ความสำคัญของวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ความหมาย วันอาสาฬหบูชา วีดีโอวันอาสาฬหบูชา
|
วันอาสาฬหบูชา แปลว่า วันแห่งการบูชาในเดือน ๘
ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘ ของทุกปี
วันนี้เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง ปักหลักพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกในโลก ถือเป็นวันสำคัญอย่างยิ่งต่อ พุทธศาสนิกชนทั่วโลกด้วยเหตุ ๓ ประการ คือ
ประการที่ ๑ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงพระปฐมเทศนา เรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งการแสดงธรรมครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นการปักหลักพระพุทธศาสนาไว้ในโลกนี้ อย่างเป็นทางการและสมบูรณ์แบบที่สุด เพราะ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เป็นแม่บทของพระธรรม คำสอนทั้งหมดที่มีในพระพุทธศาสนา
เนื้อหาโดยย่อ พระองค์ทรงแสดงธรรมให้เหล่านักบวชปัญจวัคคีย์ เกิดความเข้าใจถูกต้องตามความเป็นจริง ในเรื่องหนทางปฏิบัติ ที่ไม่นำไปสู่การพ้นทุกข์ และหนทางปฏิบัติที่นำไปสู่การพ้นทุกข์
๑. หนทางปฏิบัติที่ไม่นำไปสู่การพ้นทุกข์ ได้แก่
๑.๑ กามสุขัลลิกานุโยค คือ การลุ่มหลงมัวเมาในกาม
๑.๒ อัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตนเอง
๒. หนทางปฏิบัติที่นำไปสู่การพ้นทุกข์อย่างแท้จริง คือ มัชฌิมาปฏิปทา หรือมรรคมีองค์ ๘
มรรคมีองค์ ๘ เป็นหนทางเอกสายเดียวที่นำผู้ปฏิบัติ อย่างจริงจังไปสู่การบรรลุธรรมภายใน อาศัยธรรมจักขุภายในตามเห็นอริยสัจ ๔ ภายในไปตามลำดับๆ จนกระทั่งกำจัดกิเลสได้หมดสิ้นเด็ดขาด เป็นพระอรหันต์ตามพระพุทธองค์ไป
ประการที่ ๒ เป็นวันที่มีพระสงฆ์บังเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก คือ หลังจากพระพุทธองค์ตรัส พระปฐมเทศนาจบลง หัวหน้านักบวชปัญจวัคคีย์ คือท่านโกญฑัญญะได้เกิดดวงตาเห็นสัจธรรมภายใน ตามคำเทศน์ของพระองค์ การเห็นธรรมของท่านในครั้งนี้ จึงกลายเป็นพยานยืนยันการตรัสรู้ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปในทันที และพระองค์ได้ประทานการบวชแบบเอหิภิกขุ อุปสัมปทาแก่ท่าน ทำให้มีพระสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนาบังเกิดขึ้นมา
ประการที่ ๓ เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบ ๓ ประการ คือ พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ซึ่งหมายถึงว่าพระพุทธศาสนาได้บังเกิดขึ้นในโลกนี้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ดวงตะวันแห่งการหลุดพ้น จากทุกข์ภัยในวัฏสงสารได้ส่องสว่างให้แก่มวลสรรพสัตว์แล้ว
ประเพณีนิยมในวันอาสาฬหบูชา
