ยาแก้ไอเรื้อรัง สาเหตุของการไอเรื้อรัง เด็กไอเรื้อรัง


1,438 ผู้ชม


ยาแก้ไอเรื้อรัง สาเหตุของการไอเรื้อรัง เด็กไอเรื้อรัง

 

โรคไอเรื้อรังในเด็ก

ผศ.นพ.จักรพันธ์  สุศิวะ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


คุณพ่อคุณแม่มีวิธีการดูแลอย่างไรบ้างในเบื้องต้นก่อนที่จะมาพบแพทย์
ตอบ. 
การป้องกันย่อมดีที่สุด ดีกว่าการต้องมารักษาที่ปลายเหตุอยู่เสมอ เรื่องแรกก็คือ ต้องอย่ากล้ามากนักที่จะใส่เสื้อตัวเดียวออกไปเผชิญกับลมหนาวแรง ๆ หรือการออกจากบ้านเป็นประจำก็ควรจะหลีกเลี่ยง คุณพ่อคุณแม่ก็ควรจะรักษาร่างกายเด็กให้อบอุ่นอยู่เสมอ ซึ่งก็หมายถึงทั้งตัว สวมถุงเท้า ใส่หมวกกันความหนาวเย็น รักษาร่างกายให้อบอุ่น นอกจากนั้นแล้วยังต้องรับประทานอาหารครบถ้วนทั้ง หมู่ แล้วก็เน้นหนักที่ต้องดื่มน้ำให้มาก ๆ อยู่เสมอ นอกจากนั้นแล้ว การออกกำลังกายในหน้าหนาวก็เป็นเรื่องที่ดีทำให้ร่างกายอบอุ่นมากขึ้น แต่ก็ไม่ควรจะเล่นให้เหนื่อยเกินไป ร่างกายก็จะอ่อนแอลง แล้วก็พร้อมที่จะไม่สบาย อีกอย่างหนึ่ง ถ้าเราสังเกตดูในช่วงอากาศเย็นและแห้งแบบบ้านเราก็มักจะมีลมโชยมา ที่ไหนที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก หรือมีฝุ่นควันมาก หรือการหุงหาอาหารในบ้านเรือน สมมติว่าเราใช้เตาถ่านแล้วฟุ้งอยู่นาน ๆ ที่ไหนมีการใช้รถมอเตอร์ไซค์ ควันรถควันท่อไอเสียที่ฟุ้งแล้วได้กลิ่นเป็นเวลานานต่อเนื่องกัน พวกนี้ก็จะเกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจก็พร้อมเป็นต้นเหตุของให้เกิดความไม่สบาย หลังจากนั้นก็ตามด้วยอาการไอเรื้อรังเกิดขึ้น น่าจะสรุปได้ว่า การป้องกันที่สำคัญ ก็จะต้องรักษาร่างกายให้อบอุ่น ทานอาหารให้ครบถ้วนออกกำลังกายให้เหมาะสม สุดท้ายก็ต้องรักษาร่างกาย จิตใจให้แจ่มใส

