อาการของโรคไซนัส การรักษาไซนัสอักเสบ อาการของไซนัสอักเสบ


2,327 ผู้ชม


อาการของโรคไซนัส การรักษาไซนัสอักเสบ อาการของไซนัสอักเสบ

การดูแลตัวเอง 
           
            มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเมื่อเป็นไซนัสอักเสบแล้ว สามารถหายเองได้ เช่น ไซนัสอักเสบที่เกิดจากไวรัส  (อาการที่เป็นไม่เกิน 7 วัน) ด้วยการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี
 
            นั่นคือต้องพักผ่อนให้พอ ดื่มน้ำมากๆ อยู่ในสถานที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีความชื้นพอเพียง ออกกำลังกายตามความเหมาะสม กินอาหารที่มีประโยชน์ และกินยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด และยาลดน้ำมูก  (decongestants)
            ในกรณีที่แน่ใจว่าตัวเองเป็น ไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (อาการหวัดเกินกว่า 7 วัน) และไม่เคยแพ้ยาอะไรมาก่อน อาจดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการกินยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน  (Amoxicillin) หรือ โคไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole) ขนาดที่ใช้ตามน้ำหนักของผู้ป่วย ยาวนานประมาณ  10 วัน ยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวด ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้ในระยะนี้ เพราะจะทำให้น้ำมูกข้นเหนียวขึ้น แต่ถ้าเป็นภูมิแพ้มาก่อนให้กินยาแก้แพ้ 2nd + 3rd generation ได้ อาจใช้วิธีสูดไอน้ำเพื่อทำให้จมูกชื้นขึ้นและอาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ



4การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ 
           
           เป็นการล้างเอาคราบน้ำมูกที่อาจอุดตันรูเปิดของไซนัส ชำระล้างเอาสิ่งสกปรกและเชื่อโรคออกจากจมูกทำให้โพรงจมูกสะอาดน้ำมูกไม่ข้นเหนียว บรรเทาอาการคัดจมูก และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่จมูก สามารถทำได้เป็นประจำทุกวันวันละ 2 เวลา  เช้า เย็น ในช่วงเวลาแปรงฟันและสามารถล้างเพิ่มระหว่างวันได้ ถ้ามีน้ำมูกมากหรือคัดจมูก
          ขั้นตอน

          1. ดูดน้ำเกลือ (0.9% normal saline solution) ประมาณ 5 ซีซีเข้าในกระบอกฉีดยา (ที่ไม่มีเข็ม) หรือขวดยาพ่นจมูก
          2. ก้มหน้าลงเล็กน้อย หายใจเข้าเต็มที่แล้วกลั้นลมหายใจไว้ อ้าปากเล็กน้อย
          3. สอดปลายกระบอกฉีดยาหรือหลอดพ่นยาเข้าในโพรงจมูกข้างใดข้างหนึ่ง
          4. ฉีดหรือพ่นน้ำเกลือเข้าในรูจมูกช้าๆ จนหมด (ขณะนี้ยังกลั้นลมหายใจไว้)
          5. หายใจออก พร้อมสั่งน้ำมูก หากมีน้ำมูกหรือมีน้ำเกลือไหลลงคอให้กลั้วคอบ้วนทิ้ง ถ้ายังไม่โล่งก็ทำซ้ำอีกได้
          6. ทำซ้ำข้อ 1 - 5 กับรูจมูกอีกข้าง
          7. เก็บอุปกรณ์ไปทำความสะอาดและผึ่งให้แห้ง น้ำเกลือที่เทออกมาจากขวดแล้วเหลือให้ทิ้งไป
สำหรับในเด็ก ผู้ปกครองจะตั้งคำถามว่าจะสำลักไหม ปกติเด็กที่ยังไม่เคยล้างให้เริ่มปริมาณน้อยๆ ก่อน เช่น 1 ซีซี แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นก็จะไม่สำลัก
          ไม่แนะนำให้เอาน้ำต้มมาผสมเกลือเพื่อจะเป็นน้ำเกลือ เพราะว่าเราไม่สามารถวัดเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของเกลือได้ ถ้ามากไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุได้
สำหรับผู้ที่ชอบว่ายน้ำ ดำน้ำหรือต้องขึ้นเครื่องบินขณะที่ป่วยอยู่ควรงดภารกิจดังกล่าวชั่วคราวจนกว่าอาการคัดจมูก ปวดแก้ม น้ำมูกมากหมดไป



4ไซนัสอักเสบรักษาอย่างไร ? 
          
