ข้อห้ามของคนท้อง คนท้องมีเพศสัมพันได้ไหม อาการบวมของคนท้อง


4,783 ผู้ชม


ข้อห้ามของคนท้อง คนท้องมีเพศสัมพันได้ไหม อาการบวมของคนท้อง

 

การตั้งครรภ์คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?

การตั้งครรภ์ (Pregnancy) คือ ภาวะที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ แล้วได้ตัวอ่อนเกิดขึ้น ในการตั้งครรภ์ที่ปกติตัวอ่อนจะไปฝังที่เยื่อบุโพรงมดลูก จากนั้นตัวอ่อนซึ่งมีเซลล์เดียว ก็จะแบ่งตัวและพัฒนาเป็นอวัยวะต่างๆ และเจริญเป็นทารกต่อไป ซึ่งโดยทั่วไป ในผู้หญิงปกติที่มีประจำเดือนทุกๆประมาณ 4 สัปดาห์ จะมีอายุครรภ์ประมาณ 40 สัปดาห์ หรือ 280 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือนครั้งล่าสุด

อะไรคือครรภ์เสี่ยงสูง?

ครรภ์เสี่ยงสูง คือ ภาวะตั้งครรภ์ที่อาจเกิดอันตรายต่อมารดาและ/หรือต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น การที่มารดามีโรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง และ โรคมะเร็ง ซึ่งการตั้งครรภ์อาจส่งผลให้โรคของมารดาที่ตั้งครรภ์แย่ลง และอาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ด้วย

สาเหตุที่ทำให้การตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่พบบ่อย คือ

  • มารดามีอายุน้อย (น้อยกว่า 15 ปี) หรือ อายุมาก (มากกว่า 35 ปี)
  • มารดา อ้วน น้ำหนักตัวเกิน หรือผอมมาก หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรังเช่นดังกล่าวแล้ว
  • มารดามีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติมาก่อน เช่น แท้ง หรือการคลอดก่อนกำหนด

การตั้งครรภ์มีกี่ระยะ? แต่ละระยะมีอาการอย่างไร?

ในทางการแพทย์นั้น การตั้งครรภ์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ นั่นคือ ระยะที่มีการตั้งครรภ์ ระยะที่มีการเจ็บครรภ์คลอด และ ระยะหลังคลอด

  • ระยะที่มีการตั้งครรภ์

    ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์ อาจจะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการตอนเช้า รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ อาการจะดีขึ้นเมื่อผ่านช่วง 3เดือนแรกไปแล้ว นอกจากนั้นอาจจะมีอาการอ่อนเพลีย ท้องผูกได้บ้างในบางคน

    เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นประมาณ 20 สัปดาห์ จะรู้สึกได้ถึงการดิ้นของทารก หญิงตั้ง ครรภ์ควรที่จะต้องสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์ทุกวันเพื่อดูว่าทารกในครรภ์ยังมีชีวิตดีอยู่หรือไม่ (ซึ่งถ้าสงสัยเด็กดิ้นผิดปกติ เช่น ดิ้นลดลง หรือไม่ดิ้น ต้องรีบพบสูตินรีแพทย์) นอก จากนั้นอาจพบว่ามีการบวมที่ขาทั้งสองข้างได้เล็กน้อย

