วันวิสาขบูชา หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันวิสาขบูชาเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า 3 ประการ คือ เป็นวันประสูติ ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า และปรินิพพาน

ความหมาย คำว่า วิสาขบูชา หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญเดือน 6 วิสาขบูชาย่อมาจาก "วิสาขบุรณมีบูชา" แปลว่า "การบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาขะ"

ถ้าปีใดมีอธิกมาส คือ มีเดือน 8 สองหน ก็เลื่อนไปเป็นกลางเดือน 7

ทั้งนี้ มีหลักธรรมสำคัญอันเกี่ยวเนื่องจากการประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพาน ที่ควรปฏิบัติในวันวิสาขบูชา คือ ความกตัญญู

ความกตัญญู คือ ความรู้อุปการคุณที่มีผู้ทำไว้ก่อน เป็นคุณธรรมคู่กับความกตเวที คือ การตอบแทนอุปการคุณที่ผู้อื่นทำไว้นั้น

1) บิดามารดา มีอุปการคุณแก่ลูก ในฐานะผู้ให้กำเนิดและเลี้ยงดูจนเติบโต ให้การศึกษาอบรมสั่งสอน ให้เว้นจากความชั่ว มั่นคงในการทำความดี เมื่อถึงคราวมีคู่ครองได้จัดหาคู่ครองที่เหมาะสมให้และมอบทรัพย์สมบัติให้ไว้เป็นมรดก

2) ลูกเมื่อรู้อุปการคุณที่บิดามารดาทำไว้ ย่อมตอบแทนด้วยการประพฤติดี สร้างชื่อเสียงให้แก่วงศ์ตระกูล เลี้ยงดูท่าน ช่วยทำงานของท่าน และเมื่อท่านล่วงลับไปแล้วก็ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ท่าน

3) ครูอาจารย์ มีอุปการคุณแก่ศิษย์ ในฐานะผู้ประสาทความรู้ให้ฝึกฝนแนะนำให้เป็นคนดี สอนศิลปวิทยาให้อย่างไม่มีปิดบัง ยกย่องให้ปรากฏแก่คนอื่นและช่วยคุ้มครองให้ศิษย์ทั้งหลาย

4) ศิษย์เมื่อรู้อุปการคุณที่ครูอาจารย์ ย่อมตอบแทนด้วยการตั้งใจเรียน ให้เกียรติ และให้ความเคารพ ไม่ล่วงละเมิดโอวาทของครู

ความกตัญญูและความกตเวทีนี้ถือว่าเป็นเครื่องหมายของคนดี ส่งผลให้ครอบครัวและสังคมมีความสุขได้ เพราะบิดามารดาจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำอุปการคุณให้ก่อน และลูกจะรู้จักหน้าที่ของตนเองด้วยการทำดีตอบแทน

นอกจากบิดามารดากับลูก และครูอาจารย์กับศิษย์แล้ว คุณธรรมข้อนี้ก็สามารถนำไปใช้ได้แม้ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง อันจะส่งผลให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข

ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงเป็นบุพการีในฐานะที่ทรงสถาปนาพระพุทธศาสนาและทรงสอนทางพ้นทุกข์ให้แก่เวไนยสัตว์

พุทธศาสนิกชนรู้พระคุณอันนี้จึงตอบแทนด้วยอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา กล่าวคือ การจัดกิจกรรมในวันวิสาขบูชาเป็นส่วนหนึ่งที่ชาวพุทธแสดงออกซึ่งความกตัญญูกตเวทีต่อพระองค์ ด้วยการทำนุบำรุงส่งเสริมพระพุทธศาสนาและประพฤติปฏิบัติธรรม

เพื่อดำรงอายุพระพุทธศาสนาสืบไป