ปัจใจเสี่ยงต่อโรคฟันผุในเด็กเล็ก โรคฟันผุในเด็กเล็ก วิธีการรักษาฟันผุในเด็กเล็ก


1,716 ผู้ชม


ปัจใจเสี่ยงต่อโรคฟันผุในเด็กเล็ก โรคฟันผุในเด็กเล็ก วิธีการรักษาฟันผุในเด็กเล็ก

 

ฟันผุในเด็กเล็ก

            ธรรมชาติคนเรามีฟัน ๒ ชุด คือชุดฟันแท้และชุดฟันน้ำนม ฟันน้ำนมมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าฟันแท้ เนื่องจากฟันน้ำนมเป็นฟันที่เด็กจะใช้งานไปเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๕ ปี ก่อนที่จะเริ่มมีการขึ้นของฟันแท้ในปาก
                        
            อันที่จริงแล้ว กว่าฟันน้ำนมจะถูกแทนที่ด้วยฟันแท้ทั้งหมดเมื่อเด็กอายุประมาณ ๑๒ ขวบ 
            ปัญหาที่สำคัญมากและผู้ใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญมากนักนั่นคือ ฟันผุในฟันน้ำนม
            ลักษณะการเกิดฟันผุในฟันน้ำนมกับฟันแท้จะต่างกัน เพราะฟันน้ำนมจะมีเคลือบฟันบางกว่าฟันแท้ เมื่อใดที่ฟันน้ำนมผุจุลุกลามไปอย่างรวดเร็วมากเช่นที่เราเห็นเด็กบางคนฟันเหลือแต่ตอ
            การเกิดฟันผุ ไม่ว่าจะเป็นฟันแท้หรือฟันน้ำนม จะมีสาเหตุหลักอยู่ ๒ ประการ คือ อาหารและอนามัยในช่องปาก

อาหาร
            อาหารหลักที่ทำให้ฟันผุแน่ๆ คืออาหารที่มีรสหวาน
            เนื่องจากในปากมีเชื้อโรคอยู่ชนิดหนึ่ง เป็นเชื้อสเตรปโตค็อกคัส เชื้อตัวนี้จะทำให้เกิดฟันผุได้ เพราะตัวมันเองใช้น้ำตามเป็นสารตั้งต้นในการเจริญเติบโต ดังนั้นเวลากินน้ำตาลหรือแป้งเข้าไปในปาก เชื้อโรคสามารถดึงน้ำตาลไปใช้ได้เลย
            แป้งและน้ำตาลเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานกับร่างกาย ในน้ำลายคนเรามีเอนไซม์อยู่ตัวหนึ่ง ซึ่งทันทีที่กินแป้งที่โมเลกุลไม่ซับซ้อนเข้าไป จะสามารถย่อยได้ทันที จะเกิดน้ำตาลในปาก เพราะฉะนั้น ถ้าเด็กกินขนมหรือแป้งที่ผ่านกระบวนการย่อยสลายมาแล้วสามารถถูกย่อยในปากเป็นน้ำตาลทันที และเชื้อโรคสามารถนำเอาไปใช้เพื่อการเจริญเติบโตทำให้เกิดภาวะความเป็นกรด
            ปกติแล้ว คำว่า pH ในช่องปากจะเป็นกลาง พอมีกรดที่เกิดการย่อยสลายแป้งและน้ำตาลของเชื้อโรคความสมดุลในช่องปากจะเสียทันที ทำให้แคลเซียมและฟอสเฟตที่เป็นองค์ประกอบหลักของผันละลายตัวออกมาจากเคลือบฟัน ด้วยกลไกตามธรรมชาติน้ำลายจะสามารถทำให้ค่า pH ในปากกลับเป็นกลางภายในเวลาประมาณครึ่งถึง ๑ ชั่วโมง
            ถ้ากินหวานต่อเนื่อง น้ำลายไม่มีโอกาสทำให้ค่า pH กลับเป็นกลาง ช่องปากจะมีสภาวะเป็นกรดตลอดเวลา เพราะฉะนั้น การละลายตัวของแคลเซียมและฟอสเฟตออกจากฟันจะเกิดขึ้นตลอด ตรงนี้เรียกว่าเกิดภาวะเป็นฟันผุ หากคราบจุลินทรีย์หนาตัวมาขึ้น ก็ยิ่งส่งเสริมให้ฟันผุเร็วขึ้น

อนามัยในช่องปาก
            ในเด็กบางคนไม่ได้รับการดูแลอนามัยในช่องปาก คราบจุลินทรีย์จะสะสมหนาตัวมาก ปากสกปรก ก็ยิ่งหมักหมมมากขึ้น ฉะนั้นในช่องปากเด็กจะอยู่ในภาวะเป็นกรดตลอดเวลา ฟันก็จะผุเร็วมากขึ้นทันที

