ประเพณีวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษา วันที่เท่าไร เรียงความเรื่องวันเข้าพรรษา


6,376 ผู้ชม


ประเพณีวันเข้าพรรษา วันเข้าพรรษา วันที่เท่าไร เรียงความเรื่องวันเข้าพรรษา


ประเพณีวันเข้าพรรษา

 

ประเพณีวันเข้าพรรษานี้หมายความว่า พระภิกษุอยู่ประจำที่แห่งเดียวใน ฤดูฝน ไม่มีการเที่ยวจาริกไปที่แห่งอื่น และจะต้องกระทำทุกๆ ปี เมื่อถึงวันเข้าพรรษา ซึ่งมีประวัติความเป็นมาดังนี้

ในสมัยที่พระองค์ประทับอยู่ที่พระเวฬุวันนิวาสนสถานในครั้งนั้น พระองค์ยังมิได้ทรงบัญญัติการจำพรรษาไว้แก่พระภิกษุสงฆ์ ภิกษุทั้งหลายได้พากันจาริกไปในที่ต่างๆ ทั้งฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาวตลอดปี คนทั้งหลายก็พากันติเตียนว่า ภิกษุทั้งหลายได้พากันไปในที่ต่างๆ ทั้งในฤดร้อน ฤดูฝนและฤดูหนาว โดยไม่มีการพักผ่อนเลย ได้พากันเหยียบย่ำต้นข้าว เบียดเบียนสิ่งที่มีชีวิต ส่วนพวกปริพาชกซึ่งเป็นพวกเดียรถีย์ ซึ่งเป็นพวกที่ไม่มีธรรมวินัยก็ยังรู้จักหยุดพักเที่ยวเตร่ในฤดูฝน และแม้แต่พวกนกหนูก็ยังรู้จักทำรังตามต้นไม้ในฤดูฝน ส่วนภิกษุนั้นยังได้จาริกไปในฤดูร้อน ฤดูฝน ฤดูหนาวไม่มีการพักผ่อน

ภิกษุทั้งหลายได้ยินคำติเตียนเช่นนั้น ได้พากันไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายจำพรรษา

ภิกษุทั้งหลายก็พากันคิดว่าจะจำพรรษาเมื่อใดหนอ จึงกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงทราบพระพุทธองค์จึงตรัสว่า เราอนุญาตให้เข้าพรรษาในฤดูฝน ภิกษุทั้งหลายก็มีความสงสัยจึงคิดอีกว่าวันเข้าพรรษาเป็นวันไหนกันแน่ ก็พากันไปกราบทูลสมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงทราบอีก พระพุทธองค์จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วันเข้าพรรษามีอยู่ 2 วันด้วยกัน คือ วันเข้าพรรษาต้นและวันเข้าพรรษาหลัง วันเข้าพรรษาต้นนั้นได้แก่ เดือน 8 แรม 1 ค่ำ วันเข้าพรรษาหลังได้แก่เดือน 9 แรม 1 ค่ำ

ครั้นสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ กรุงราชคฤห์แล้วเสด็จไปสู่กรุงสาวัตถี และประทับอยู่ ณ เชตวนารามในครั้งนั้น มีอุบาสกคนหนึ่งชื่อ อุเทน แห่งประเทศโกศล ได้สร้างวิหารถวายสงฆ์แล้วได้ใช้ให้ตนไปนิมนต์ภิกษุทั้งหลายว่า ขอพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจงมา ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะให้ทาน ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะฟังธรรม ข้าพเจ้ามีความประสงค์จะเห็นภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุทั้งหลายได้ตอบว่า สมเด็จพระผู้มีภาคเจ้าทรงบัญญัติไว้ว่า ภิกษุเข้าพรรษาแล้ว ต้องให้อยู่ประจำตลอด 3 เดือน จะไปเที่ยวในที่ต่างๆ ตามความประสงค์เหมือนยังไม่ได้เข้าพรรษาไม่ได้ ขออุเทนอุบาสกจงรอก่อน เมื่อหมดเขตเข้าพรรษาแล้วภิกษุทั้งหลายจะรีบพากันไป แต่ถ้าอุเทนอุบาสกมีสิ่งที่จะต้องทำด่วนแล้ว ก็ควรให้อุเทนอุบาสกถวายวิหารแก่ภิกษุที่ประจำอยู่ในอารามใกล้ๆ นั้นเถิด

อุเทนอุบาสกไม่พอใจ ถึงกับกล่าวติเตียนว่าเมื่อเราได้ส่งข่าวไปแล้ว อย่างไรพระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายจึงไม่มา เราก็เป็นทายกผู้ทำกิจการงานของสงฆ์ เป็นผู้อุปัฏฐากสงฆ์

