รักษารังแค ขจัดรังแค วิธีรักษารังแค


2,319 ผู้ชม


รักษารังแค ขจัดรังแค วิธีรักษารังแค

รังแค ที่หนังศรีษะ
      รังแค มีลักษณะเป็นขุยขาวเล็กที่บริเวณหนังศีรษะ ทำให้มีอาการคัน และมองดูไม่สะอาดตา ยิ่งเกายิ่งคัน และจะมีขุยหลุดร่วงมากขึ้น สร้างความรำคาญ และบั่นทอนบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก บางครั้งสามารถรักษาให้หายได้ แต่มักจะกลับเป็นซ้ำได้อีก รังแคจะไม่มีการอักเสบบวมแดงทีบริเวณหนังศีรษะเลย เนื่องจากรังแคคือขุยบนเส้นผม บนหนังศีรษะ อาจมีลักษณะแห้งหรือมันก็ได้ เป็นความแปรปรวนของเซลล์หนังศีรษะที่แบ่งตัวมากขึ้นกว่าปกติ แล้วหลุดออกง่าย  และเร็วกว่าปกติ กลายเป็นขุยขนาดใหญ่ที่สามารถสังเกตได้

ปัญหารังแคเกิดขึ้นที่เซลล์ชั้นบนสุดของหนังศีรษะลอกตัวหลุดออก ตามปกติแล้วเซลล์หนังศีรษะของคนเรา ซึ่งเกิดใหม่จะค่อยๆ เลื่อนจากใต้ผิวหนังขึ้นมาจนถึงผิวชั้นบนสุด และหลุดออกไปในเวลา ประมาณ 28 วันโดยเฉลี่ย โดยเซลล์ที่หลุดออกจะเป็นชิ้นเล็กๆ ที่ตาเปล่ามองไม่เห็น แต่ถ้ามีสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้วงจรนี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้น เช่น จาก 28 วัน เหลือแค่ 7-21 วัน โดยเซลล์ที่หลุดออกแทนที่จะเป็นชิ้นเล็ก กลับมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นขุยสีขาวหรือเทา และมองเห็นได้ชัด แถมยังจะมีอาการคันศีรษะร่วมด้วย แสดงว่ามีรังแคเกิดขึ้น หนังศีรษะมีเซลล์ที่ตายแล้วหลุดลอกอยู่ตลอดเวลา แต่คนที่มีรังแคนั้นเซลล์ผิวหนังจะหลุดลอกเร็วมาก อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ความเครียด ไปจนถึงต่อมน้ำมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป รวมทั้งผิวหนังอักเสบที่เรียกว่า ผื่นรังแค (seborrhoeic dermatitis)

รังแคเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก บางคนอาจมี รังแค มาก บางคนอาจมีรังแคน้อย หรือไม่มีเลยก็ได้ หนังศีรษะที่มีรังแคจะคัน และมีกลิ่นเหม็น จากสถิติพบว่ารังแคมักเกิดขึ้นตั้งแต่อายุก่อน 20 ปี โดยทั่วไปวัยรุ่นจะเริ่มมีรังแค และเมื่ออายุ 50 ปี จะสังเกตพบว่ารังแคเริ่มหายไป จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าชาวคอเคเชียนประมาณครึ่งหนึ่งมีปัญหาเรื่องรังแค

สาเหตุ

  1. รังแคเกิดได้อย่างไรยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเชื้อราชนิดหนึ่ง และฮอร์โมนแอนโดรเจน มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการเกิดรังแค ภาวะที่ร่างกายอ่อนเพลีย ไม่สบาย มีความเครียด รังแคอาจกำเริบขึ้นมาอีกได้
  2. เชื้อราที่เกี่ยวข้องกับการเกิดรังแคเป็นเชื้อราเซลล์เดียว หรือที่เรียกว่า 'เชื้อยีสต์' ชื่อวิทยาศาสตร์คือ malassezia หรือชื่อเดิมว่าpityrosporum เชื้อราพวกนี้อาศัยอยู่ที่หนังศีรษะ กินน้ำมันที่สร้างมาจากต่อมรากผมและต่อมไขมันเป็นอาหารโดยปกติไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด แต่บางครั้งพบว่าเชื้อกำเริบและเติบโตรวดเร็วผิดปกติ จะก่อให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังศีรษะ ทำให้เซลล์มีการแบ่งตัวที่เร็วขึ้น และพบมีเซลล์ที่ตายแล้วอยู่บนหนังศีรษะเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดเป็นรังแคในที่สุด
  3. คนที่หนังศีรษะมันมากจึงมักเป็นรังแคง่าย มีหลักฐานบ่งชี้ว่ารังแคมักเกิดจากเชื้อราเซลล์เดียว หรือที่เรียกว่า 'เชื้อยีสต์' ชื่อ พิไทโรสโพรัม ออร์บิคูแลร์ (pityrosporum orbiculare) ซึ่งกินน้ำมันที่ผิวหนังเป็นอาหาร
  4. รังแคยังอาจเกิดจากการรบกวนต่อหนังศีรษะ ซึ่งอาจเป็นทางเคมีหรือกายภาพก็ได้ การรบกวนทางเคมี เช่น แชมพู น้ำยาดัดผม หรือน้ำยาย้อมผม ส่วนการรบกวนทางกายภาพ เช่น การเกา การถู เป็นต้น
  5. บางคนเชื่อว่า รังแคเกิดจากผิวหนังแห้ง ผิวหนังมันเกินไป การสระผมด้วยแชมพูบ่อยเกินไป การสระผมด้วยแชมพูน้อยเกินไป ภาวะโภชนาการไม่ดี ความเครียด หรือใช้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งทรงผมมากเกินไป

