อาการเจ็บหน้าอกของผู้หญิง หายใจ เจ็บหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกในคนท้อง


5,564 ผู้ชม


อาการเจ็บหน้าอกของผู้หญิง หายใจ เจ็บหน้าอก อาการเจ็บหน้าอกในคนท้อง

 

โรคหลอดเลือดหัวใจตีบและโรคหัวใจขาดเลือด

หญิงสาวหน้าตาสดสวย อายุอานามประมาณ 25-30 ปี เดินระทดระทวยเข้าไปหาหมอและบอกคุณหมอว่า

ผู้ป่วย : “คุณหมอคะ หนูเจ็บหัวใจเหลือเกินค่ะ เจ็บมาหลายวันแล้วหายใจไม่ค่อยออก คอยจะหน้ามืดเป็นลมอยู่เรื่อย คุณหมอช่วยหนูหน่อยนะคะ”

หมอ : “ที่คุณว่าเจ็บหัวใจนั้นเจ็บตรงไหนและเมื่อไรครับ”

ผู้ป่วย : ชี้มือไปที่หน้าอกด้านซ้าย ตรงประมาณราวนมซ้าย พลางบอกว่า“ตรงนี้ค่ะ พอมันเป็นมากๆ มันก็เจ็บมาทางขวาด้วย บางครั้งก็เจ็บขึ้นมาที่หน้าอกส่วนบนนี่ หรือไปที่ข้างหลังด้วยค่ะ บางทีก็เจ็บเวลานั่งอยู่เฉยๆ บางทีก็เจ็บเวลาทำงานไม่แน่นอน มันจะเจ็บเมื่อไหร่ก็ได้ค่ะ”

หมอ : “เวลาเจ็บมันเจ็บอย่างไรครับ”

ผู้ป่วย : “เจ็บจี๊ดๆ หรือแปล๊บๆ เหมือนถูกเข็มแทง เวลาเจ็บบางครั้งตัวงอ และหายใจไม่ได้เลยค่ะ เพราะจะเจ็บมากค่ะ บางครั้งก็เจ็บอยู่เดี๋ยวเดียว บางครั้งเจ็บเป็นชั่วโมง หรือเป็นครึ่งค่อนวันเลยค่ะ”

หมอ : “เมื่อคุณเจ็บขึ้นมาทำอย่างไรถึงจะหายครับ”

ผู้ป่วย : “ส่วนมากนอนพักแล้วก็จะหายค่ะ บางครั้งใช้มือกดๆ นวดๆ สักหน่อย แล้วอาการก็ดีขึ้นค่ะ บางครั้งก็เอามือไปแตะไม่ได้เลย”

ตัวอย่างคนไข้ข้างต้น เป็นตัวอย่างของการเจ็บปวดในบริเวณหน้าอก ที่ไม่ได้เกี่ยวกับตัวอย่างบ่อย และคนไข้มักจะเข้าใจไปเองเป็นการเจ็บหัวใจ

ที่ว่า ไม่ใช่อาการเจ็บที่หัวใจ โดยเฉพาะอาการเจ็บที่กล้ามเนื้อ เพราะอาการเจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจ มักจะไม่ร้าวไปที่หน้าอกด้านขวามักจะเจ็บเฉพาะเวลาที่ทำงานหนักๆ หรือหลังทำงานหนักๆ, มักจะไม่เจ็บจี๊ดๆ หรือแปล๊บๆ เหมือนถูกเข็มแทง เวลาหายใจ, มักจะไม่เจ็บมากขึ้นหรือน้อยลง, มักจะไม่เจ็บเป็นชั่วโมงหรือเป็นครึ่งค่อนวัน โดยไม่เกิดอาการแทรกซ้อนอย่างอื่น เช่น หอบเหนื่อย บวม, มือเท้าเย็น, เหงื่อแตกท่วมตัว, กระสับกระส่ายกระวนกระวายมาก, หรือหมดสติ เป็นต้น นอกจากนั้น อาการเจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจ มักจะไม่ดีขึ้นหลังจากใช้มือกดๆ นวดๆ หรือเจ็บมากจนใช้มือไปแตะบริเวณหน้าอกส่วนที่เจ็บไม่ได้เลย เป็นต้น

