ความเป็นมาวันอาสาฬหบูชา ใบงานวันอาสาฬหบูชา ทําบุญวันอาสาฬหบูชา


3,642 ผู้ชม


ความเป็นมาวันอาสาฬหบูชา ใบงานวันอาสาฬหบูชา ทําบุญวันอาสาฬหบูชา

 

ความเป็นมาของวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา


Image 
ย่างเข้าหน้าฝนทีไร ชาวไทยพุทธทั้งหลายต่างรู้กันด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ว่า วันสำคัญทางศาสนาอย่าง วันอาสาฬหบูชาเเละวันเข้าพรรษา กำลังมาถึงเเล้ว ทั้งสองวันที่กล่าวมานี้มีประวัติความเป็นมาที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธเเละพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างยิ่งยวด เมื่อถึงวันสำคัญนี้เราชาวพุทธควรเข้าวัด ทำบุญ บักบาตร กระทำความดี เพื่อความเป็นสิริมงคลเเก่ชีวิต เเละเมื่อทำบุญสุนทานกันจนอิ่มบุญเรียบร้อยเเล้วก็มาศึกษาประวัติความเป็นของวันอาสาฬหบูชาเเละวันเข้าพรรษา กันเลยดีกว่า 
วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก็คือวันอาสาฬหบูชานั่นเอง ซึ่งสามารถอ่านว่า อา-สาน-หะ-บู-ชา หรือ อา-สาน-ละ-หะ-บู-ชา ก็ได้ โดยที่มาของคำว่า อาสาฬหบูชา มาจากคำ 2 คำ คือ อาสาฬห ที่แปลว่า เดือน 8 ทางจันทรคติ กับอีกคำคือคำว่า บูชา ที่แปลว่า การบูชา เมื่อนำมารวมกันจึงกลายเป็นคำว่า อาสาฬหบูชา และมีความหมายว่า การบูชาในเดือน 8 หรือการบูชาเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในเดือน 8 
ซึ่งวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นวันที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนา เพราะมันคือวันแรกที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเทศนาหรือหลักธรรมที่ทรงตรัสรู้ได้ 2 เดือน เป็นครั้งแรกแก่เบญจวัคคีย์ทั้ง 5 ณ มฤคทายวัน ตำบลอิสิปตนะ เมืองพาราณสี ในชมพูทวีป ปัจจุบันตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย ซึ่งเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนการใช้พุทธศักราชถึง 45 ปี 
เหตุที่ธรรมเทศนาของพระพุทธองค์มีความสำคัญ เพราะพระพุทธองค์ทรงเปรียบดังผู้ทรงเป็นธรรมราชา ทั้งยังเป็นผู้เริ่มต้นแผ่ขยายอาณาจักรแห่งธรรมที่นำมาซึ่งความสงบสุขร่มเย็น ดังนั้นธรรมเทศนาที่ทรงแสดงครั้งแรกจึงได้ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตรแปลว่าพระสูตรแห่งการหมุนวงล้อธรรมหรือพระสูตรแห่งการแผ่ขยายธรรมจักร 
โดยในตอนแรกนั้นเหล่าพระปัญจวัคคีย์ยังไม่เชื่อว่าพระพุทธองค์ทรงเป็นอรหันต์ แต่เมื่อได้ฟังการเทศนาจนจบ พระโกณฑัญญะ หนึ่งในปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ที่ประกอบไปด้วย พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม 
และเมื่อพระโกณทัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมจึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ประทานอุปสมบทให้ด้วยวิธีที่เรียกว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา พระโกณฑัญญะจึงได้เป็น พระอริยสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา ต่อมาพระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม และได้อุปสมบทตามลำดับ 
ใจความสำคัญของการปฐมเทศนาก็คือ การสอนหลักมัชฌิมาปฏิปทาหรือการดำเนินตามทางสายกลางโดยไม่หลงใน รูป รส กลิ่น เสียง และไม่ทรมานตนให้เกิดความลำบาก อาทิ การบำเพ็ญตบะหรือการคอยพึ่งแต่อำนาจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น อีกหลักหนึ่งก็คือ อริยสัจ 4 ที่ได้ทรงค้นพบด้วยตัวพระองค์เองโดยมีความหมายว่า ความจริงอันประเสริฐของอริยะ นั่นก็คือบุคคลที่ห่างไกลจากกิเลสนั่นเอง ได้แก่ 
1. ทุกข์ คือ ปัญหาทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ ซึ่งเราต้องรู้เท่าทันตามความเป็นจริงว่ามันคืออะไร ต้องยอมรับและกล้าเผชิญหน้ากับมัน รวมถึงการไม่ยึดติด 
