เห็ดตับเต่า ประวัติเห็ดตับเต่า วิธีเพาะเห็ดตับเต่า วิธีปลูกเห็ดตับเต่า เห็ดตับเต่า สรรพคุณ


5,548 ผู้ชม


เห็ดตับเต่า ประวัติเห็ดตับเต่า วิธีเพาะเห็ดตับเต่า วิธีปลูกเห็ดตับเต่า เห็ดตับเต่า สรรพคุณ


เห็ดตับเต่า อาหารดีในฤดูฝน

         

          “หอมเอย.. หอมดอกกระถิน รวยระรินเคล้ากลิ่นกองฟาง เห็ดตับเต่าขึ้นอยู่ริมเถาย่านาง…” 
          สังเกตมั๊ยคะว่า  ในเนื้อเพลงท่อนนี้มีของกินอยู่ชนิดหนึ่งที่คนสมัยนี้อาจจะไม่รู้จักกันแล้ว นั่นก็คือ “เห็ดตับเต่า”

          คนรุ่นเก่า ที่มีภูมิลำเนาอยู่ตามชนบท เชื่อได้ว่าส่วนใหญ่ จะรู้จักและเคยรับประทาน เห็ดตับเต่า อย่างแน่นอน ซึ่งเห็ดตับเต่าชนิดนี้จะมีขายและมีให้ซื้อรับประทาน เฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น  เมื่อเริ่มมีเม็ดฝนโปรยปรายลงมา เห็ดตับเหต่า ที่ทิ้งสปอร์ ไว้ใต้ดินที่มีความชื้นเย็นสูง เช่น ป่าเบญจพรรณ  ป่าเต็งรัง โดยเฉพาะบริเวณใต้ต้นหว้า จะแทงดอกชูชันเหนือดินให้คนที่มีอาชีพเก็บเห็ด เข้าไปเก็บ นำไปขายในตลาดตัวเมือง ได้รับความนิยมซื้อไปรับประทาน อย่างกว้างขวาง ราคากิโลกรัมเกือบร้อยบาทเลยทีเดียวค่ะ

        เห็ดตับเต่า มีชื่อสามัญว่า Bolete  หรือชื่อวิทยาศาสตร์คือ Thaeogyroporus porentosus (berk. ET. Broome)  อยู่ในวงศ์ Boletaceae  ทางภาคเหนือจะเรียกกันว่า  เห็ดห้า   เพราะจะขึ้นบริเวณใต้ต้นหว้า ซึ่งชาวเหนือเรียกต้นหว้าว่า ต้นห้า ส่วนในภาคอีสานเรียกว่า เห็ดน้ำผึ้ง ค่ะ  ถิ่นกำเนิดของเห็ดตับเต่าจะพบในแถบประเทศทีมีอากาศชื้น  พบได้ในป่าทั่วไปตามภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้  หรือจะพบในช่วงต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝนนั่นเองค่ะ
         เห็ดตับเต่าจะขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงนับได้ว่าเป็นเห็ดที่ปลอดสารพิษ (แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการเพาะเห็ดตับเต่าขายแล้ว) หน้าตาของเห็ดชนิดนี้จะมีสีออกน้ำตาล น้ำตาลเข้ม ไปจนถึงสีดำ
        ลักษณะทางพฤกษศาตร์ของเห็ดตับเต่าคือ  หมวกเห็ดเป็นรูปกระทะคว่ำ เส้นผ่าศูนย์กลาง 12-30 ซม. ดอกอ่อนมีขนละเอียดคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาล เมื่อบานเต็มที่ กลางหมวกเว้าเล็กน้อย ผิวสีน้ำตาลเข้มอมเหลืองอ่อน ปริแตกเป็นแห่งๆ ด้านล่างของหมวกมีรูกลมเล็กๆสีเหลือง ปากรูเชื่อมติดเป็นนื้อเดียวกัน เมื่อบานเต็มที่เนื้อจะเปลี่ยนเป้นสีเหลืองอมเขียวหม่น และเขียวหม่นอมน้ำตาล ก้านอวบใหญ่สีน้ำตาลอมเหลือง โคนก้านโป่งเป็นกระเปาะ บางส่วนนูนและเว้าเป็นร่องลึก เมื่อตัดหรือหั่นถูกอากาศ เนื้อเห็ดตับเต่าจะสีน้ำเงินอมเขียว

