ไซนัสอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ สมุนไพรรักษาไซนัส อาการโรคไซนัส อาการไซนัสอักเสบ


3,722 ผู้ชม


ไซนัสอักเสบ โรคไซนัสอักเสบ สมุนไพรรักษาไซนัส อาการโรคไซนัส อาการไซนัสอักเสบ

ความรู้เกียวกับโรคไซนัสอักเสบและวิธีการดูแลรักษา

         นพ.ประพจน์  คล่องสู้ศึก
ขอบคุณข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของนิตยสารหมอชาวบ้าน กับ วิชาการ.คอม 
นิตยสารหมอชาวบ้าน ปีที่ 25 ฉบับที่ 297 เดือนมกราคม 2547 
คอลัมภ์ : เรื่องเด่นจากปก 

 



 

            โรคหวัด โรคภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ เป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจมีอาการหลายอย่างคล้ายกัน เช่น มีน้ำมูก คัดจมูก จาม ปวดแก้ม บางครั้งเป็นกันระยะสั้น บางครั้งเป็นกันตลอดปี ซึ่งบางคนอาจแยกไม่ถูกว่าอาการที่ตัวเองเป็นนั้นคือโรคอะไรกันแน่ เมื่อแยกไม่ถูกก็อาจนำไปสู่การรักษาตัวเองที่ผิดวิธี อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้  ยิ่งเป็นยิ่งสับสนทำให้คุณภาพชีวิตประจำวันต่ำลงได้ บางคนถึงกับกลัวสังคมรังเกียจ
            ในต่างประเทศ เช่น ในสหรัฐอเมริกามีคนเป็นโรคนี้ราว 31 ล้านคน (กันยายน 2546) และมีประชาชนไปพบแพทย์ในเรื่องไซนัสอักเสบเรื้อรังราว 18 - 22 ล้านคน
 
            ในแต่ละปี บ้านเราก็มีจำนวนไม่น้อย สถิติขึ้นตามจำนวนของโรคภูมิแพ้ซึ่งในกรุงโรคแพ้อากาศสูงถึง  40 เปอร์เซ็นต์ (พ.ศ.2538)
 
            เฉลี่ยผู้มารับการรักษาโรคไซนัสในคลินิกหู คอ จมูก 4 - 5 คนใน 10 คนต่อวัน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา ต้องหยุดทำงาน เสียอารมณ์ ทำให้สูญเสียทางเศรษฐกิจไม่น้อยต่อปี ดังนั้น เราต้องมาทำความรู้จักกับโรคไซนัสอักเสบกันหน่อย
 
            ความจริงแล้วชื่อไซนัสอักเสบ (Sinusitis) ไม่ถูกต้องซะที่เดียว จริงๆควรเป็นเยื่อบุจมูกและโพรงอากาศรอบๆจมูกอักเสบ คือ Rhinosinusitis อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นไปตามความเคยชินเรายังคงเรียกว่าไซนัสอักเสบ (Sinusitis)เฉยๆไปก่อน


4ไซนัสคืออะไร       
           
           ไซนัส (Sinusitis) เป็นโพรงอากาศในกระดูกใบหน้าอยู่บริเวณรอบๆ จมูก ในโพรงอากาศ หรือไซนัสนี้  จะมีเยื่อบุซึ่งเป็นชนิดเดียวกับเยื่อบุช่องจมูกและติดต่อกันโดยผ่านรูเปิดเล็กๆ (รูปที่ 1, 2) มี 4 คู่ ได้แก่
           1. ไซนัสบริเวณโหนกแก้ม 2 ข้าง (Maxillary sinus)
           2. ไซนัสระหว่างลูกตาบริเวณหัวตา 2 ข้าง (ethmotd sinus)
           3. ไซนัสบริเวณหน้าผากใกล้กับคิ้ว 2 ข้าง (frontal sinus)
           4. ไซนัสที่อยู่ในกะโหลกศีรษะใกล้ฐานสมอง (sphenoid sinus)


