วิธีการรักษาอาการกรดไหลย้อน วิธีรักษา อาการกรดไหลย้อน บรรเทาอาการกรดไหลย้อน


3,547 ผู้ชม


วิธีการรักษาอาการกรดไหลย้อน วิธีรักษา อาการกรดไหลย้อน บรรเทาอาการกรดไหลย้อน

 

 

15 วิธีลดท้องอืดจากกรดไหลย้อน(GERD)
 


ภาพที่ 1: ระบบทางเดินอาหารเริ่มจากปาก, หลอดอาหาร (สีจาง), กระเพาะอาหาร (สีเข้ม), ลำไส้เล็ก (สีจาง), ลำไส้ใหญ่-ไส้ตรง-ทวารหนัก (สีเข้ม)

บริเวณเชื่อมต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหารจะมีระบบวาล์ว หูรูด หรือลิ้น (valve) ที่ยอมให้ของแข็ง ของเหลว และแก๊สไหลลงได้ และไหลขึ้นหรือย้อนกลับไม่ได้ ยกเว้นเวลาเรอ... จะยอมให้แก๊สไหลขึ้นได้

...

ระบบหูรูดหรือวาล์ว (ลิ้น) ของคนส่วนใหญ่แข็งแรง กันอาหาร น้ำ กรด และน้ำย่อยไม่ให้ไหลกลับจากกระเพาะอาหารไปยังหลอดอาหารได้

ระบบหูรูดหรือวาล์ว (ลิ้น) ที่เป็นนางเอกหรือพระเอกในเรื่องนี้ คือ หูรูดส่วนล่างของหลอดอาหาร

...

ระบบหูรูดหรือวาล์วของคนส่วนน้อยไม่แข็งแรง เกิดโรคกรดไหลย้อน ทำให้กรด อาหาร น้ำ และน้ำย่อยไหลกลับได้ และบางคนอาจจะแย่กว่านั้น คือ มีน้ำดี ซึ่งปกติจะอยู่ในลำไส้เล็ก ไหลย้อนขึ้นด้วย

...


ภาพที่ 2: ระบบทางเดินอาหาร-ทางเดินหายใจจากจมูก-ปาก มีทางร่วมบริเวณลำคอ หลังจากนั้นจะแยกเป็น 2 ทาง ด้านหน้าเป็นกล่องเสียง (larynx), หลอดลม (trachea); ด้านหลังเป็นหลอดอาหาร (esophagus), กระเพาะอาหาร (stomach), และลำไส้เล็กตามลำดับ 

ภาวะกรดไหลย้อนอาจทำให้กรดหรือน้ำย่อยตกไปในกล่องเสียง ทำให้เสียงแหบ หรือไอเรื้อรังได้

...

กระเพาะอาหารมีหูรูดขาออก (pyloric sphinctor) ซึ่งปกติจะยอมให้อาหาร น้ำ กรด และน้ำย่อยในกระเพาะอาหารผ่านไปยังลำไส้เล็กได้ แต่ไม่ยอมให้น้ำดี น้ำย่อย อาหาร และน้ำในลำไส้เล็กไหลย้อนกลับ

ถ้าหูรูดขาออกทำงานได้ไม่ดี ทำให้น้ำดีไหลย้อนกลับไปในกระเพาะอาหารมากพอ อาจทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ เป็นแผลได้

...

ถ้าน้ำดีไหลย้อนจากลำไส้เล็กไปยังกระเพาะอาหารได้ และไหลย้อนจากกระเพาะอาหารไปยังหลอดอาหารได้... การรักษาจะยุ่งยากขึ้นมาก

กรณีอาเจียนเป็นสีเขียว ควรถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล เก็บไว้ให้หมอใกล้บ้านดู จะทำให้การวินิจฉัยแม่นยำขึ้น

...


ภาพที่ 3: ท่านอนหรือก้มตัวจะทำให้หลอดอาหาร ซึ่งอยู่ในแนวดิ่ง (ท่ายืน ท่านั่ง) ไปอยู่ในแนวนอน,

ท่านอนเป็นท่าที่ของแข็ง-ของเหลวในกระเพาะอาหาร (ซึ่งมีทั้งอาหาร กรด น้ำย่อย และน้ำ) ไหลย้อนกลับจากกระเพาะอาหาร ไปยังหลอดอาหารได้ง่าย 

การกินอาหารมื้อใหญ่ก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง, กินแล้วนอน หรือก้มตัวลง เช่น ยกของหนัก ฯลฯ, หรือภาวะที่ทำให้แรงดันในช่องท้องเพิ่ม เช่น อ้วนลงพุง ตั้งครรภ์ สวมเสื้อผ้าคับ โดยเฉพาะเข็มขัดที่รัดแน่น ฯลฯ มีส่วนทำให้กรดไหลย้อนมากขึ้นได้

ทางที่ดีคือ กินอาหารช้าลง ไม่พูดเวลากิน (การพูดมากเพิ่มเสี่ยงการกลืนลม หรืออากาศเข้าไปมากขึ้น) กินมื้อละน้อยหน่อย บ่อยขึ้น อิ่มแล้วหยุด เดินหลังอาหารช้าๆ แบบที่คนไทยเรียกว่า "เดินย่อยอาหาร" หรือนั่งพักหลังอาหาร อย่าเพิ่งรีบนอนหลังอาหาร

...