การไปซื้อยามารับประทานเอง มีผลหรือมีอันตรายต่อเด็ก ๆ ควรทำหรือไม่ควรทำ
ตอบ. ต้องยอมรับโดยข้อเท็จจริงว่าในการโฆษณาทางสื่อต่าง ๆ เราก็เห็นโฆษณาถึงเรื่องยาแก้ไอหลายขนานด้วยกันแต่ในลักษณะวิชาการทางการแพทย์แล้ว เรายอมรับกันว่ายาแก้ไอที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยในกลุ่มเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ดี ก็คือการรับประทานน้ำ น้ำจัดเป็นยาแก้ไอที่ดีที่สุด แล้วก็ระหว่างน้ำเย็นกับน้ำอุ่น ก็ขอแนะนำให้ดื่มน้ำอุ่นเพราะน้ำอุ่นจะทำให้ชุ่มคอและไม่ระคายเคืองในคอ แทนที่จะทานน้ำเย็น ทีนี้ยาอื่น ๆ ที่เป็นองค์ประกอบของยาที่ช่วยบรรเทาอาการหรือมีการโฆษณาเกิดขึ้นกันอยู่ ในแง่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์แล้ว ยาที่ชื่อว่ายาละลายเสมหะ นั้น ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก เรายังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า เป็นยาที่ช่วยบรรเทาอาการไอได้ ถึงแม้จะมีการโฆษณายานี้หรือมีการใช้ยานี้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กก็ตาม เพราะฉะนั้นแล้วหากเด็กมีอาการไอ อาการไอที่เกิดขึ้นเนื่องจากกลุ่มอาการของไข้หวัด คือ ระคายคอ เราก็อยากจะแนะนำให้ดื่มน้ำมาก ๆ ดื่มน้ำอุ่น ๆ หรือพยายามอย่าใช้เสียงมาก พักผ่อนให้เพียงพอ คือนอนหลับให้มากกว่าปกติ ถึงอย่างไรเด็กก็ยังคงเป็นเด็ก การส่งเสียงแหลม ส่งเสียงดัง ก็จะทำให้เด็กระคายคอมาก ก็จะทำให้เกิดอาการไอได้เราน่าจะพิจารณาในด้านของการป้องกันมากกว่า ส่วนเด็กที่อยู่ในกลุ่มของอาการหวัดและไอ ยาแก้ไอก็ยังไม่มีความจำเป็นอีกเช่นเคย อาการไอในกลุ่มของการเป็นหวัดมักจะเป็นผลจากมีการติดเชื้อไวรัสในบรรยากาศ ทำให้เด็กมีไข้ มีน้ำมูกไหล และระคายคอบ้างเล็กน้อยการรักษาร่างกายคือ การทานน้ำให้เพียงพอแล้วก็ทานยาแก้ปวดบ้าง เพียงเท่านั้นก็จะมีอาการที่ทำให้เด็กดีขึ้นได้ แต่ว่าในกลุ่มผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มอาการแพ้ กลุ่มอาการแพ้ก็คือ มีโรคภูมิแพ้เป็นต้นเหตุของเขา ทำให้เขามีอาการคันและระคายคอมากกว่าธรรมดา พร้อมกับทำให้เกิดอาการไออันเนื่องมาจากมีน้ำมูกไหลลงไปในคอ ทำให้คันและระคายคอ การรับประทานยาลดน้ำมูก ก็อาจจะทำให้อาการไอดีขึ้น เป็นการรักษาที่ต้นเหตุแทนที่จะมาทานยาละลายเสมหะหรือรักษาอาการไออื่น ๆ และถ้าเกิดอาการแพ้และเป็นผลทำให้มีอาการอักเสบ คือมีหลอดลมตีบตัว แล้วทำให้เกิดอาการไอ หรือเป็นกลุ่มอาการหืดก็ควรจะทานยาที่ขยายหลอดลมซึ่งเป็นยาที่ทำให้ผู้ป่วยหายใจได้โล่ง สะดวก ก็จะบรรเทาอาการไอได้ จะเห็นว่ายาแก้ไอที่มีขายอยู่หรือยาแก้ไอที่มีชื่อว่า ยาแก้ไอละลายเสมหะแทบจะไม่มีที่ใช้ 
           อีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นกลุ่มอันตรายมาก และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก็โฆษณาอยู่เสมอ คือกลุ่มยาที่มีชื่อว่า "อาการไอ" กลุ่มนี้จะมีกลุ่มของยาเสพติดบางชนิดที่รุนแรงผสมอยู่ในตัวยาด้วย กลุ่มยานี้ไม่มีที่ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กเลย เพราะว่าการให้ยาในกลุ่มนี้ในทางผู้ป่วยเด็ก อาจทำให้เกิดการกดการหายใจจนกระทั่งหยุดหายใจหรือติดยาได้ คือจะติดยานี้มากยิ่งขึ้นไปอีกก็ได้ จัดเป็นยาควบคุมพิเศษและไม่ควรนำมาใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเด็ก

ลักษณะใดที่พ่อแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์
ตอบ.
 ถ้าไอเกิด หรือไอแบบเฉียบพลัน สิ่งที่พ่อแม่สังเกตเห็น เช่น ป่วยเป็นหวัด ไปพูดตะโกนเสียงดังมากก็เลยทำให้ไอขึ้นมา เราก็อาจจะรักษาด้วยตนเองที่บ้านก่อนก็ได้ ด้วยการให้พักการใช้เสียง ทานน้ำอุ่น ๆ แล้วก็ทานอาหารอ่อน ๆ ย่อยง่าย ๆ บ้านเราก็เน้นหนักไปทางข้าวต้มโจ๊ก หลังจากนั้นแล้วเราก็สังเกตดูอาการ หากมีอาการแล้วก็บรรเทาไปได้เอง ภายใน 3-5 วัน ในลักษณะของการติดเชื้อหวัดธรรมดา อย่างนั้นก็คงไม่มีความจำเป็นต้องไปพบแพทย์ตรวจ ในส่วนของไอเรื้อรัง ถ้าเด็กเริ่มมีอาการไอนานขึ้นไปกว่านั้น เช่นไอนานกว่า1-2-3 สัปดาห์ จนกระทั่งเข้ากับคำจำกัดความการไอเรื้อรังว่า ไอนานถึง เดือนแล้ว หากไอยาวนาน 1-2 สัปดาห์ขึ้นไป ก็ควรต้องพบแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าอาการไอเกิดขึ้นเนื่องมาจากสาเหตุใด ซึ่งโดยปกติก็ต้องเฝ้าสังเกตอาการว่า อาการไอของเด็กเป็นลักษณะอย่างไร เพื่อแจ้งให้คุณหมอทราบ เช่น ไอ ตอนเช้า กลางคืน หรือตอนนอนหรือว่าไอพร้อมกับควันบุหรี่ของพ่อ ไอทุกครั้งที่เข้ามานั่งในรถ ซึ่งลักษณะอย่างนี้อาจจะพอบอกคุณหมอได้ในบางส่วน เช่น เมื่อใดที่นอนก็จะไอได้ทุกครั้งเลย อาจจะเกิดจากว่ามีน้ำมูกไหลลงไปในคอไอทุกครั้งที่เข้าไปอยู่ในรถ ซึ่งปัจจุบันรถเกือบทุกคันจะติดแอร์ มีอะไรสะสมกลิ่นไว้ในพรม ไม่ดูดฝุ่นในรถแล้วก็ฟุ้งกันอยู่ในรถโดยตลอดซึ่งเป็นสารที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มีกลิ่นหรือฝุ่นเล็กมากจนระคายตัวเด็กทุกครั้ง ซึ่งก็อาจเป็นกลุ่มของโรคภูมิแพ้ อย่างนี้เป็นต้น ไออีกอย่างก็คือไอตอนกลางคืน กลางวันเหมือนคนปกติ พอตกกลางคืนก็มีอาการไอ ก็อาจบอกได้ว่าอาการดังกล่าว อาจเป็นโรคภูมิแพ้ มักเป็นอาการไอในช่วงกลางคืน อันเนื่องมาจากอากาศมันเย็นกว่ากลางวัน แล้วก็มีผลทำให้หลอดลมมันตีบตัว ลักษณะนี้ก็จะช่วยชี้ให้คุณหมอพอจะหาแนวทางในการตรวจค้นหาโรคแล้วก็ตรวจพิสูจน์บางอย่าง เพื่อที่จะได้วินิจฉัยให้ถูกต้องและวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง นอกเหนือจากนี้แล้วก็คงต้องเฝ้าดูด้วยว่า คนอื่นเขาไอกันหรือไม่ ในละแวกท้องถิ่นของเรา อาจจะบอกถึงมีการระบาดของโรคในช่วงนั้นหรือไม่ รวมทั้งการที่เราอยู่ในบ้านช่องอย่างไร บ้านเราอากาศถ่ายเทได้สะดวกหรือไม่ เราไปเที่ยวไปอยู่ที่ไหนมาหรือเปล่า ไปกระทบร้อนกระทบเย็นมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ต่าง ๆ เหล่านี้ ก็จะเป็นข้อมูลแจ้งให้คุณหมอทราบ

แหล่งที่มา : si.mahidol.ac.th

อัพเดทล่าสุด