รังแค วิธีขจัดรังแค วิธีกําจัดรังแค


1,520 ผู้ชม


รังแค วิธีขจัดรังแค วิธีกําจัดรังแค


รังแคที่หนังศรีษะ

รังแค มีลักษณะเป็นขุยขาวเล็กที่บริเวณหนังศีรษะ ทำให้มีอาการคัน และมองดูไม่สะอาดตา ยิ่งเกายิ่งคัน และจะมีขุยหลุดร่วงมากขึ้น สร้างความรำคาญ และบั่นทอนบุคลิกภาพเป็นอย่างมาก บางครั้งสามารถรักษาให้หายได้ แต่มักจะกลับเป็นซ้ำได้อีก รังแคจะไม่มีการอักเสบบวมแดงทีบริเวณหนังศีรษะเลย เนื่องจากรังแคคือขุยบนเส้นผม บนหนังศีรษะ อาจมีลักษณะแห้งหรือมันก็ได้ เป็นความแปรปรวนของเซลล์หนังศีรษะที่แบ่งตัวมากขึ้นกว่าปกติ แล้วหลุดออกง่าย  และเร็วกว่าปกติ กลายเป็นขุยขนาดใหญ่ที่สามารถสังเกตได้

ปัญหา รังแค เกิดขึ้นที่เซลล์ชั้นบนสุดของหนังศีรษะลอกตัวหลุดออก ตามปกติแล้วเซลล์หนังศีรษะของคนเรา ซึ่งเกิดใหม่จะค่อยๆ เลื่อนจากใต้ผิวหนังขึ้นมาจนถึงผิวชั้นบนสุด และหลุดออกไปในเวลา ประมาณ 28 วันโดยเฉลี่ย โดยเซลล์ที่หลุดออกจะเป็นชิ้นเล็กๆ ที่ตาเปล่ามองไม่เห็น แต่ถ้ามีสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้วงจรนี้ถูกเร่งให้เร็วขึ้น เช่น จาก 28 วัน เหลือแค่ 7-21 วัน โดยเซลล์ที่หลุดออกแทนที่จะเป็นชิ้นเล็ก กลับมีขนาดใหญ่ขึ้นเป็นขุยสีขาวหรือเทา และมองเห็นได้ชัด แถมยังจะมีอาการคันศีรษะร่วมด้วย แสดงว่ามีรังแคเกิดขึ้น หนังศีรษะมีเซลล์ที่ตายแล้วหลุดลอกอยู่ตลอดเวลา แต่คนที่มีรังแคนั้นเซลล์ผิวหนังจะหลุดลอกเร็วมาก อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ความเครียด ไปจนถึงต่อมน้ำมันผลิตน้ำมันออกมามากเกินไป รวมทั้งผิวหนังอักเสบที่เรียกว่า ผื่นรังแค (seborrhoeic dermatitis)

รังแคเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยมาก บางคนอาจมี รังแค มาก บางคนอาจมี รังแค น้อย หรือไม่มีเลยก็ได้ หนังศีรษะที่มีรังแคจะคัน และมีกลิ่นเหม็น จากสถิติพบว่า รังแค มักเกิดขึ้นตั้งแต่อายุก่อน 20 ปี โดยทั่วไปวัยรุ่นจะเริ่มมีรังแค และเมื่ออายุ 50 ปี จะสังเกตพบว่ารังแคเริ่มหายไป จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าชาวคอเคเชียนประมาณครึ่งหนึ่งมีปัญหาเรื่องรังแค


แชมพูขจัด รังแค หรือ Antidandruff

สารที่เป็น Anti-dandruff นั้น ควรมีคุณสมบัติ 2 อย่าง คือ

  1. ลดการแบ่งตัวของเซลล์ที่หนังศีรษะ และต้านเชื้อแบคทีเรียด้วย ได้แก่ ซิงค์ไพริไทออน (zinc pyrithione หรือ ZPT) และ เซลิเนียมซัลไฟต์ (selenium sulfide)
  2. สามารถลดขุย (keratolytic) ขจัดเซลล์ชั้นที่ตายแล้วให้หลุดออกไป ได้แก่ รีซอร์ซินอล (resorcinol) ซัลเฟอร์ (sulfur) และกรดซาลิซิลิค (salicylic acid)


แหล่งที่มา : 108health.com

อัพเดทล่าสุด