โรคความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง อาการโรคความดันโลหิตสูง


2,418 ผู้ชม


โรคความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูง อาการโรคความดันโลหิตสูง

   
เมื่อความดันโลหิตสูง
โดย : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ  
         ความดันโลหิต (blood pressure) หมายถึง ความดันภายในหลอดเลือดแดง ซึ่งเกิดจากการบีบตัวของหัวใจ เพื่อปั๊มเลือดเพื่อนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย 

ความดันภายในหลอดเลือดนี้จะมีอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ขณะที่หัวใจกำลังคลายตัวก็ตาม เพราะการไหลเวียนของเลือดต้องมีอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นความดันในหลอดเลือดจึงมีอยู่ตลอดเวลา

การทำงานของหัวใจคล้ายก๊อก หรือปั๊มน้ำ คอยสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อเลือดไหลแรงดี ความดันก็จะดีด้วย แต่หากหัวใจบีบตัวไม่ดี เลือดไหลอ่อน ความดันก็จะลดลง นอกจากนั้นแล้วความดันในหลอดเลือดยังขึ้นกับสภาพของหลอดเลือดด้วย หากหลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดี จะปรับความดันได้ดีไม่ให้สูงเกินไป แต่หากหลอดเลือดเสียความยืดหยุ่น หรือแข็งตัว ก็จะทำให้ความดันเปลี่ยนแปลงไปด้วย

สาเหตุ

  1. ปัจจัยของความดันโลหิตสูง ส่วนใหญ่มาจากขบวนการที่เกิดจากความเครียดที่ต้องผจญอยู่เป็นประจำ ส่วนน้อยที่เกิดจากความผิดปกติภายในร่างกายที่สามารถที่จะแก้ไขได้ และหายเป็นปกติ
  2. หากท่านมีความดันโลหิตสูง ควรที่จะปรึกษาแพทย์ทันที เพราะอาจหาสาเหตุ และรักษาให้หายขาดได้
  3. ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมักจะไม่ทราบสาเหตุที่เป็นรูปธรรม ต้องมาสนใจกับนามธรรม คือ ความเครียด

โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่มีความสำคัญมากชนิดหนึ่ง ปัจจุบันมีคนจำนวนมากที่เป็นโรคนี้ ส่วนใหญ่จะสามารถควบคุมความดันโลหิตที่สูงให้กลับมาสู่ระดับปกติได้ แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาในการรักษา และเกิดโรคแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เส้นเลือดในสมองแตกทำให้เกิดอัมพาต เป็นต้น

ความดันโลหิตสูงปลอม

ภาวะความดันโลหิตสูงปลอม หมายความว่าจริงๆ แล้วผู้ป่วยไม่ได้มีความดันโลหิตสูง แต่ด้วยเหตุผลใดไม่ทราบ เมื่อมาวัดความดันโลหิต ที่คลินิกแพทย์หรือโรงพยาบาล จะวัดได้สูงกว่าปกติทุกครั้ง แต่เมื่อวัดโดยเครื่องวัดความดันโลหิต 24 ชั่วโมง หรือวัดด้วยเครื่องอิเลคโทรนิคเองที่บ้าน กลับพบว่าความดันปกติ เรียกภาวะเช่นนี้ว่า white coat hypertension หรือ isolated clinic hypertension กลุ่มนี้มีอันตรายน้อยกว่าความดันโลหิตสูงจริงๆ

การรักษา

  1. การลดความดันโลหิตโดยธรรมชาติก่อนที่จะต้องใช้ยาลดความดัน ได้แก่ การควบคุมน้ำหนัก การควบคุมอาหารโดยเฉพาะการลดอาหารเค็ม และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่อนคลายความเครียดจากปัญหาต่างๆ
  2. กิจกรรมที่ทำให้เกิดการผ่อนคลายความเครียดจากปัญหาต่างๆ ได้ดี คือ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง ซึ่งนอกจากความเครียดจะหายไปแล้ว การออกกำลังกายจะมีผลต่อความแข็งแรงของหัวใจ และระบบการไหลเวียนของโลหิตอีกด้วย ผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ แม้ขณะพักอยู่หัวใจก็จะเต้นเร็ว ซึ่งเราจะพูดกันติดปากว่าไม่ฟิต ตรงกันข้ามกับผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ชีพจรจะเต้นช้ากว่า และเมื่อออกกำลังกายหัวใจเต้นเร็วขึ้น แต่ก็จะกลับลงสู่ปกติได้โดยเร็ว
  3. การออกกำลังกายที่เหมาะสมในวัยต่างๆ การออกกำลังกายที่เหมาะสมจะช่วยดับความเครียดของท่านลงได้ ความดันโลหิตสูงก็จะลดลงไปด้วย โรคหัวใจก็จะได้ไม่ย่างกรายมาสู่ท่าน
  4. ในผู้สูงอายุ มักจะตรวจพบภาวะความดันโลหิตสูงชนิดซิสโตลิก (isolated systolic hypertension, ISH) หมายถึง ความดันตัวบนสูงเพียงค่าเดียว ในขณะที่ความดันตัวล่างไม่สูง จากการสำรวจพบได้บ่อยกว่าร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุ และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา รวมทั้งโรคหัวใจโต ซึ่งเป็นปัจจัยบ่งชี้ที่สำคัญในการทำนายว่าผู้ป่วยมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนทางระบบหัวใจ และการไหลเวียนโลหิตมากกว่าบุคคลทั่วไป
  5. การรักษาด้วยยาลดความดันโลหิต สามารถลดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา และหัวใจโตได้ และยังช่วยลดอัตราการเกิดอัมพาต และภาวะหัวใจล้มเหล

