ประวัติวันอาสาฬหบูชาเป็นภาษาอังกฤษ ทำบุญวันอาสาฬหบูชา กิจกรรมในวันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา
วันอาสาฬหบูชา (บาลี: อาสาฬหปูชา) (อังกฤษ: Asalha Puja) เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาของชาวพุทธเถรวาทในประเทศไทย อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก "อาสาฬหปูรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ" อันเป็นเดือนที่สี่ตามปฏิทินของอินเดีย ตรงกับวันเพ็ญ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย (มักจะตรงกับเดือนมิถุนายน หรือเดือนกรกฎาคม)
วันอาสาฬหบูชา ได้รับการยกย่องเป็นเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน ( 45 ปี ก่อนพุทธกาล) ในวันอาสาฬหปุรณมีดิถี หรือวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8) ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นมคธ ซึ่งเป็น วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก (ปฐมเทศนา) คือ (ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร) แก่ปัญจวัคคีย์ ซึ่งการแสดงธรรมครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญะ 1 ใน 5 ปัญจวัคคีย์ เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมของพระพุทธเจ้า จนได้ดวงตาเห็นธรรมหรือบรรลุเป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ท่านจึงขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า (พระพุทธศาสนา) ด้วยวิธี เอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงกลายเป็นพระสงฆ์องค์แรกในโลก และด้วยเหตุที่ท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอริยบุคคล (อนุพุทธะ) เป็นคนแรก จึงทำให้ พระรัตนตรัยครบองค์ 3 บริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบสามรัตนะ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า วันพระธรรมจักร (วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก) และ วันพระสงฆ์ (วันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นครั้งแรก) อีกด้วย
การบูชาในเดือน 8 หรือ วันอาสาฬหบูชา ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรี (มหาเถรสมาคม) ในสมัยนั้น ได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา (ในประเทศไทย) ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้น ทำให้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 เป็นต้นมา เมื่อถึงวันเพ็ญเดือน 8 ของทุกปี (หรือเดือน 8 หลัง ในปีที่มีอธิกมาส) พุทธศาสนิกชนชาวไทย ทั้งพระมหากษัตริย์ พระสงฆ์ และประชาชน จะร่วมกันจัดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นอย่างพร้อมเพรียงทั่วราชอาณาจักร เพื่อเป็นการบำเพ็ญกุศลและบูชารำลึกถึงวันสำคัญยิ่งของชาวพุทธนี้
ความสำคัญ
เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาในวัน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นดังนี้ (เนื้อหาตาม ประกาศสำนักสังฆนายก เรื่องกำหนดพิธีอาสาฬหบูชา)
เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา
เป็นวันแรกที่พระบรมศาสดาทรงแสดงพระธรรมจักร์ ประกาศสัจจธรรม อันเป็นองค์แห่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ
เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกบังเกิดขึ้นในโลก คือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ได้รับประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนั้น
เป็นวันแรกที่บังเกิดสังฆรัตนะ สมบูรณ์เป็นพระรัตนตรัย คือ พระพุทธรัตนะ พระธรรมรัตนะ พระสังฆรัตนะ
ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักสังฆนายก เรื่อง กำหนดพิธีอาสาฬหบูชา,
เล่ม ๗๕, ตอน ๕๗, ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๑, หน้า ๒๑๖๙
เหตุการณ์สำคัญที่เกิดในวันอาสาฬหบูชา
หลังจากพระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 แล้ว ในชั้นแรกพระองค์ทรงคำนึงว่า ธรรมะที่พระองค์ได้ตรัสรู้นั้นเป็นของลึกซึ้ง ยากที่คนจักรู้ได้ แต่หลังจากพระพุทธองค์ได้ทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพุทธจักษุ ทรงเห็นว่า มนุษย์ทั้งหลายอุปมาดั่งดอกบัวสี่เหล่าที่จักสอนให้รู้ตามพระองค์ได้ง่ายก็มีสอนได้ยากก็มี ฯลฯ จึงทรงตั้งพระทัยที่จะนำสิ่งที่พระองค์ตรัสรู้มาสอนแก่มนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ได้ทรงพิจารณาหาบุคคลที่สมควรจะแสดงธรรมที่พระองค์ได้ตรัสรู้โปรดก่อนเป็นบุคคลแรก ในครั้งแรกพระองค์ทรงระลึกถึง อาฬารดาบสกาลามโคตร และ อุทกดาบสรามบุตร ก่อน ซึ่งทั้งสองท่านเป็นพระอาจารย์ที่พระองค์ได้เข้าไปศึกษาในสำนักของท่านก่อนปลีกตัวออกมาแสวงหาโพธิญาณด้วยพระองค์เอง ก็ทรงทราบว่าทั้งสองท่านได้เสียชีวิตแล้ว จึงได้ทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ผู้ที่เคยอุปัฏฐากพระองค์ในระหว่างที่ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา และทรงทราบด้วยพระญาณว่า ปัญจวัคคีย์พำนักอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี พระองค์จึงตั้งใจเสด็จไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวันเพื่อแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ทั้งห้าเป็นครั้งแรก
