การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดหัวใจ อาหารที่เหมาะหลังผ่าตัดหัวใจ วิธีผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ | |
|
การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ จะนำมาใช้กับผู้ป่วยก็ต่อเมื่อผู้ป่วยไม่มีโอกาสดีขึ้นด้วยการรักษาด้วยยา หรือการผ่าตัดอื่นใดแล้ว
ถ้าไม่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตในระยะเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจากหัวใจของผู้ป่วยเหล่านี้มีความเสียหาย ที่เกิดกับกล้ามเนื้อหัวใจค่อนข้างมาก...
ความสามารถในการบีบตัวน้อยลงมาก มีอาการหัวใจวายบ่อยมาก และเรื้อรัง หัวใจเต้นผิดปกติ ห้องหัวใจขยายใหญ่ ผู้ป่วยเหล่านี้จะทำงานไม่ได้ ออกแรงมากไม่ได้ มีโอกาสเสี่ยงสูงมากที่จะถึงแก่กรรมอย่างกระทันหัน
ความเป็นมา
- การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ คือการผ่าตัดใส่หัวใจใหม่ เข้าไปในผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจระยะสุดท้าย เพื่อใช้ทำงานแทนหัวใจเดิม ที่นิยมทำ ในปัจจุบัน คือใช้หัวใจของผู้ที่เสียชีวิตใหม่ๆ นำมาผ่าตัดใส่เข้าไปแทนที่หัวใจเดิมของผู้ป่วย
- ทำสำเร็จเป็นครั้งแรก โดย นายแพทย์คริสเตียน เบอร์นาร์ด (Christian Bernard) ประเทศสาธารณรัฐแอฟริกาใต้ เมื่อปี ค.ศ. 1967 ต่อมาในปี ค.ศ. 1968 มีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศในทวีปยุโรป และเอเชีย
- การผ่าตัดในระยะแรกๆ ได้ผลไม่ดี เพราะขณะนั้นยังไม่มียากดภูมิคุ้มกันที่ดี จำเป็นต้องใช้ยาพวกสเตียรอยด์ ซึ่งมีผลข้างเคียงมาก ผู้ป่วยมักเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนภายใน 1-2 ปี หลังการผ่าตัดการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจจึงซบเซาไประยะหนึ่ง
- ต่อมาในปี ค.ศ. 1980 มีผู้ค้นพบยาไซโคลสปอริน ซึ่งเป็นยากดภูมิคุ้มกันที่ดี มีผลข้างเคียงน้อย ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจได้ผลดีขึ้น จึงมีการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมากขึ้น
- ปัจจุบันถือว่าการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นการรักษาที่เป็นมาตรฐาน ปีหนึ่งๆ มีผู้ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจประมาณ 3,000 ราย จากศูนย์การแพทย์ทั่วโลกประมาณ 200 แห่ง
ข้อบ่งชี้
- โรคหัวใจที่จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจโป่งพองโดยไม่ทราบสาเหตุ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือโรคลิ้นหัวใจพิการระยะสุดท้าย โรคหัวใจพิการแต่กำเนิดบางชนิด
- ผู้ที่จะได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ เป็นผู้ป่วยที่ได้รับการพิจารณาว่าไม่มีวิธีอื่นใดแล้ว และส่วนมากจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกินหนึ่งปี ถ้าไม่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ปกติจะเลือกผู้ที่มีอายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคติดเชื้อหรือโรคมะเร็งของอวัยวะต่างๆ ไม่มีโรคความดันโลหิตสูงในปอด
- ที่สำคัญมีความเข้าใจในขบวนการผ่าตัด และยินดีที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- หัวใจที่จะนำมาใช้ต้องได้จากผู้ที่เสียชีวิตใหม่ๆ โดยอุบัติเหตุหรือโรคทางสมองที่มีการทำลายของแกนสมองจนสมองตายแล้ว มีอายุไม่เกิน 45 ปี มีหมู่เลือดเดียวกับผู้ป่วย ไม่มีโรคหรือความผิดปกติทางหัวใจ และได้รับอนุญาตจากผู้ตาย หรือญาติของผู้ตายบริจาคให้
ขั้นตอนการผ่าตัด
- การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ ก็เหมือนการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะอย่างอื่น หรือที่เรียกว่าการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วย และญาติจะต้องเข้าใจ และยินยอม ที่จะรับการผ่าตัดตามที่แพทย์แนะนำก่อน ขั้นต่อไปจึงเป็นขั้นเตรียมการทั้งฝ่ายผู้ป่วยเอง และขั้นตอนการรับบริจาคหัวใจ