  • ระยะที่มีการเจ็บครรภ์คลอด จะมีอาการต่างๆดังนี้ระยะหลังคลอด
    • อาการเจ็บครรภ์คลอด จะมีลักษณะปวดทั่วท้องทั้งหมด ท้อง/มดลูกแข็งเกร็งเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก โดยอาการปวดจะบีบและคลายเป็นพักๆสม่ำเสมออย่างน้อย 10 นาทีต่อครั้ง ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่เอวร่วมด้วย
    • มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด ซึ่งแสดงว่ามีการเริ่มเปิดของปากมดลูก พร้อมที่จะคลอดแล้ว
    • การมีน้ำเดิน คือ การมีน้ำใสใสไหลออกทางช่องคลอด กลั้นไม่ได้เหมือนปัสสาวะ ทั้งนี้เกิดจากถุงน้ำคร่ำแตก
  • ในระยะหลังคลอดจะยังคงมีเลือดไหลออกทางช่องคลอดในปริมาณไม่มาก ซึ่งเรียกว่าน้ำคาวปลา ในช่วงแรกจะมีสีแดงสด จากนั้นจะค่อยๆจางลงเป็นสีน้ำตาล และเปลี่ยน เป็นสีใสๆ โดยน้ำคาวปลาควรจะหมดภายใน 2-4 สัปดาห์ ซึ่งถ้าน้ำคาวปลาผิดปกติ เช่น เป็นเลือดสดตลอดเวลา หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือเมื่อผ่านระยะเวลานี้ไปแล้วยังคงมีน้ำคาวปลาอยู่ ควรรีบพบสูตินรีเวช เพราะอาจมีการติดเชื้อในมดลูก หรืออาจมีรกค้างอยู่ได้

    การมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยบีบเป็นพักๆ โดยอาการจะเกิดขึ้นเมื่อมารดาให้นมบุตร อาการที่เกิดขึ้นเป็นภาวะปกติ แสดงว่ามดลูกกำลังหดตัวเข้าสู่อุ้งเชิงกราน

    การขับปัสสาวะหลังคลอด ในช่วง 2-3 วันแรก ปริมาณปัสสาวะที่ออกจะออกมาก กว่าปกติ เนื่องจากร่างกายขับน้ำส่วนเกินที่เกิดจากการตั้งครรภ์ออกจากร่างกาย

    ภายหลังคลอดอาจเกิดอาการผิดปกติทางด้านจิตใจได้ เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจาก ปัญหาความสับสนในบทบาทของมารดา และภรรยา โดยอาการจะค่อยๆกลับเป็นปกติภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่ถ้าอาการเหล่านี้เรื้อรัง ควรรีบพบสูตินรีแพทย์

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์?

อาการที่แสดงว่าอาจมีการตั้งครรภ์ คือ

  1. ประจำเดือนขาด
  2. คลื่นไส้ อาเจียน มักมีอาการช่วงเช้า หรือมีอาการมากในช่วงเช้า
  3. อยากอาหารแปลกๆ
  4. อ่อนเพลีย อารมณ์แปรปรวน
  5. อาจปวดศีรษะบ่อยขึ้น แต่ไม่รุนแรง
  6. มีการเปลี่ยนแปลงของเต้านม เต้านมและหัวนมขยายใหญ่ขึ้น อาจรู้สึกเจ็บเต้านมและหัวนม
  7. ปัสสาวะบ่อยๆ เพราะขนาดมดลูกโตขึ้นจึงกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ กระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น

ในกรณีที่มีอาการดังกล่าวและสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ อาจตรวจยืนยันการตั้งครรภ์เองโดยการไปซื้อแถบตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์จากร้านขายยาขนาดใหญ่ มาตรวจ ซึ่งหลังจากจุ่มแถบตรวจกับปัสสาวะ ถ้าพบว่าแถบขึ้น 2 ขีด แสดงว่า มีการตั้งครรภ์ ในกรณีที่ไม่แน่ใจ ควรรีบไปพบสูตินรีแพทย์

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์?

แพทย์จะทำการวินิจฉัยว่าตั้งครรภ์โดยดูจาก ประวัติอาการ ประวัติเพศสัมพันธ์ ประวัติขาดประจำเดือน การตรวจร่างกาย การตรวจภายใน และมีการยืนยันผลการตรวจโดยการนำปัสสาวะไปตรวจดูการตั้งครรภ์

เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีที่เป็นไปได้เพื่อจะได้ทำการฝากครรภ์ ประเมินอายุครรภ์ที่แน่นอน ประเมินว่ามีภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์หรือไม่ นอกจากนั้นยังมีการตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์) หรือไม่ รวมถึงการตรวจคัดกรองโรคธาลัสซีเมียด้วยเพื่อการดูแลทารกตั้งแต่ในครรภ์

จะดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์

การดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ ที่สำคัญ คือ

  • การรับประทานอาหาร หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับประทานอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ ประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน ไม่มีอาหารที่ต้องงด ควรได้รับธาตุเหล็กเสริมระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อมาฝากครรภ์ หญิงตั้งครรภ์จะได้รับธาตุเหล็กในรูปยาเม็ด และควรรับประทานวันละเม็ดตลอดการตั้งครรภ์
  • การออกกำลังกาย หญิงตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ ถ้าไม่มีอาการเหนื่อยเกินไปหรือเป็นการออกกำลังกายชนิดที่เกิดอันตราย
  • การทำงาน ควรหลีกเลี่ยงงานที่ต้องออกกำลังมาก ไม่ควรทำงานต่อเนื่องจนเกิดอา การเหนื่อยมาก ควรมีเวลาพักระหว่างวัน หญิงตั้งครรภ์ที่เคยคลอดบุตรน้ำหนักน้อยมาก่อนควรจำกัดการทำงานไม่ให้มากเกินไป
  • การเดินทาง หญิงตั้งครรภ์สามารถเดินทางได้ แต่มีข้อควรปฏิบัติคือ ควรมีโอกาสลุกเดินบ้างทุก 2-3 ชั่วโมง กรณีที่นั่งรถยนต์ควรใช้เข็มขัดนิรภัยอย่างเคร่งครัด
  • การเลือกใช้เสื้อผ้า ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่น
  • การขับถ่ายอุจจาระ หญิงตั้งครรภ์มักมีอาการท้องผูก และมีโอกาสเป็นริดสีดวงทวารหนักได้มากขึ้น จึงควรพยายามป้องกันไม่ให้ท้องผูก โดยดื่มน้ำให้มากพอ รับประทานอาหารที่มีใยอาหารมากขึ้น (ผักและผลไม้) และออกกำลังกายพอสมควร
  • การดูแลสุขภาพฟัน หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจสุขภาพฟันจากทันตแพทย์ และถ้ามีปัญหาก็ทำการรักษาได้ตามที่ทันตแพทย์เห็นสมควร
  • การมีเพศสัมพันธ์ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ ยกเว้นในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
  • การสูบบุหรี่ หญิงตั้งครรภ์และสามีควรงดสูบบุหรี่ เนื่องจากมีผลต่อน้ำหนักตัวของทารกในครรภ์
  • การดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรดื่มสุรา/แอลกอฮอล์ในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากสุราจะทำให้เกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้า ปัญญาอ่อน หรืออาจจะมีรูปร่างพิการแต่กำเนิดได้

ข้อห้ามขณะตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?

ข้อห้ามสำคัญขณะตั้งครรภ์ คือ การใช้ยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยขณะตั้งครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากยาบางอย่างอาจส่งผลให้ทารกพิการได้

นอกจากนั้น ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์มีโรคประจำตัว รวมทั้งโรคธาลัสซีเมีย ควรรีบไปฝากครรภ์เพื่อประเมินความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ว่า การตั้งครรภ์จะส่งผลต่อมารดาและทารกในครรภ์หรือไม่

ผลข้างเคียงจากการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?

อาการ/ผลข้างเคียง ที่อาจเกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ เช่น อาการอ่อนเพลีย ปวดหลัง ปวดศีรษะ หลอดเลือดขาขอด ท้องผูก ริดสีดวงทวาร อาการแสบกระเพาะ มี ตกขาว และ อาการตะคริว

รู้ได้อย่างไรว่าครรภ์อาจผิดปกติ?

