อารยธรรมขอม อารยธรรมขอมโบราณ ท่องเที่ยวอารยธรรมขอม


1,358 ผู้ชม


อารยธรรมขอม อารยธรรมขอมโบราณ ท่องเที่ยวอารยธรรมขอม

 

สัมผัสอารยธรรมขอมโบราณที่ "ปราสาทหินพิมาย"
"ปราสาทหินพิมาย" อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ในเขตอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา เป็นประสาทขอมที่มีพื้นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส หันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างไปจากประสาทขอมอื่น ๆ ซึ่งมักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก 


"ปราสาทหินพิมาย" 

     ปราสาทนี้สร้างขึ้นเป็นพุทธสถานฝ่ายมหายานและศาสนาพราหมณ์ ดังจะเห็นได้จากภาพศิลาจำหลักภายใน และภาพนอกปรางค์ประธาน จะมีภาพพุทธประวัติอยู่เป็นจำนวน มาก เมื่อศึกษาจากลวดลายของปรางค์ประธานสันนิษฐานได้ว่า พระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 ได้สร้างปราสาทนี้ในปลายพุทธศตวรรษที่ 16 ก่อนที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 จะสร้าง ปราสาทนครวัดในกัมพูชา รูปแบบทางศิลปกรรมส่วนใหญ่เป็นศิลปเขมรแบบบาปวน ซึ่งมีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 และได้มีการก่อสร้างเพิ่มเติมอีก ในสมัยพระเจ้าชัย วรมันที่ 7 ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ 18 
     แผนผังของปราสาทหินพิมายทั้งหมด เป็นการจำลองจักรวาลของความเชื่อโบราณขึ้นในโลก จะเห็นว่าตั้งแต่สะพานนาคราชที่ทอดจากพื้นดินไปสู่ตัวปราสาท ซึ่งเปรียบ เหมือนยอดเขาพระสุเมรุที่เป็นศูนย์กลางของจักรวาล บรรดาลวดลายที่จำหลักอยู่บนหน้าบันและทับหลัง แสดงถึงเรื่องเทพปกรนับที่สำคัญ ส่วนลวดลายประดับอื่น ๆ ที่ปรากฏ อยู่ที่โครงสร้างของอาคาร ทั้งหมดก็ทำได้งดงาม และน่ายำเกรงไปพร้อม ๆ กันราวกับอยู่ในสรวงสวรรค์ 
     ปราสาทหินพิมาย ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างและบรรดาอาคารต่าง ๆ รวมทั้งกำแพงสองชั้น คือ กำแพงชั้นนอกและชั้นใน ปรางค์องค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางเป็นปรางค์ประธาน ประตู เข้าจากองค์ปรางค์มีทั้งสี่ทิศ ถัดออกไปเป็นระเบียงคด และกำแพงล้อมอยู่สองชั้นดังกล่าวแล้ว สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ มีสระน้ำอยู่สี่มุม หอไตร (บรรณาลัย) และหอพราหมณ์ 
     นอกกำแพงทางประตูซุ้มด้านใต้มีคลังเงินและธรรมศาลาตั้งอยู่ที่ศูนย์กลางของบริเวณปราสาทหินพิมาย ภายในศูนย์กลางขององค์ปรางค์ เป็นที่ประดิษฐานรูปเคารพของ ศาสนาพราหมณ์ และรูปเคารพที่มีชื่อว่ากมรเตงชคตวิมาย ตามที่ปรากฏในศิลาจารึก ซึ่งอาจจะเป็นพระพุทธรูปของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ภายในองค์ปรางค์มีรางน้ำมนต์ ไหลทะลุออกไปข้างนอก บริเวณดังกล่าวเป็นที่สรงน้ำของพุทธศาสนิกชนและพราหมณ์ 
     องค์ปรางค์สร้างด้วยหินทรายสีขาว ฐานสี่เหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง กว้าง 18 เมตร ยาวประมาณ 33 เมตร สูง 28 เมตร มีซุ้มประตูทางเข้าปราสาท 4 ทิศ ตามทับหลังและหน้า ปันจำหลักเรื่องรามเกียรติ และเทพเจ้าทั้งสามของศาสนาพราหมณ์ คือพระศิวะ พระพรหมและพระนารายณ์ รวมทั้งพระอาทิพุทธ และเรื่องเกี่ยวกับพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน 