เครื่องวัดความดันโลหิต

  1. เครื่องมือที่ใช้วัดความดันโลหิตที่เป็นมาตราฐาน ประกอบด้วยผ้าที่มีถุงลมพันที่แขน และใช้ปรอทแสดงค่าความดันที่วัดได้ ในขณะวัดความดันโลหิต ผู้ถูกวัดความดันโลหิตควรจะอยู่ในท่านั่งสบายๆ วัดหลังจากนั่งพักแล้ว 5 นาที และไม่วัดหลังจากดื่มกาแฟ หรือสูบบุหรี่
  2. ขนาดของผ้าพันแขนต้องมีขนาดเหมาะสมกับแขนผู้ถูกวัดด้วย หากอ้วนมากแล้วใช้ผ้าพันแขนขนาดปกติ ค่าที่ได้จะสูงกว่าความเป็นจริง
  3. การปล่อยลมออกจากที่พันแขนมีความสำคัญอย่างมาก ต้องปล่อยลมออกช้าๆ มิฉะนั้นจะทำให้ได้ค่าที่ผิดไปจากความเป็นจริงมาก
  4. เครื่องวัดความดันก็ต้องได้มาตราฐาน ไม่ใช่เครื่องเก่ามากหรือมีลมรั่ว เป็นต้น
  5. ตำแหน่งของเครื่องวัดก็ควรอยู่ระดับเดียวกับหัวใจ และต้องวัดซ้ำๆ เพื่อหาค่าเฉลี่ย
  6. ปัจจุบันมีเครื่องมือที่ออกแบบมาให้วัดความดันโลหิตได้ง่าย และสะดวกขึ้น โดยผู้วัดไม่จำเป็นต้องมีความรู้เลย เพียงแค่ใส่ถ่าน พันแขน และกดปุ่ม เครื่องจะวัดให้เสร็จ อ่านค่าเป็นตัวเลข เครื่องแบบนี้มีขายตามศูนย์การค้าทั่วไป โดยทั่วไปแล้วใช้งานได้ดี แต่ก็ต้องนำเครื่องมาตรวจสอบความถูกต้องเป็นครั้งคราว ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรมีเครื่องชนิดนี้ไว้วัดที่บ้านด้วย
  7. ในอนาคตอาจจะเลิกใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบปรอท ส่วนหนึ่งเนื่องจากผลทางสิ่งแวดล้อม เนื่องจากปรอทเป็นสารที่อันตราย และอีกเหตุผลหนึ่ง คือใช้เทคนิคมากในการวัดให้ถูกต้อง

การวัดความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง

ปัจจุบันพบว่าการวัดความดันโลหิตที่ดีที่สุดคือ การวัดความดันโลหิตตลอด 24 ชั่วโมง ทั้งขณะหลับ และตื่น เพื่อดูแบบแผนว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร และหาค่าเฉลี่ยความดันโลหิตของช่วงกลางวัน และกลางคืน ค่าที่ถือว่าปกติโดยการวัดความดันโลหิต 24 ชั่วโมงนี้ คือ ขณะตื่นความดันโลหิตเฉลี่ยควรน้อยกว่า 135/85 มิลลิเมตรปรอท และเมื่อหลับความดันโลหิตเฉลี่ยควรน้อยกว่า 120/75 มิลลิเมตรปรอท

