หลักธรรมวันอาสาฬหบูชา กิจกรรมวันอาสาฬหบูชามีอะไรบ้าง หลักธรรมในวันอาสาฬหบูชา


2,433 ผู้ชม


หลักธรรมวันอาสาฬหบูชา กิจกรรมวันอาสาฬหบูชามีอะไรบ้าง หลักธรรมในวันอาสาฬหบูชา

 

 

 

ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันอาสาฬหบูชา

4
วัฒนธรรมทางด้าน ขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นวิถีชีวิตที่อยู่คู่คนไทย ประเทศไทยมีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ดังนั้น วันสำคัญทางศาสนาจึงมีความผูกพันกับการดำเนินชีวิตของคนไทยโดยตรง สำหรับผู้ที่เข้าใจและน้อมนำมาปฏิบัติก็จัดว่าเป็นคนดี มีคุณธรรม ศีลธรรม มีหลักธรรมทางศาสนาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว ซึ่งจะนำความสำเร็จให้เกิดขึ้นในชีวิต

วันอาสาฬหบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ หรือ เดือน ๘ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศ พระศาสนาเป็นครั้งแรก โดยแสดงปฐมเทศนา คือ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร เป็นผลให้เกิดมีพระสาวกรูปแรกขึ้น ในพระพุทธศาสนา จนถือได้ว่าเป็นวันแรกที่มี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย

ความสำคัญ 
๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระศาสนาเป็นครั้งแรก   ด้วยการแสดงปฐมเทศนา ที่มีชื่อว่า “ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” ซึ่งหมายถึง  พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป นั่นคือ ธรรมะของพระพุทธองค์เหมือนวงล้อธรรมที่ได้เริ่มเคลื่อนแล้วจากจุดเริ่มต้นในวันนี้   
๒.เมื่อพระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัจวัคคีย์ได้ฟังธรรม  ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม คือ เห็นจริงตามที่พระพุทธองค์ทรงเทศนา จึงได้ทูลขอบวช   ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงบวชให้ด้วยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (การบวชที่พระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยการเปล่งวาจาให้เข้ามาเป็นพระภิกษุได้)  ดังนั้น พระโกณฑัญญะจึงเป็นเป็นสาวกองค์แรกในพุทธศาสนา  และ

๓.ทำให้วันนี้เป็นวันที่มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบเป็นองค์พระรัตนตรัย เป็นครั้งแรกในโลก


ความเป็นมา 
 ๑. ส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า 
เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญ เดือน ๖ หรือวันวิสาขบูชาแล้ว  ได้ทรงประทับเสวยวิมุตติสุข(ความสุขที่เกิดจากความสงบ)อยู่ ณ บริเวณที่ตรัสรู้ตลอด ๗ สัปดาห์  หลังจากนั้นได้ทรงพิจารณาว่าธรรมะที่พระองค์ตรัสรู้นี้มีความลึกซึ้งละเอียดอ่อน ยากที่คนธรรมดาสามัญจะเข้าใจ ทำให้ทรงท้อพระทัยในชั้นแรก แต่ด้วยพระมหากรุณาที่ทรงมีต่อมนุษยชาติ  และเล็งเห็นว่าคนในโลกนี้ที่ยังเรียนรู้ได้สามารถแบ่งออกเป็น ๔ เหล่า   เปรียบเหมือนดอกบัว ๔ ประเภทคือ

            ๑.อุคฆติตัญญู คือ พวกที่มีปัญญาไว  บอกอะไรก็เข้าใจได้ทันที เหมือนบัวที่โผลพ้นน้ำแล้ว พร้อมจะบานเมื่อได้รับแสงอาทิตย์

            ๒.วิปัจจิตัญญู คือ พวกที่จะรู้ธรรมได้ต้องอธิบายขยายความกันยาวๆ จึงจะเข้าใจความหมาย เหมือนบัวที่อยู่เสมอน้ำ  
จักบานในวันต่อไป