"ปราสาทหินพิมาย" 

     ปรางค์พรหมทัต - สร้างด้วยศิลาแลงและหินทราย ฐานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้างประมาณ 15 เมตร สูง 16 เมตร มีซุ้มประตูเข้าทั้งสี่ทิศ สร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ.1724 - 1763) ภายในองค์ปรางค์มีพระพุทธรูปในท่านั่งขัดสมาธิราบสลักจากหินทราย ชาวเมืองเรียกว่าท้าวพรหมทัต แต่นักโบราณคดีบางท่านสันนิษฐานว่า เป็นพระเจ้า ชัยวรมันที่ 7 กษัตริย์องค์สุดท้ายของอาณาจักรขอม 
     ปรางค์หินแดง - สร้างด้วยหินทรายสีแดงและศิลาแลง ฐานรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม กว้างประมาณ 12 เมตร สูง 15 เมตร ภายในมีจำหลักหินรูปพระกาฬประทับบนนกแสก สันนิษฐาน ว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 
     หอพราหมณ์ - ตั้งอยู่ใกล้กันกับปรางค์หินแดง ทางด้านทิศเหนือ สร้างด้วยศิลาแลง รูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้างประมาณ 7 เมตร ข้างในตัวหอมีฐานรูปสี่เหลี่ยม ทำด้วยศิลาแลง มี ศิวลึงค์ทำด้วยหินทรายอยู่หลายอัน 
     ลานชั้นใน - อยู่ภายในระเบียงคด เป็นที่ตั้งขององค์ปรางค์ต่าง ๆ และหอพราหมณ์ ตัวลานเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 58 เมตร ยาว 66 เมตร 
     ระเบียงคด - เป็นกำแพงชั้นในรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เหมือนกับกำแพงชั้นนอก มีซุ้มประตูทั้งสี่ทิศ ซึ่งอยู่ตรงกับซุ้มประตูใหญ่ของกำแพงชั้นนอก ระเบียงทางด้านทิศตะวันออกและ ทิศตะวันตก ยาว 80 เมตร ด้านทิศเหนือและทิศใต้ยาว 72 เมตร ภายในระเบียงคดมีทางเดินทะลุถึงกันโดยตลอดกว้าง 2 เมตรเศษ หลังคามุงด้วยหินทรายสีแดงเป็นรูปโค้งครึ่ง วงกลม 
     บรรณาลัย - ตั้งอยู่ใกล้กับซุ้มประตูกำแพงชั้นนอกด้านทิศตะวันตก สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลงขนาดกว้าง ยาว ด้านละประมาณ26 เมตร ลักษณะคล้ายธรรมศาลาที่อยู่ภาย นอกปราสาท คือมีระเบียงล้อมรอบและระเบียงผ่านกลาง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และคงจะใช้เป็นที่ประทับชั่วคราวของกษัตริย์ และผู้ตามเสด็จ เพื่อมา ประกอบพิธีทางศาสนา หรืออาจจะใช้เป็นที่เก็บสรรพตำรา 
     สระ - มีอยู่หลายสระ ทั้งภายในและภายนอก บริเวณปราสาท สระที่อยู่ภายในบริเวณปราสาทมีอยู่สี่สระ อยู่ที่มุมลานชั้นนอก สระเหล่านี้สันนิษฐานว่าเป็นสัญลักษณ์ของแม่น้ำ ที่สำคัญของอินเดียทั้งสี่ คือ แม่น้ำคงคา ยมนา สินธุ และพรหมบุตร ซึ่งถือว่าไหลมาจากแดนสวรรค์ นำไปแม่น้ำดังกล่าวเป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ อาบแล้วชำระบาปได้ ดังนั้นน้ำในสระ เหล่านี้จึงใช้ในพิธีทางศาสนา 

