ไอเรื้อรัง รักษา แก้อาการไอเรื้อรัง รักษาไอเรื้อรัง


1,368 ผู้ชม


ไอเรื้อรัง รักษา แก้อาการไอเรื้อรัง รักษาไอเรื้อรัง

 

 
         จากเดิมที่เคยเชื่อว่าจะพบผู้ป่วยมะเร็งปอดในกลุ่มคนที่อายุเกิน 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันคนที่อายุน้อยกว่า 40 ก็พบว่าเป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน
เริ่มต้นจากการไอ
         
อาการไอ มีที่มาจากหลายสาเหตุ และสาเหตุทั่วไปที่พบบ่อย เช่น ไข้หวัด คออักเสบ ไซนัสอักเสบ ล้วนทำให้เกิดอาการไอได้ ขณะเดียวกันอาการไอก็อาจเป็นสัญญาณบอกถึงการก่อตัวของโรคร้ายได้เช่นกัน เพราะฉะนั้นคนที่มีอาการไอเรื้อรัง ยิ่งต้องระวังเพราะอาจมีโอกาสที่จะเป็นโรคร้ายแรงได้มาก
เพราะเหตุใดจึงเกิดอาการไอ
         การไอ เป็นกลไกอย่างหนึ่งของร่างกายในการป้องกันตนเอง เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมไประคาย หรือมีเสมหะอยู่ในหลอดลม ร่างกายก็จะกำจัดทิ้งเพราะถือว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม หรือบางกรณีอาจไม่มีสิ่งแปลกปลอมเข้ามา แต่มีบางสิ่งไปกดทับที่เนื้อปอดหรือหลอดลม เช่น ก้อนเนื้องอกหรือมะเร็งปอด ร่างกายจะรับรู้ว่ามีบางอย่างมาระคายอยู่ กลไกของร่างกายก็จะกระตุ้นให้เกิดอาการไอ เพื่อพยายามจะขับออก แต่ขับไม่ออกเป็นผลให้เกิดการไอเรื้อรังขึ้น 
         การไอมีหลายชนิด แต่ละชนิดก็มีสาเหตุแตกต่างกัน ถ้าไอมีเสมหะ เช่น เสมหะเขียว หรือเหลือง ก็บ่งบอกว่าน่าจะเกิดจากการติดเชื้อ หรืออาจเป็นโรคที่มีการติดเชื้อแทรกซ้อน อาการไอแห้งๆ อาจเกิดมาจากการแพ้อากาศ หรือมีบางอย่างไประคายคอหรือหลอดลม รวมไปถึงโรคมะเร็งปอด
 
กินยาอม แก้ไอได้หรือไม
         ยาที่ใช้ในการรักษาอาการไอ มีหลายชนิด โดยออกฤทธิ์แตกต่างกันไป ยาแก้ไอบางชนิดออกฤทธิ์โดยการกดอาการไอ ซึ่งจะมีผลข้างเคียง คือง่วงซึม ส่วนยาบางตัวระงับอาการไอโดย ลดการกระตุ้น หรือการระคายเคือง เช่น ยาอมที่มีรสเผ็ดหรือรสเมนทอล และอาจมียาฆ่าเชื้อผสมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตามแนะนำว่าไม่ควรซื้อยาแก้ไอมารับประทานเอง โดยพรั่งเพรื้อเพราะอาจใช้ไม่ถูกต้อง และอาจทำให้โรคที่เป็นอยู่ไม่ได้รับการรักษาและเป็นมากขึ้น
 
ไอแบบไหนบอกสัญญาณอันตราย
         อาการไอโดยทั่วไปถ้าไม่รุนแรงจะค่อยๆ ดีขึ้นจนกระทั่งหายไปในที่สุด แต่ถ้าไอเรื้อรัง มีเลือดปน ร่วมกับมีพฤติกรรมชอบสูบบุหรี่ ต้องระวังโรคร้ายแรง และควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วน อย่านิ่งนอนใจ
 
         โดยทั่วไปไอเรื้อรัง ในทางการแพทย์ คือไอติดต่อกันนานเกินกว่า 3 สัปดาห์ หากสังเกตพบว่าไอเรื้อรังและมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจไม่ใช่โรคทั่วๆ ไป ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยแยกโรคระหว่างวัณโรคปอด กับมะเร็งปอด โดยเฉพาะหากมีไข้ร่วมด้วย เนื่องจากในช่วงหลังยังพบผู้ป่วยวัณโรคอยู่ ซึ่งอุบัติการณ์ของการเกิดวัณโรคในประเทศไทยเดิมทีคาดว่าสามารถกำจัดได้ แต่หลังจากที่มีการระบาดของโรคเอดส์ พบว่าอุบัติการณ์ของวัณโรคมีจำนวนมากขึ้น อาจเป็นเพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายบกพร่องทำให้วัณโรคสามารถแพร่กระจายได้มากขึ้น สำหรับมะเร็งปอดจะเน้นไปที่กลุ่มคนไข้ที่สูบบุหรี่จัด ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด หรือไอเป็นเลือดร่วมด้วยให้รีบพบแพทย์โดยเร็ว
  บุหรี่ร้าย...เร่งการทำลายปอด
         
สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ สูบบ่อยๆ ไอบ่อยๆ ไอเรื้อรัง ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะว่าบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปอด ผู้ที่สูบบุหรี่มีอัตราการเกิดโรคมะเร็งปอดเป็น 10 เท่าของผู้ที่ไม่สูบ ดังนั้นผู้ที่สูบบุหรี่มีโอกาสสูงที่จะเป็นมะเร็งปอด
         สำหรับบางคนร่างกายมีความไวต่อสารที่ก่อให้เกิดมะเร็งในบุหรี่มากเป็นพิเศษ ทำให้มีโอกาสเป็นมะเร็งมากกว่าคนทั่วไป เช่น คนสองคนสูบบุหรี่ในปริมาณเท่ากัน ระยะเวลาเท่ากัน แต่คนที่มีความไวต่อสารก่อมะเร็งมากกว่าก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้ง่ายกว่า นอกจากนี้ในอดีตจะมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดมะเร็งปอดได้ โดยเฉพาะสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด เช่น สารจำพวกแร่ใยหิน ที่ผสมอยู่ในวัสดุก่อสร้าง ก็สามารถทำให้เกิดมะเร็งปอดได้เช่นกัน
 
การสูบบุหรี่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอดอย่างไร
         เมื่อก่อนเชื่อว่าผู้ป่วยมะเร็งจะพบในคนที่อายุ 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันพบว่าการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์อย่างมากกับโอกาสที่จะเกิดมะเร็งปอด โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลักดังนี้
  1. ระยะเวลาที่สูบบุหรี่ และปริมาณที่สูบ 
  2. ลักษณะการสูบ โดยเฉพาะกลุ่มที่สูบแบบเต็มปอด คือสูบแบบสูดเอาควันเข้าไปในปอดเต็มที่ 
  3. ชนิดของบุหรี่ บุหรี่แต่ละชนิดจะมีสารนิโคตินในบุหรี่ไม่เท่ากัน
         ดังนั้นถึงแม้อายุน้อยกว่า 40 ปี ก็พบว่ามีโอกาสป่วยเป็นโรคมะเร็งปอดได้ และสถิติของผู้ป่วยมะเร็งปอดก็ขึ้นอยู่กับจำนวนของคนที่สูบบุหรี่ เพราะฉะนั้นการป้องกันจึงเน้นรณรงค์เรื่องการงดสูบบุหรี่เป็นสำคัญ
 
อาการไอนำไปสู่โรคอะไรได้อีกบ้าง
         อาการไอนำไปสู่โรคต่างๆ ได้อีกหลายโรค ตั้งแต่ไข้หวัดธรรมดา ไซนัสอักเสบ หลอดลมอักเสบ การติดเชื้อในหลอดลม วัณโรค ถุงลมโป่งพอง หรือหอบหืดก็มีอาการไอร่วมด้วย สำหรับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่มีอาการไอเรื้อรัง อาจพบว่ามีภาวะปอดอักเสบจากเชื้อไวรัส ซึ่งหากรักษาช้าจะเกิดโรคแทรกซ้อน และส่งผลให้การหายใจล้มเหลว ทำให้เสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทัน
 
         เพราะฉะนั้นการไอไม่ใช่เรื่องเล็กๆ อย่าประมาทยิ่งไอเรื้อรังยิ่งต้องระวังมากเป็นพิเศษ สังเกตอาการไอ หากรู้สึกผิดปกติเมื่อไหร่ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อป้องกันการเกิดโรคร้ายตั้งแต่ในวัยหนุ่ม
 
 
สอบถามเพิ่มเติมที่ คลินิกอายุรกรรม
โทร. 0-2734-0000 ต่อ 2200, 2204
 
รศ.นพ.บุญรัตน์ เอื้อสุดกิจ
อายุรแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ
ปริญญาบัตร
  • แพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
วุฒิบัตร
  • สาขาอายุรศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ประกาศนียบัตร
  • Diploma in Thoracic Medicine Cardiothoracic Institute, Brompton Hospital, London Chest Hospital, National Heart Hospital, University of London (British Postgraduate Medical Federation).
ความรู้และความชำนาญเฉพาะด้าน
  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอายุรศาสตร์โรคระบบทางเดินหายใจ
  • มีประสบการณ์ดูแลรักษาผู้ป่วยนานกว่า 23
 
 


แหล่งที่มา : vejthani.com

อัพเดทล่าสุด