สถานการณ์ฟันผุในเด็กไทย
                        

            ขณะนี้สถานการณ์การเกิดฟันผุในฟันน้ำนมของเด็กเป็นปัญหาเกือบทั่วโลก คือเกือบทุกประเทศรายงานใกล้เคียงกัน
            การสำรวจระดับประเทศของไทย พบว่าเด็กอายุ ๓ ขวบ ประมาณ ๗ ใน ๑๐ คน มีประสบการณ์การเป็นโรคฟันผุในปากถ้านำเอาฟันผุที่มีทั้งหมดมาเฉลี่ยให้เด็กทุกคนเท่ากัน จะพบฟันผุอย่างน้อย ๔ ซี่ ในเด็ก ๑ คน
            บางพื้นที่พบ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของเด็กมีผันผุในช่องปาก สภาวะฟันผุที่วัดได้ในการสำรวจจะพบเป็นฟันผุที่เห็นเป็นรูยังมีการติดเชื้ออยู่ถึงร้อยละ ๙๐ และยังไม่เคยได้รับการรักษาใดๆ
            การใช้เด็กอายุ ๓ ขวบเป็นตัวแทนในการบอกสภาวะโรคฟันผุที่เกิดในเด็กเล็ก เนื่องจากวัยนี้เป็นช่วงที่ฟันน้ำนมขึ้นครบ ๒๐ ซี่แน่นอน และเป็นภาวะที่เด็กใช้ชุดของฟันน้ำนมเพื่อการเคี้ยวอาหารอย่างเต็มที่คล้ายผู้ใหญ่
            ทำไมเด็กทนภาวะแบบนี้ได้ เพราะว่าเด็กใช้วิธีกินอาหารนิ่ม กินอาหารที่ละลายได้ในปาก
            ถ้าเราสังเกตดูจะพบว่า ขนมเด็กมีลักษณะที่เคี้ยวง่าย ละลายง่าย พวกขนมกรุบกรอบ เคลือบน้ำตาล ชุบแป้ง เด็กอมเอารสชาติ บ้างก็ละลายได้ในปาก และกลืนลงไปได้ เด็กสามารถกินขนมพวกนี้ได้ต่อเนื่องแม้จะมีฟันผุ
            ในทางตรงกันข้าม เคี้ยวข้าวไม่ได้ กินผักและผลไม้ไม่ได้ เพราะข้าว ผัก และผลไม้มีเส้นใยอาหารอยู่ ซึ่งต้องเคี้ยว และจะติดในรูฟันผุตลอดเวลา
เมื่อเด็กจำเป็นต้องกินข้าวเด็กจะทำอย่างไร
            เด็กก็จะเปลี่ยนเป็นอมข้าวแทน เพราะการอมข้าวจะให้รสหวาน แต่ยิ่งอมฟันก็ยิ่งผุ เชื้อโรคจะย่อยสลายแป้งออกมาเรื่อยๆ

พ่อแม่คิดอย่างไรที่ลูกฟันผุ 
๑.  พ่อแม่คิดว่าเป็นฟันน้ำนมคงไม่เป็นไร เดี๋ยวฟันแท้ก็ขึ้นแล้ว
๒.  เด็กอยู่ในภาวะความเจ็บปวดในชีวิตประจำวันก็ไม่อยากไปรักษา พ่อแม่ไม่พาไปรักษา ทันตแพทย์ก็จัดการไม่ได้ สุดท้ายต้องถอนฟันอย่างเดียว เมื่อถอนฟันออกแล้วเด็กก็จะไม่มีฟันเคี้ยวอาหาร

เด็กเล็กฟันผุเมื่อไร
            จากการศึกษาพบว่า เด็กเล็กมีฟันน้ำนมขึ้นซี่แรกอายุ ๖ เดือน แต่สามารถพบฟันผุในเด็กอายุ ๙ เดือน ซึ่งเป็นอะไรที่น่าห่วงมาก และอัตราเพิ่มจะขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงอายุ ๒ ขวบแรก ก็คือ ๙ เดือน ๑ ขวบ ๒ ขวบ จะขึ้นสูงมากเลย จนกระทั่งถึงจุดสูงสุดประมาณ ๒ ขวบกว่า จะเริ่มขึ้นน้อย เพราะไม่มีฟันเหลือให้ผุอีกแล้ว นั่นคือ ฟันกรามน้ำนมหรือฟันหน้าผุหมดแล้ว
            จุดที่พบเหตุฟันผุได้ก่อนคือ บริเวณฟันหน้า
            การฟุบริเวณฟันหน้าของเด็กจะมีรูปแบบอย่างหนึ่งก็คือ ผุหมดทุกด้านเวลายิ้มเห็นฟันหลอทั่วๆไป ซึ่งเป็นการผุจากการเลี้ยงดูด้วยนมขวด  นั่นคือ เด็กไทยติดขวดนมค่อนข้างมาก

