วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันสำคัญของโลก วันสำคัญของวันภาษาไทย


1,099 ผู้ชม


วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันสำคัญของโลก วันสำคัญของวันภาษาไทย

 

 

 

วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา

พอเข้าสู่ช่วงปลายปีประมาณเดือนกรกฎาคมจะมีวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญอยู่ ๒ วันด้วยกัน คือ วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ซึ่งหลายคนคงจะทราบกันดีว่าวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ๒ วันนี้จะเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่เทศกาลเข้าพรรษาและยังเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้บำเพ็ญกุศล ร่วมกันทำบุญตักบาตรและเวียนเทียน                     

           วันอาสาฬหบูชา หรืออาสาฬหปุรณมีบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ คือ เดือน ๘ (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘) ก่อนวันเข้าพรรษา ๑วัน ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันศุกร์ที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรกหลังจากตรัสรู้ โดยแสดงปฐมเทศนาโปรดพระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้แก่ พระโกณฑัญญะ พระวัปปะ พระภัททิยะ พระมหานามะ และพระอัสสชิ ซึ่งหลักธรรม คำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมแก่ปัจจวัคคีย์ทั้ง ๕ เรียกว่า ธรรมจักกัปปวัตนสูตร คือ ความเป็นจริง ๔ ประการ หรือที่เรียกว่า อริยสัจ ๔  ประกอบด้วย

            ทุกข์ คือ ความจริงว่าด้วยทุกข์ ทุกคนต่างเคยพบกับความทุกข์ที่เข้ามารุมเร้า ซึ่งความทุกข์ที่เกิดขึ้นอาจมีได้ทุกขณะ ความจริงก็คือว่าความทุกข์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นเราจะต้องไม่ประมาท และพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาในทุกเรื่อง

           สมุทัย คือ ความจริงว่าด้วยเหตุแห่งทุกข์ ความทุกข์หรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนนั้นย่อมเกิดจากสาเหตุที่แตกต่างกันไป ซึ่งสาเหตุของการเกิดทุกข์นั้น โดยส่วนใหญ่แล้วคือ ความอยากที่เกินพอดี หรือที่เรียกว่า ตัณหา มี ๓ อย่าง คือ กามตัณหา (ความอยากในกาม รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส) ภวตัณหา (ความอยากมีอยากเป็น) และวิภวตัณหา (ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น คือ อยากจะพ้นจากภาวะที่ตนไม่ต้องการ ไม่อยากได้)

           นิโรธ คือ ความจริงว่าด้วยความดับทุกข์ กล่าวคือ ความทุกข์นั้นเมื่อเกิดได้ก็ดับได้ เมื่อความทุกข์เกิดจากสาเหตุใด ถ้าเราดับสาเหตุนั้นเสีย ความทุกข์นั้นก็ย่อมดับไปด้วย ความทุกข์หรือปัญหาของคนเรานั้น เมื่อเกิดแล้วก็จะไม่คงอยู่อย่างนั้นเป็นนิจนิรันดร์ แต่อยู่ในวิสัยที่เราสามารถจะแก้ไขได้ไม่ช้าก็เร็ว และอยู่ที่ว่ามีความตั้งใจจริงที่จะแก้ไขหรือไม่

           มรรค คือ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือหมดปัญหาต่างๆ โดยสิ้นเชิง ซึ่งจะมีองค์ประกอบ ๘ ประการด้วยกัน คือ ๑. เห็นชอบ (สัมมาทิฏฐิ) คือ เห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง ๒. ดำริชอบ (สัมมาสังกัปปะ) คือ ไม่ลุ่มหลงมัวเมากับความสุขทางกาย ไม่พยาบาทและไม่คิดทำร้ายผู้อื่น ๓. เจรจาชอบ (สัมมาวาจา) คือ การไม่พูดเท็จ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดคำหยาบและไม่พูดเพ้อเจ้อ ๔. กระทำชอบ (สัมมากัมมันตะ) คือ ไม่ทำลายชีวิต ไม่ลักขโมย ไม่ประพฤติผิดทางกาม ๕. เลี้ยงชีวิตชอบ (สัมมาอาชีวะ) คือ การทำมาหากินด้วยอาชีพที่สุจริต ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง ไม่ทำกิจการในสิ่งที่เป็นผลร้ายต่อคนทั่วไป ๖. พยายามชอบ (สัมมาวายามะ) คือ ความพยายามที่จะป้องกันมิให้ความชั่วเกิดขึ้นและพยายามขจัดความชั่วที่เกิดขึ้นแล้วให้หมดไป ความพยายามที่จะสร้างความดีที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้นและความพยายามที่จะรักษาความดีที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ตลอดไป ๗. ระลึกชอบ (สัมมาสติ) คือ รู้ตัวอยู่เสมอว่ากำลังเห็นสิ่งต่างๆ ตามที่เป็นจริง ๘. ตั้งจิตมั่นชอบ (สัมมาสมาธิ) คือ การที่สามารถตั้งจิตให้จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน

           หลังจากทรงแสดงพระธรรมเทศนาแล้ว ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรมเป็นคนแรก จึงได้กราบทูลขอบวชและพระพุทธองค์ก็ทรงอนุญาตโดยทรงทำการอุปสมบทให้แบบเอหิภิกขุอุปสัมปทานับเป็น “ปฐมสาวก” ของพระพุทธเจ้า ดังนั้นในวันนี้จึงเป็นวันแรกที่มีพระรัตนตรัยครบองค์สาม คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เนื่องจากพระพุทธองค์ทรงเทศนาเป็นกัณฑ์แรก จึงเรียกเทศฯกัณฑ์นี้ ว่า “ปฐมเทศนา” หรืออาจจะกล่าวได้ว่านับเป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา

           สำหรับวันเข้าพรรษา สาระสำคัญของวันเข้าพรรษา คือ การที่พระพุทธเจ้ากำหนดให้พระภิกษุเริ่มอยู่จำพรรษาในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนไปสิ้นสุดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษาของทุกปี โดยไม่เดินทางไปค้างแรม ณ สถานที่ใดเป็นเวลา ๓ เดือน เหตุผลก็เพื่อต้องการให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเพื่อเผยแพร่ศาสนาไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งจะเป็นไปด้วยความยากลำบากในช่วงฤดูฝน และเพื่อป้องกันความเสียหายจากการเดินเหยียบย่ำธัญพืชของชาวบ้านที่ปลูกลงแปลงในช่วงฤดูฝนด้วย และยังเป็นช่วงเวลาโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาอยู่จำพรรษาร่วมกันเพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ตลอดจนสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์ด้วย

           นอกจากนี้ พุทธศาสนิกชนไทยยังถือเอาวันเข้าพรรษาเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับปรุงพฤติกรรมที่ไม่ดีด้วย อาทิ งดเว้นจากอบายมุขทุกชนิด งดดื่มสุรา งดฆ่าสัตว์ เป็นต้น สำหรับหลักธรรมคำสอนที่สำคัญในวันเข้าพรรษา คือ หลักวิรัติ ๓ หรือการงดเว้นจากบาปและความชั่วต่างๆ แบ่งเป็น ๓ ประการด้วยกัน คือ ๑. สัมปัตตวิรัติ การงดเว้นจากความชั่ว เมื่อมีเหตุการณ์ที่เป็นใจให้เราทำผิดหรือทุจริตคอร์รัปชั่น เราสามารถห้ามใจตัวเองได้เพราะรู้สึกอายตัวเองหรือกลัวเสียเกียรติ ๒. สมาทานวิรัติ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆ ด้วยการสมาทานศีล ๕ หรือศีล ๘ จากพระสงฆ์ โดยเพียรระมัดระวังไม่ทำให้ศีลขาดหรือด่างพร้อย แม้มีสิ่งยั่วยุก็ไม่หวั่นไหวหรือเอนเอียง ๓. สมุจเฉกวิรัติ การงดเว้นจากบาป ความชั่วและอบายมุขต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาด ข้อนี้เป็นคุณธรรมของพระอริยเจ้าและอาจนำมาปรับใช้กับบุคคลทั่วไป คือ ผู้งดเว้นบาป ความชั่ว ละอบายมุขต่างๆ ในระหว่างเข้าพรรษาได้แล้ว ถึงแม้ว่าจะออกพรรษาแล้วก็ไม่กลับไปข้องแวะบาปเหล่านั้นอีก

           สำหรับวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดย กรมการศาสนา ได้ร่วมกับวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร มหาวิทยาลัยสงฆ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย และองค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา จัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยในส่วนกลางจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ ๑๓ – ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๕๔ ณ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพมหานคร กิจกรรมประกอบด้วย การประกวดสวดมนต์หมู่ทำนองสรภัญญะ การตอบปัญหาวิชาการธรรมะ การเล่นเกมบิงโกธรรมะ การประกวดละครธรรมะ การออกร้านจำหน่ายหนังสือธรรมะ นอกจากนี้ ยังได้จัดพิมพ์หนังสือ แผ่นพับ และบัตรอวยพรเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ทราบถึงประวัติความเป็นมา ความสำคัญ หลักธรรมคำสอน ตลอดจนส่งบัตรอวยพรให้แก่บุคคลที่เคารพรัก โดยสามารถขอรับได้ที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหารและกรมการศาสนา สำหรับในส่วนภูมิภาค ได้มอบหมายให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดประสานกับวัดในแต่ละจังหวัด เพื่อจัดกิจกรรมเช่นเดียวกับส่วนกลาง กระทรวงวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนทุกท่านเข้าร่วมงานดังกล่าวได้ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค หรือสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.m-culture.go.th

 

แหล่งที่มา : m-culture.go.th

อัพเดทล่าสุด