อาการเจ็บหน้าอกของคนไข้รายนี้ ก็ไม่ใช่อาการเจ็บที่เยื่อหุ้มหัวใจ เพราะอาการเจ็บที่เยื่อหุ้มหัวใจ มักจะไม่เจ็บร้าวมาที่หน้าอกด้านขวา มักจะเจ็บตลอดเวลา (ไม่ใช่เป็นๆ หายๆ, ไม่ใช่เป็นเวลานั่งบ้าง เวลาทำงานบ้างและบางครั้งเป็นเดี๋ยวเดียวก็หาย) นอกจากนั้นอาการเจ็บที่เยื้อหุ้มหัวใจ มักจะไม่หายเมื่อใช้มือไปกดๆ นวดๆ ในบริเวณที่เจ็บ

ดังนั้น จากประวัติที่ได้ข้างต้น คนไข้ไม่ได้เจ็บที่หัวใจแน่ เพราะไม่ได้เจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจและไม่ได้เจ็บที่เยื่อหุ้มหัวใจ (โดยทั่วไปแล้ว หัวใจจะเจ็บได้เพียง 2 แห่ง คือ ที่กล้ามเนื้อหัวใจและที่เยื่อหุ้มหัวใจส่วนเยื่อบุหัวใจจะไม่เจ็บ เมื่อไม่เจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจและที่เยื่อหุ้มหัวใจแล้วก็แสดงว่า ไม่ได้เจ็บที่หัวใจ) คนไข้ที่เจ็บหน้าอกส่วนใหญ่โดยเฉพาะชายที่อายุน้อยกว่า 30 ปีหรือหญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่ (อายุน้อยกว่า 40 ปี) มักจะไม่ได้เจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจแต่อาจจะเจ็บที่เยื่อหุ้มหัวใจได้เพราะฉะนั้นเวลาที่เจ็บหน้าอกขึ้นมาอย่าไปคิดว่ากำลังเจ็บหัวใจเพราะจะทำให้ใจ (จิตใจ) เสียทำให้ไม่สบายมากขึ้น

คนไข้ที่เจ็บหน้าอกส่วนใหญ่ โดยเฉพาะชายที่อายุน้อยกว่า 30 ปี หรือหญิงที่ยังมีประจำเดือนอยู่ (อายุน้อยกว่า 40 ปี) มักจะไม่ได้เจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจ

อาการเจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจส่วนใหญ่เกิดจากหัวใจได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ (โรคหัวใจขาดเลือด) ซึ่งเกือบทั้งหมดเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ทำให้เกิดอาการเจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจ

อาการ

อาการเจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจ จะมีลักษณะดังนี้ :

1. เจ็บตรงกลางหน้าอก ตรงหน้าอกส่วนล่าง หรือทางด้านซ้ายต่อหน้าอกส่วนล่าง อาจเจ็บร้าวไปที่คอ, ไหล่, แขนและหลังได้

2. เจ็บเวลาออกกำลัง หรือหลังจากออกกำลังกาย เช่น ยกของหนัก, ขุดดิน, เบ่งอุจจาระ, กินข้าว โดยเฉพาะถ้ากินอิ่มจนเกินไป, อาบน้ำ โดยเฉพาะถ้าอาบน้ำเย็นจัด หรือถูตัวแรงเกินไป เป็นต้น

3. เจ็บเวลาเครียดมาก เช่น เวลาโกรธ, ตื่นเต้น, ห่วงกังวล, รีบร้อน, สูบบุหรี่จัด, กินของเย็นจัด เป็นต้น

4. ลักษณะของอาการเจ็บ อาจจะเป็นแบบแน่น แบบมีอะไรมาบีบรัดมากดทับ หรืออาจจะรู้สึกเจ็บ, แสบ, ปวด, จุก หรือมีลักษณะแบบแน่นจนหายใจไม่ออก หรือจุกแน่นในคอ หรือปวดเมื่อยมาที่ไหล่, ที่แขน จนยกแขนไม่ขึ้น หรือใช้แขนไม่สะดวก ก็ได้

5. ถ้าเป็นน้อย จะเจ็บอยู่ประมาณ 1-2 นาทีก็หาย ถ้าเป็นมากอาจจะเจ็บอยู่เป็นชั่วโมงๆ ร่วมด้วยอาการซีด, มือเท้าเย็น, เหงื่อออกท่วมตัว, หอบเหนื่อย หรือหมดสติได้

6. อาการมักจะดีขึ้น เมื่อนั่งพัก หรือเมื่ออมยาไนโตรกลีเซอรีนไว้ใต้ลิ้น แต่ถ้าเป็นมากอาจจะต้องฉีดยาแก้ปวดพวกมอร์ฟีน จึงจะดีขึ้น

ลักษณะอาการทั้ง 6 ข้อ ดังกล่าวข้างต้น จะช่วยให้นึกถึงภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากหลอดเลือดหัวใจตีบได้ทันที แม้จะไม่มีความผิดปกติใดๆ จากการตรวจร่างกาย และจากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่อ่านลักษณะอาการเหล่านี้บ่อยๆ จนจำได้ อาจเกิดอุปาทานคิดไปว่าตนเองกำลังเจ็บหัวใจ และมีลักษณะอาการเจ็บเหมือนอาการเจ็บหัวใจทุกประการ ทั้งที่อาการเจ็บหน้าอกของตนนั้น ไม่ได้เกิดจากหัวใจเลย

จึงไม่ควรกลัวโรคหัวใจนี้ และไม่ควรจะนึกว่าตนเองเป็นโรคหัวใจมิฉะนั้นเวลาเจ็บหน้าอก ไม่ว่าจะจากสาเหตุอะไรก็ตาม ก็จะเกิดอุปาทานทำให้มีลักษณะอาการเจ็บเหมือนอาการเจ็บหัวใจได้

การรักษาอาการ

เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ให้นั่งพักแล้วสังเกตดูว่า เจ็บตรงไหน กดเจ็บไหม ทำไมถึงเจ็บ หายใจเข้าออกยาวๆ แล้วดีขึ้น หรือเจ็บมากขึ้น นั่งพักแล้วเป็นอย่างไร

ถ้าอาการต่างๆ เข้ากับลักษณะอาการของการเจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจดังกล่าวข้างต้น ก็ควรเอายาไนโตรกลีเซอรีน อมใต้ลิ้นสัก 1 เม็ด เมื่อยาละลายแล้ว จึงกลืนได้ อาการเจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจ จะดีขึ้นในทันทีที่ยาละลายหรือหลังจากนั้นเพียง 1-2 นาที แต่ยานี้อาจจะทำให้รู้สึกเผ็ดที่ใต้ลิ้น ทำให้หน้าร้อนหรือซู่ขึ้นหน้า หรือทำให้ปวดหัวมึนหัวได้

ถ้านั่งพักและอมยา 2-3 เม็ดติดๆ กันแล้ว ก็ยังไม่หาย ก็ควรจะพาไปหาหมอ หมอจะได้ฉีดยาแก้ปวดให้

ถ้าเกิดอาการเจ็บหน้าอก ทุกครั้งที่ออกกำลังกายหรือเครียด และเมื่อนั่งพักหรืออมยาแล้ว ก็หายโดยมิใช่อุปาทานแล้ว อาการเจ็บหน้าอกนั้น ก็น่าจะใช่อาการเจ็บที่กล้ามเนื้อหัวใจจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ควรจะพกยาไนโตรกลีเซอรีนติดตัวอยู่เสมอ แม้เวลาเข้าห้องน้ำ เข้านอน หรือไปเที่ยว เพื่อว่าจะใช้ยานี้ได้ทันทีเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอก ควรจะหาสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และหาทางแก้ไขเสียด้วย

สาเหตุ

สาเหตุของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบนั้น ยังไม่เป็นที่ทราบกันอย่างแน่ชัดแต่ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุด คือ การเสื่อมของผนังหลอดเลือด ทำให้ผนังหลอดเลือดที่เคยอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นง่าย กลายเป็นผนังที่แข็ง เนื่องจากปูนและไขมันไปจับ เหมือนขี้สนิมขี้ดินขี้ทรายที่เข้าไปพอกอยู่ในท่อน้ำต่างๆ จนในที่สุดท่อน้ำนั้น ก็ตีบตัน

การเสื่อมของผนังหลอดเลือดนี้ จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับ

1. กรรมพันธุ์ : คนที่มีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย เป็นโรคนี้ จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนที่ไม่มีกรรมพันธุ์ทางโรคนี้หลายเท่าตัว

2. อายุ : โรคนี้จะเป็นคนอายุมาก ยิ่งมากเท่าใดยิ่งมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น จากการเสื่อมลงของหลอดเลือดตามอายุ ชายที่อายุน้อยกว่า 30 ปีและหญิงที่อายุน้อยกว่า 50 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้น้อยมาก นอกจากชายหรือหญิงนั้น มีโรคอื่นที่ทำให้เกิดเป็นโรคนี้ได้ง่าย ดังจะได้กล่าวถึงในข้อต่อๆ ไป

3. เพศ : ในระหว่างอายุ 30-40 ปี ชายจะตายด้วยโรคนี้ประมาณ 13 เท่าของหญิง แต่ระหว่างอายุ45-60 ปี ชายจะตายด้วยโรคนี้เพียง 2 เท่าของหญิง และหลัง 60 ปี ชายหรือหญิงจะเป็นโรคนี้ได้บ่อยและรุนแรงพอๆ กัน ทั้งนี้เพราะ หญิงที่ยังอยู่ในภาวะเจริญพันธุ์ (ยังมีประจำเดือนมาเป็นปกติ) จะมีฮอร์โมนเพศหญิงครองอยู่ จึงไม่ค่อยเป็นโรคนี้

4. การดำรงชีวิต : ความเครียดและวิธีการดำรงชีวิต ก็จะเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ในการที่จะเกิดโรคนี้หรือไม่ทั้งนี้เพราะโรคนี้พบบ่อยในประเทศที่เจริญวัตถุ (ประเทศอุตสาหกรรม) มากกว่าในประเทศกสิกรรม พบมากในเมืองหลวงและในเมืองใหญ่มากกว่าในชนบท (บ้านนอก)

คนที่มีความทะเยอทะยานสูงอยู่ในแวดวงที่มีการชิงดีชิงเด่นมาก มักทำอะไรฉุกละหุกหรือรีบเร่งอยู่เสมอ มีความเคร่งเครียดกังวลจนเกินควร หรือมีปัญหาที่แก้ไขไม่สำเร็จอยู่เป็นประจำ จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนที่มีความสันโดษ มีชีวิตอยู่กับธรรมชาติไม่เร่าร้อนกังวล และมีความสุขสงบหลายเท่าตัว

5. การออกกำลังกาย : คนที่ออกกำลังกายเป็นประจำ จะมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยกว่าคนที่ทำงานอยู่กับโต๊ะ (นั่งโต๊ะ) นั่นคือ ผู้ที่ใช้แรงงาน (กรรมกร, กสิกร ฯลฯ) จะมีโอกาสเป็นโรคนี้น้อยกว่าผู้บริหาร (รัฐมนตรี, ผู้อำนวยการ, ผู้จัดการ ฯลฯ) หลายเท่าตัว ถ้าผู้บริหารเหล่านี้ ไม่ออกกำลังกายเป็นประจำ