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จไปถึงที่พักของเหล่าปัญจวัคคีย์ ในวันเพ็ญเดือน 8 (อาสาฬหมาส) ปัญจวัคคีย์ได้เห็นพระพุทธเจ้ามาแต่ไกล ด้วยเหตุที่ปัญจวัคคีย์รังเกียจว่า "เจ้าชายสิทธัตถะผู้ได้เลิกการบำเพ็ญทุกขกิริยาหันมาเสวยอาหารเป็นผู้หมดโอกาสบรรลุธรรมได้เสด็จมา" จึงได้นัดหมายกันและกันว่า "พวกเราไม่พึงอภิวาท ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับพระองค์ ไม่พึงรับบาตรจีวรของพระองค์ แต่พึงวางอาสนะไว้ ถ้าพระองค์ปรารถนาจะนั่งก็จักประทับนั่งเอง"
ครั้นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปถึงกลุ่มพระปัญจวัคคีย์ พระปัญจวัคคีย์นั้นกลับลืมข้อตกลงที่ตั้งกันไว้แต่แรกเสียสิ้น ต่างลุกขึ้นมาต้อนรับพระพุทธเจ้า รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย พระพุทธเจ้าจึงประทับนั่งบนอาสนะที่พระปัญจวัคคีย์จัดถวายไว้
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "เราตถาคตเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ พวกเธอจงเงี่ยโสตสดับ เราได้บรรลุอมฤตธรรมแล้ว เราจะสั่งสอน จะแสดงธรรม พวกเธอปฏิบัติอยู่ตามที่เราสั่งสอนแล้ว ไม่ช้าสักเท่าไร จักทำให้เข้าใจแจ้งซึ่งคุณอันยอดเยี่ยม อันเป็นที่สุดแห่งพรหมจรรย์ ที่คนทั้งหลายผู้พากันออกบวชจากเรือนต้องการ ด้วยปัญญาอันยิ่ง ด้วยตนเอง"
แรกทีเดียวพระปัญจวัคคีย์ยังไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ จึงค้านถึงสามครั้งว่า "แม้ด้วยจริยานั้น แม้ด้วยปฏิปทานั้น แม้ด้วยทุกกรกิริยานั้น พระองค์ก็ยังไม่ได้บรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นพิเศษ อย่างประเสริฐ อย่างสามารถ ก็บัดนี้พระองค์เป็นผู้มักมาก คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นคนมักมาก ไฉนจักบรรลุอุตตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ ความเห็นพิเศษอย่างประเสริฐอย่างสามารถได้เล่า"
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า "พวกเธอยังจำได้หรือว่า เราได้เคยพูดถ้อยคำเช่นนี้มาก่อน"
พระปัญจวัคคีย์ จึงได้ยอมเชื่อฟังพระผู้มีพระภาค เงี่ยโสตสดับ ตั้งจิตเพื่อรู้ยิ่ง
พระพุทธองค์ทรงจึงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเรียกว่า ปฐมเทศนา เป็นการยังธรรมจักรคือการเผยแผ่พระธรรมให้เป็นไปเป็นครั้งแรกในโลก
เมื่อพระพุทธองค์ตรัสแสดงพระปฐมเทศนานี้อยู่ ดวงตาเห็นธรรม ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า "สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้น เป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา"
พระพุทธองค์ทรงทราบความที่พระโกณฑัญญะเป็นผู้ได้ดวงตาเห็นธรรม เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในคำสอนของพระองค์ จึงทรงเปล่งพระอุทานว่า "อัญญา สิ วตโภ โกฑัญโญ" ท่านผู้เจริญ ท่านโกณฑัญญะ รู้แล้วหนอ เพราะเหตุนั้น คำว่า "อัญญา" นี้ จึงได้เป็นคำนำหน้าชื่อของท่านพระโกณฑัญญะ
เมื่อท่านพระโกณฑัญญะได้บรรลุโสดาบันแล้ว จึงได้กราบทูลขอบรรพชาอุปสมบท พระพุทธองค์จึงทรงประทาน เอหิภิกขุอุปสัมปทา ว่า "เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด"
ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะจึงนับเป็น พระสงฆ์อริยสาวกองค์แรก ในพระพุทธศาสนา ซึ่งวันนั้นเป็นวันเพ็ญ กลางเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน 8 เป็น วันที่พระรัตนตรัยครบบริบูรณ์ บังเกิดขึ้นในโลกเป็นครั้งแรก คือมี "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์" ครบบริบูรณ์
การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในประเทศไทย
วันอาสาฬหบูชา ได้ถูกกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2501 โดยคณะสังฆมนตรี (มหาเถรสมาคม) ในสมัยนั้น ได้มีมติให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา (ในประเทศไทย) ตามคำแนะนำของ พระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) [6] โดยคณะสังฆมนตรีได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาพร้อมทั้งกำหนดพิธีอาสาฬหบูชาขึ้น เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501
ไม่ปรากฏหลักฐานในประเทศไทยว่าในสมัยก่อน พ.ศ. 2501 เคยมีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชามาก่อน ทำให้การกำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของสำนักสังฆนายกในครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่มีการกำหนดแบบแผนการประกอบพิธีนี้อย่างเป็นทางการ โดยหลังจากปี พ.ศ. 2501 ซึ่งเป็นปีแรกที่เริ่มมีการรณรงค์ให้มีการประกอบพิธีอาสาฬหบูชา พุทธศาสนิกชนชาวไทยได้ร่วมใจกันประกอบพิธีนี้กันอย่างกว้างขวางและแพร่หลายไปทุกจังหวัด จนกลายเป็นพิธีสำคัญของพุทธศาสนิกชนไทยตั้งแต่นั้นมา ดังนั้นในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2505 คณะรัฐมนตรีนำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น จึงได้ลงมติให้ประกาศกำหนดเพิ่มให้วันอาสาฬหบูชา หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 (สำหรับปีไม่มีอธิกมาส) และวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หลัง (ในปีมีอธิกมาส) เป็นวันหยุดราชการประจำปีอีก 1 วัน เพื่อเป็นการให้ความสำคัญกับวันสำคัญยิ่งของชาวพุทธนี้และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่พุทธศาสนิกชนที่จะไปประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนาด้วยอีกประการหนึ่ง
แหล่งที่มา : zazana.com