            ในระยะเริ่มต้น ไซนัสอักเสบสามารถรักษาทางยาได้ ที่สำคัญต้องควบคุมหรือแก้ไขสาเหตุบางอย่าง  (Predisposing factor) เพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ (Recurrence) ได้แก่
           - ควบคุมและรักษาโรคภูมิแพ้ทางจมูก (ปรึกษาแพทย์)
 
           - ผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของช่องจมูก เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด
สำหรับไซนัสอักเสบเรื้อรัง การรักษาทางยาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ บางครั้งจำเป็นต้องทำการผ่าตัดไซนัสร่วมด้วย ได้แก่
           - การเจาะล้างไซนัส : ในรายที่มีน้ำมูก หรือหนองคั่งอยู่ในไซนัส
           - การผ่าตัดขยายรูเปิดของไซนัส
           - การผ่าตัดริดสีดวงจมูก


 



ริดสีดวงจมูก 
ตรวจด้วยกล้องเทเลสโคป


ภายในโพรงไซนัส
ตรวจด้วยกล้องเทเลสโคป

 


            ปัจจุบันการตรวจและรักษาโรคไซนัสอักเสบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความผิดปกติของช่องจมูกที่เป็นทางติดต่อกับรูเปิดร่วมของไซนัสต่างๆ (Osteomeatal  Complex) สามารถตรวจได้ด้วยกล้องเทเลสโคปที่ต่อเข้ากับโทรทัศน์วงจรปิด  (Endoscopic  Nasal  and  Sinus  Examination) (ดูจากรูป A และ B ) ทำให้เราผ่าตัดแก้ไขส่วนรูเปิดร่วมไซนัส ที่ผิดปกติเหล่านี้ได้ตรงจุด และยังคงเก็บรักษาโครงสร้างหลักที่สำคัญของช่องจมูกไว้ได้ดังเดิม (Functional Endoscopic Sinus Surgery)



4ไม่อยากเป็นไซนัสอักเสบต้องรู้วิธีป้องกัน 
            ความจริงในโพรงจมูกของคนเรามีเชื้อโรคอยู่แล้วตามธรรมชาติ เพราะเราหายใจเข้า - ออกอยู่ตลอดเวลา  และเชื้อเหล่านี้ก็จะไปติดอยู่ตามเยื่อบุต่างๆ ซึ่งในภาวะที่ร่างกายแข็งแรง หรืออวัยวะของคนคนนั้นเป็นปกติ ไม่มีจุดอ่อน (แพ้สิ่งต่างๆ) ไซนัสจะสามารถขับ
           เชื้อโรคทั้งหลายออกมาได้ เพราะฉะนั้น วิธีป้องกันที่จะไม่ให้เป็นไซนัสอักเสบ หลักสำคัญอยู่ที่การทำร่างกายให้แข็งแรงเช่น
           - ควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค
          - พักผ่อนให้พอ อย่าอดนอน หรือนอนดึกบ่อยๆ เพราะถ้าร่างกายอ่อนแอเมื่อไรโอกาสที่จะติดเชื้อต่างๆ  ก็เกิดขึ้นได้ง่าย
          - พยายามดูแลตัวเองอย่าให้เป็นหวัด เพราะผลจากการเป็นหวัดร้อยละ 2 - 5 สามารถเป็นไซนัสอักเสบได้
          - กินอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบหมวดหมู่
          - งดการดื่มเหล้า และสูบบุหรี่
          - หลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ
หากดูแลสุขภาพและปฏิบัติตัวเองได้ครบถ้วนตามที่กล่าวข้างต้นทุกคนก็จะห่างไกลจากโรคไซนัสอักเสบแน่นอน



4สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับโรคไซนัสอักเสบ 
          1. ไซนัสอักเสบเป็นโรคที่พบได้ทุกฤดูกาลตลอดปี โดยเฉพาะในช่วงที่อากาศชื้น และเป็นได้ทุกเพศทุกวัย
          2. ไซนัสอักเสบอาจจะเป็นเพียงซีกเดียว หรือจุดใดจุดหนึ่งก็ได้
          3. ไซนัสอักเสบเป็นโรคเฉพาะตัวส่วนบุคคล จึงไม่ติดต่อแม้จะกินอาหารร่วมกันหรืออยู่ใกล้ชิดกัน
 
