เจ็บหน้าอก หายใจแล้วเจ็บหน้าอก ไอจนเจ็บหน้าอก


9,980 ผู้ชม


เจ็บหน้าอก หายใจแล้วเจ็บหน้าอก ไอจนเจ็บหน้าอก

 

เจ็บหน้าอก (Chest pain)

บทนำ

เจ็บหน้าอก หรือ แน่นหน้าอก หรือ เจ็บแน่นหน้าอก (Chest pain) เป็นอาการ ไม่ใช่โรค คือ การเจ็บ/ปวดด้านหน้าและด้านในของทรวงอก ไม่ใช่เจ็บ/ปวดส่วนด้านหลังของทรวงอก

อาการเจ็บหน้าอก เป็นอาการพบบ่อยอีกอาการหนึ่ง พบได้ประมาณ 1-2% ของอาการทั้งหมดที่นำผู้ป่วยมาพบแพทย์ โดยพบได้ในทุกอายุ แต่พบบ่อยขึ้นในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ผู้หญิงและผู้ชาย มีโอกาสเกิดอาการนี้ได้ใกล้เคียงกัน

อาการเจ็บหน้าอกเกิดจากอะไร?

อาการเจ็บหน้าอกเกิดได้จาก 6 สาเหตุหลัก คือ

  1. จากโรคหัวใจ ที่พบบ่อย คือ จากโรคหลอดเลือดหัวใจ
  2. จากโรคของปอด เช่น โรคปอดบวม ภาวะหลอดเลือดอุดตันในปอด (ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ) และ โรคมะเร็งปอด
  3. จากโรคของอวัยวะในช่องท้อง เช่น โรคกรดไหลย้อน (ไหลกลับ) โรคกระเพาะอาหารอักเสบ มีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ (ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย/ธาตุพิการ) ถุงน้ำ ดีอักเสบ และโรคนิ่วในถุงน้ำดี
  4. จากโรคของกระดูกและกล้ามเนื้อลำคอและทรวงอก เช่น โรคกระดูกคอเสื่อม โรคของกล้ามเนื้อหน้าอก หรือโรคกระดูกซี่โครงอักเสบ
  5. จากโรคงูสวัดที่เกิดในส่วนผิวหนังหน้าอก
  6. ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ เช่น เครียด กังวล โกรธ กลัว และ/หรือจากการเรียกร้องความสนใจ

มีอาการอื่นร่วมกับเจ็บหน้าอกไหม?

อาการอื่นๆที่อาจเกิดร่วมกับการเจ็บหน้าอก ขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งอาการร่วมเหล่านี้ แพทย์ใช้เป็นตัวช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุได้

  • สาเหตุจากโรคหัวใจ อาการมักเป็นการเจ็บแน่น บีบ กลางหน้าอก มักปวดร้าวไปยังไหล่ แขน หรือกรามด้านซ้าย (แต่พบปวดร้าวมาด้านขวาของอวัยวะดังกล่าวได้) หัวใจเต้นเร็ว เบา มีเหงื่อออกมาก หน้ามืด เป็นลม
  • สาเหตุจากโรคของปอด มักร่วมกับอาการ ไอ มีเสมหะ มีไข้ มักเจ็บบริเวณด้านหน้าของหน้าอกด้านที่มีโรคแต่ไม่ใช่ตรงกลางอก และมักไม่มีการปวดร้าวไปยังตำแหน่งอื่นๆ หอบ เหนื่อย หายใจลำบาก เมื่อมีอาการมาก มือ เท้า ลำตัว อาจเขียวคล้ำจากร่างกายขาดออกซิเจน
  • สาเหตุจากอวัยวะในช่องท้อง มักเป็นอาการจุกเสียด เมื่อเกิดจากโรคของกระเพาะอา หาร หรือมีอาการแสบร้อนกลางอกเมื่อเกิดจากโรคกรดไหลย้อน อาการเจ็บ มักเคลื่อนตำแหน่งได้เมื่อเปลี่ยนท่าทางหากเกิดจากมีแก๊สในกระเพาะอาหารและลำไส้ ซึ่งอาการจะดีขึ้นเมื่อ เรอ หรือ ผายลม ถ้าเกิดจากโรคนิ่วในถุงน้ำดี มักเป็นอาการเจ็บใต้ชายโครงขวาซึ่งเป็นตำแหน่งของถุงน้ำดี และอาจมีไข้ต่ำ
  • จากโรคของกระดูก กล้ามเนื้อลำคอ และกล้ามเนื้อทรวงอก มักสัมพันธ์กับการงานอาชีพที่ใช้ คอ ไหล่มาก เช่น งานคอมพิวเตอร์ หรือมีประวัติอุบัติเหตุบริเวณลำคอ หรือบริเวณทรวงอก อาจร่วมกับแขน ด้านนั้นชา และ/หรือ อ่อนแรง
  • จากโรคงูสวัด มักมีอาการเจ็บเป็นแนวยาวรอบลำตัว ร่วมกับมีผื่นแดง หรือ ตุ่มน้ำเป็นกระจุก หรือ ตามแนวเส้นประสาท (ตามแนวยาวรอบลำตัว)
  • ปัญหาทางอารมณ์ จิตใจ มักมีประวัติปัญหาชีวิต หรือ ปัญหาครอบครัว