"ปราสาทหินพิมาย" 

     กำแพงและประตูชั้นนอกของปราสาท - สร้างด้วยหินทรายสีแดง และใช้ศิลาแลงเป็นรากฐาน เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ด้านทิศเหนือและทิศใต้ กว้างประมาณ ๒๒๐ เมตร ด้านตะวัน ออกและตะวันตก ยาวประมาณ 278 เมตร สูงประมาณ 8 เมตร มีซุ้มประตูที่กำแพงแต่ละด้านทั้งสี่ทิศ ซุ้มประตูด้านทิศใต้เป็นด้านหน้าของศาสนสถาน หน้าซุ้มประตูทำเป็น สะพานนาค ยาวประมาณ 32 เมตร กว้างประมาณ 4 เมตรสูงประมาณ 2.50 เมตร มีบันใดลงสู่พื้นดินแยกออกเป็นสามทาง เชิงบันใดมีรูปสิงห์ตั้งอยู่ 
     ธรรมศาลา (คลังเงิน) - อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของซุ้มประตูด้านใต้ ตัวอาคารสร้างจากหินทรายและศิลาแลงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 26 เมตร ยาวประมาณ 35 เมตร โบราณวัตถุที่ยังอยู่ภายในอาคารแห่งนี้ในระดับความลึกต่าง ๆ กันได้แก่ หม้อดินเผาเคลือบสมัยลพบุรี กระดิงสำริด กำไรสำริด พระพุทธรูปและเทวรูปสำริด แม่พิมพ์พระดิน เผา หินบดยา เครื่องประดับกายทำด้วยทองคำสีดอกบวบ เป็นแหวนและสายสร้อย ฐานรูปเคารพทำด้วยหินทราย 
     การที่ได้ชื่อว่าธรรมศาลา สันนิษฐานว่าที่นี่อาจจะใช้เป็นที่สาธารณะของคนทั่วไป และอาจจะใช้เป็นสถานที่พยาบาลคนเจ็บป่วย รวมทั้งใช้ทำพิธีทางศาสนา ส่วนที่เรียกว่าคลัง เงินนั้น เนื่องจากได้มีผู้พบเหรียญสำริดจำนวนหนึ่ง ตัวเหรียญด้านหนึ่งทำเป็นรูปครุฑหรือหงส์ อีกด้านหนึ่งเป็นตัวอักษรโบราณ จึงได้เรียกว่าคลังเงินตั้งแต่นั้นมา ธรรมศาลานี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระชัยวรมันที่ 7 เพราะมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์หลายประการ บ่งให้เชื่อได้เช่นนั้น 
     เมรุพรหมทัต - เป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 59 เมตร สูงประมาณ 30 เมตร บนเนินดินเป็นสิ่งก่อสร้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 9 เมตร ยาวประมาณ 13 เมตร สูง ประมาณ 7 เมตร สร้างด้วยอิฐ นิยายพื้นเมืองมีว่า สถานที่นี้เป็นที่ถวายพระเพลิงพระศพท้าวพรหมทัต สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยอยุธยา 
     และสุดท้ายคือ กำแพงและประตูเมือง - กำแพงเมืองพิมาย เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 365 มตร ยาวประมาณ 1,030 เมตร อยู่ในพื้นที่ที่เกือบจะมีลำน้ำล้อมรอบ ตัว กำแพงสร้างเป็นคันดิน ประตูเมืองมีสี่ประตู สร้างด้วยศิลาแลง ประตูด้านทิศใต้นี้เรียกว่าประตูชัย เป็นด้านหน้าของศาสนสถาน 

แหล่งที่มา : หอมรดกไทย (Thai Heritage Treasury) 

Image By Flickr /nualacharlie

อัพเดทล่าสุด