โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) หรือ โรคกาลี เป็นอย่างไร


1,027 ผู้ชม


โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) หรือ โรคกาลี เป็นอย่างไร

 

 

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)

เป็นโรคสัตว์ติดคนที่ร้ายแรงโรคหนึ่ง จึงนิยมเรียกโรคนี้ว่า "โรคกาลี" 
โค กระบือ และแกะ ที่ป่วยเป็นโรคแบบเฉียบพลันมีลักษณะสำคัญคือ สัตว์ป่วยจะตายอย่างรวดเร็ว มีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวารต่างๆ ซากไม่แข็งตัว

สาเหตุและการแพร่โรค

โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ แบซิลลัส แอนทราซิส (Bacillus anthracis) พบมากในช่วงการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล สัตว์ที่เป็นโรคนี้ส่วนมากเกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อแบคทีเรียที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรืออาจเกิดจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนอยู่เข้าไป แต่สัตว์จะเป็นโรคนี้โดยเชื้อเข้าทางบาดแผลได้เช่นกัน เมื่อเชื้อเข้าตัวสัตว์แล้วจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกระจายอยู่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย พร้อมกับสร้างสารพิษขึ้นมาทำให้สัตว์ป่วยและตายในที่สุด ในระหว่างสัตว์ป่วยเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระ น้ำปัสสาวะหรือน้ำนม เมื่อทำการเปิดผ่าซาก เชื้อนี้เมื่อสัมผัสกับอากาศก็จะสร้างสปอร์หรืออาจเรียกได้ว่าเกราะหุ้มตัวในเวลาเวลา 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ตัวมันเองคงทนอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ กล่าวกันว่าสามารถอยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปี ขึ้นไป มีโอกาสที่จะเกิดโรคในที่แห่งเดิมได้อีกถ้าสภาวะแวดล้อมเหมาะสมในการเจริญเติบโตของเชื้อ และเชื้อคงทนในน้ำเดือนได้นานถึง 30 นาที

อาการ

สัตว์เป็นโรคนี้แบบเฉียบพลันจะตายอย่างรวดเร็วภายในเวลา 1-2 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นแบบรุนแรงจะตายภายใน 1-2 วัน สัตว์จะมีอาการซึม หายใจเร็ว ลึก หัวใจเต้นเร็ว ไข้สูงประมาณ 107 องศาฟาเรนไฮท์ เยื่อชุ่มต่างๆ มีเลือดคั่งหรือมีจุดเลือดออก กล้ามเนื้อสั่นบวมน้ำตามลำตัว น้ำนมลดอย่างรวดเร็วและอาจมีเลือดปนหรือมีสีเหลืองเข้ม ท้องอืดและตายในที่สุด เมื่อสัตว์ตายจะมีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวารต่างๆ เช่น จมูก ปาก ทวารหนักหรือแม้แต่ขุมขน ซากสัตว์จะขึ้นอืดเร็ว ไม่แข็งตัว ถ้าทำการเปิดผ่าซากจะพบเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ พบของเหลวสีน้ำเลือดภายในช่องอกและช่องท้อง ลำไส้อักเสบรุนแรงมีเลือดออก เลือดไม่แข็งตัวและม้ามขยายใหญ่เห็นได้ชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของโรคนี้ ในคนที่ทำการผ่าซากหรือบริโภคเนื้อสัตว์ป่วยด้วยโรคนี้แบบสุกๆ ดิบๆ จะพบแผลหลุมตามนิ้วมือ แขน หรือช่องปาก และมีอาการเจ็บปวดในช่องท้อง โรคนี้จะทำให้คนตายเสมอๆ