   เห็ดตับเต่า2.jpg


         ว่ากันว่าเห็ดนั้นเป็นอาหารสุขภาพชนิดหนึ่ง กินแล้วได้ประโยชน์ต่อร่างกาย (ยกเว้นจะไปกินเห็ดพิษเข้า) ให้พลังงาน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และแร่ธาตุต่างๆ ส่วนสรรพคุณทางยาของเห็ดตับเต่านั้นเป็น ยาบำรุงหัวใจ บำรุงกำลัง บำรุงตับ บำรุงปอด กระจายโลหิต และดับพิษร้อนภายในร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยบำบัดอาการปวดหลัง ปวดข้อ ปวดเส้นเอ็นและกระดูก ป้องกันการชักกระตุก คนจีนใช้เป็นสมุนไพร แก้เคล็ดคัดยอก และปวดกระดูก
         ในการปรุงเป็นอาหารส่วนใหญ่ นิยมใช้ทั้ง ดอกเห็ด ทำเป็นแกงลาวใส่ยอดฟักทอง หน่อไม้สด ใส่ใบแมงลักเพิ่มกลิ่นหอมเป็นชูรสให้ชวนรับประทานยิ่งขึ้น สำหรับเครื่องประกอบ จะมีพริกขี้หนูสด หรือพริกขี้หนูแห้ง หอมแดง ข่า ตะไคร้ อย่างละ 1 แว่น โขลกให้ละเอียดต้มกับน้ำจนเดือด แล้วผ่าเห็ดตับเต่าครึ่งซีก ล้างน้ำให้สะอาด ใส่ลงหม้อ ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า ถ้าไม่กินปลาร้า ใช้เกลือแทน น้ำตาลทรายเล็กน้อยโรยด้วยใบแมงลักตามที่กล่าวข้างต้น ตักรับประทานกับข้าวสวยร้อน ๆ  เนื้อเห็ดจะซับน้ำแกงกรุบอร่อยมาก สามารถใส่เห็ดเผาะ หรือเห็ดฟางลงไปทำเป็นแกงเห็ดรวมเพิ่มความอร่อยได้เต็มรูปแบบ
         เมื่อนำไปปรุงเป็นอาหารแล้ว จะมีรสชาติอร่อยไม่แพ้เห็ดทรัฟเฟิลของฝรั่งเศสที่มีราคาแพง กิโลกรัมหลายหมื่นบาทแม้แต่น้อย และเห็ดตับเต่า จะมีสีดำเหมือนกัน ที่สำคัญจะเกิดขึ้นเอง ตามธรรมชาติเช่นกัน  จึงเป็นเห็ดปลอดสารพิษอย่างแน่นอน รับประทานแล้วได้คุณค่าทางอาหาร อย่างเต็มเปี่ยม


          คุณค่าทางอาหารเมื่อรับประทานเห็ดตับเต่า 100 กรัม  จะให้พลังงาน 29 กิโลแคลอรี  ประกอบด้วย  น้ำ 92.4 กรัม  โปรตีน 2.5 กรัม ไขมัน 0.1 กรัม  คาร์โบไฮเดรต 4.5 กรัม  แคลเซียม 13 มิลลิกรัม  ฟอสฟอรัส 37 มิลลิกรัม  ไทอะมีน 0.06 มิลลิกรัม  ไนอะซิน 2.0 มิลลิกรัม  และวิตามินซี 16 มิลลิกรัม
          ข้อสำคัญการจะเก็บเห็ดมากินนั้น ไม่ว่าจะเป็นเห็ดชนิดใดก็ตาม จะต้องให้แน่ใจได้ก่อนว่าไม่ใช่เห็ดพิษ เพราะในช่วงฤดูฝนไปจนถึงฤดูหนาวนั้น เป็นช่วงที่มีเห็ดหลากหลายสายพันธุ์ขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยเฉพาะในป่า ในไร่ หรือในสวน ซึ่งก็มีทั้งที่กินได้และไม่ได้ โดยเฉพาะเห็ดพิษบางชนิดก็มีสีสันสวยงามล่อตาล่อใจ บางชนิดก็มีหน้าตาคล้ายคลึงกับเห็ดที่ขายตามตลาดทั่วไป ซึ่งการจะพิสูจน์ได้ว่าเห็ดชนิดใดเป็นพิษหรือไม่ ต้องอาศัยการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการเท่านั้น
         เมื่อรู้ว่าเห็ดตับเต่า  เป็นอาหารที่มีสรรพคุณดีอย่างนี้แล้ว  หน้าฝนนี้ อย่าลืมหันมาทานเห็ดตับเต่าเพื่อสุขภาพกันนะคะ

อ้างอิงจาก 
https://www.trueplookpanya.com/true/sarapan_detail.php?cms_id=11801
https://allknowledges.tripod.com/hettaptao.html
https://www.pim.in.th/wonderfull-food/103-mushroom.html


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด