ข่าวเทคโนโลยีสุขภาพ แอพสุขภาพ เทคโนโลยีมือหมอในมือคุณ


1,915 ผู้ชม


ข่าวเทคโนโลยีสุขภาพ แอพสุขภาพ เทคโนโลยีมือหมอในมือคุณ

“แอพสุขภาพ” เทคโนโลยีมือหมอในมือคุณ

“แอพสุขภาพ” เทคโนโลยีมือหมอในมือคุณ

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเทคโลโนยีมันรุดหน้าไปไกลอย่างรวดเร็ว เรียกได้ว่าเผลอแปบเดียวอาจล้าหลังไปได้เลยก็ว่าได้ และเมื่อมันหยุดไม่ได้ เราก็ควรปรับเปลี่ยนสิ่งที่อยู่รอบๆ รวมถึงตัวเราเองด้วยให้เข้ากับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา และเมื่อปัจจุบันกระแสของการสร้างเสริมสุขภาพ การมีสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นแทรนด์ฮิตของคนยุคใหม่แล้วด้วย หากรวมเข้าได้ด้วยกันแล้ว มันน่าจะส่งผลดีต่อสุขภาะโดยรวมของคนไทยได้

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นความร่วมมือกันของหน่วยงานยักษ์ใหญ่อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ที่จะดำเนินงานส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชน เพื่อหวังยกระดับคุณภาพชีวิต เยาวชน-ผู้สูงอายุ-ผู้พิการโดยที่ผ่านมาได้มีการลงนามความร่วมมือทางวิชาการกันไปเป็นที่เรียบร้อย

โดยดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สวทช. บอกว่า ปัจจุบันการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาประเทศเป็นสิ่งสำคัญ แต่เทคโนโลยียังสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาสังคม ให้เกิดประโยชน์ต่อการยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำ และเป็นเครื่องมือในการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับสังคมไทย ที่ผ่านมา สวทช. มีพันธกิจในการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาด้วยการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สารสนเทศ และนวัตกรรม เพื่อให้การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมนำประเทศไปสู่ความยั่งยืน ซึ่งการลงนามในครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องดีที่ผลงานด้านเทคโนโลยีจะได้นำมาขยายผลให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์ เพราะเทคโนโลยีมันเข้าถึงง่าย ใช้ง่ายและสะดวกสบายทั้งนี้การลงนามความร่วมมือระหว่างครั้งนี้จะมีการพัฒนางานใน 3 ด้าน คือ การพัฒนาเยาวชนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีในการสร้างเสริมสุขภาวะ เช่น โครงการประกวดการพัฒนาโปรแกรมและเทคโนโลยีสารสนเทศของเยาวชน การพัฒนาเทคโนโลยีและระบบฐานข้อมูลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาวะ เช่น การพัฒนาโปรแกรมบนมือถือให้บริการข้อมูลเรื่องโภชนาการ การออกกำลังกาย และการใช้ยาที่ถูกต้อง และ การถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการสร้างเสริมสุขภาวะอย่างยั่งยืน

“นี่เป็นโอกาสดีที่เราได้มาร่วมมือกับองค์กรที่มีผลงานโดดเด่นเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพ และสามารถใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด หวังเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยกันสนับสนุนและพัฒนาให้เกิดการสร้างสุขภาวะได้อย่างยั่งยืน ส่วนในด้านของการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะนั้น อาทิเปิดให้ระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ โดยพัฒนาชุดอุปกรณ์ควบคุมการเปิดปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ใช้งานได้ทั้งจากสวิตซ์ปกติ และควบคุมผ่านรีโมทคอนโทรล ภายในรัศมี 20-30 เมตรจากเครื่องติดตั้ง และพัฒนาระบบแจ้งเหตุฉุกเฉินสำหรับผู้สูงอายุ และผู้พิการ โดยติดตั้งอุปกรณ์เพื่อส่งสัญญาณเตือนภัยในรูปแบบของเสียงสัญญาณไซเรน หรือไฟ ในกรณีที่ต้องการขอความช่วยเหลือ เพื่อแจ้งให้คนในครอบครัว หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียงรับทราบ” ดร.ทวีศักดิ์กล่าว