การตรวจวินิจฉัย
1. ขณะสัตว์มีชีวิต ถ้าสงสัยว่าสัตว์ป่วยด้วยโรคแอนแทรกซ์ ให้เจาะเลือดก่อนทำการรักษาส่วนหนึ่งป้ายกระจก (silde) จำนวน 4 แผ่น และอีกส่วนหนึ่งเก็บใส่หลอดแก้วเลือดป้าย กระจก จำนวน 2 แผ่น ย้อมด้วยสี แกรม สเตน (Gram stain) แล้วตรวจหาเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์ ถ้าพบเชื้อมีลักษณะเป็นแท่งขนาดใหญ่ ปลายตัดอยู่ต่อกันเหมือนตู้รถไฟและมีแคปซูลหุ้ม แสดงว่าเป็นเชื้อ B. anthracis เพื่อการตรวจยืนยันให้ส่ง กระจก (slide) ที่เหลือและเลือดในหลอดแก้วไปยังศูนย์วิจัยและชันสูตรโรคสัตว์ทำการวินิจฉัยอีกครั้ง
2. เมื่อสัตว์ตาย ถ้าสงสัยว่าสัตว์ตายด้วยโรคแอนแทรกซ์ ควรทำการเจาะเลือดจากเส้นเลือดบริเวณโคนหาง คอ หรือหัวใจ นำเลือดที่ได้ป้าย กระจก (slide) ไว้ 4 แผ่น และเก็บในหลอดแก้วส่วนหนึ่ง ย้อมเลือดป้าย กระจก (slide) ตรวจหาเชื้อ B. anthracis ดังในข้อ 1 ถ้าตรวจพบเชื้อ B. anthracis ก็ให้ทำลายซากและส่งเลือดในหลอดแก้วและกระจก (slide) ที่เหลือตรวจยืนยันที่ห้องปฏิบัติการ แต่ถ้าตรวจไม่พบเชื้อให้ทำการเปิดผ่าซากตรวจดูวิการ แล้วเก็บอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ปอด ตับ ม้าม ต่อมน้ำเหลืองและอื่นๆ ที่เห็นสมควรส่งตรวจ
3. ในกรณีซากสัตว์ถูกชำแหละ ควรเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ กระดูก หนัง ขน หรือดินบริเวณผ่าซากที่พบรอยเลือด ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ปกติห้ามผ่าซาก

การรักษา

ทำการรักษาในขณะที่สัตว์เริ่มแสดงอาการเช่น เมื่อพบสัตว์มีไข้สูง โดยให้ยาปฏิชีวนะ เพนนิซิลิน ในขนาด 1000 ยูนิตต่อน้ำหลักสัตว์ 1 กิโลกรัม หรือให้ออกซีเตตทราไซคลิน ในขนาด 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักสัตว์ 1 กิโลกรัม

การควบคุมและป้องกัน

1. แยกสัตว์ป่วยออกจากฝูง
2. ฝังหรือเผาซากสัตว์ตลอดจนดินบริเวณที่สัตว์ตาย การฝังควรขุดหลุมลึกประมาณ 2 เมตร โรยปูนขาวบนตัวสัตว์ก่อนกลบดิน
3. ใช้นำยา ฟอร์มาลิน (Formalin) หรือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ (Sodium hydroxide) 5-10% ราดฆ่าเชื้อ
4. กักดูอาการสัตว์ที่รวมฝูงกับสัตว์ป่วยหรือตาย
5. ฉีดวัคซีนให้สัตว์อายุตั้งแต่หย่านมขึ้นไป ในรัศมี 10 กิโลเมตร จากจุดเกิดโรค โดยฉีดทุกๆ 6 เดือน ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี โค-กระบือ ฉีดเข้าใต้ผิวหนังตัวละ 1 มิลลิลิตร หลังฉีดวัคซีนแล้วบริเวณที่ฉีดจะบวม และสัตว์มีไข้เล็กน้อย 2-3 วัน วัคซีนนี้ไม่ควรฉีดสัตว์กำลังตั้งท้องเพราะจะทำให้แท้งได้
ข้อควรระวัง
เมื่อสงสัยว่าสัตว์ตายด้วยโรคแอนแทรกซ์ โดยเฉพาะสัตว์ที่เพิ่งนำมาจากท้องถิ่นอื่นภายใน 10 วัน ให้รีบแจ้ง ปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องที่ทันที ไม่ควรเปิดชำแหละซาก เพราะจะทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อ ให้รีบเผาหรือฝังซากสัตว์ลึกๆ โรยปูนขาวหรือขี้เถ้าก่อนกลบหลุม ในท้องที่เคยเกิดโรคนี้ระบาด ควรฉีดวัคซีนให้สัตว์เลี้ยงทุกปี 

การส่งตัวอย่าง

โค กระบือ - เก็บเลือดหลังจากสัตว์ตายใหม่ๆ โดยใช้ไม้ที่ปลายพันด้วยสำลี หรือผ้าพันแผลที่ฆ่าเชื้อโรคแล้วจุ่มในเลือด หรือสไลด์ป้ายเลือด หรือเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำบริเวณลำคอ (jugular vein) 
สุกร - เก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณที่บวมน้ำ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอ

โรคแอนแทรกซ์ในคน

แผลที่ผิวหนัง


เชื้อแอนแทรกซ์สามารถสร้างเกาะหุ้มตัวได้เมื่ออยู่นอกร่างกายคนหรือสัตว์ ทำให้มีความทนทานอยู่ได้นานนับ 10 ปี สัตว์ติดโรคนี้โดยการกินหรือการหายใจเอาเชื้อเข้าไปเชื้อจะแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเร็วมาก สัตว์จึงมักตายภายใน 1 ถึง 2 วัน หลังได้รับเชื้อ โดยไม่แสดงอาการให้เห็น อาจพบเลือดสีดำคล้ำไหลออกจากจมูก ปากหรือทวารหนักของซากสัตว์

