การกินของไทย ปัจจุบัน เสี่ยงต่อโรคอ้วน ลดความเสี่ยงเบาหวานโดยการเลือกรับประทานอาหาร
นอนไม่พอ เสี่ยงต่อโรคอ้วนและเบาหวาน
คนที่กินแล้วนอน หมายถึง เป็นคนที่นอนมาก มักจะเป็นคนอ้วน เพราะเมื่อกินอาหารจะได้พลังงานและร่างกายก็ควรใช้พลังงานทำกิจกรรมต่าง ๆ หากกินแล้วไม่ใช้ จะทำให้อ้วน เพราะสารอาหารส่วนเกินจะเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมในร่างกาย ดังนั้น คำกล่าวที่ว่ากินแล้วนอนจะอ้วนเหมือนหมูก็ไม่ผิด
อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาเกี่ยวกับผลของการนอนน้อย (วันละน้อยกว่า 7-8 ชั่วโมง) พบว่าคนที่นอนน้อย จะมีน้ำหนักเพิ่ม เป็นโรคอ้วน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน การศึกษาในหญิง-ชาย จำนวนประมาณ 25,000 คน พบว่า มีคนที่นอนน้อยกว่าคืนละ 7 ชั่วโมง จะมีค่าดรรชนีมวลกายสูงและเป็นโรคอ้วนมากกว่า ส่วนคนที่นอนน้อยกว่าคืนละ 5 ชั่วโมง จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นเกือบร้อยละ 50 และคนที่นอนมากกว่าคืนละ 9 ชั่วโมงก็ไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นหรือเป็นโรคอ้วนมากขึ้น
บางคนไม่ต้องการนอนน้อย แต่มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ กรณีเช่นนี้ต้องพยายามหาวิธีการทำให้นอนหลับให้ได้ ซึ่งแต่ละวิธีอาจเหมาะสำหรับบางคนเท่านั้น คนที่มีปัญหาเรื่องนอนไม่หลับ อาจลองทำตามวิธีต่อไปนี้ เช่น ใช้ห้องนอนเพื่อการนอนเท่านั้น เข้านอนเป็นเวลา หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือกาเฟอีนก่อนนอน หลีกเลี่ยงการงีบในช่วงดูทีวีตอนหัวค่ำ หลีกเลี่ยงการอ่านหนังสือหรือดูทีวีเรื่องที่ตื่นเต้น ออกกำลังกายเป็นประจำ หรืออาจดื่มนมอุ่น ๆ นวดตามตัวหรือฟังดนตรีเบา ๆ อาจช่วยให้หลับได้ดีสำหรับหลาย ๆ คน
แหล่งที่มา : vcharkarn.com