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุเจ็บหน้าอกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการเจ็บหน้าอกได้จาก ประวัติอาการต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและในปัจจุบัน การตรวจร่างกาย ที่สำคัญคือ การตรวจเพื่อแยกว่า เป็นอาการจากโรคหัวใจหรือไม่ เพราะเป็นอาการเจ็บหน้าอกที่นำไปสู่การเสียชีวิตได้ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และการตรวจเอกซเรย์ภาพปอดและหัวใจ นอกจากนั้นคือ การตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ ทั้งนี้ขึ้น กับ อาการร่วมต่างๆ ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น เอกซเรย์คอม พิวเตอร์ช่องอกเมื่อผู้ป่วยเจ็บหน้าอกร่วมกับไอเป็นเลือด และแพทย์สงสัยสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็งปอด เป็นต้น

รักษาอาการเจ็บหน้าอกอย่างไร?

แนวทางการรักษาอาการเจ็บหน้าอก คือ การรักษาสาเหตุ เช่น รักษาโรคหัวใจเมื่ออาการเกิดจากโรคหัวใจ รักษาโรคปอดบวม เมื่ออาการเกิดจากปอดบวม และรักษาโรคกรดไหลย้อนเมื่ออาการเกิดจากโรคกรดไหลย้อน

อาการเจ็บหน้าอกรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง และผลข้างเคียงของอาการเจ็บหน้าอก ขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งจะรุนแรงเมื่ออา การเกิดจากโรคหัวใจ แต่จะรุนแรงน้อยกว่ามากเมื่อเกิดจากโรคงูสวัด หรือโรคกรดไหลย้อน

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเอง การพบแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก คือ

  • เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกมาก รุนแรง เฉียบพลัน ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน
  • รีบพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก หอบเหนื่อย หายใจลำ บาก ร่วมกับมีไข้ ไอมีเสมหะ และ/หรือไอเป็นเลือด
  • อาจรอจน 2-3 วันได้เมื่อมีการเจ็บหน้าอกไม่มาก แต่เจ็บเรื้อรัง

ป้องกันอาการเจ็บหน้าอกได้อย่างไร?

การป้องกันอาการเจ็บหน้าอก คือ การป้องกันสาเหตุจากโรคต่างๆดังได้กล่าวแล้วที่ป้องกันได้ เช่น การป้องกัน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคกรดไหลย้อน โรคปอดบวม และดูแลปัญหาด้านอารมณ์จิตใจ ด้วยการรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่แข็งแรง

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Cayley, W. (2005). Diagnosing the cause of chest pain. Am Fam Physician. 72, 2012-2021.
  3. Chest pain. https://en.wikipedia.org/wiki/Chest_pain [2012, April 10].
  4. Chon, J., and Chon, P. (2002). Chest pain. Circulation.106, 530-531.
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ พญ. พวงทอง ไกรพิบูลย์ พบ.
วว. รังสีรักษาและเวชศาสตร์นิวเคลียร์


แหล่งที่มา : haamor.com

อัพเดทล่าสุด