            ๓.เนยยะ คือ พวกที่ต้องใช้ความพากเพียร  ฟัง คิด ถามท่องอยู่เสมอจึงจะเรียนรู้ได้ เปรียบเหมือนบัวที่ยังไม่โผล่พ้นน้ำ  แต่เมื่อได้รับการหล่อเลี้ยง ก็สามารถจะโผล่ไปบานในวันต่อๆไป

            ๔.ปทปรมะ  ได้แก่ พวกปัญญาอ่อน หรือพวกที่ฟัง คิด ถาม ท่องแล้วก็ยังไม่สามารถรู้ธรรมได้  เปรียบเหมือนบัวที่ติดกับเปือกตม  รังแต่จะกลายเป็นอาหารของปลา เต่าต่อไป

เมื่อทรงพิจารณาใคร่ครวญดังกล่าวแล้วก็คิดถึงบุคคลที่จะไปโปรด  พระองค์ทรงใคร่ครวญถึงผู้ที่พระองค์จะแสดงธรรมโปรดอันดับแรกทรงระลึกถึงอาฬารดาบส และอุทกดาบส ผู้เคยสอนความรู้ขึ้นฌาณให้แก่พระองค์มา แต่ท่านทั้ง ๒ ก็สิ้นชีพไปก่อนแล้ว จึงทรงระลึกถึงปัญจวัคคีย์ คือ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และ อัสสซิ ผู้ที่เคยมีอุปการคุณแก่พระองค์ ทรงทราบด้วยพระญาณว่า ฤาษีทั้ง ๕ นั้น มีอุปนิสัยแก่กล้าสามารถ บรรลุธรรมได้ จึงเสด็จออกจากต้นมหาโพธิ์ ณ ตำบลอุรุเวลาเสนานิคม เดินทางไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน(คือสวนกวาง ดังนั้น กวางจึงเป็นสัญลักษณ์หนึ่งคู่กับธรรมจักร) เมืองพาราณสี แคว้นกาสี เสด็จไปถึงเย็นวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน อาสาฬหะ  
 

รุ่งขึ้นวันขึ้น ๑๕ ค่ำ พระองค์ จึงทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร อันเป็นธรรมเทศนากัณฑ์แรก โปรดปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวันนั้นเอง สรุปความได้ว่า บรรพชิต (นักบวช) ไม่ควรประพฤติใน ๒ สิ่งคือ ๑. กามสุขัลลิกานุโยค ลัทธิถือการประกอบตนให้หมกมุ่นอยู่ในกามสุข ๒. อัตตกิลมถานุโยค ลัทธิถือการทรมานตนให้ได้รับความลำบาก เป็นลัทธิก่อให้เกิดความทุกข์ มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ แต่ควรดำเนินทางสายกลาง เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา

มัชฌิมาปฏิปทาได้แก่อริยมรรค มีองค์ประกอบ ๘ ประการ คือ คือ 
สัมมาทิฏฐิ -  ความเห็นชอบหรือปัญญาเห็นชอบ คือ การเห็นอริยสัจ ๔ ตามสภาพความเป็นจริงว่าอะไรคือทุกข์  อะไรทำให้เกิดทุกข์ รู้การดับทุกข์ และรู้แนวทางที่จะดับทุกข์
สัมมาสังกัปปะ - ความดำริชอบหรือความคิดชอบ คือ ความนึกคิดที่จะทำตนให้ออกห่างจากสิ่งยั่วยวนต่างๆ  รวมทั้งการไม่คิดพยาบาทอาฆาตผู้อื่น มีจิตใจที่เมตตาต่อผู้อื่น       
สัมมาวาจา - เจรจาชอบ คือการงดเว้นจากการพูดเท็จ พูดส่อเสียดยุยง หรือพูดเพ้อเจ้อเหลวไหล ให้พูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ต่อผู้อื่น   
สัมมากัมมันตะ - การประพฤติชอบ  คือ การมีศีล อันได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติในกาม  ไม่ทำความเดือนร้อนให้ผู้อื่น เป็นต้น
สัมมาอาชีวะ - เลี้ยงชีวิตชอบ สำหรับบรรพชิต(นักบวช) คือ ดำรงชีพด้วยการบิณฑบาต งดการแสวงหาในสิ่งที่ไม่สมควร ส่วนฆราวาส คือ การประกอบอาชีพที่ถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม   
สัมมาวายามะ - เพียรชอบ คือ การเพียรไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น หรือเพียรละความชั่วที่มีอยู่ให้น้อยลง เพียรให้ความดีเกิดขึ้น และเพียรให้ความดีที่มีอยู่แล้วให้คงอยู่ตลอดไป
 สัมมาสติ - ระลึกชอบ คือ การฝึกด้านสมาธิ  หรือการทำใจให้เป็นสมาธิ  ให้มีสติรู้ตัวตลอดเวลา
สัมมาสมาธิ - ตั้งใจมั่นชอบ คือ การอบรมจิตให้สงบ  บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เป็นการฝึกจิตขั้นสูงขึ้นไป

