ประวัติความเป็นมาวันอาสาฬหบูชา กลอนวันอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชา ประวัติ


903 ผู้ชม


ประวัติความเป็นมาวันอาสาฬหบูชา กลอนวันอาสาฬหบูชา วันอาสาฬหบูชา ประวัติ

 

วันอาสาฬหบูชา

ประวัติ



ภาพ : พระประธาน 
วัดหน้าพระเมรุ  จ.พระนครศรีอยุธยา 

          วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 หรือ ราวเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นวันพระจันทร์เสวยอาสาฬหฤกษ์ แต่หากตรงกับปีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน วันอาสาฬหบูชาจะเลื่อนไปเป็นวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 หลัง ตกในราวเดือนสิงหาคม
          "อาสาฬหบูชา" ย่อมาจากคำว่า "อาสาฬหปุรณมีบูชา" แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬห คือ เดือน 8 ถือเป็นวันสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา เพราะมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 3 ประการ ดังนี้
          1. เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ แสดงธรรมเป็นครั้งแรก
มีชื่อว่า ธรรมจักกัปปวัตนสูตร ซึ่งมีใจความสำคัญกล่าวถึงอริยสัจ หรือความจริงอันประเสริฐ
4 ประการ ได้แก่ 
          ทุกข์ คือ ความลำบาก ความไม่สบายกายไม่สบายใจ,
          สมุทัย คือ เหตุที่ทำให้เกิดทุกข์,
          นิโรธ คือ ความดับทุกข์, และ
          มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งทุกข์

          การแสดงธรรมครั้งแรกนี้ เพื่อโปรดเหล่าปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 คือ อัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ
ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ จึงถือกันว่าเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระศาสนา

          2. เป็นวันที่เกิดสังฆรัตนะ หรือเป็นวันที่เกิดพระอริยสงฆ์ สาวกในพระพุทธศาสนาขึ้นครั้งแรกในโลก พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกคือ พระอัญญาโกณฑัญญะ ซึ่งเมื่อพระธรรมเทศนาธรรมจักกัปปวัตนสูตรแล้ว บังเกิดดวงตาเห็นธรรมทูลขอบวช ซึ่งพระพุทธองค์ประทานอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุรูปแรกในพระพุทธศาสนา 
ด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา ในวันนี้ 

          3. เป็นวันที่พระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เกิดขึ้นครบ 3 ประการ และเป็นครั้งแรกในโลก
          เหตุการณ์ในวันอาสาฬหบูชานี้ เกิดขึ้นหลังจากที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ ในวันเพ็ญวิสาขะ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 แล้วสองเดือน 

ประวัติการประกอบพิธีอาสาฬหบูชา

 
          จุดมุ่งหมายในการประกอบพิธีในวันอาสาฬหบูชา เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทั้ง 3 ประการที่เกิดขึ้นในสมัยพุทธกาล
และน้อมนำเอาคำสั่งสอนมาเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ 

          การประกอบพิธีในวันสำคัญนี้ แบ่งออกเป็น 3 อย่าง คือ 

                    1. พิธีหลวง
                    2. พิธีราษฎร์
                    3. พิธีสงฆ์

          สำหรับพิธีหลวงและพิธีราษฎร์นั้น มีการปฏิบัติเช่นเดียวกับวันมาฆบูชา และวันวิสาขบูชา คือ มีการถือศีล ปฏิบัติธรรม เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา เป็นต้น จะมีเปลี่ยนแปลงเฉพาะการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวันสำคัญนี้  

          ในส่วนของพิธีสงฆ์ เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 จะมีการสวดมนต์ทำวัตรเย็นหรือตอนค่ำ แล้วสวดธรรมจักกัปปวัตนสูตร หรือ พิธีการอื่นๆ ซึ่งแล้วแต่ทางวัดจะเป็นผู้กำหนด และมีพิธีเวียนเทียนเช่นเดียวกับวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา 
          ข้อเสนอแนะ ในวันอาสาฬหบูชา 

          - ควรไปร่วมพิธีเวียนเทียน เพื่อสืบทอดประเพณีอันดีงามของไทย และเป็นการร่วมกิจกรรมในวันสำคัญทางศาสนา
          - ตามสถานที่ราชการ สถานที่ศึกษา และที่วัด ควรจัดให้มีนิทรรศการ การบรรยายฉายสไลด์ หรือบรรยายธรรม เกี่ยวกับวันอาสาฬหบูชาฯลฯ เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนและผู้สนใจทั่วใจ


อ้างอิง
ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก, 2539.

รวบรวมข้อมูลโดย : งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด

 

อัพเดทล่าสุด