ประโยชน์ของผักพื้นบ้าน ผักพื้นบ้านไทยสู้มะเร็งร้ายได้
โสน ผักพื้นบ้าน อาหารแบบไทยๆ
วงศ์ : PAPILIONACEAE
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Sesbania javanica Miq.
ชื่ออังกฤษ : Sesbania flowers
ชื่อพื้นเมือง : โสนหิน(กลาง) ผักฮองแฮง(เหนือ) สีปรีหลา(กระเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน) โสนกินดอก(กลาง)
เพลงพื้นบ้านของคนไทยแถบลุ่มน้ำภาคกลาง ที่ว่า "เจ้าดอกโสนบานเช้า ดอกคัดเค้าบ้านเย็น ดอกประดู่เป็นคู่เล่น ค่ำแล้วไม่เห็นมาเลย" บ่งบอกธรรมชาติของดอกโสนได้เป็นอย่างดีว่าเป็นดอกไม้บานตอนเช้า กลิ่นหอมอ่อนๆ ในปลายฤดูฝนเรามักเห็นต้นโสนออกดอกเป็นช่อสีเหลืองละลานตา แถบลุ่มน้ำหรือริมทางในภาคกลาง หรือภาคเหนือบางท้องที่
โสนในเมืองไทยมีหลายพันธุ์ คือโสนหิน โสนคางคก โสนหางไก่ใหญ่ โสนหางไก่เล็ก เนื้อไม้ของโสนใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมเบาของภาคกลาง ไม้โสนใช้ทำเป็นของเล่นเด็ก ในปัจจุบันคนอยุธยาใช้เนื้อไม้จากต้นโสนประดิษฐ์เป็นดอกไม้หลายรูปแบบ เช่น ดอกมะลิ ดอกกุหลาบ ดอกจำปา เป็นต้น เนื่องจากเยื่อไม้ของต้นโสนเป็นไม้เนื้อบาง เบาเหนียว สามารถนำมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ได้อย่างปราณีต และงดงาม ชาวบ้านเล่าว่า การใช้ไม้โสนมาประดิษฐ์เป็นดอกไม้ นำมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา นับเป็นการใช้วัสดุธรรมชาติได้อย่างแยบยล และเป็นรายได้เสริมกับชาวบ้านในท้องถิ่น (โสนที่นำมาทำเป็นดอกไม้ประดิษฐ์เป็นโสนชนิดที่มีลำต้นใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. และต่างชนิดกับโสนกินดอก) และไม้โสนยังใช้เป็นทุ่นหรือเชื้อติดไฟได้
สำหรับโสนที่ใช้รับประทานเป็นอาหาร คือ โสนหิน หรือโสนกินดอก ท่านผู้รู้กล่าวว่า ยังมีโสนชนิดหนึ่ง ต้นใหญ่กว่าโสนหิน สามารถรับประทานใบอ่อน และดอกได้เช่นกัน
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
โสนเป็นไม้สกุลเดียวกับแค และเป็นไม้ล้มลุกปีเดียว พบในพื้นที่ที่มีน้ำขังสูงประมาณ 1-4 เมตร ใบเป็นใบประกอบมีใบย่อย 10-30 คู่ ใบสีเขียว ใบรูปร่างรีและกลม ปลายใบมน ใบยาว 1.2-2.5 ซม. กว้าง 2-4 มม. ดอกเป็นดอกช่อกลีบดอกสีเหลือง แต่ละช่อมีดอกย่อย 5-12 ดอก ช่อดอกยาวประมาณ 10 ซม. ดอกย่อยยาว 2.5 ซม. บางครั้งกลีบนอกมีจุดกระสีน้ำตาล หรือสีม่วงแดง กระจายอยู่ทั่วไป ฝักผอมและยาว ยาวประมาณ 18-20 ซม. กว้าง 4 มม. ฝักอ่อนสีเขียวเมื่อแก่กลายเป็นสีม่วงและสีน้ำตาล เมล็ดเล็กเรียงอยู่ภายในฝัก
แหล่งที่มา : thaihealth.or.th