จากความสำคัญทั้งสามประการในวันอาสาฬหบูชานี้ ทำให้ปู่ย่าตายายท่านจับหลักได้ว่า การเรียนสรรพวิชาใดๆ ก็ตาม ผู้ที่จะแตกฉาน ลึกซึ้งในความรู้นั้นได้ มีความจำเป็นต้องศึกษาแม่บทให้แตกฉานก่อน เช่น ถ้าเป็นวิชาคำนวณในทางโลกต้องใช้สูตรคูณเป็นแม่บท ในทางธรรมก็เช่นเดียวกัน การที่จะศึกษาธรรมะให้แตกฉาน ต้องศึกษาธัมมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นแม่บททางธรรม
ปู่ย่าตายายท่านจับหลักตรงนี้ได้ เมื่อถึง วันอาสาฬหบูชา ท่านจึงขวนขวายไปวัดเพื่อฟังพระธรรมเทศนาเรื่องธัมมจักกัปปวัตตนสูตร เพื่อเป็นการทบทวนแม่บทธรรมะทั้งหมดใน พระพุทธศาสนาให้เข้าใจและซาบซึ้งยิ่งขึ้น
ข้อคิดที่ได้จากตรงนี้คือ ไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม ทั้งที่เป็นประโยชน์ส่วนตัว และประโยชน์ของหมู่คณะ ทั้งหมู่คณะเล็ก เช่น ครอบครัว และหมู่คณะใหญ่ คือประเทศชาติ จะต้องมีหลักการที่ชัดเจน มีแม่บทที่ชัดเจน ที่ทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติตาม และหลักการนั้นจะต้องสอดคล้องกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนาด้วย อีกทั้งต้องถูกนำมาประพฤติปฏิบัติ จนกระทั่ง หลักการที่ดีเหล่านั้นกลายเป็นนิสัยประจำตัว นิสัยประจำชาติ จึงจะส่งผลให้ตนเอง หมู่คณะ และประเทศชาติเจริญขึ้น และสงบสุขอย่างยั่งยืน
ความสำคัญของวันเข้าพรรษา
วันเข้าพรรษาตรงกับวันแรม ๑ ค่ำเดือน ๘ เป็นวันแรกของการเริ่มต้นเข้าสู่ฤดูกาลอบรม ศีลธรรมอย่างเข้มข้นของชาวพุทธทั่วโลก ซึ่งมีระยะเวลาสามเดือน
ในช่วงเข้าพรรษาสามเดือนนี้ ถือเป็นช่วงที่พระภิกษุอยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตา ทั้งที่เป็น พระภิกษุครูบาอาจารย์ และพระภิกษุที่บวชใหม่ ทำให้สามารถจัดกิจกรรมอบรมศีลธรรม ภายในวัดได้อย่างเข้มข้น เพื่อให้พระภิกษุทั้งวัด มีคุณธรรมพร้อมบริบูรณ์ พอถึงวันออกพรรษาก็พร้อม ที่จะทำหน้าที่ครูบาอาจารย์ แยกย้ายกันไปทั่วโลก เพื่อเทศน์สอนญาติโยมให้เป็นคนดีมีศีลธรรม
ปู่ย่าตาทวดของไทยให้ความสำคัญ กับการอบรมศีลธรรมแบบเข้มข้นนี้มาก เพราะท่านทราบดีว่า ประเทศชาติจะอยู่เย็นเป็นสุขได้ ประชาชนต้องมีศีลธรรม จึงได้เกิดธรรมเนียมประเพณีของไทย ขึ้นมาว่า ผู้ชายที่อายุ ๒๐ ปีขึ้นไป พอถึงเวลาต้องพยายามมาบวช ในช่วงเข้าพรรษาให้ได้ เมื่อครบ สามเดือน ก็ถือว่าได้ผ่านการอบรมศีลธรรม อย่างเข้มข้นจนมีธรรมะ เป็นหลักในใจกันแล้ว จึงค่อยลาสิกขา ออกไปทำภารกิจอย่างอื่นได้
แต่ในปัจจุบันชาวไทยให้ความสำคัญ ต่อการบวชช่วงเข้าพรรษานี้น้อยลงไปมาก ทำให้จิตใจแข็งกระด้าง มีการก่อเหตุร้ายในบ้านเมืองมากขึ้น ถ้ามาวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาความไม่สงบต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จะพบว่าเป็นเพราะการไม่เห็นคุณค่าของการอบรมศีลธรรม แบบเข้มข้นในช่วงเข้าพรรษานี้เองเป็นสาเหตุสำคัญ และถ้ายังไม่ย้อนกลับมา ประพฤติปฏิบัติตาม เส้นทางที่บรรพบุรุษไทยปูพื้นไว้ให้ เหตุการณ์ในสังคมก็จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นไปอีก