อริยสัจ ๔ ประการ คือ 
๑. ทุกข์ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเกิด ความแก่ และความตาย เป็นต้น 
๒. สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ คือ ความอยากต่างๆ 
๓. นิโรธ ความดับทุกข์ 
๔. มรรค เหตุให้ถึงความดับทุกข์

เมื่อจบพระธรรมเทศนา ท่านโกณฑัญญะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม (เห็นตามเป็นจริง ) ว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นมีความดับเป็นธรรมดา พระพุทธเจ้า ครั้นทรงทราบว่า โกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมสำเร็จเป็นโสดาบันแล้ว จึงทรงเปล่งอุทานว่า อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ อัญญาสิ วะตะโภ โกณฑัญโญ แปลว่า โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ โกณฑัญญะรู้แล้วหนอ อันเป็นเหตุ ให้ท่านโกณฑัญญะได้นามว่า อัญญาโกณฑัญญะ มา นับแต่นั้น

ทางสายกลางที่ว่านั้น เริ่มต้นด้วยการทำความเข้าใจเป้าหมายให้ชัดเจน แล้วคิดหาทางไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ ซึ่งก็พบว่าต้องเริ่มต้นด้วยการทำจิตให้สงบไม่เอนเอียงไปทางข้างตึงหรือข้างหย่อน โดยอาศัยการฝึกสติเป็นตัวนำ พร้อมทั้งเพียรระวังไม่ให้ความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็เพียรละให้ได้ในขณะเดียวกัน ก็เพียรให้เกิดความคิดที่ดีและเพียรรักษาความคิดที่ดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ และ พบต่อไปว่าจิตสงบแล้วพฤติกรรมต่าง ๆ ทั้งทางกายและวาจาก็สงบด้วย เมื่อสงบครบทั้งกาย วาจา และใจแล้วก็ได้บรรลุถึงเป้าหมายสูงสุด คือ นิพพาน

ในวิถีชีวิตของปุถุชนนั้นย่อมมีความเสร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต ความสำเร็จได้ ย่อมแตกต่างกันไปตามความปรารถนาของแต่ละคน บางคนปรารถนาความร่ำรวยเป็นความสำเร็จ บางคนปรารถนาความมีชื่อเสียงเป็นความสำเร็จ

ความร่ำรวยและความมีชื่อเสียงมีองค์ประกอบให้ถึงความสำเร็จ ได้ ๒ ส่วน ส่วนแรกเกิดจากผู้ปรารถนาเอง และส่วนที่ ๒ เกิดจาก สิ่งแวดล้อมสนับสนุนอันอาจได้แก่บุคคล กาลเทศะ ผู้ปรารถนาต้องทำให้เกิดความพอดีระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมสนับสนุน

ความพอดีส่วนตนนั้นก็เริ่มจากทำความเข้าใจความสำเร็จให้ชัดเจนว่าคืออะไร มีขอบเขตแค่ไหน แล้วคิดหาทางไปสู่ความสำเร็จนั้น ได้อย่างไร เมื่อพบทางแล้ว ก็ประคับประคองความคิดนั้นให้เป็นไป อย่างต่อเนื่องในลักษณะไม่เคร่งเครียดจนกร้าว และปล่อยเฉยจนเฉื่อยชา ในขณะเดียวกันก็ประคับประคองการแสดงออกทั้งทางกาย และวาจา ให้สอดคล้องกับความคิด จนเข้าได้กับบุคคลกาลเทศะ อย่างไม่เสียหลักธรรม

ความพอดีดังกล่าวมานี้ เรียกได้ว่าทางสายกลาง ซึ่งเป็นข้อ ปฏิบัติส่วนตนส่วนที่เกี่ยวกับส่วนรวมก็มีทางนำมาประยุกต์ใช้ได้ คืองานของหมู่คณะ จะสำเร็จได้ก็ด้วยอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยึดถือทางสายก ลาง ก็ย่อมทำให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี แม้จะไม่ราบรื่นและไม่เรียบร้อยในตอนแรก แต่ด้วยอาศัย การทำงานแบบทางสายกลาง ก็จะทำให้เกิดความคิด การกระทำและ คำพูดที่พอดีต่อกัน ในกลุ่มผู้ร่วมงาน ซึ่งในที่สุดก็ยอมรับกันได้ ไม่เกิดการแบ่งฝ่ายซึ่งทำให้เกิดอุปสรรค
 
การแสดงปฐมเทศนาเป็นครั้งแรก  กับการมีพระพุทธสาวกองค์แรกจนก่อให้เกิดพระรัตนตรัยเมื่อ ๒๕๐๐ กว่าปีก่อน  แม้จะเป็นองค์ประกอบให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญวันหนึ่งทางพุทธศาสนา  แต่สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ หลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์   เพราะโดยแท้จริงแล้ว ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม  แต่ธรรมะหรือสัจธรรมก็เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในโลก  เพียงแต่ไม่มีใครรู้หรือไม่มีใครนำมาสั่งสอนหรือบอกกล่าวให้เราทราบและปฏิบัติเท่านั้น  แต่เพราะมีพระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบหลักธรรม แล้วนำมาสั่งสอนต่อประชาชนชาวโลก เราจึงได้เกิดความรู้ ความเข้าใจในธรรมะนั้น ทำให้เรามีหนทางเลือกที่จะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความสุขและปราศจากทุกข์ตั้งแต่ระดับง่ายๆจนถึงขั้นลึกซึ้งในระดับนิพพาน พระพุทธเจ้าจึงทรงมีพระคุณอันยิ่งใหญ่ต่อมวลมนุษยชาติ  กล่าวกันว่าธรรมะหรือความรู้ที่พระองค์นำมาสั่งสอนชาวโลกนั้น ถ้าเทียบกับใบไม้ทั้งป่า  ก็ทรงหยิบมาเพียงกำมือเดียวเท่านั้น  แต่กระนั้นก็ยังทรงคุณค่ายิ่ง อยู่ที่เราจะรู้จักเลือกมาใช้หรือไม่อย่างไรเท่านั้น  ถ้าจะเปรียบแล้ว พระพุทธองค์ก็ทรงเหมือนผู้ที่สร้างแผนที่ คือนำหลักธรรมที่เป็นเหมือนทางเดินที่มีอยู่แล้ว  มาทำเป็นแผนที่ชีวิตให้เราได้เลือกเดินว่าจะไปในทางใด ไม่ว่าจะเป็นทางโลกหรือทางธรรม ก็มีให้ศึกษา  ขึ้นอยู่กับเราว่าจะใช้แผนที่นั้นหรือไม่  หรือจะเดินเปะปะไปอย่างไร้ทิศทาง  และพระสงฆ์ผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาก็เป็นเหมือนดังมัคคุเทศก์ ที่จะช่วยชี้แนะทางตามแผนที่ให้เราเข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น

