วิธีป้องกันโรคร้าย น้ำขังบนพื้น ปัญหาน้ำขังที่พื้น มีเชื้อโรคร้าย อะไรบ้าง


2,911 ผู้ชม


วิธีป้องกันโรคร้าย น้ำขังบนพื้น ปัญหาน้ำขังที่พื้น มีเชื้อโรคร้าย อะไรบ้าง


“เชื้อโรคร้าย” ในน้ำขัง
       รศ.พญ.ดาราวรรณ วนะชิวนาวิน ภาควิชาปรสิตวิทยา และ รศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน ภาควิชาจุลชีววิทยา 
       
       สัปดาห์ที่แล้ว เราค้างกันไว้ที่ประเด็นปรสิตที่มากับหน้าฝน คราวนี้เราจะมาให้ข้อมูลกันถึงเรื่องของ “เชื้อโรค” ที่มากับน้ำท่วมขัง เพราะในช่วงหน้าฝน มักทำให้พื้นดินเปียกและชื้นแฉะ บางครั้งอาจเกิดน้ำท่วมขัง โอกาสที่เท้าและขาจะติดเชื้อโรค หรือได้รับปรสิตบางชนิดย่อมสูงขึ้นตามไปด้วย เรามาดูกันค่ะว่าในพื้นดินและแหล่งน้ำที่เหมือนว่าจะไม่มีอะไรน่ากลัว แต่ที่จริงแล้วมีวายร้ายตัวจิ๋วปะปนอยู่ไปทั่ว แต่จะเป็นอะไรบ้างนั้นไปดูกันเลยค่ะ
       กรณีน้ำท่วมขัง ประชาชนจำนวนมากต้องเดินลุยน้ำ และเกือบจะ 100% มีเชื้อโรคอยู่หลายชนิด ส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่านผิวหนังเข้าสู่ร่างกายได้ แต่หากผิวหนังบริเวณขาและเท้ามีรอยแผล รอยถลอก รอยขีดข่วน ซึ่งเราอาจไม่รู้ตัว การเดินลุยน้ำท่วม อาจทำให้เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล หรือรอยถลอกนั้น และก่อโรคติดเชื้อในคนได้ ในเขตร้อนชื้นอย่างบ้านเรา โรคติดเชื้อที่มักสัมพันธ์กับการเดินลุยน้ำท่วมขังที่สำคัญ คือ …
       
       โรคฉี่หนู หรือทางการแพทย์เรียกว่า เลปโตสไปโรซิส เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่มีรูปร่างเป็นเส้นเกลียว ที่มีชื่อว่า เลปโตสไปรา ที่เรียกว่า โรคฉี่หนูนั้น เป็นเพราะมีหนูเป็นพาหะนำโรค แต่ยังมีสัตว์อื่นอีกหลายชนิดที่สามารถเป็นพาหะนำโรคได้ เช่น โค กระบือ สุกร และสุนัข เป็นต้น 
       
       สัตว์ที่เป็นพาหะของแบคทีเรียชนิดนี้ อาจไม่แสดงอาการเจ็บป่วย แต่เชื้อมักรวมกลุ่มในบริเวณท่อไต และถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ดังนั้น ในบริเวณที่มีน้ำท่วมขังซึ่งอาจมีการปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ เช่น ไร่นา แอ่งดินโคลน บ่อน้ำ รวมถึงแอ่งน้ำตามท้องถนน ดังนั้น เมื่อเดินลุยน้ำ หรือผู้ที่ต้องสัมผัสกับแหล่งน้ำขัง เช่น เกษตรกร อาจทำให้เชื้อเข้าสู่ร่างกายได้ทางบาดแผลที่ขา ระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ไม่เกิน 1 สัปดาห์จนถึง 4 สัปดาห์
       
       ผู้ติดเชื้อบางส่วนอาจไม่แสดงอาการ แต่บางรายจะมีไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อตามตัว และคลื่นไส้อาเจียน รายที่มีอาการรุนแรง อาจเกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ร่วมกับมีความผิดปกติของตับและไต จนถึงเสียชีวิตได้
       
       ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแหล่งน้ำขัง หากจำเป็นควรใส่อุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบูต แต่หากมีประวัติสัมผัสน้ำท่วมขัง และเริ่มมีอาการไข้ ครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดเมื่อย ควรรีบปรึกษาแพทย์ โดยเฉพาะช่วงในฤดูฝน ซึ่งพบมีรายงานของโรคในหลายจังหวัดในทุกภูมิภาคของประเทศไทย
       
       นอกจากโรคดังกล่าวแล้ว ยังมีเชื้ออื่นๆ ที่อาจพบในน้ำและก่อโรคโดยการเข้าทางบาดแผล เช่น แบคทีเรีย “วิบริโอ” และ “แอโรโมแนส” ซึ่งโดยปกติพบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วไป แต่ในฤดูฝน น้ำตามแหล่งน้ำอาจไหลเข้าท่วมพื้นที่ในชุมชน ซึ่งอาจทำให้ประชาชนมีโอกาสสัมผัสเชื้อโรคดังกล่าวมากขึ้น โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางรอยแผลที่ผิวหนัง ก่อให้เกิดการติดเชื้อมีลักษณะเป็นตุ่มน้ำ รายที่เป็นรุนแรง อาจมีไข้สูง หนาวสั่น ผิวหนังบวมแดงอักเสบเป็นบริเวณกว้าง ตุ่มน้ำปนเลือดขนาดใหญ่ ปวดกล้ามเนื้อขามากจนเดินไม่ไหว และเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้น หากเริ่มมีอาการผิดปกติหลังจากสัมผัสแหล่งน้ำ ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย
       
       และจากที่อธิบายมาทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า เชื้อโรคที่ปนเปื้อนในแหล่งน้ำท่วมขังนั้น สามารถก่อโรคที่อันตรายได้ถึงชีวิต มีเชื้อโรคมากมายปนเปื้อนและอาศัยอยู่ในน้ำ รวมถึงแหล่งน้ำตามธรรมชาติต่างๆ ทั้งแม่น้ำลำคลอง และแหล่งทำเกษตรกรรม ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแหล่งน้ำโดยตรง โดยเฉพาะหากมีแผลถลอกที่ผิวหนัง หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน และรีบปรึกษาแพทย์หากมีอาการผิดปกติ
       =======================================================
       
       ชวนเที่ยวงาน “สัปดาห์เภสัชกรรม”
       
       ฝ่ายเภสัชกรรม รพ.ศิริราช ขอเชิญประชาชนเที่ยวงาน “สัปดาห์เภสัชกรรม” ระหว่างวันที่ 19 - 23 กรกฎาคม 2553 เวลา 09.00-16.00 น.ณ โถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ รพ.ศิริราช ภายในงานรับฟังการบรรยายสุขภาพทุกวัน เวลา 10.00-11.00 น.อาทิ ความจริง! ยาลดความอ้วน ซื้อยาอย่างไรให้ปลอดภัย ไม่ซ้ำซ้อน ยาไทยกับยานอกแตกต่างจริงหรือ! และแพ้ยาแตกต่างจากผลข้างเคียงอย่างไร พร้อมสาธิตการทำเจลหอมระเหย พิมเสนน้ำ และอาหารสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคต่างๆ รวมทั้งนิทรรศการให้ความรู้เรื่องยา ร่วมตอบคำถามชิงรางวัล และชมสวนสมุนไพรโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ สอบถามเพิ่มเติม โทร.0 2419 8740



แหล่งที่มา : manager.co.th

อัพเดทล่าสุด