 

ภาพที่ 4: เบาะรูป 3 เหลี่ยม (wedge) สำหรับบรรเทาอาการกรดไหลย้อนในเด็ก ซึ่งอาจทำให้เด็กแหวะ (อาเจียน) นม, ท้องอืด, แน่นท้อง, ปวดท้อง, ร้องไห้บ่อยหลังกินนม 

...

  

ภาพที่ 5: แผ่นกระดาน (board) หรือเบาะรูป 3 เหลี่ยม (wedge) สำหรับบรรเทาอาการกรดไหลย้อนในเด็กเล็ก 

เมืองไทยน่าจะมีการออกแบบเบาะ หรือเตียงสำหรับบรรเทาอาการกรดไหลย้อนจำหน่าย โดยออกแบบให้ด้านหัวสูงกว่าด้านเท้า

...

 

ภาพที่ 6: แสดงการหนุนขาเตียงด้านหัวให้สูงขึ้น 2-6 นิ้ว โดยใช้ก้อนอิฐหรือแผ่นไม้รองให้มั่นคงแข็งแรง เพื่อให้หลอดอาหารอยู่ในแนวดิ่งมากขึ้น แนวนอนน้อยลง 

ไม่ควรหนุนหมอนหลายใบ เนื่องจากอาจทำให้ปวดคอ หรือหายใจไม่สะดวก และไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น เนื่องจากไม่ได้ทำให้หลอดอาหารเอียงขึ้นมาจากแนวนอน

...


ภาพที่ 7: โรคกรดไหลย้อนอาจมีกรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร ผ่านหลอดอาหาร ไปยังลำคอ และช่องปากได้ 

ทำให้อาจรู้สึกเจ็บคอ ระคายเคืองภายในคอ แสบคอ มีรสเปรี้ยวในปาก (รสชาดกรด), มีกลิ่นปากหรือกลิ่นลมหายใจ (จากอาหาร กรด น้ำย่อย น้ำดีในกระเพาะฯ-ลำไส้เล็ก), และที่สำคัญ คือ ทำให้ฟันสึก-เสียวฟัน-ฟันผุได้

...

ลักษณะสำคัญที่พบคือ ฟันซี่หลังๆ จะสึกกร่อน (A) มาก เนื่องจากอยู่ใกล้ลำคอ

ส่วนคอฟันซี่หน้าหน่อย (B) จะไม่ค่อยสึก, ไม่เหมือนฟันสึกจากการแปรงฟันแรง แปรงฟันมากหรือบ่อยเกิน, แปรงด้วยแปรงขนแข็ง ซึ่งจะสึกมากบริเวณคอฟัน

...........................................

โรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease / GERD / เกิร์ด) อาจทำให้อาหาร น้ำ กรด น้ำย่อย และน้ำดีไหลย้อนจากกระเพาะอาหาร ไปยังหลอดอาหาร หรืออวัยวะอื่นๆ ได้

คนไข้ส่วนใหญ่มีอาการน้อยลงหลังได้รับยาลดกรด และปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ (lifestyle)

... 

คนไข้ส่วนน้อยอาจไม่ดีขึ้น เนื่องจากมีน้ำดีไหลย้อนมาก หรือไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตเลย หวังแต่พึ่งยา หรือเอาแต่ใจตัวเอง-ขาดความอดทน

โรคส่วนใหญ่ยาช่วยได้ประมาณครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งคนไข้ต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น คนไข้เบาหวานที่กินลำไยครั้งละ 2-3 ลูก... แบบนี้ยาช่วยได้ ส่วนพวกที่ซัดลำไยครั้งละ 2-3 กิโลกรัม... แบบนี้รอดยาก ฯลฯ

...

โรคกรดไหลย้อนอาจทำให้เกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืด ปวดท้อง แสบร้อนที่ลิ้นปี่ แสบร้อนหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียน

ถ้าอาเจียน... ควรสังเกตด้วยว่า มีสีเขียวของน้ำดีปนอยู่ด้วยหรือไม่ เนื่องจากการรักษาจะใช้ยาต่างกัน (วิธีที่ดีคือ ถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล นำไปให้หมอใกล้บ้านดู)

... 

คนไข้บางคนมีอาการไอเรื้อรัง เสียงแหบ ฟันสึก เสียวฟัน เจ็บคอ แสบคอบ่อย, อาการมักจะทุเลาลงหลังดื่มน้ำ กินยาลดกรด

การไม่ปรับเปลี่ยนแบบแผนการใช้ชีวิต หรือไลฟ์สไตล์อาจทำให้หลอดอาหารอักเสบ เป็นแผล หรือเยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนสภาพเป็นสภาวะเสี่ยงมะเร็ง (Barrett's esophagus) ได้

...

การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า โรคนี้มีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม 31-43% ทำให้ญาติๆ อาจมีอาการคล้ายๆ กันได้,

คนที่เป็นโรคหอบหืดเป็นโรคนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งอาจเป็นผลจากกรดไหลย้อนทำให้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง

...

วิธีลดอาการโรคกรดไหลย้อนหรือเกิร์ดที่สำคัญได้แก่

  • (1). ลดความอ้วนถ้าน้ำหนักเกิน
  • (2). เปลี่ยนจากอ้วนไม่ฟิตเป็นอ้วนฟิต (แข็งแรง) ด้วยการออกแรง-ออกกำลังเป็นประจำ เพื่อลดไขมันในช่องท้อง หรือภาวะอ้วนลงพุง
  • (3). ไม่กินอาหารมื้อใหญ่เกิน
  • (4). ไม่กินข้าวคำ-น้ำคำ หรือดื่มน้ำระหว่างมื้อมากเกิน
  • (5). ไม่กินไป-พูดไป ซึ่งเพิ่มโอกาสกลืนลม (อากาศ) ลงไป

...

  • (6). ไม่ดื่มน้ำอัดลม เบียร์ ซึ่งเพิ่มปริมาตรอาหารด้วยน้ำและลม
  • (7). ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า เบียร์ ไวน์ ฯลฯ
  • (8). ลดกินอาหารไขมันสูง โดยเฉพาะอาหารทอด
  • (9). ลดอาหารแสลง ซึ่งแต่ละคนอาจจะไม่เหมือนกัน วิธีที่ดีคือ จดรายการอาหารแต่ละมื้อ และบันทึกว่า มื้อไหนอาการมากขึ้น... เมื่อทดลองกินซ้ำ 2-3 ครั้งแล้วเกิดอาการเหมือนเดิมอีก จะได้ลดปริมาณให้น้อยลง หรือเลี่ยงอาหารแสลง
  • อาหารแสลงโรคกรดไหลย้อนที่พบบ่อยได้แก่ เหล้า เบียร์ ไวน์ แอลกอฮอล์ เครื่องเทศ น้ำส้มสายชู หัวหอม ชอคโกแล็ต มิ้นท์ (mint / สะระแหน่ อาจผสมในหมากฝรั่ง) ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น เครื่องดื่มกระตุ้นกำลัง ฯลฯ น้ำส้ม น้ำมะเขือเทศ 
  • (10). ไม่เอนนอนหลังอาหาร 2-3 ชั่วโมง... ถ้าติดนิสัยงีบหลังอาหาร ควรใช้เตียงที่พับด้านหัวขึ้นได้ หรือเบาะนอนรูป 3 เหลี่ยมช่วยพยุง

...

  • (11). การนอนตะแคงซ้ายอาจช่วยบรรเทาอาการได้ เนื่องจากท่านี้จะทำให้กระเพาะอาหารอยู่ต่ำกว่าหลอดอาหาร, ตรงกันข้ามท่านอนตะแคงขวาจะทำให้กระเพาะฯ อยู่สูงกว่าหลอดอาหาร และอาจทำให้อาการมากขึ้น
  • (12). ไม่สวมเสื้อผ้าคับ โดยเฉพาะอย่ารัดเข็มขัดแน่น หรือใส่กางเกงฟิต
  • (13). ไม่สูบบุหรี่
  • (14). ไม่กินยากดการอักเสบ (NSAIDs) โดยไม่มีข้อบ่งชี้ (คนไข้จำนวนมากชอบกดดันหมอให้จ่ายยานี้ โดยเฉพาะคนไข้รักษาฟรี)
  • (15). การเคี้ยวหมากฝรั่งหลังอาหาร ทำให้การหลั่งน้ำลายมากขึ้น และอาจช่วยลดอาการได้ (ควรบ้วนปากหลังอาหารหลายๆ ครั้งก่อน)

...

ภาพที่ 8,9: กระเพาะอาหารอยู่ค่อนไปทางซ้าย;

  • ภาพบนแสดงท่านอนตะแคงซ้าย-มองจากด้านหน้า > กระเพาะฯ อยู่ต่ำกว่าหลอดอาหาร กรดไหลย้อนได้ยากขึ้น
  • ภาพล่างแสดงท่านอนตะแคงขวา-มองจากด้านหลัง > กระเพาะฯ อยู่สูงกว่าหลอดอาหาร กรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น 


แหล่งที่มา : thaiblogonline.com

อัพเดทล่าสุด