๒. การถือปฏิบัติวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทย 
พิธีวันอาสาฬหบูชาเริ่มกำหนดเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๑ โดยพระธรรม โกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี ) ครั้งดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้น อีกวันหนึ่ง วันธรรมจักร หรือวันอาสาฬหบูชา ด้วยเป็นวันคล้าย วันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรี ลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมาโดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์ เรื่องกำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม๒๕๐๑ และในวันเดียวกันนั้นได้มี ประกาศสำนักสังฆนายก กำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชา ขึ้นไว้ให้วัดทุกวัดถือปฏิบัติทั่วกัน กล่าวคือก่อนถึงวันอาสาฬหบูชา ๑ สัปดาห์ ให้เจ้าอาวาสแจ้งแก่พระภิกษุ สามเณร ตลอดจนศิษย์วัด คนวัด ช่วยกันปัดกวาด ปูลาดอาสนะ จัดตั้งเครื่องสักการะให้ประดับธงธรรมจักรรอบพระอุโบสถตลอดวัน ทั้งเวลาเช้าและเวลาบ่ายให้มีการฟังธรรม ตามปกติ เวลาค่ำให้ภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา มาประชุมพร้อมกัน ที่หน้าพระอุโบสถ หรือพระเจดีย์ จุดธูปเทียนแล้วถือรวมกับดอกไม้ ยืนประนมมือสำรวมจิต โดยพระสงฆ์ผู้เป็นประธานนำกล่าวคำบูชา จบแล้วทำประทักษิณ ครั้นแล้วให้ภิกษุสามเณรเข้าไปบูชาพระรัตนตรัย ทำวัตรค่ำแล้วสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร จบแล้วให้อุบาสก อุบาสิกา ทำวัตรค่ำ ต่อจากนั้น ให้พระสังฆเถระแสดงพระธรรมเทศนาธรรมจักรกัปปวัตนสูตร แล้วให้พระภิกษุสามเณรสวดธรรมจักรกัปปวัตนสูตร ทำนองสรภัญญะ เพื่อเจริญศรัทธาปสาทะของพุทธศาสนิกชน จบแล้ว ให้เป็นโอกาสของพุทธศาสนิกชนเจริญภาวนามัยกุศล มีสวดมนต์ สนทนาธรรม บำเพ็ญสมถะและวิปัสสนา เป็นต้น ตามควรแก่อัธยาศัย ให้ใช้เวลาทำพิธีอาสาฬหบูชาไม่เกิน เวลา ๒๔.๐๐ น . และได้มีการทำ พิธีอาสาฬหบูชาอย่างกว้างขวาง นับแต่นั้นมาทางราชการได้มีประกาศระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีให้มีการชักธงชาติ ถวายเป็นพุทธบูชาในวันนี้ด้วย

การจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันอาสาฬหบูชา

กิจกรรมเกี่ยวกับครอบครัว

๑.ทำความสะอาดบ้าน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งที่บุชาประจำบ้าน
๒. ศึกษาเอกสาร หรือสนทนา เกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติในครอบครัว
๓. ตั้งใจและอธิษฐานจิตที่จะน้อมนำหลักธรรมมาใช้ในการดำเนินชีวิต โดยใช้หลักธรรมทางสายกลาง และส่งเสริมให้เกิดการลด ละ เลิก อบายมุข
๔. นำครอบครัวไปบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ สามเณรในช่วงเช้าหรือเพล บริจาคทาน ให้ทาน หรือบริจาคทรัพย์ช่วยเหลือเกื้อกูลผู้ยากไร้ /ผู้ด้อยโอกาส หรือจะบริจาคโลหิตก็ได้
๕. ปฏิบัติธรรมที่วัด รักษาศีล ไหว้พระ สวดมนต์ ฟังธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา บำเพ็ญภาวนาด้วยการไหว้พระ สวดมนต์ หรือปฏิบัติสมาธิ/วิปัสสนา รักษาศีล สำรวมระวังกาย วาจา และใจ โดยอาจจะรักษาศีล ๕ หรือศีล ๘ เป็นกรณีพิเศษ 
๖. พาครอบครัวไปทำบุญ บำเพ็ญกุศล เวียนเทียน หรือไปร่วมปฏิบัติธรรมที่วัด
๗. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม

กิจกรรมเกี่ยวกับสถานศึกษา .

