รักษาอาการกรดไหลย้อน วิธีรักสาอาการกรดไหลย้อน ลดอาการกรดไหลย้อน


1,400 ผู้ชม


รักษาอาการกรดไหลย้อน วิธีรักสาอาการกรดไหลย้อน ลดอาการกรดไหลย้อน

ปรับนิสัย ช่วยแก้ไขโรคกรดไหลย้อน

เหตุใดกรดจึงไหลย้อน

ผศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา ศิริราชพยาบาล เล่าถึงโรคกรดไหลย้อนว่า เป็นโรคที่มีอาการ ซึ่งเกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อย ในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ โดยสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลา กลางวัน หรือกลางคืน หรือแม้แต่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม ทำให้เกิดอาการระคายเคือง เช่น อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบและมีแผล หรือหลอดอาหารอักเสบโดยไม่เกิดแผล หรือถ้ากรดไหลย้อนขึ้นมา เหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิดอาการนอกหลอดอาหาร เช่น อาการทางปอด หรืออาการทางคอและกล่องเสียง

“โดยปกติร่างกายจะมีกลไกป้องกัน ไม่ให้เกิดภาวะไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหาร ขึ้นไปในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น การบีบตัวของหลอดอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูด ของหลอดอาหารส่วนบนและส่วนล่าง  เยื่อบุของหลอดอาหารมีกลไกป้องกันการทำลายจากกรด การที่เกิดโรคกรดไหลย้อนนั้น เชื่อว่าเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่าง มีการคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้มีการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่าย  โดยปกติถ้ากรดไหลย้อนขึ้นไปในคอหอย จะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนหดตัว ป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นไป ผู้ป่วยที่เป็นโรคกรดไหลย้อนนั้น เชื่อว่ามีการทำงานของระบบป้องกันดังกล่าวเสียไป จึงมีกรดไหลย้อนขึ้นไปในคอหอย กล่องเสียง และปอดได้” ผศ.นพ.ปารยะ กล่าว

มาลองสังเกตตัวเรา
สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองจะเป็นโรคกรดไหลย้อนหรือไม่  ลองมาสำรวจอาการของโรคนี้ด้วยกันค่ะ

 
1.
อาการทางคอหอยและหลอดอาหาร อาจจะมีอาการดังต่อไปนี้คือ อาการปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่ บางครั้งอาจร้าวไปที่บริเวณคอได้ รู้สึกคล้ายมีก้อนอยู่ในคอ กลืนลำบาก หรือกลืนเจ็บ เจ็บคอ หรือแสบลิ้นเรื้อรัง โดยเฉพาะในตอนเช้า รู้สึกเหมือนมีรสขมของน้ำดี หรือรสเปรี้ยวของกรดในคอหรือปาก มีเสมหะอยู่ในลำคอ หรือระคายคอตลอดเวลา เรอบ่อย คลื่นไส้ รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย
 
2.
อาการทางกล่องเสียง และปอด เสียง แหบเรื้อรัง หรือแหบเฉพาะตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม   ไอเรื้อรัง ไอหรือรู้สึกสำลักในเวลากลางคืน กระแอมไอบ่อย เจ็บหน้าอก เป็นโรคปอดอักเสบ เป็นๆ หายๆ รวมทั้งอาการหอบหืดที่เคยเป็นอยู่ก็จะแย่ลง  

แก้นิสัย รักษาอาการ

นอกจากการรักษาโรคกรดไหลย้อน ด้วยยาและการผ่าตัดแล้ว การปรับเปลี่ยนนิสัยในชีวิตประจำวัน ถือเป็นวิธีการรักษาที่ดี เพราะทำให้มีอาการน้อยลง ป้องกันไม่ให้เกิดอาการ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยลดปริมาณกรดในกระเพาะอาหาร และป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนกลับขึ้นไป ในระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจส่วนบนมากขึ้น  
ที่สำคัญการรักษาโดยวิธีนี้ควรปฏิบัติไปตลอดชีวิต แม้ว่าผู้ป่วยจะมีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม ดังนี้

 
นิสัยส่วนตัว
   
-
ควรควบคุมเรื่องอาหารการกิน พยายามลดน้ำหนัก ถ้าน้ำหนักเกิน เนื่องจากภาวะน้ำหนักเกินจะทำให้ความดันใน ช่องท้องมากขึ้น ทำให้กรดไหลย้อนได้มากขึ้น
   
-
พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด และถ้าสูบบุหรี่อยู่ ควรเลิก เพราะความเครียดและการสูบบุหรี่ ทำให้เกิดการหลั่งกรดมากขึ้น ถ้าไม่เคยสูบบุหรี่ ควรหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ หรือควันบุหรี่
   
-
หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าที่คับเกินไป โดยเฉพาะบริเวณรอบเอว
 
นิสัยในการกิน
   
-
หลังจากรับประทานอาหารทันที  พยายามหลีกเลี่ยงการนอนราบ, การออกกำลัง, การยกของหนัก, การเอี้ยวหรือก้มตัว
   
-
หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารมื้อดึก และไม่ควรรับประทานอาหารใดๆ อย่างน้อยภายในระยะเวลา 3 ชั่วโมงก่อนนอน
   
-
พยายามรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารที่ปรุงด้วยการทอด อาหารมัน  พืชผักบางชนิด เช่น หัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ  ฟาสท์ฟูด ช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม เนย ไข่นม หรืออาหารที่มีรสจัด เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด หวานจัด
   
-
รับประทานอาหารปริมาณพอดีในแต่ละมื้อ ไม่ควรรับประทานอาหารมากเกินไป ควรรับประทานอาหารปริมาณทีละน้อยๆ แต่บ่อยครั้ง
   
-
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มบางประเภท กาแฟ (แม้ว่าเป็นกาแฟที่ไม่มีคาเฟอีนก็ไม่ควรดื่ม) ชา น้ำอัดลม   เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ วิสกี้ ไวน์ โดยเฉพาะในตอนเย็น
 
นิสัยในการนอน
   
-
ถ้าจะนอนหลังรับประทานอาหาร ควรรอประมาณ 3 ชั่วโมง
   
-
เวลานอน ควรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น ประมาณ 6-10 นิ้วจากพื้นราบ โดยใช้วัสดุรองขาเตียง เช่น ไม้   อิฐ อย่ายกศีรษะให้สูงขึ้น โดยการใช้หมอนรองศีรษะ เพราะจะทำให้ความดันในช่องท้องเพิ่มมากขึ้น

ลองสำรวจตัวเองดูนะคะ ว่ามีอาการของโรคกรดไหลย้อนหรือไม่ ถ้ามีแล้วละก็ ต้องรีบปรับเปลี่ยนนิสัย ในการกินการนอนเสียใหม่ จะได้ไม่ต้องพึ่งยาหรือมีดหมอให้เจ็บตัว

 

แหล่งที่มา : yourhealthyguide.com , cheewajit.com

อัพเดทล่าสุด