6. การสูบบุหรี่ : ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ (ผู้ที่ติดบุหรี่) จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ประมาณ 2-3 เท่า

7. เบาหวาน : คนที่เป็นโรคเบาหวาน จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ มากกว่าคนที่ไม่เป็นเบาหวานหลายเท่า

8. ความดันเลือดสูง : คนที่เป็นโรคความดันเลือดสูง จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนที่มีความดันเลือดปกติประมาณ 3-7 เท่า

9.โรคเก๊าท์ หรือโรคปวดข้อเพราะกรดยูริคคั่ง : คนที่เป็นโรคเก๊าท์จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ประมาณ 2 เท่าของคนปกติ ส่วนคนที่มีกรดยูริคสูงในเลือด แต่ไม่เคยปวดข้อเลย จะเป็นโรคนี้ในอัตราใกล้เคียงกับคนปกติ

10. ความอ้วน : คนอ้วนจะมีโอกาสเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนผอม ซึ่งส่วนใหญ่อาจจะเป็นเพราะว่า คนอ้วนมักจะเป็นโรคเบาหวาน, โรคความดันเลือดสูง, ระดับไขมันในเลือดสูง, หรือขาดการออกกำลังกายเป็นประจำ หรืออื่นๆ

11. ไขมันในเลือดสูง : เดิมเคยเชื่อว่า ไขมันในเลือดสูง เป็นสาเหตุสำคัญในการทำให้หลอดเลือดหัวใจตีบแต่ในปัจจุบัน เข้าใจว่าระดับไขมันในเลือดเป็นเพียงส่วนประกอบหรือเป็นสิ่งที่เกิดร่วมกับสาเหตุอื่นของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ มากกว่าจะเป็นสาเหตุโดยตรง อย่างไรก็ตาม การกินอาหารที่มีไขมันสัตว์สูง จะไม่เป็นประโยชน์ในคนที่เป็นโรคนี้หรือมีโอกาสที่จะเป็นโรคนี้อยู่แล้ว และอาจจะทำให้เกิดโทษได้

การรักษาสาเหตุ

สาเหตุบางอย่าง เรารักษาไม่ได้โดยตรง เช่น

1. กรรมพันธุ์ : เรายังไม่มีวิธีเปลี่ยนกรรมพันธุ์ในคน แต่ในสัตว์และพืชบางชนิด เราอาจจะเปลี่ยนกรรมพันธุ์โดยวิธีการต่างๆ เพื่อให้ได้พันธุ์ที่ดีขึ้น

2. อายุ : เรายังไม่มีวิธีหยุดยั้งความแก่หรือความเสื่อมของร่างกายตามธรรมชาติ แต่เรามีวิธีที่จะชะลอความแก่หรือความเสื่อมนี้ได้โดยวิธีต่างๆ เช่น กินถูกอยู่ถูก นั่นคือ กินให้ถูกต้องอยู่ให้ถูกต้อง อย่ากินมากเกินไป หรือน้อยเกินไป อย่ากินอาหารหรือเครื่องดื่มที่อาจทำให้เกิดโทษ อย่าสูบบุหรี่ ควรออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนหลับนอนให้เพียงพอ อาศัยอยู่ในถิ่นฐานที่สงบ หลีกเลี่ยงและระวังตนอย่าให้เป็นโรคต่างๆ ได้ง่าย ถ้าเป็นโรคอยู่ ให้รักษาโรคที่เป็นอยู่ให้หาย หรือให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ ให้ทำงานด้วยความสนุกและสุจริต ฝึกฝนตนเองให้มีความสงบและสันโดษ เป็นต้น

แต่ก็มีสาเหตุหลายอย่างที่เราจะแก้ไขได้โดยตรง เช่น

1. การดำรงชีวิต : การดำรงชีวิตด้วยความสงบ สันโดษ ไม่เร่งรีบเร่าร้อน หรือเครียดกังวลจนเกินไป พยายามอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติและเป็นธรรมชาติมากที่สุด จะทำให้เป็นโรคนี้ได้ยาก

2. การออกกำลังกาย : เป็นประจำสม่ำเสมอ โดยเริ่มแต่น้อยๆ ก่อนแล้วค่อยๆ เพิ่มให้มากขึ้น จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และเป็นโรคนี้ได้ยาก

3. การกินการดื่มและการเสพย์ต่างๆ : ควรจะให้พอดีพอสมกับอัตภาพเพราะความต้องการและสังขารของแต่ละคน ไม่เหมือนกันและไม่เท่ากัน เช่น คนหนึ่งกินข้าวมื้อละ 2 จาน แต่ไม่อ้วนในขณะที่คนอีกคนหนึ่ง กินข้าวเพียงมื้อละครึ่งจาน ก็อ้วนแล้ว เป็นต้น ถ้าร่างกายอ้วนหรือไขมันในเลือดสูง ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันจากสัตว์ และน้ำมันมะพร้าว รวมทั้ง นม เนย กะทิ และไอศกรีม เป็นต้น

เครื่องดื่มต่างๆ ก็ควรให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด เครื่องดื่มที่ดีที่สุด ก็คือ น้ำสะอาด หรือน้ำต้มเดือดที่ทิ้งไว้ให้เย็นแล้ว เครื่องดองของเมาทุกประเภท รวมทั้งบุหรี่ และยาเสพติดควรจะหลีกเลี่ยงเสีย

4. ถ้ามีโรคเบาหวาน ความดันเลือดสูง เก๊าท์หรืออื่นๆ : ก็ควรจะปฏิบัติรักษาตน จนโรคเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดอาการ หรืออันตรายแทรกซ้อนขึ้นแก่ตน

ถ้าเราดำรงชีวิตและปฏิบัติรักษาตนตามควรแล้ว เราจะไม่เป็นโรคนี้ และโรคอื่นได้โดยง่าย

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (แล็บ)

ในระยะแรกของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่างๆ เป็นปกติไม่ว่าจะเป็นการตรวจคลื่นไฟฟ้า (E.C.G. หรือ E.K.G.) ขณะพัก หรือขณะออกกำลังกาย (exercise test), การตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นเสียง (echocardiography), การตรวจด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ (EMI scan,CT scan) หรืออื่นๆ นอกเสียจากการตรวจด้วยการสวนหัวใจ และใส่สายยางเข้าไปในหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ แล้วฉีดสารทึบแสง เข้าไปในหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ จึงอาจจะพอบอกได้ว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หรือไม่

แต่ก็คงจะไม่มีใครบ้าพอ ที่จะยอมให้คนอื่น สวนหัวใจแบบนี้ดูเล่น เพราะมันอันตรายถึงตายได้ ถ้าไม่คิดจะผ่าตัดหัวใจ ก็อย่าไปเสี่ยงสวนหัวใจเป็นอันขาด เดี๋ยวเส้นชีวิตจะขาดไปง่ายๆ

ในระยะหลังของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ เมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากๆ จึงจะปรากฏความผิดปกติในคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แต่การตรวจด้วยคลื่นเสียง หรือด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ จะไม่สามารถบอกภาวะหัวใจขาดเลือดหรือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้เลย

ดังนั้น อย่าปล่อยให้ตนเองถูกหลอกหรือถูกตุ๋นจนเปื่อย เพราะถูกจับตัวเข้าเครื่องนั้นทีเครื่องนี้ที เสียเงินไปเปล่าๆ ปลี้ๆ แล้วก็ยังดีใจคิดว่า หมอเขาช่างตรวจละเอียดดีจริง

แหล่งที่มา : doctor.or.th

อัพเดทล่าสุด