ประเพณีนิยมในวันเข้าพรรษา
|
ประเพณีในวันเข้าพรรษา ที่ปฏิบัติกันในคณะสงฆ์โดยเฉพาะนั้น ช่วงเช้าพระภิกษุจะมาประชุมในโบสถ์ เจ้าอาวาสจะเป็นผู้ให้โอวาท และบอกข้อกำหนดใน การประพฤติปฏิบัติตัวในช่วง ๓ เดือน
นอกจากนี้ยังมีธรรมเนียมสงฆ์ที่ปฏิบัติ สืบต่อกันมาจนเป็นประเพณีที่ดีงามในวันเข้าพรรษา อีกหลายพิธี ได้แก่
๑. การอธิษฐานพรรษา
ก่อนเข้าพรรษาอย่างน้อย ๗ วัน พระเถระสมัยโบราณโดยเฉพาะหลวงปู่วัดปากน้ำ ท่านจะให้ทบทวนความประพฤติของตนเองว่า มีข้อบกพร่องในเรื่องใด พอถึงวันเข้าพรรษาก็นำเรื่อง ที่ทำให้เสียหายมากที่สุด มาอธิษฐานเป็น บทฝึกตัวประจำพรรษา คือตั้งใจงดเว้นหรือ เลิกความประพฤติ นั้นๆ ให้ได้ตลอดสามเดือน
๒. พิธีขอขมา
มีพิธีขอขมากันของพระผู้ใหญ่และพระผู้น้อย เพราะแม้ว่าจะปรารถนาดีต่อกัน แต่เมื่อยังไม่หมดกิเลส ก็อาจมีการล่วงเกินกันบ้าง ก็จะได้ใช้โอกาสนี้ มาขอขมาซึ่งกันและกัน เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขและเพื่อความเจริญก้าวหน้าในพระธรรมวินัย ต่อไป
๓. พิธีขอนิสัย
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรง ให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดนิสัย หรือการถ่ายทอดคุณธรรมมาก นอกจากจะทรงให้ พระผู้ใหญ่ทำหน้าที่ถ่ายทอด ความรู้ทางด้านธรรมะให้พระผู้น้อยแล้ว พระองค์ยังทรงให้ถ่ายทอดนิสัยดีๆ ให้อีกด้วย ดังนั้นใน วันเข้าพรรษานี้ จึงมีประเพณีสำหรับพระพรรษา ๑ ถึงพรรษา ๕ เรียกว่า พิธีขอนิสัย
ข้อปฏิบัติของคณะสงฆ์ที่ดีงาม ซึ่งถ่ายทอดผ่านธรรมเนียมประเพณีในวันเข้าพรรษานี้ ปู่ย่าตาทวดให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก นอกจากฝ่ายชายที่มีอายุครบ ๒๐ ปี จะมาบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ท่านที่ไม่ได้บวชทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชาย ก็อธิษฐานตัดใจหักดิบเลิกอบายมุข ทุกชนิดอย่างเด็ดขาด บางท่านอธิษฐานรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ ตลอดทั้งพรรษา บางท่านอธิษฐานนั่งสมาธิวันละหนึ่งชั่วโมงตลอดทั้งพรรษา คือปู่ย่าตาทวดท่านทุ่มเทจิตใจ เพื่ออบรมศีลธรรม ให้แก่ตนเองอย่างเข้มข้น
ข้อคิดที่ได้จากตรงนี้ ก็คือ หากครอบครัวใด หรือสถาบันการศึกษาใด นำประเพณีของ พระภิกษุในช่วงเข้าพรรษานี้ไปประพฤติปฏิบัติอย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการอธิษฐานจิตหักดิบ เลิกอบายมุขทุกประเภท และตั้งใจทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา กันตลอดทั้งพรรษา ย่อมจะเกิดประโยชน์ทั้งในด้านครอบครัว การศึกษา การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งจะส่งผลดีต่อสังคม โดยรวมอย่างยิ่งต่อไป และย่อมจะส่งผลถึงการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวต่อไป ตราบชั่วลูกชั่วหลานนานนับพันปี
แหล่งที่มา : kalyanamitra.org