4ไซนัสมีหน้าที่อะไร 
            
           เนื่องจากไซนัสเป็นโพรงอากาศ ดังนั้น จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ศีรษะของเราเบาขึ้น เวลาพูดมีเสียงก้องกังวานขึ้น และขณะเดียวกันเยื่อบุของไซนัสและจมูกจะผลิตน้ำมูกเมือกใส ๆ ประมาณวันละ 0.5 - 1 ลิตร เพื่อดักจับฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ ในอากาศ ที่เราหายใจเข้าไป ขณะเดียวกับบนเยื่อบุเหล่านี้จะมีขนาดเล็ก  (cilia) ที่คอยพัดโบกเอาน้ำมูกเหล่านี้ลงไปทางด้านหลังของจมูก สู่ช่องคอและเมื่อพลัดลงคอเราก็จะกลืนลงไปจากนั้นกรดในกระเพาะก็จะทำหน้าที่ฆ่าเชื่อโรคต่างๆให้หมดไป
 
            นอกจากนั้นไซนัสยังทำหน้าที่คล้ายเป็นเครื่องปรับอากาศของปอดนั่นคือ เมื่อเราหายใจเข้าไปอากาศก็ผ่านบริเวณจมูกที่มีเยื่อบุต่อกับเยื่อบุไซนัสปกติเหล่านี้ ซึ่งจะชวยถ่ายเทความร้อนและความชื้นจากหลอดเลือดบนเยื่อบุ ทำให้อากาศอุ่นและชื้นขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับร่างกายของคนเรา การไหลของน้ำมูกลงคอนี้เราจะไม่รู้สึกอะไรจนกว่าจำนวนที่ผลิตได้มากเกินไปซึ่งจะเกิดจากการระคายเคืองจากสารก่อภูมิแพ้ ควันบุหรี่ มลภาวะอากาศเป็นพิษ สารเคมี ควันรถยนต์หรือมีการติดเชื้อไวรัส เช่น เชื่อหวัดสิ่งเหล่านี้จะทำให้เยื่อบุจมูกและไซนัสผลิตน้ำมูกใสๆ ออกมาเพิ่มมากกว่าปริมาณปกติ เพื่อชะล้างสิ่งที่ระคายเคืองกลายเป็นเสมหะโหลลงคอ (Post nasal drip) และถ้ามีการติดเชื้อแบคทีเรีย (Bacteria) จะทำให้น้ำมูกใสเปลี่ยนสภาพเป็นสีเขียวข้นหรือเหลืองได้


4สาเหตุที่ทำให้ไซนัสอักเสบ 
            ตามปกติไซนัสหรือโพรงอากาศทั้งหลายจะมีทางเชื่อมต่อกับโพรงจมูก  ซึ่งทางเชื่อมต่อนี้จะเปิดโล่งและน้ำเมือก (น้ำมูกใส ๆ) ที่มีกาสร้างอยู่ในไซนัสก็สามารถไหลระบายลงสู่โพรงจมูกได้ แต่ถ้าหากทางเชื่อมดังกล่าวเกิดการอุดกั้นขึ้นมาด้วยสาเหตุใดก็ตามแต่ส่วนใหญ่คนเราเมื่อหายใจไม่สะดวก มีน้ำมูกอยู่ในจมูกก็มักชอบสูดจมูก ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าวนี้ ทำให้เชื้อโรคที่อยู่ในจมูกเข้าไปในโพรงอากาศของไซนัสทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น
            ขณะเดียวกันเมื่อมีการอักเสบของเยื้อบุจมูกทำให้รูที่ติดต่อระหว่างโพรงอากาศกับจมูกตันขึ้น น้ำมูกที่ผลิตในไซนัสไม่สามารถออกมาได้ ก็ทำให้เรามีอาการปวดบริเวณหน้าผากหัวคิ้ว ระหว่างตาทั้งสองข้างหรือบริเวณแก้มได้ ทั้งหมดนี้เป็นอาการปวดจากไซนัสอักเสบ ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องเพียงพอ รูเปิดระหว่างช่องจมูกและไซนัสมีการตีบตันเป็นมานานจนเรื้อรัว การบวมของเยื่อบุอาจจะเปลี่ยนแปลงเป็นริดสีดวงจมูกและ / หรือมีการอักเสบติดเชื้อเป็นหนองในไซนัสได้
             คนที่มีอาการจากภูมิแพ้ที่มีอาการจาม คัดแน่นจมูก และคันจมูกเป็นประจำ มักจะทำให้ทางเชื่อมระหว่างไซนัสกับโพรงจมูกมีอาการบวมและเกิดการอุดตัน นำไปสู่การเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่จะเป็นโรคไซนัสอักเสบได้ จึงพูดได้ว่าทั้งโรคภูมิแพ้และไซนัสอักเสบเป็นโรคที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด
 
             นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากเนื้องอกในจมูกหรือผนังกั้นกลางของจมูกคต หรือมีการเปลี่ยนแปลงความดันบรรยากาศภายนอกร่างกายทำให้มีการอุดกั้นของทางเชื่อมระหว่างไซนัสกับโพรงจมูกได้ และการที่มีอารมณ์แปรปรวน มีความเครียดสูง ทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายลดลงก็จะทำให้เกิดโรคไซนัสอักเสบดังวงจรที่แสดงไว้ดังนี้

 

      E  =  Emotoin , Envaronment (อารมณ์ , สิ่งแวดล้อม)
      A  =  Allergy (โรคภูมิแพ้)
      B  =  Bacteria (แบคทีเรีย)

 

สุดท้ายก็คือเชื้อรา
             ปัจจุบันพบว่าคนเราสามารถแพ้เชื้อและเป็นโรคของไซนัสอย่างหนึ่งได้ (allergic fungal rhinosinusitis) และก็มีวิธีรักษาเชื้อราในจมูก ไม่ทำอันตรายต่อเราได้ ถ้าเราเป็นคนที่มีภูมิคุมกันปกติ คือ ไม่เป็นเบาหวาน ปลูกถ่ายอวัยวะหรือโรคเอดส์


4ไซนัสอักเสบ : อาการเป็นอย่างไร 
            
            อาการเฉพาะของโรคไซนัสอักเสบที่สังเกตได้ คือ จะมีอาการปวดหน่วงๆ ตามจุดไซนัส เช่น หน้าผาก  หัวตา โหนกแก้ม หรือรอบๆ กระบอกตา ถ้าเอานิ้วกดหรือเคาะแรงๆ ตรงไซนัสที่อักเสบก็จะเจ็บ อาการปวดมักเป็นมากในตอนเช้าหรือบ่าย และเวลาก้มศีรษะหรือเปลี่ยนท่า ผู้ป่วยจะมีน้ำมูกเป็นหนองข้นสีเหลืองหรือสีเขียว  บางคนน้ำมูกจะไหลลงคอ หรือเวลาสูดจมูกแรงๆ จะมีหนองไหลลงหลังคอ อาจมีการคัดแน่นจมูกหรือหายใจมีกลิ่นเหม็นคาวร่วมด้วย ถ้ามีอาการดังกล่าวชัดเจนก็มักจะบอกได้เลยว่าเป็นไซนัสอักเสบ หรือบางคนอาจจะไปหาหมอฟันด้วยอาการปวดฟัน แต่ที่จริงแล้วเป็นไซนัสอักเสบ ตัวอย่างเช่น ไซนัสที่บริเวณ แก้มจะทำให้ปวดแก้มแล้วร้าวมาที่ฟันได้ เพราะว่าส่วนล่างสุดของไซนัสที่แก้มจะอยู่ติดกับรากฟัน
 
            ไซนัสอักเสบแบบเฉียบพลันมีอาการประมาณ 4 สัปดาห์  
 
            ไซนัสอักเสบเรื้อรัง มีอาการเกิน 12 สัปดาห์ ซึ่งถ้าเป็นเรื้อรังก็จะสร้างปัญหาต่อผู้ป่วยทางด้านอารมณ์ เศรษฐกิจ และการงานดังกล่าวข้างต้นแล้ว


4อันตรายจากไซนัสอักเสบมีอะไรบ้าง ? 
            
           โดยทั่วไปแล้วไซนัสอักเสบสามารถรักษาด้วยการกินยาก็เพียงพอแล้ว แต่การติดเชื้อในไซนัสอาจจะลุกลามไปยังอวัยวะสำคัญใกล้เคียงได้ คือ ตาและสมอง ซึ่งถือว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อันตรายแต่ภาวะดังกล่าวก็พบได้ไม่บ่อยนักในรายที่มีอาการเรื้อรังอาจจะมีความสัมพันธ์กับโรคทางปอด หลอดลมอักเสบ ไอเรื้อรัง หอบหืด  และหูชั้นกลางอักเสบได้