รูปที่ 1
รูปที่ 2
รูปที่ 3
รูปที่ 4
รูปที่ 5 รูปที่ 6
รูปที่ 7
ลักษณะของเชื้อแอนแทรกซ์

แอนแทรกซ์ที่ผิวหนังหรือตุ่มพิษ
พบบ่อยกว่าแอนแทรกซ์ชนิดอื่นๆ ผู้ป่วยติดโรคโดยการสัมผัสกับเชื้อซึ่งมีอยู่ทั่วไปในทุกส่วนของซากสัตว์ เช่น เนื้อ หนัง เลือด ขน กระดูก เชื้อเข้าทางลอยถลอก ขีดข่วนหรือบาดแผลบนผิวหนัง ภายใน 2 ถึง 5 วัน จะเกิดตุ่มแดง ต่อมา 2 วัน 3 วัน จะกลายเป็นตุ่มพองแต่ตุ่มนี้จะแตกออก ตรงกลางแผลยุบลงกลายเป็นสะเก็ดสีดำรอบๆ บวมแดง อักเสบ (รูปที่ 1, 4)
แผลแอนแทรกซ์มักพบที่นิ้ว มือ แขน และหน้า ผู้ป่วยมักไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือคันที่บาดแผล แต่มักมีอาการบวมรอบๆ แผล และต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียง แผลจะอยู่ที่เดิมไม่ลามไปที่อื่น เมื่อได้รับการรักษาแผลจะยุบลงช้าๆ และมักเกิดรอยแผลเป็น (รูปที่ 5) ถ้าไม่รีบรักษาเชื้ออาจจะเข้ากระแสเลือดเกิดอาการเป็นพิษถึงตายได้
ข้อควรระวัง : การรักษาแผลไม่ควรแกะสะเก็ดออกเพราะจะทำให้เชื้อสร้างเกาะหุ้มตัวและเกิดการแพร่กระจายได้

แอนแทรกซ์ที่ทางเดินอาหาร
สาเหตุเกิดจากการกินเนื้อสัตว์ที่ตายด้วยโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่กินดิบๆ หรือไม่สุกเพียงพอ เช่น ลาบ ลู่ เชื้อจะเจริญเติบโตและทำให้เกิดแผลเนื้อตายในกระเพาะอาหาร ลำไส้ ผู้ป่วยจะมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องขึ้น (รูปที่ 6) อุจจาระร่วง บางครั้งมีมูกเลือดปนและมีอาการขาดน้ำอย่างรวดเร็ว บางรายอาจช็อก และถึงแก่ความตายได้

แอนแทรกซ์ในปากและคอหอย
ติดโดยการกินเช่นเดียวกับแอนแทรกซ์ที่ทางเดินอาหาร ผู้ป่วยจะแสดงอาการเจ็บคอ คอบวม แข็งตึง และกลืนอาหารลำบาก เพราะมีแผลเนื้อตายที่คอและคอหอย (รูปที่ 7)

แอนแทรกซ์ที่ทางเดินหายใจ
สาเหตุเกิดจากการหายใจเอาเชื้อเข้าไป เชื้อจะแบ่งตัวและไปยังต่อมน้ำเหลืองที่ขั้วปอด ผู้ป่วยจะแสดงอาการคล้ายกับโรคระบบหายใจอื่นๆ เช่น ไอ หายใจขัด หายใจลำบาก แต่อาการจะรุนแรงและเป็นรวดเร็วมาก การวินิจฉัยและการรักษาค่อนข้างยาก ผู้ป่วยมักถึงแก่ความตายในที่สุด แอนแทรกซ์ชนิดนี้พบไม่ค่อยบ่อยนัก

การรักษา
จะได้ผลดีเมื่อได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ด้วยยาจำพวกเพนนิซิลิน กรณีผู้ป่วยแพ้เพนนิซิลิน อาจใช้เตตร้าไซคลิน หรือยาปฏิชีวนะอื่น หรือ ยาซัลฟา


ที่มา
ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, มนัสนันนท์ ประสิทธิรัตน์ และมนยา เอกทัตร์ (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือการดูแลสุขภาพโคนม" สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ. ฟันนี่พับบลิชิ่ง.
ทัศนีย์ ชมภูจันทร์, สุรีย์ ธรรมศาสตร์, ปนันท์ ธนเจริญวัชร, จิรา คงครอง และเอกรินทร์ วัฒนพลาชัยกูร (บรรณาธิการ). 2539. คู่มือมาตรฐานการชันสูตรโรคสัตว์. สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ.โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.
เอกสารวิชาการ "โรคแอนแทรกซ์" กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข.
แผนกสัตวแพทย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การแพทย์ทหาร (ฝ่ายสหรัฐฯ) และ กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข

 

แหล่งที่มา : dld.go.th

อัพเดทล่าสุด