2. สมุทัย คือ เหตุเกิดแห่งทุกข์หรือต้นเหตุของปัญหา ซึ่งเกิดจากตัณหาหรือความอยากมีอยากได้ 
3. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ โดยการรู้เท่าทันโลกและชีวิต อีกทั้งต้องดำเนินชีวิตด้วยการใช้ปัญญา 
4. มรรค คือ กระบวนวิธีแห่งการแก้ปัญหาโดยใช้ มรรคมีองค์ 8 ได้แก่ 
1. สัมมาทิฏฐิ (เห็นชอบ) คือ รู้เข้าใจถูกต้อง เห็นตามที่เป็นจริง 
2. สัมมาสังกัปปะ (ดำริชอบ) คือ คิดสุจริตตั้งใจทำสิ่งที่ดีงาม 
3. สัมมาวาจา (เจรจาชอบ) คือ กล่าวคำสุจริต 
4. สัมมากัมมันตะ (กระทำชอบ) คือ ทำการที่สุจริต 
5. สัมมาอาชีวะ (อาชีพชอบ) คือ ประกอบสัมมาชีพหรืออาชีพที่สุจริต 
6. สัมมาวายามะ (พยายามชอบ) คือ เพียรละชั่วบำเพ็ญดี 
7. สัมมาสติ (ระลึกชอบ) คือ ทำการด้วยจิตสำนึกเสมอ ไม่เผลอพลาด 
8. สัมมาสมาธิ (ตั้งจิตมั่นชอบ) คือ คุมจิตให้แน่วแน่มั่นคงไม่ฟุ้งซ่าน 
และทั้งหมดนี่ก็คือเรื่องราวความเป็นมาของวันก่อนวันเข้าพรรษาอย่างวัน อาสาฬหบูชา ที่เรียกได้ว่านี่คือวันที่พระพุทธเจ้าเริ่มประกาศพระศาสนาเลยทีเดียว 
เข้าพรรษา 
เมื่อนานมาแล้วพระพุทธองค์ทรงตรัสว่า พระภิกษุสงฆ์ควรอยู่จำพรรษา เหตุเพราะสมัยก่อนฝนตกชุกการเดินทางสัญจรไปมาก็ไม่สะดวก อีกทั้งไปเหยียบต้นข้าวของชาวบ้าน เวลาที่พระภิกษุสงฆ์ออกไปตามเขตต่างๆ เพื่อประกาศพระศาสนา แม้ในฤดูฝนก็มิได้หยุดพัก ทั้งๆ ที่การเดินทางก็ไม่สะดวก ทั้งยังเหยียบข้าวกล้าให้เกิดความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย 
ประชาชนจึงพากันติเตียนว่า "ไฉนเล่า พระสมณศากยบุตรจึงเที่ยวไปมาอยู่ทุกฤดูกาล เหยียบข้าวกล้าและติณชาติให้ได้รับความเสียหาย ทำให้สัตว์เล็กน้อยตาย พวกเดียรถีย์และปริพพาชกเสียอีกยังพากันหยุดพักในฤดูฝน ถึงนกยังรู้จักทำรังที่กำบังฝนของตน" 
พระพุทธองค์ได้ทรงสดับคำนั้นแล้ว จึงทรงบัญญัติเป็นธรรมเนียมให้พระสงฆ์อยู่จำพรรษาตลอด 3 เดือนในฤดูฝนห้ามมิให้เที่ยวสัญจรไปมา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือเรียกว่า ปุริมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาแรก และ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 9 ไปจนถึงวันเพ็ญกลางเดือน 12 หรือปัจฉิมมิกาวัสสูปนายิกา คือ วันเข้าพรรษาหลัง 
เว้นแต่มีกิจธุระเจ้าเป็นซึ่งเมื่อเดินทางไปแล้วไม่สามารถจะกลับได้ในเดียวนั้น ก็ทรงอนุญาตให้ไปแรมคืนได้ คราวหนึ่งไม่เกิน 7 คืนเรียกว่า สัตตาหะ หากเกินกำหนดนี้ถือว่าไม่ได้รับประโยชน์ แห่งการจำพรรษา จัดว่าพรรษาขาด 
โดยปรกติเครื่องใช้สอยของพระภิกษุตามพุทธานุญาตที่ให้มีประจำตัวนั้น มีเพียง อัฏฐบริขาร ซึ่งได้แก่ สบง จีวร สังฆาฏิ เข็ม บาตร รัดประคด หม้อกรองน้ำ และมีดโกน แต่ช่วงหน้าฝนของการจำพรรษาในสมัยก่อนนั้น กว่าพระสงฆ์จะหาที่พักแรมได้ บางครั้งก็ถูกฝนเปียกปอน ชาวบ้านผู้ใจบุญจึงถวาย "ผ้าจำนำพรรษา" หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า ผ้าอาบน้ำฝน เพื่อให้พระสงฆ์ได้ผลัดเปลี่ยน และยังถวายของจำเป็นแก่กิจประจำวันเป็นพิเศษในช่วงเข้าพรรษา จนเป็นประเพณีทำบุญสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน 
ที่สำคัญคือ มีประเพณีหล่อเทียนขนาดใหญ่เพื่อให้จุดบูชาพระประธานในโบสถ์อยู่ได้ตลอด 3 เดือน เพราะเชื่อกันว่าในการให้ทานด้วยแสงสว่าง จะมีอานิสงฆ์เพิ่มพูนปัญญาหูตาสว่างไสว และมีการจัดประกวดเทียนพรรษาด้วย 
กิจกรรมต่างๆ ที่ควรปฏิบัติในวันเข้าพรรษา 
1. ร่วมกิจกรรมทำเทียนจำนำพรรษา 
2. ร่วมกิจกรรมถวายผ้าอาบน้ำฝน และจตุปัจจัย แก่ภิกษุสามเณร 
3. ร่วมทำบุญ ตักบาตร ฟังธรรมเทศนา รักษาอุโบสถศีล 
4. อธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่างๆ

 

แหล่งที่มา : dhammajak.net

อัพเดทล่าสุด