๑.ทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
๒. ครูและนักเรียนร่วมกันศึกษาถึงความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลางและแนวทางปฏิบัติในสถานศึกษา
๓. ครูให้นักเรียนจัดทำป้ายนิเทศ หรือจัดนิทรรศการ ประกวดเรียงความ ทำสมุดภาพ ตอบปัญหาธรรม บรรยายธรรม อภิปรายธรรม
๔. ประกาศเกียรติคุณของนักเรียนที่ประพฤติตัวเป็นแบบอย่างที่ดี
๕. ครูพานักเรียนไปร่วมกิจกรรมกับชุมชนที่วัด บำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล ฟังธรรม สนทนาธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา 
๖. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม

กิจกรรมเกี่ยวกับสถานที่ทำงาน

๑. ทำความสะอาด บริเวณที่ทำงาน ประดับธงชาติและธงธรรมจักร และจัดแต่งโต๊ะหมู่บูชา
๒. ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติในสถานที่ทำงาน
๓. จัดป้ายนิเทศเกี่ยวกับหลักธรรมทางสายกลางเพื่อสร้างอุดมการณ์ในการทำงาน
๔. จัดให้มีการบรรยายธรรม และสนทนาธรรม 
๕. ร่วมกับบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต
๖. หัวหน้าหน่วยงานให้โอกาสผู้ร่วมงานไปบำเพ็ญกุศลตามประเพณีนิยม
๗. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม

กิจกรรมเกี่ยวกับสังคม

๑. วัด สมาคม มูลนิธิ หน่วยงาน องค์กร สื่อมวลชน ประชาสัมพันธ์เรื่องวันอาสาฬหบูชา โดยใช้สื่อทุกรูปแบบ
๒. จัดพิมพ์เอกสารเกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติ เพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น และตามสถานที่ชุมชน เช่น สนามบิน สถานีรถไฟ สถานีขนส่ง โรงธรรม ศูนย์การค้า รวมทั้งบนยานพาหนะต่าง ๆ
๓.เชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป เข้าร่วมกิจกรรม ปฏิบัติธรรม และพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญตักบาตร ฟังธรรม รักษาศีล ไหว้พระสวดมนต์ 
๔. รณรงค์ทางสื่อมวลชนต่าง ๆ ให้ลด ละ เลิก อบายมุข และให้งดจำหน่ายสิ่งเสพติดทุกชนิด 
๕. ประกาศเกียรติคุณสถาบัน หรือบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม 
๖. รณรงค์ให้มีการรักษา สภาพแวดล้อม ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาด ที่สาธารณะ
๗. จัดประกวด สวดสรภัญญะ บรรยายธรรม คำขวัญ บทร้องกรอง บทความเกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชา 
๘. กิจกรรมอื่นที่เหมาะสม 
 
ประโยชน์ที่จะได้รับ 
๑. พุทธศาสนิกชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันอาสาฬหบูชา รวมทั้งหลักธรรม คือ ทางสายกลาง และแนวทางปฏิบัติ . พุทธศาสนิกชนเกิดเจตคติที่ดีต่อวันอาสาฬหบูชา และเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรมทางสายกลาง 
๒. พุทธศาสนิกชนเกิดศรัทธา ซาบซึ้ง และตระหนักในความสำคัญของพระพุทธศาสนา 
๓. พุทธศาสนิกชนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีรู้จักปฏิบัติตนตาม

แหล่งที่มา : culture.go.th

อัพเดทล่าสุด