ข้อมูลโรคไมเกรน อาหารป้องกันโรคไมเกรน ลักษณะอาการโรคไมเกรน


1,109 ผู้ชม


ข้อมูลโรคไมเกรน อาหารป้องกันโรคไมเกรน ลักษณะอาการโรคไมเกรน
ข้อมูลโรคไมเกรน 
   อาการปวดศีรษะเป็นอาการเริ่มต้นของหลายๆ โรค การปวดไมเกรนต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน การซักประวัติของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การสังเกตลักษณะอาการ ระยะเวลา ความถี่ของอาการปวด ความรุนแรงและบางครั้งอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยเช่น อาการแขนขาอ่อนแรงข้างใดข้างหนึ่ง อาการชัก มีไข้ ตาโปน เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ฯลฯ 

ลักษณะสำคัญของอาการปวดไมเกรนคืออาการปวดศีรษะที่มักจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและปวดตื้อๆ ระดับความรุนแรงของการปวดมักเป็นระดับปานกลางจนถึงปวดอย่างรุนแรง ลักษณะเด่นของอาการปวดไมเกรนคือ มักจะปวดศีรษะเพียงข้างเดียว(ปวดทั้งสองข้างหรือปวดทั่วทั้งศีรษะก็มีแต่น้อย) อาการปวดจะเป็นมากขึ้นเมื่อร่างกายมีการเคลื่อนไหว เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยโรคไมเกรนจะมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย

การปวดศีรษะข้างเดียวหรือปวดไมเกรนแต่ละครั้งจะกินเวลานานแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ 30 นาทีจนถึง 12 ชั่วโมงและอาการปวดไมเกรนจะยิ่งปวดมากขึ้นเมื่อมีการเคลื่อนไหวร่างกาย ผู้ป่วยอาจมีอาการนำก่อนที่จะปวดไมเกรนโดยเห็นแสงวูบวาบ ระยิบระยับ ตาพร่ามัวมองไม่เห็นชั่วขณะ รู้สึกว่าร่างกายข้างใดข้างหนึ่งชา อาการนำจะเป็นอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมง

สาเหตุของการปวดไมเกรนเกิดจากระบบประสาทของผู้ป่วยไมเกรนมีความไวต่อการเปลี่ยนแปลงจากภายในร่างกายและสิ่งแวดล้อมภายนอกมากกว่าปกติทำให้เส้นประสาทรอบๆ สมองเกิดการอักเสบ ผลกระทบที่ผู้ป่วยได้รับจากการปวดศีรษะข้างเดียว(Migraine)คือต้องทรมานจากการปวดศีรษะจนนอนไม่หลับหรือหลับก็ไม่เต็มตื่น ทำงานไม่ได้ ไปเรียนหนังสือก็ไม่รู้เรื่องจนเครียดถึงขั้นเสียสุขภาพจิต

ปัจจัยที่จะกระตุ้นให้ปวดไมเกรนคือเรื่องอาหารการกิน การกินอาหารไม่ตรงเวลาและอาหารที่กินมีส่วนประกอบของผงชูรสหรือสารถนอมอาหารมากเกินไป การนอนหลับพักผ่อนไม่พอดี(นอนน้อยไปหรือนอนมากไป) การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกายจะมีผลกระทบต่ออาการปวดไมเกรน นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีความเครียดและไม่สามารถหาทางผ่อนคลายได้จะทำให้การปวดไมเกรนถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวเช่น แดดร้อน กลิ่นควันบุหรี่ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ กลิ่นน้ำหอมที่รุนแรง ล้วนเป็นปัจจัยที่จะกระตุ้นให้ปวดไมเกรนมากขึ้นได้

วีธีการรักษาอาการปวดไมเกรนทำได้โดยการบรรเทาอาการปวดศีรษะและป้องกันไม่ให้อาการปวดรุนแรงขึ้นโดยให้มีความถี่ในการปวดลดลง การบรรเทาอาการปวดไมเกรนเริ่มจากการนวดให้ผ่อนคลาย ประคบร้อน-เย็น การอยู่นิ่งๆ จนถึงการนอนหลับ หากวิธีเหล่านี้ไม่ได้ผลก็ต้องใช้ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการปวด หากปวดน้อยๆ ก็ให้ใช้ยาแก้ปวดธรรมดาคือ ยาพาราเซตามอล (ใช้ Paracetamol ในปริมาณที่เหมาะสม) หากอาการปวดยังไม่ทุเลาอาจใช้ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์แรงขึ้นเช่น บรูเฟ่น(Ibuprofen) พอนสะแตน(Ponstan) ยาทั้งสองตัวนี้มีฤทธิ์ระคายเคืองกระเพาะอาหารเป็นยาที่ต้องกินหลังอาหารทันที

นอกจากนี้ยังมียาที่ให้ผลในการปิดกั้นการออกฤทธิ์ต้านเซอโรโตนิน(Serotonin คือสารที่สมองหลั่งออกมาทำให้เกิดอาการปวดไมเกรน) เช่น คาเฟอกอต(Cafergot) ทริปแทน ฯลฯ ซึ่งยาเหล่านี้ไม่ใช่ยาแก้ปวดทั่วไปแต่มีฤทธิ์รักษาอาการปวดไมเกรนโดยเฉพาะและอาจมีผลข้างเคียงที่อันตรายต่อผู้ใช้ ดังนั้นการใช้ยาในกลุ่มนี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์

การป้องกันอาการปวดไมเกรนโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นที่ทราบแล้วว่าสาเหตุการเกิดโรคไมเกรนเกิดจากร่างกายมีความไวต่อการตอบสนองการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในร่างกายและสิ่งแวดล้อมภายนอกมากเกินไป ดังนั้นหากเรามีกิจวัตรประจำวันที่ต้องทำเป็นประจำเช่น กินอาหาร นอนหลับ ออกกำลังกาย ทำงาน ฯลฯ ให้ทำกิจวัตรเหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ พยายามหลีกเลี่ยงต่อสิ่งที่จะกระตุ้นให้อาการปวดไมเกรนกำเริบเช่น ควันบุหรี่ อาหารที่ใส่สารปรุงรส แดดร้อน ภาวะที่เคร่งเครียด เสียงดัง ฯลฯ

การป้องกันโรคไมเกรนโดยการใช้ยา หากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วอาการปวดไมเกรนยังมีอยู่(มากกว่า 2-3 ครั้ง/เดือนหรือปวดรุนแรง) อาจต้องใช้ยาป้องกันโรคไมเกรน ยาในกลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ไม่ให้สมองหลั่งสารเซอโรโตนิน(Serotonin)ออกมามากเกินไป การใช้ยาป้องกันโรคไมเกรนต้องเลือกชนิดและปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ ไปและต้องกินยาต่อเนื่องเป็นเวลานานหลายเดือนจนอาการไมเกรนดีขึ้น
ผู้ป่วยที่มีอาการปวดไมเกรนควรเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อน หากอาการปวดไมเกรนยังไม่ดีขึ้นให้บรรเทาโดยการนวดและพักผ่อนให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย หากยังมีอาการปวดอยู่อีกจึงค่อยใช้ยารักษาตามระดับความรุนแรงของอาการปวดจนถึงการป้องกันโรคไมเกรนโดยการใช้ยา อย่าลืมว่ายาสำหรับโรคไมเกรนมีผลข้างเคียงที่อันตรายจึงควรใช้ยาโดยขอคำแนะนำและอยู่ในความดูแลของแพทย์ทุกครั้ง.


แหล่งที่มา : 108health.com

อัพเดทล่าสุด