4ใครบ้างที่มีโอกาสจะมีปัญหาเกี่ยวกับไวรัส ? 
            ที่จริงแล้วไม่ว่าใครก็สามารถเป็นไซนัสอักเสบได้แม้แต่เด็กแรกเกิดซึ่งมีไซนัสขนาดเล็กๆ แต่บุคคลที่มีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป ได้แก่     
            1. คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ทางจมูก : เมื่อเกิดอาการแพ้จะเหมือนคนเป็นหวัด  เยื่อบุจมูกจะบวม รูเปิดไซนัสจะตีบตันทำให้เกิดการอักเสบในไซนัสได้
            2. คนที่มีความผิดปกติของช่องจมูก : เช่น ผนังกั้นระหว่างช่องจมูกคต ทำให้ช่องจมูกแคบกว่าปกติเกิดอาการแน่นคัดจมุก และขัดขวางการไหลเวียนตามปกติของน้ำมูกที่จะไปทางด้านหลังทำให้มีโอกาสเกิดการอักเสบติดเชื้อง่ายขึ้น
            3. คนที่สูบบุหรี่และคนที่อยู่ในเขตมลภาวะเป็นพิษ :จะมีผลทำให้ภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อลดลง มีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบมากขึ้น
            4. มีคนกล่าวถึงการว่ายน้ำ : สระที่ใส่น้ำยาคลอรีน หรือฆ่าเชื้อด้วยโอโซนอาจทำให้มีโอกาสเป็นไซนัสอักเสบเกิดขึ้น เพราะว่ามีการระคายเคืองของเยื่อบุเกิดขึ้น
           “ คนที่มีอาการจากภูมิแพ้ที่มีอาการจาม คัดแน่นจมูกและคันจมูกเป็นประจำ มักจะทำให้ทางเชื่อมระหว่างไซนัสกับโพรงจมูกมีอาการบวมและเกิดการอุดตัน นำไปสู่การเป็นสาเหตุอันหนึ่งที่จะเป็นโรคไซนัสอักเสบได้จึงพูดได้ว่าทั้งโรคภูมิแพ้และไซนัสอักเสบเป็นโรคที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด ”


4การดูแลตัวเอง 
           
            มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งเมื่อเป็นไซนัสอักเสบแล้ว สามารถหายเองได้ เช่น ไซนัสอักเสบที่เกิดจากไวรัส  (อาการที่เป็นไม่เกิน 7 วัน) ด้วยการดูแลตัวเองอย่างถูกวิธี
 
            นั่นคือต้องพักผ่อนให้พอ ดื่มน้ำมากๆ อยู่ในสถานที่มีอากาศถ่ายเทได้ดี มีความชื้นพอเพียง ออกกำลังกายตามความเหมาะสม กินอาหารที่มีประโยชน์ และกินยาตามอาการ เช่น ยาแก้ปวด และยาลดน้ำมูก  (decongestants)
            ในกรณีที่แน่ใจว่าตัวเองเป็น ไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย (อาการหวัดเกินกว่า 7 วัน) และไม่เคยแพ้ยาอะไรมาก่อน อาจดูแลตัวเองในเบื้องต้นได้ด้วยวิธีการกินยาปฏิชีวนะ เช่น อะม็อกซีซิลลิน  (Amoxicillin) หรือ โคไตรม็อกซาโซล (co-trimoxazole) ขนาดที่ใช้ตามน้ำหนักของผู้ป่วย ยาวนานประมาณ  10 วัน ยาลดน้ำมูก ยาแก้ปวด ไม่ควรใช้ยาแก้แพ้ในระยะนี้ เพราะจะทำให้น้ำมูกข้นเหนียวขึ้น แต่ถ้าเป็นภูมิแพ้มาก่อนให้กินยาแก้แพ้ 2nd + 3rd generation ได้ อาจใช้วิธีสูดไอน้ำเพื่อทำให้จมูกชื้นขึ้นและอาจล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ


4การล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ 
           
           เป็นการล้างเอาคราบน้ำมูกที่อาจอุดตันรูเปิดของไซนัส ชำระล้างเอาสิ่งสกปรกและเชื่อโรคออกจากจมูกทำให้โพรงจมูกสะอาดน้ำมูกไม่ข้นเหนียว บรรเทาอาการคัดจมูก และเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่จมูก สามารถทำได้เป็นประจำทุกวันวันละ 2 เวลา  เช้า เย็น ในช่วงเวลาแปรงฟันและสามารถล้างเพิ่มระหว่างวันได้ ถ้ามีน้ำมูกมากหรือคัดจมูก
          ขั้นตอน