เตรียมพร้อมก่อนวัดความดันโลหิต

  1. ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ
  2. นั่งพักผ่อนอย่างน้อย 5 นาที
  3. ถ้าใส่เสื้อแขนยาวห้ามม้วนจนรัดต้นแขน เพราะจะทำให้วัดได้ค่าต่ำกว่าปกติ
  4. ผ้าที่พันต้องใช้ขนาดที่เหมาะสมกับแขนผู้ป่วย
  5. ไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ชา กาแฟ ก่อนวัดความดันโลหิต 30 นาที
  6. ไม่รับประทานยากระตุ้นระบบประสาท เช่น ยาลดน้ำมูก ยาขยายรูม่านตาเป็นต้น
  7. ถ้าปวดปัสสาวะ ให้ไปเข้าห้องน้ำเพื่อถ่ายปัสสาวะเสียก่อน

เทคนิกการวัดความดันโลหิตที่ผิดพลาด

  1. ตำแหน่งของเส้นเลือดที่ทำวัดความดันโลหิตไม่อยู่ในระดับเดียวกับหัวใจ
  2. ปล่อยลมออกจากผ้าพันแขนเร็วเกินไปหรือช้าเกินไป อัตราที่เหมาะสม คือ 2 มิลมิเมตรปรอทต่อจังหวะหัวใจเต้นหนึ่งครั้ง
  3. ความดันโลหิตที่วัดครั้งแรกมักจะสูงกว่าความเป็นจริง จากการศึกษาวิจัยพบว่าค่าความดันโลหิตที่ได้จากการวัดครั้งที่ 3 มีความแม่นยำถูกต้องมากที่สุด
  4. รัดผ้าพันแขนแน่นหรือหลวมเกินไป ทำให้ค่าที่ได้คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง

ความผิดพลาดที่เกิดจากเครื่องมือ

  1. ลิ้นควบคุมการปล่อยลมขัดข้อง
  2. ท่อเชื่อมหน้ากากแสดงค่าสกปรก
  3. การใช้เครื่องวัดความดันโลหิตชนิดอะนีรอยด์ ต้องตรวจเช็คกับเครื่องที่ตั้งเป็นมาตราฐานด้วย
  4. เข็มชี้ไม่อยู่ที่ค่าศูนย์

หน่วยวัดความดันโลหิต

ค่าความดันโลหิตเราวัดเป็นหน่วยมิลลิเมตรปรอท และจะบอกค่าเป็น 2 ตัวเลขเสมอ ตัวเลขสูงกว่าหรือบางทีเรียกว่าความดันตัวบน (systolic pressure) จะเป็นความดันโลหิตขณะที่หัวใจบีบตัว และตัวเลขที่ต่ำกว่าหรือบางทีเรียกว่าความดันตัวล่าง (diastolic pressure) จะเป็นความดันโลหิตขณะที่หัวใจคลายตัว

การวัดความดันโลหิตจะต้องบันทึกค่าที่ได้ทั้งสองค่าเสมอ ทั้งค่าความดันตัวบน และค่าความดันตัวล่างมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน บางครั้งพบว่าผู้วัดความดันโลหิตให้ความสำคัญกับค่าความดันตัวบนเพียงอย่างเดียว

ค่าความดันปกติ

  1. ค่าความดันโลหิตปกติของผู้ใหญ่โดยทั่วไป ถือว่าค่าความดันตัวบนไม่เกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และค่าความดันตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท
  2. ความดันโลหิตที่ “อยู่ในเกณฑ์ปกติ” คือ ต่ำกว่า 130/85 มม.ปรอท ความดันโลหิตสูงเล็กน้อย แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือ 130-139/85-89 มม.ปรอท และจะเรียกได้ว่ามีความดันโลหิตสูงเมื่อ ความดันโลหิตตัวบนมากกว่า (หรือเท่ากับ) 140 และตัวล่างมากกว่า (หรือเท่ากับ) 90 มม.ปรอท
  3. ก่อนที่จะวินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีความดันโลหิตสูง แพทย์จะต้องวัดซ้ำหลายๆ ครั้ง หลังจากให้ผู้ป่วยพักแล้ว วัดซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าสูงจริง และเทคนิคการวัดความดันโลหิตต้องกระทำให้ถูกต้องครบถ้วน
  4. ความดันโลหิตเป็นค่าไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาทุกวินาที การวัดซ้ำในเวลาที่ใกล้เคียงกันอาจได้คนละค่า แต่ก็จะไม่ควรจะแตกต่างกันนัก
  5. ความดันโลหิตขึ้นกับท่าของผู้ถูกวัดด้วย ท่านอนความดันโลหิตมักจะสูงกว่าท่ายืน
  6. นอกจากนั้นยังขึ้นกับสิ่งกระตุ้นต่างๆ เช่น อาหาร บุหรี่ อากาศ กิจกรรมที่กระทำอยู่ในขณะนั้น รวมทั้งสภาพจิตใจด้วย


แหล่งที่มา : 108health.com

อัพเดทล่าสุด