ด้าน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่าที่ผ่านมา สสส. มีความประสงค์จะให้เรื่องของสุขภาพไปถึงประชาชนอย่างกว้างขวาง แต่ที่ผ่านมายังคงขาดเครื่องมือ โดยเฉพาะเครื่องมือที่ทันสมัยสามารถเข้าถึงวัยรุ่น กลุ่มประชากรต่างๆ ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลเหล่านี้ได้ง่าย ปัจจุบันพบว่ามีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพเป็นที่แพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งเห็นได้จากการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพมากถึงกว่า 1.2 แสนครั้งต่อเดือน เฉลี่ยวันละ 40,600 กว่าครั้ง จากจำนวนประชาชนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ 25 ล้านคน หรือเกือบ 40% ล่าสุดในเดือนมีนาคม ปี 2555 พบว่า ประเทศไทยมีผู้ใช้ FaceBook มากเป็นอันดับที่ 16 ของโลก หรือมีผู้ใช้กว่า 14 ล้านคน และมีผู้ใช้ Twitter อีกกว่า 1 ล้านคน นอกจากนั้นข้อมูลจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข ยังพบว่า ประเทศไทยใช้งบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพ เฉลี่ยปีละ 20,000 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายด้านสุขภาพสูงมากกว่า ปีละ 400,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีนวัตกรรมที่ช่วยเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพของประชากรได้ ก็จะบรรเทาปัญหาทางสุขภาพ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้ดีขึ้นได้ด้วย

“เห็นได้ว่าคนในปัจจุบันคนหันมาสนใจเรื่องของสุขภาพมากขึ้น เห็นได้จาก ตัวอย่างเว็บไซด์ของ สสส. เองได้ขึ้นอันดับหนึ่งของเว็บไซด์องค์กรสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง นั่นก็บ่งบอกได้ว่าคนส่วนใหญ่รักสุขภาพ และเทคโนโลยีก็จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่นำเรื่องของสุขภาพเข้าไปถึงประชาชนโดยง่าย และถ้าเราเอาข้อมูลที่เป็นประโยชน์และสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีได้ให้เข้าถึงประชาชนได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตผ่านชีวิตประจำวัน เชื่อว่าจะสามารถลดการสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้จำนวนมากได้”หมอกฤษดากล่าว

ขณะนี้มีหลายโครงการที่ได้ริเริ่มไปแล้ว เช่น "ยากับคุณ" (YaandYou) แอฟพลิเคชั่นสำหรับสืบค้นและบริการข้อมูลความรู้ด้านยาและสุขภาพเพื่อส่งเสริมการใช้ยาและการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องเหมาะสม, FoodiEat โปรแกรมบันทึกพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เป็นโปรแกรมสำหรับเก็บประวัติการรับประทานอาหารในแต่ละมื้อของวัน ทำให้ผู้ใช้สามารถคำนวนปริมาณแคลอรี่ของอาหารที่รับประทานในแต่ละวันได้

ในเมื่อกระแสการรักสุขภาพกำลังได้รับความสนใจ หากทำให้มันสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น ผ่านการใช้ชีวิตประจำวันอย่างโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ทั้งเรื่องของการป้องกันไปจนถึงการแก้ไข เชื่อได้เลยว่าอัตราการเจ็บไข้ได้ป่วย รวมถึงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบลาลต้องลดลงอย่างชัดเจนเป็นแน่ แล้วที่นี้สังคมไทยเราก็จะขยับเข้าใกล้มหานครแห่งสุขภาพกันอีกขั้นแล้วนะคะ



แหล่งที่มา : thaihealth.or.th

อัพเดทล่าสุด