          1. ดูดน้ำเกลือ (0.9% normal saline solution) ประมาณ 5 ซีซีเข้าในกระบอกฉีดยา (ที่ไม่มีเข็ม) หรือขวดยาพ่นจมูก
          2. ก้มหน้าลงเล็กน้อย หายใจเข้าเต็มที่แล้วกลั้นลมหายใจไว้ อ้าปากเล็กน้อย
          3. สอดปลายกระบอกฉีดยาหรือหลอดพ่นยาเข้าในโพรงจมูกข้างใดข้างหนึ่ง
          4. ฉีดหรือพ่นน้ำเกลือเข้าในรูจมูกช้าๆ จนหมด (ขณะนี้ยังกลั้นลมหายใจไว้)
          5. หายใจออก พร้อมสั่งน้ำมูก หากมีน้ำมูกหรือมีน้ำเกลือไหลลงคอให้กลั้วคอบ้วนทิ้ง ถ้ายังไม่โล่งก็ทำซ้ำอีกได้
          6. ทำซ้ำข้อ 1 - 5 กับรูจมูกอีกข้าง
          7. เก็บอุปกรณ์ไปทำความสะอาดและผึ่งให้แห้ง น้ำเกลือที่เทออกมาจากขวดแล้วเหลือให้ทิ้งไป
สำหรับในเด็ก ผู้ปกครองจะตั้งคำถามว่าจะสำลักไหม ปกติเด็กที่ยังไม่เคยล้างให้เริ่มปริมาณน้อยๆ ก่อน เช่น 1 ซีซี แล้วค่อยๆ เพิ่มขึ้นก็จะไม่สำลัก
          ไม่แนะนำให้เอาน้ำต้มมาผสมเกลือเพื่อจะเป็นน้ำเกลือ เพราะว่าเราไม่สามารถวัดเปอร์เซ็นต์ความเข้มข้นของเกลือได้ ถ้ามากไปจะทำให้เกิดการระคายเคืองของเยื่อบุได้
สำหรับผู้ที่ชอบว่ายน้ำ ดำน้ำหรือต้องขึ้นเครื่องบินขณะที่ป่วยอยู่ควรงดภารกิจดังกล่าวชั่วคราวจนกว่าอาการคัดจมูก ปวดแก้ม น้ำมูกมากหมดไป


4ไซนัสอักเสบรักษาอย่างไร ? 
          
            ในระยะเริ่มต้น ไซนัสอักเสบสามารถรักษาทางยาได้ ที่สำคัญต้องควบคุมหรือแก้ไขสาเหตุบางอย่าง  (Predisposing factor) เพื่อป้องกันการเกิดโรคซ้ำ (Recurrence) ได้แก่
           - ควบคุมและรักษาโรคภูมิแพ้ทางจมูก (ปรึกษาแพทย์)
 
           - ผ่าตัดแก้ไขความผิดปกติของช่องจมูก เช่น ผนังกั้นช่องจมูกคด
สำหรับไซนัสอักเสบเรื้อรัง การรักษาทางยาอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ บางครั้งจำเป็นต้องทำการผ่าตัดไซนัสร่วมด้วย ได้แก่
           - การเจาะล้างไซนัส : ในรายที่มีน้ำมูก หรือหนองคั่งอยู่ในไซนัส
           - การผ่าตัดขยายรูเปิดของไซนัส
           - การผ่าตัดริดสีดวงจมูก

 


ริดสีดวงจมูก 
ตรวจด้วยกล้องเทเลสโคป


ภายในโพรงไซนัส
ตรวจด้วยกล้องเทเลสโคป

 

            ปัจจุบันการตรวจและรักษาโรคไซนัสอักเสบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะความผิดปกติของช่องจมูกที่เป็นทางติดต่อกับรูเปิดร่วมของไซนัสต่างๆ (Osteomeatal  Complex) สามารถตรวจได้ด้วยกล้องเทเลสโคปที่ต่อเข้ากับโทรทัศน์วงจรปิด  (Endoscopic  Nasal  and  Sinus  Examination) (ดูจากรูป A และ B ) ทำให้เราผ่าตัดแก้ไขส่วนรูเปิดร่วมไซนัส ที่ผิดปกติเหล่านี้ได้ตรงจุด และยังคงเก็บรักษาโครงสร้างหลักที่สำคัญของช่องจมูกไว้ได้ดังเดิม (Functional Endoscopic Sinus Surgery)

 

 

แหล่งที่มา : doctor.or.th

อัพเดทล่าสุด