อาการที่ต้องรีบมารับการรักษาที่โรงพยาบาล เช่น เลือดออกทางช่องคลอด บวมที่หน้า นิ้ว ขา หรือเท้า ปวดศีรษะอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง ตามองเห็นไม่ชัด (อาการของภาวะครรภ์เป็นพิษปวดท้อง อาเจียนอย่างต่อเนื่อง มีไข้สูงหนาวสั่น ปัสสาวะขัด มีน้ำไหลออกทางช่องคลอด และ/หรือ ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงมาก

รู้ได้อย่างไรว่าใกล้คลอด?

อาการที่บ่งบอกว่าใกล้คลอดที่สำคัญ คือ มีอาการเจ็บครรภ์สม่ำเสมอ ประมาณทุก 10 นาทีครั้ง มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด หรือ มีน้ำใสใสไหลออกทางช่องคลอดคล้ายปัสสาวะแต่กลั้นไม่ได้

เมื่อใกล้คลอดควรทำอย่างไร?

เมื่อมีอาการต่างๆ ที่บ่งชี้ว่าใกล้คลอด เช่น เจ็บครรภ์ถี่ทุก 10 นาที มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด หรือมีน้ำใสใสไหลออกทางช่องคลอดโดยกลั้นไม่ได้ ควรรีบมาโรงพยาบาล

การปฏิบัติตัวหลังคลอดมีอะไรบ้าง?

การปฏิบัติตัวหลังคลอด คือ

  • การให้นมบุตร หญิงหลังคลอดควรให้นมบุตรทุก 2 ชั่วโมง และควรให้นานไปถึง 6 เดือนแรก ก่อนและหลังให้นมบุตรควรใช้สำลีชุบน้ำอุ่นทำความสะอาดหัวนมทั้งสองข้าง
  • การมีเพศสัมพันธ์ ในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอดควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้ รับการคุมกำเนิดก่อน (ควรปรึกษาสุตินรีแพทย์ผู้ทำคลอดในเรื่องการคุมกำเนิด และการวางแผนครอบครัว) เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม

ควรตั้งครรภ์อีกครั้งเมื่อไหร่?

การตั้งครรภ์ในครรภ์ถัดไปนั้น ควรเว้นระยะห่างในการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 ปี เพื่อให้หญิงหลังคลอดได้มีโอกาสพักในระหว่างไม่ตั้งครรภ์บ้าง

ถ้าไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร?

ควรมีการวางแผนเพื่อคุมกำเนิด (การวางแผนครอบครัว) ในกรณีที่ยังไม่พร้อมในการจะมีบุตรคนถัดไป ซึ่งการคุมกำเนิดในปัจจุบันมีมากมายหลายวิธี เช่น การกินยาคุมกำเนิด การใช้ยาฉีดคุมกำเนิด การใส่ห่วงคุมกำเนิด การฝังยาคุมกำเนิด การใช้ถุงยางอนามัย เป็นต้น ดังนั้นจึงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ผู้ดูแลในเรื่องเหล่านี้ ตั้งแต่เมื่อเริ่มฝากครรภ์

บรรณานุกรม

  1. กนก สีจร, ถวัลย์วงค์ รัตนสิริ, วิทูรย์ ประเสริฐเจริญสุข, โกวิท คำพิทักษ์. Antenatal care. สูติศาสตร์, second edition, p51-60.
  2. Advanced maternal age. https://en.wikipedia.org/wiki/Advanced_maternal_age [2012, June 18].
  3. Baby due date. https://www.betterhealth.vic.gov.au/bhcv2/bhcarticles.nsf/pages/baby_due_date [2012, June 18].
  4. Teenage pregnancy. https://en.wikipedia.org/wiki/Teenage_pregnancy [2012, June 18].

นพ. ธีระยุทธ เต็มธนะกิจไพศาล
สูตินรีแพทย์


แหล่งที่มา : haamor.com

อัพเดทล่าสุด