อาการ

  1. ผิวหนังคัน และลอก ซึ่งเป็นได้ทั้งใบหน้า และอก รวมทั้งหนังศีรษะ
  2. รังแค ทำให้มีอาการคัน และมองดูไม่สะอาดตา ยิ่งเกายิ่งคัน และจะมีขุยหลุดร่วงมากขึ้น สร้างความรำคาญ และบั่นทอนบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก บางครั้งสามารถรักษาให้หายได้ แต่มักจะกลับเป็นซ้ำได้อีก
  3. โรคบางอย่างที่ก่อให้เกิดโรครังแคได้ เช่น โรคสะเก็ดเงิน โรคเชื้อราบนหนังศีรษะ โรคผิวหนังอักเสบ การแพ้สารเคมีบางชนิด เป็นต้น
  4. รังแคมีทั้งชนิดผมมัน และชนิดผมแห้ง อาจตรวจสอบได้ง่ายๆ ด้วยการก้มศีรษะลง วางกระดาษดำ หรือผ้าสีเข้มๆ ไว้ตรงหน้า แล้วหวีเอาฝุ่นผงต่างๆ จากเส้นผมออก ดูว่าฝุ่นผงที่หลุดมาจากเส้นผมมีลักษณะอย่างไร ถ้าเป็นผงเล็กๆ เหมือนแป้ง แสดงว่าเป็นปัญหารังแคผมแห้ง แต่ถ้าฝุ่นผงที่หลุดออกมามีลักษณะชิ้นใหญ่ เป็นก้อน และชื้น แสดงว่าเป็นปัญหารังแคผมมัน
  5. โดยทั่วไปรังแคจะไม่มีการอักเสบบวมแดงทีบริเวณหนังศีรษะเลย แต่ถ้ามีรังแคมาก ร่วมกับอาการคัน หรือผื่นแดงที่หนังศีรษะ อาจเป็นอาการของโรคผิวหนัวบางชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม (seborrheic dermatitis) โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) หรือโรคแพ้สารเคมี หรือน้ำยาบางอย่าง

การวินิจฉัย

สามารถให้การวินิจฉัยได้ไม่ยาก ในกรณีที่ไม่แน่ใจว่ามีโรคผิวหนังชนิดอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมด้วยหรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์

การรักษา

  1. ดูแลเอาใจใส่ผมด้วยการสระผมบ่อยๆ จะช่วยให้ดีขึ้นได้ พิจารณาใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของยาบางตัว เช่น เซเลเนี่ยม ซัลไฟด์ (selenium sulfide) , ซิงค์ ไพรีตั้น (zinc pirition) หรือ คีโตโคนาโซล (ketoconazole) เป็นต้น ซึ่งช่วยให้ปัญหารังแคทุเลาเบาบางลงได้ โดยใช้สระผมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ไม่ควรใช้บ่อยเกินไป เนื่องจากมีส่วนผสมของตัวยาที่อาจทำให้ผมแห้งเป็นสีเหลืองน้ำตาลได้ ถ้ามีข้อสงสัยควรปรึกษาแพทย์
  2. เวลาสระผมต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 10 นาทีแล้วค่อยล้างออก เพื่อให้แชมพูออกฤทธิ์เต็มที่ ยิ่งเป็นรังแคมากก็ยิ่งต้องทิ้งไว้นาน ยีให้เป็นฟองทั่วศีรษะ แล้วใช้หมวกอาบน้ำคลุมไว้สัก 1 ชั่วโมงค่อยล้างงออก
  3. เลือกใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของซีลีเนียมซัลไฟด์ (selenium sulphide) ซิงค์ไพริไทออน (zinc pyrithione) หรือทาร์ (tar) สารสองอย่างแรกช่วยยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์หนังศีรษะ มีอยู่ในแชมพูขจัดรังแคสูตรอ่อนโยน เช่น เฮดแอนด์โชลเดอร์ส ส่วนแชมพูที่ผสมทาร์จะยับยั้งการเติบโตของเซลล์ แชมพูทั้งสองชนิดนี้ล้วนขจัดรังแคได้ดีกว่าแชมพูที่ผสมซัลเฟอร์ (sulphur) หรือกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) ซึ่งแค่ทำให้หนังศีรษะหลุดลอกออกมา แล้วล้างออกไประหว่างการสระ
  4. ถ้าใช้แชมพูขจัดรังแคสูตรอ่อนโยนแล้วไม่ดีขึ้น ให้ใช้แชมพูผสมสารคีโตโคนาโซล (ketoconazole) เช่น ไนโซรัล คีโตโคนาโซลเป็นยาฆ่าเชื้อรา จะช่วยฆ่ายีสต์ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิด รังแค
  5. ถ้าใช้แชมพูขจัดรังแคไปสักพักแล้วเริ่มกลับมามีรังแคอีก แสดงว่าหนังศีรษะาจเกิดอาการดื้อยา ลองเปลี่ยนไปใช้แชมพูที่ผสมสารขจัดรังแคชนิดอื่น ใช้ไปสัก 2-3 เดือนแล้วค่อยกลับมาใช้ยี่ห้อเดิม


แหล่งที่มา : 108health.com

อัพเดทล่าสุด