผม ส่วนการรบกวนทางกายภาพ เช่น การเกา การถู เป็นต้น
  5. บางคนเชื่อว่า รังแคเกิดจากผิวหนังแห้ง ผิวหนังมันเกินไป การสระผมด้วยแชมพูบ่อยเกินไป การสระผมด้วยแชมพูน้อยเกินไป ภาวะโภชนาการไม่ดี ความเครียด หรือใช้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งทรงผมมากเกินไป


แหล่งที่มา : 108health.com

อัพเดทล่าสุด