- สำหรับผู้ป่วยเองจะต้องได้รับการตรวจเช็คร่างกายทุกระยะ มีการเตรียมพร้อมของร่างกาย ตลอดจนขั้นตอนการผ่าตัดทั้งหมด สำหรับขั้นตอนการรับบริจาคหัวใจ ส่วนใหญ่แพทย์ผู้รักษาจะเป็นผู้ประสานงานให้กับศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย ซึ่งจะมีขั้นตอน และระเบียบปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อหาหัวใจที่มีคนบริจาคและจะเข้ากันได้กับของผู้ป่วย
- การผ่าตัดใช้เวลาทั้งวัน เพราะต้องเตรียมการตั้งแต่ติดต่อผู้บริจาค ขออนุญาตผู้บริจาค จนถึงลงมือผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 16-18 ชั่วโมง แต่ช่วงที่ทำการผ่าตัดจริงๆ ตั้งแต่ลงมีดจนเย็บแผลใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมงเศษๆ ช่วงที่เอาหัวใจออกจากร่างกายประมาณ 3 ชั่วโมง
ผลการรักษา
- การผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจในปัจจุบันประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ดีขึ้น ยากดภูมิคุ้มกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านน้อยลง การดูแลรักษาหลังผ่าตัดมีประสิทธิภาพมากขึ้น และจากสถิติของสมาคมผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจนานาชาติ พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจมากกว่า 70% จะมีชีวิตอยู่ได้ถึง 10 ปี และส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะดำรงชีวิตเหมือนหรือใกล้เคียงคนปกติเลยทีเดียว
- เทคโนโลยีขณะนี้ก้าวหน้าไปมาก โดยสามารถช่วยให้คนมีชีวิตอยู่รอดได้มากขึ้น ต่อไปในอนาคตอาจจะนำเอาหัวใจคนละประเภท คือ หัวใจจากสัตว์ เช่น หมู มาใส่ให้มนุษย์ก็ได้ ถ้าสามารถคิดค้นยาเพื่อไปกดสารในร่างกายที่ไปทำลายหัวใจจากคนละประเภทได้ ขณะนี้กำลังศึกษาว่าทำได้หรือไม่ ถ้าทำได้จะทำให้ลดปัญหาเรื่องหัวใจขาดแคลนได้มาก
ค่าใช้จ่าย
- ค่าผ่าตัดประมาณ 50,000 บาท
- ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในเดือนแรกประมาณ 100,000 บาท เดือนต่อไปค่อยๆ ลดลงเพราะมีการให้ยาน้อยลง
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด
- เมื่อผ่าตัดแล้วผู้ป่วยจะต้องมาตามนัดทุกครั้ง ขั้นแรกนัดให้มาทุกสัปดาห์ ต่อมาทุก 2 สัปดาห์ และเดือนละครั้ง
- ต้องกินยาอย่างเคร่งครัด ถ้าขาดยาแม้แต่สัปดาห์เดียวก็อาจเป็นอันตรายได้
- ต้องระวังการติดเชื้อให้มาก
- ผู้ป่วยที่จะผ่าตัด ต้องให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
เกณฑ์ในการรับบริจาคหัวใจ
- ผู้ที่จะบริจาคหัวใจต้องเป็นคนที่สมองตาย ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอุบัติเหตุ เราจะทำหน้าที่เป็นคนกลางขออนุญาตจากญาติผู้ป่วยสมองตาย แต่หัวใจยังเต้นอยู่ เพื่อใช้อวัยวะช่วยชีวิตผู้อื่น ทางการแพทย์ถือว่าคนสมองตาย คือ คนที่ตายไปแล้ว ถ้าหัวใจหยุดเต้น คือ ขาดเลือดไปเลี้ยงก็จะใช้ไม่ได้ ถ้าให้ได้ผลจริงๆ จะต้องได้หัวใจที่สดจริงๆ กล่าวคือเมื่อหัวใจเกิดภาวะขาดเลือดเฉียบพลัน แล้วนำออกมาทำการผ่าตัดทันที
- หัวใจของคนที่ตายแล้ว สามารถนำมาใช้ได้จริง ในทางปฏิบัติจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่วินิจฉัยเรื่องสมองตาย แล้วเป็นผู้ลงชื่อรับรอง เมื่อผู้ป่วยตายแล้วจะมีการตรวจซ้ำอีกครั้งภายใน 12 ชั่วโมงว่าสมองตาย โดยไม่มีปฏิกิริยากับแสงไฟ ไม่มีการหายใจ จะมีการตรวจเป็นระยะทุกๆ 12 ชั่วโมง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือ พบว่าสมองตายแน่ๆ แพทย์ก็จะเซ็นชื่อไว้อย่างน้อย 2 คน คณะกรรมการชุดดังกล่าวไม่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับคณะที่ทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจ
- หัวใจที่เอาออกจากผู้บริจาคแล้วจะไม่ได้เปลี่ยนทันที โดยจะเก็บรักษาไว้ไม่เกิน 3 ชั่วโมงระหว่างที่ไปผ่าตัดจากผู้บริจาคมาใส่ให้ผู้รับบริจาค และมีคณะทำงานสองชุด ชุดแรกไปทำการตัดหัวใจของผู้บริจาค ชุดที่สองทำการผ่าตัดเปลี่ยนหัวใจให้ผู้ป่วย
- อายุและเพศของผู้บริจาคกับผู้รับบริจาคแตกต่างกันได้ มีการนำเอาหัวใจของผู้หญิงมาใส่ให้ผู้ชาย โดยผู้หญิงอายุ 45 ปี แต่ผู้ชายมีอายุ 19 ปี เหมือนกับว่านำของผู้ใหญ่มาใส่ให้เด็ก
แหล่งที่มา : 108health.com