          4. คำว่า “เฉียบพลัน” หมายความว่า เมื่อร่างกายติดเชื้อแล้วจะเกิดอาการของโรคนั้นทันที
          5. การติดเชื้อไวรัส น้ำมูกหรือเสมหะจะไม่เป็นหนอง แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียจะทำให้น้ำมูกข้นและเป็นหนอง
          6. การแยกอาการระหว่างโรคหวัดกับไซนัสอักเสบ ถ้าเป็นหวัดผู้ป่วยควรจะหายภายใน 5 - 7 วัน แต่ถ้าถึงวันที่ 5 - 6 แล้วยังไม่หายและกลับเป็นมากขึ้น เช่นไอมากขึ้น ปวดหัว ปวดแก้ม เสมหะลงคอมากขึ้นหรือบ้วนออกมาเสมหะเป็นสีเขียวข้น แสดงว่าอาจเป็นไซนัสอักเสบ ควรรีบไปพบแพทย์
          7. ถ้าเป็นหวัดคัดจมูก ให้สั่งน้ำมูกทีละข้าง อย่าสูดเข้าไป เพราะด้านหลังของจมูกจะติดกับช่องระหว่างหูชั้นกลางกับหลังจมูก จะทำให้หูอื้อ และเป็นการทำให้เชื้อโรคเข้าไปสู่ไซนัสได้ง่ายขึ้น
8. บางตำรา (แพทย์) จะห้ามไม่ให้ผู้ป่วยไซนัสอักเสบว่ายน้ำในสระ เพราะสระว่ายน้ำส่วนใหญ่จะใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรคในน้ำ แต่ปัจจุบันสระว่ายน้ำบางแห่งมีสระน้ำเกลือ จึงไม่น่าเป็นอันตรายสำหรับผู้ป่วยไซนัส เพราะจะทำให้ผู้ชอบว่ายน้ำมีทางเลือกในการออกกำลังกาย แต่ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยที่เป็นไซนัสอักเสบระยะเฉียบพลัน
            การล้างจมูก
 
            การล้างจมูกเป็นวิธีหนึ่งที่หมดทางด้าน หู คอ จมูก ใช้รักษาผู้ป่วยไซนัสอักเสบ ประโยชน์ของการล้างจมูก คือสามารถชะล้างสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ค้างอยู่ในจมูกออกได้และทำให้เยื่อบุโพรงจมูกหดตัวเองหรือยุบบวมลง   แล้วหากมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในโพรงไซนัสต่างๆ ร่างกายก็จะขับออกมาได้
 
           ส่วนวิธีการที่ผู้ป่วยจะทำเองที่บ้านนั้น อาจจะลำบากนิดหน่อยสำหรับคนที่ไม่เคยทำ แต่สามารถทำเองได้ เมื่อก่อนเขาจะใช้เกลือผสมน้ำร้อน ก็คือต้มเป็นน้ำเกลือนั่นแหล่ะ แต่มีปัญหานิดหน่อยว่าเราจะวัดเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของน้ำเกลือไม่ได้ ซึ่งมีความสำคัญต่อเยื่อบุโพรงจมูก คือ ถ้าเกลือมากไปจะทำให้เยื่อบุจมูกแห้ง
 
           เดี๋ยวนี้คนใส่คอนแทคเลนส์มาก ไปหาซื้อน้ำเกลือสำเร็จรูปที่เขาใช้ทำความสะอาดเลนส์นั่นแหล่ะมาล้างจมูก วิธีใช้ก็เหมือนการพ่นยาเข้าจมูก โดยกลั้นหายใจแล้วสูดน้ำเข้าไป โดยเริ่มต้นจากการใช้น้ำน้อยๆก่อน  อาจสำลักบ้างก็ไม่เป็นไร ถ้าลงคอก็บ้วนทิ้ง ทำบ่อยๆ ก็จะชำนาญไปเอง ทำได้วันละหลายครั้ง จะทำนานแค่ไหนก็ได้ หรือจนกว่าจะรู้สึกสบายขึ้น
             การรักษาไซนัสอักเสบ


 


 


          การรักษาไซนัสอักเสบเฉียบพลัน

          - ให้กินน้ำเพียงพอ อย่าให้จมูกแห้ง
          - ยาแก้ปวด
          - ยาลดน้ำมูก
          - ให้ยาแก้อักเสบ – อะม็อกซีซิลลิน (amoxicilin) (ตามน้ำหนัก) หรือโคไตรม็อกซาโซล (co - trimoxazole) 10 วัน ถ้าแพ้เพนิซิลลิน (penicillin) หรือซัลฟา (sulfa) ก็ให้มาโครลิด (macrolides) หรือ  2nd gen. เซฟาโลสปอริน (cephalosporin)
          - ถ้าไม่ได้ผลให้กินยาต่อไปถึง 14 วัน
          - ถ้าไม่ได้ผลให้เปลี่ยนยาเป็นอะม็อกซีซิลลิน / คลาวูลาเนต (Clavulanate) 2nd gen. เซฟาโลสปอริน , มาโครลิด ตัวที่มีการควบคุมเชื้อโรคที่กว้างกว่าหรือให้ควิโนโลน (quinolones)
          การรักษาไซนัสอักเสบเรื้อรัง

          - ให้ทานน้ำเพียงพอ
          - ยาแก้ปวด
          - ยาลดน้ำมูก
  
          - 2nd gen. แอนติฮิสตามีน (antihistamine) ถ้าคิดว่ามีโรคภูมิแพ้ด้วย
          - ให้คอร์ติโคสตีรอยด์ (corticosteroid)


แหล่งที่มา : URL : www.doctor.or.th

อัพเดทล่าสุด