            สิ่งที่ใส่เข้าไปในขวดถ้ามีรสหวาน เวลาเด็กอมจุกนม นมจะเอ่ออยู่ที่ฟันหน้าตลอดเวลา ฟันจึงผุไม่เหลือตั้งแต่เด็ก
            บางคนคิดว่าฟันหน้าไม่เกี่ยวข้องกับการเคี้ยวเท่าไร แต่ว่าสิ่งที่เกี่ยวข้องคือมีผลกระทบต่อเนื่อง
            เด็กกินอะไรในขวดที่มีรสหวาน เด็กจะติดหวาน ต่อไปอาหารที่กินก็จะกินแต่อาหารที่มีรสหวาน เด็กชอบดูดขวด อมจุกนมอยู่ตลอดเวลา และจะชอบอมข้าวด้วย กระทบไปถึงฟันหลังที่ขึ้นมา ในตอนอายุประมาณ ๑ ขวบ ก็จะผุไปพร้อมกัน บางคนฟันผุหมดปากทั้ง ๒๐ ซี่

ป้องกันฟันผุในเด็กเล็กได้อย่างไร
                        

            ควรเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงดู  พ่อแม่ ย่ายาย ต้องรู้จักวิธีการเลี้ยงเด็ก วิธีเลี้ยงก็คือจะต้องรู้ว่าไม่นำอะไรใส่ลงไปในขวด อะไรที่ว่าแม้กระทั่งเป็นน้ำผลไม้ น้ำหวาน น้ำอัดลมทุกอย่างไม่ควรจะอยู่ในขวด เราควรจะป้อนเด็กด้วยตนเอง
            การเลี้ยงดูลูกด้วยนมแม่ได้รับความนิยมมากขึ้นจริง มีการรณรงค์เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ๖ เดือน แต่หลังจาก ๖ เดือนไปแล้ว เด็กส่วนใหญ่ต้องกินนมจากขวดซึ่งเป็นธรรมชาติของพ่อแม่ที่เลี้ยงดู แต่ทางการแพทย์บอกว่าหลัง ๖ เดือน ไม่ต้องใช้ขวดนมก็ได้ ให้ใช้ช้อนป้อนเด็ก และให้หัดดื่มจากแก้ว แต่ว่าน้อยคนนักที่จะใช้วิธีนี้
ดู
แลฟันผุในเด็กเล็ก
            พ่อแม่ ผู้ปกครองต้องเข้าใจด้วยว่า เด็กใช้ฟันน้ำนมอย่างน้อย ๑๐-๑๑ ปี ถึงจะมีฟันแท้ขึ้นครบทั้งปากทดแทน ถ้าเด็กฟันผุตั้งแต่ขวบปีแรก จะทำให้ส่งผลถึงตัวเด็กดังนี้
๑.  อยู่กับเชื้อโรคที่อยู่ในปากอีก ๑๐ กว่าปี ถ้าไม่ได้รับการดูแล
๒.  เคี้ยวอาหารไม่ได้ จะเลี่ยงไปกินอาหารที่นิ่มก็จะเกิดเป็นวงจรร้ายขึ้นมาทันที ฟันก็ไม่อยากแปรง ผัก ผลไม้ก็ไม่อยากกิน ก็จะเกิดภาวะที่เรียกว่า มีน้ำหนักตัวน้อย
            มีรายงานการวิจัยของต่างประเทศพบว่าเด็กที่ฟันผุจากการเลี้ยงดูมีความสัมพันธ์กับน้ำหนักตัวอย่างชัดเจนคือเด็กที่ฟันผุจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเด็กที่ฟันไม่ผุ
            ในขณะที่การศึกษาของไทยเองพบว่า ฟันผุมีความสัมพันธ์กับความสูงและน้ำหนักโดยเฉลี่ยของเด็ก
            ความสูงเป็นตัวสะท้อนพัฒนาการระยะยาว ถ้าพัฒนาการทางด้านร่างกายไม่สมวัยตั้งแต่เด็ก เป็นผู้ใหญ่ก็จะตัวเล็ก ตัวเตี้ย
            ต่างจากน้ำหนักซึ่งเห็นผลเร็วกว่า ที่กินน้อยร่างกายจะผอมลงในเวลาไม่นาน แต่ส่วนสูงเป็นอะไรที่สะสมในช่วงชีวิต เป็นผลกระทบที่แสดงให้เห็น
            ผู้ปกครองต้องช่วยดู อ้าปากเด็กดูบ้างเป็นระยะๆ ว่าฟันลูกหลานของตนมีความผิดปกติขึ้นบ้างหรือยัง
            การแปรงฟันเป็นการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก ซึ่งพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กเด็กจะยังทำไม่ได้ดี จนกว่าอายุ ๘-๙ ขวบไปแล้ว เพราะฉะนั้น ฝึกให้เด็กแปรงฟันเองได้ แต่ต้องแปรงซ้ำให้เด็ก
            อย่าปล่อยให้เด็กแปรงฟันเอง เพราะผู้ใหญ่เองยังแปรงไม่สะอาด เพราะฉะนั้น ต้องแปรงฟันให้เด็กจนกระทั่วเด็กอายุ ๘ ขวบไปแล้ว และช่วยตรวจดูความสะอาดปากเด็กก่อนนอนวันละครั้ง
ทพ.ญ.ปิยะดา ประเสริฐสม 
ขอบคุณข้อมูลนิตยสารหมอชาวบ้าน


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด