เยื่อหุ้มปอดอักเสบ โรคเยื่อหุ้มปอดอักเสบ อาการเยื่อหุ้มปอดอักเสบ
เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (pleurisy) | ||
โดย : นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ |
เยื่อหุ้มปอดอักเสบ (pleurisy) มีลักษณะเป็นเยื่อบุสองชั้น ชั้นในบุเนื้อปอด ส่วนชั้นนอกบุผนังทรวงอก ระหว่างเยื่อหุ้มปอดทั้งสองชั้นเป็นสารน้ำหล่อลื่นปริมาณ 10-20 มิลลิลิตร โดยปกติสารน้ำในเยื่อหุ้มปอด จะมีการดูดซึมและทดแทนตลอดเวลาโดยเซลล์บุเยื่อหุ้มปอดชั้นนอกเป็นหลัก...
เวลาที่เกิดการอักเสบ จะพบว่ามีการสะสมของสารน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอดที่ผิดปกติ พบการเปลี่ยนแปลงชนิดปฏิกิริยาการอักเสบซึ่งอาจมีเซลล์ต่างๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเป็นจำนวนมาก เกิดการกระตุ้นประสาทรับความรู้สึกซึ่งมีอยู่ทั่วทั้งเยื่อหุ้มปอด ทำให้เกิดอาการเจ็บหน้าอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาหายใจเข้า นอกจากนี้ยังเกิดการเปลี่ยนแปลงความดันภายในเยื่อหุ้มปอดอีกด้วย
สาเหตุ
- เกิดจากการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา หรือเชื้อปรสิตต่างๆ ในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น กลุ่มเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคติดเชื้อของทางเดินหายใจ มักพบในคนหนุ่มสาวที่สุขภาพทั่วไปแข็งแรงดี อาการมักไม่รุนแรงและหายได้เองภายใน 3-5 วัน ส่วนการติดเชื้อค็อกแซกกีไวรัสชนิดบี ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง เจ็บหน้าอกนานครั้งละ 15-30 นาที อาจมีอาการหายใจเร็ว มักเป็นอยู่นาน 2-4 วัน ในประเทศไทยพบว่าเชื้อวัณโรคเป็นสาเหตุที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง
- เกิดจากการสูดดมสารเคมีที่เป็นพิษ เช่น แอมโมเนีย
- โรคของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน เช่น โรคลูปัส โรครูมาตอยด์
- มะเร็งปอด หรือมะเร็งเต้านม แพร่กระจายไปที่เยื่อหุ้มปอด
- เกิดจากเนื้องอกของเยื่อหุ้มปอด
- เกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลว
- โรคก้อนเลือดอุดตันเส้นเลือดไปปอด มักเกิดในผู้สูงอายุ คนอ้วน หญิงตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดบุตร หญิงที่กินยาคุมกำเนิด ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหรือต้นขาหัก ผู้ป่วยที่นอนบนเตียงนานๆ และไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว บางรายอาจเกิดจากน้ำคร่ำ ไขกระดูก หรือฟองอากาศ
- เกิดจากต่อมน้ำเหลืองอุดตัน ภาวะมีน้ำหรือหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด
- เกิดจากการกระแทก อุบัติเหตุที่ทรวงอก กระดูกซี่โครงหักตำถูกเยื่อหุ้มปอด
- สาเหตุจากยาบางชนิด เช่น hydralazine, procan และ dilantin
- เกิดจากโรคในช่องท้อง เช่น ตับแข็ง ฝีในตับ ตับอ่อนอักเสบ
- โรคเนื้อปอดขาดเลือดไปเลี้ยงบางส่วน
อาการ
ผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการที่เด่นชัดคือเจ็บแปลบที่บริเวณหน้าอก ตรงตำแหน่งที่เยื่อหุ้มปอดอักเสบ คล้ายเข็มแทง เฉพาะเวลาหายใจเข้าลึกๆ ไอหรือจาม ทั้งนี้เนื่องจากมีการยืดตัวของเยื่อหุ้มปอดที่กำลังอักเสบ เราเรียกว่าอาการเจ็บหน้าอกในลักษณะนี้เรียกว่า อาการเจ็บหน้าอกจากเยื่อหุ้มปอด ซึ่งมักมีอาการเจ็บแปลบเพียงชั่วไม่กี่วินาทีตรงหน้าอกซีกใดซีกหนึ่ง เป็นบางครั้งบางคราวเฉพาะเวลาหายใจเข้าลึกๆ เวลาไอหรือจาม ถ้ากลั้นลมหายใจหรือหายใจค่อยๆ จะไม่มีอาการแต่อย่างใด
การวินิจฉัย
ลักษณะอาการเจ็บหน้าอกจากเยื่อหุ้มปอดค่อนข้างจำเพาะเจาะจง การตรวจร่างกายระบบทางเดินหายใจ และการตรวจร่างกายทั่วไปโดยละเอียดจะช่วยในการวิเคราะห์หาสาเหตุของเยื่อหุ้มปอดอักเสบได้หลายกรณี
- การถ่ายภาพรังสีทรวงอกในท่ายืนตรง และท่านอนตะแคง ช่วยในการวินิจฉัยสารน้ำในเยื่อหุ้มปอด และประเมินปริมาณของสารน้ำในเยื่อหุ้มปอดได้จากภาพเอ็กซเรย์
- การตรวจอัลตราซาวด์เป็นวิธีที่มีความไวสูงในการตรวจสารน้ำใน
เยื่อหุ้มปอด - การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ นอกจากช่วยวินิจฉัยสารน้ำใน
เยื่อหุ้มปอดแล้ว ยังช่วยให้เห็นความผิดปกติของเนื้อเยื่อที่อยู่รอบๆ อีกด้วย - การเจาะเอาสารน้ำในเยื่อหุ้มปอดออกมาตรวจ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัยหาสาเหตุ สารน้ำอาจเป็นชนิดที่มีโปรตีนสูง น้ำตาลต่ำ เอ็นไซม์สูง ตรวจพบเซลล์เม็ดเลือดขาว หรือสารน้ำอาจเป็นชนิดที่มีระดับของสารเคมีในเกณฑ์ปกติก็ได้ ลักษณะของสารน้ำในเยื่อหุ้มปอดช่วยบ่งบอกสาเหตุได้ตามสมควร
นอกจากนี้การตรวจหาเชื้อแบคทีเรีย ตรวจหาเชื้อวัณโรค หรือตรวจพบเซลล์มะเร็ง ในสารน้ำจากเยื่อหุ้มปอดช่วยวินิจฉัยสาเหตุได้อย่างมาก
การรักษา
- เยื่อหุ้มปอดอักเสบมีสาเหตุ และความรุนแรงต่างๆ กัน จึงควรซักถามอาการและตรวจร่างกายอย่างถี่ถ้วน ก่อนจะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะที่ไม่รุนแรง และให้การรักษาตามอาการ ที่สำคัญต้องติดตามอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ถ้าไม่ดีขึ้น หรือสงสัยมีความผิดปกติ ก็ควรจะส่งตรวจพิเศษเพิ่มเติม
- ถ้าเจ็บแปลบเพียงไม่กี่วินาที่เป็นครั้งคราวไม่มีอาการไข้ และหายใจเป็นปกติ ให้ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่
สเตอรอยด์, ถ้าไอมากและทำให้เจ็บหน้าอก ให้กินยาระงับการไอ-โคเดอิน 30 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง, ถ้าไม่ดีขึ้นภายใน 7 วัน ควรส่งเอกซเรย์ และตรวจพิเศษเพิ่มเติมอื่นๆ - ถ้าอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง ผู้ป่วยอยู่ในภาวะช็อก หรือมีไข้สูง ไอเป็นเลือด หายใจหอบเหนื่อยมาก ควรตรวจหาสาเหตุให้แน่ชัด และให้การรักษาไปตามสาเหตุที่พบ
- การใช้ยาแก้ปวดช่วยบรรเทาอาการได้เป็นอย่างดี โดยพิจารณาความรุนแรงของอาการปวดเป็นหลัก ไม่ควรใช้ยาหลายขนานพร้อมๆ กัน
- ในกรณีที่มีสารน้ำในเยื่อหุ้มปอดจำนวนมาก อาจพิจารณาเจาะดูดออกตามสมควร แต่ต้องพิจารณาเป็นรายๆ ไป และต้องทำการตรวจสารน้ำในเยื่อหุ้มปอดเพื่อหาสาเหตุด้วยเสมอ
- ในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อ พิจารณาให้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม โดยทั่วไปยาต้านจุลชีพจะถูกดูดซึมเข้าสู่เยื่อหุ้มปอดได้เป็นอย่างดี รวมทั้งยาต้านวัณโรคด้วยเช่นกัน
- ถ้าพบว่ามีหนองในโพรงเยื่อหุ้มปอด แพทย์อาจพิจารณาใส่ท่อระบายหนอง หรือทำการผ่าตัดรักษา
- ในรายที่เกิดจากการกระจายของเซลล์มะเร็ง อาจพิจารณาฉีดยาบางชนิดเข้าไปในโพรงเยื่อหุ้มปอด เพื่อให้เกิดการระคายเคืองและกระตุ้นให้เกิดเนื้อเยื่อพังผืด จึงเป็นการปิดโพรงเยื่อหุ้มปอดไปโดยปริยาย
แหล่งที่มา : 108health.com