ภิกษุทั้งหลายได้ยินคำติเตียนของอุเทนอุบาสกดังนี้แล้ว ก็พากันไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่า ตถาคตอนุญาตให้ไปได้ตลอด 7 วัน ผู้ที่จะไป ได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี นาง สิกขมานา สามเณร สามเณรี อุบาสก อุบาสิกา แต่เมื่อไปแล้วต้องกลับมาให้ทันภายใน 7 วัน

ถ้ามีอุบาสกจะสร้างวิหาร เพิง ปราสาท ปราสาทโล้น ถ้ำ บริเวณ ซุ้มประตู เรือนไฟ ศาลาเรือนไฟ สระโบกขรณี มณฑป อาราม พื้นอาราม ฯลฯ แล้วได้ส่งข่าวให้คนไปนิมนต์ภิกษุว่า ขอให้พระผู้เป็นเจ้ามา ข้าพเจ้าทั้งหลายมีความประสงค์จะให้ทาน มีความประสงค์จะฟังธรรมมีความประสงค์จะเห็นภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหลายก็ควรจะไปได้ แต่ต้องกลับมาให้ทันภายใน 7 วัน

การทำบุญเข้าพรรษาในสมัยกรุงสุโขทัย ในหนังสือนางนพมาศกล่าวไว้ว่า

ครั้นถึงเดือน 8 นักขัตฤกษ์บูชาใหญ่ การพระราชพิธีอาฬาตมาส พระวาบุตร พุทธโนรสในพระศาสนาจะจำพรรษาเป็นมหาสันนิบาตทุกพระอาราม ฝ่ายบรรณาจารย์ก็จะเข้าพรตสมาทานศีล บริโภคกระยาบวชบูชาคุณพิธีกึ่งเดือนของสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งทางนักการให้จัดแจงตกแต่งเสนาสนะทุกพระอารามหลวง แล้วก็ทรงถวายบริขารสมณะ เป็นต้นว่า เตียงตั่งที่นั่งนอน เสื่อสาด ลาดปูเป็นสังฆทานและผ้าวัสสาวาสิกภัตร สลากภัตร คิลานภัตร ทั้งประทีปเทียนจำนำพรรษา บูชา พระบรมธาตุ พระพุทธปฏิมากร พระปริยัติธรรม สิ้นไตรมาส ถวายธูปเทียนชวาลา น้ำมันตามไส้ประทีป แด่พระภิกษุสงฆ์ บรรดาจำพรรษาในพระอารามหลวงทั้งในกรุงและนอกกรุง ทั่วถึงตามลำดับ

ประการหนึ่ง ทรงพระราชอุทิศเครื่องกระยาบวชสังเวยพลีกรรมพระเทวรูปในเทวสถานหลวงทุกสถาน ทั้งสักการะหมู่พราหมณาจารย์ ซึ่งจำพรตอ่านศวรเวท เพทางคศาสตร์ บูชาพระผู้เป็นเจ้าด้วยเศวตพัสตราภรณ์ และเครื่องกระยาบวช ทั้งประทีปธูปเทียน วิเลปนะ ให้บูชาคุณโดยพระราชศรัทธา ในพระพุทธศาสนาไสยศาสตร์เจือกัน

ในปัจจุบันนี้ การทำบุญเข้าพรรษาก็มีต่อเนื่องกันทุกปีมิได้ขาด มีการทำบุญตักบาตร มีการเวียนเทียนรอบพระอุโบสถ บรรดาอุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายต่างเข้าวัด ฟังเทศน์ ฟังธรรม รักษาศีล ภาวนา โดยเฉพาะที่เป็นวันธรรมสวนะ ก็มีการถือศีลโดยเคร่งครัด

โดยที่ในช่วง 3 เดือนนี้พระจะออกไปค้างคืนที่ไหนไม่ได้ จะต้องศึกษา พระธรรมวินัยอยู่ในวัด ฉะนั้น ประชาชนควรจะจัดถวายสิ่งของเรียกว่าจตุปัจจัย คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม (รวมทั้งผ้าอาบน้ำฝน) ยารักษาโรค ที่อยู่อาศัย ดอกไม้ ธูปเทียน แก่ภิกษุสามเณรและเกิดประเพณีถวายของเข้าพรรษาขึ้น เช่น ผ้าอาบน้ำฝน ดอกไม้ ธูปเทียน เครื่องสักการบูชา ของรับประทาน และเทียนพรรษาที่ชาวบ้านช่วยกันทำ และมีการทำความดีละเว้นความชั่ว เช่น นักดื่มสุราบางคนไม่ดื่ม ระหว่าง เข้าพรรษา

นอกจากนี้การบวชพระนิยมบวชกันในฤดูนี้ด้วย
แหล่งที่มา : ilwc.aru.ac.th


อัพเดทล่าสุด