อาการคนท้องหลังปฏิสนธิ อาการคนท้อง1เดือนแรก อาการคนท้องหกเดือน


4,581 ผู้ชม


อาการคนท้องหลังปฏิสนธิ อาการคนท้อง1เดือนแรก อาการคนท้องหกเดือน

 

อาการและการวินิจฉัยการตั้งครรภ์

โดย พล.ต.รศ.นพ.ธีรศักดิ์  ธำรงธีระกุล  และทีมแพทย์ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยากและผ่าตัดผ่านกล้องทางนรีเวช


1. อาการที่คิดว่าน่าจะเกิดจากการตั้งครรภ์  คือ 
1.1 ขาดประจำเดือน
1.2 คลื่นไส้  เวียนศีรษะ
1.3 เต้านมขยาย
1.4 ปัสสาวะบ่อย
1.5 หิวบ่อย
1.6 อ่อนเพลีย
1.7 ผิวคล้ำขึ้น
1.8 ความรู้สึกว่ามีเด็กดิ้นในท้อง   
ข้อนี้หมายความว่าอาจมีการตั้งครรภ์ หรือไม่มีการตั้งครรภ์ก็ได้  ต้องรอดูการเปลี่ยนแปลงต่อไปหรือตรวจเพิ่มเติม
2. อาการที่เป็นไปได้มากขึ้นว่ามีการตั้งครรภ์  เมื่อแพทย์ตรวจพบต่อไปนี้

2.1 หน้าท้องโตขึ้น
2.2 ตรวจพบว่ามดลูกโตกว่าปกติ
2.3 พบการเปลี่ยนแปลงที่ปากมดลูก  คล้ำขึ้น  นุ่มขึ้น
2.4 มีการแข็งตัวของก้อนในท้องที่คลำได้เป็นบางระยะ ๆ บางช่วง บางตอน
2.5 คลำพบได้คล้ายอวัยวะของเด็กในท้อง
2.6 ตรวจฮอร์โมนการตั้งครรภ์จากการเจาะเลือด  หรือการตรวจปัสสาวะเป็นผลบวก  
ข้อนี้หมายความว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการตั้งครรภ์  แต่ให้แน่ใจ 100% ยังไม่ได้  ต้องมีการตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจเช่นกัน
3. สิ่งที่ตรวจพบ  มั่นใจได้ว่าตั้งครรภ์แน่นอน

3.1 ตรวจได้ยินเสียงหัวใจเด็กที่ความถี่แตกต่างจากชีพจรแม่
3.2 ตรวจพบว่ามีเด็กดิ้นโดยการคลำทางหน้าท้อง
3.3 ตรวจพบว่ามีทารกในครรภ์  จากการทำอัลตราซาวนด์  หรือ (พบโดยบังเอิญ)  จากการทำเอ็กซ์เรย์หน้าท้อง  
ข้อนี้หมายความว่าให้ความมั่นใจได้ว่ามีการตั้งครรภ์
การตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง

ปัจจุบันมีแผ่นตรวจการตั้งครรภ์ด้วยตนเอง  ซึ่งหาซื้อได้ทั่วไปที่ร้านขายยาแผนปัจจุบัน และมักมีเอกสารกำกับยาอธิบายการใช้และสรรพคุณของ test ว่าสามารถตรวจได้ตั้งแต่เริ่มขาดประจำเดือน  โดยอาศัยการเกิด antigen-antibody complex ของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ (BHCG)  แล้วไปทำให้สารเคมีเกิดสีขึ้นที่แถบ
ตามทฤษฎีแล้วการตรวจถ้าทำให้ถูกวิธี  และแผ่นทดสอบไม่เสื่อม (ซึ่งผู้ซื้อควรดูการเก็บของร้านขายยา  และวันหมดอายุที่กำกับไว้  รวมถึงวิธีใช้ในเอกสารกำกับยา)   ผลการทดสอบจะได้ความแม่นยำถึง 97%  แต่เคยมีการสำรวจวิจัยที่อเมริกา  พบว่า เมื่อทำกันเองแล้ว  ได้ผลลบลวงถึง 25%  (ตั้งครรภ์แต่ผลการทดสอบว่าเป็นผลลบ)  และมีคนสนใจอ่านวิธีทำอย่างละเอียดเพียง 1 ใน 3 ของผู้ที่เอามาใช้
บางรายกล่าวว่า  ถ้าทดสอบว่าเป็นผลลบจะไม่ตั้งครรภ์จริง 56%  (ถูกต้องตรงกัน 56%)  และเมื่อได้ผลบวก  ตั้งครรภ์จริง 83%
เมื่อไรจึงจะเหมาะในการตรวจการตั้งครรภ์
เมื่อมีการตกไข่  ไข่จะมีอายุให้เชื้ออสุจิมาปฏิสนธิได้เพียง  1 วันเท่านั้น  เมื่อปฎิสนธิแล้วจะแบ่งตัวและเดินทางมาที่โพรงมดลูก  ฝังตัวเข้ากับเยื่อบุโพรงมดลูกในวันที่ 7  หลังการปฏิสนธิ  เมื่อตัวอ่อนฝังตัว  เราถือว่าเริ่มตั้งครรภ์  ตัวอ่อนจะเริ่มสร้างฮอร์โมน Beta HCG เพื่อกระตุ้นให้รังไข่สร้างฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน ทำให้เยื่อบุมดลูกสมบูรณ์มากขึ้น
Beta HCG  ถูกสร้างขึ้นมาจะเข้าไปในกระแสเลือด  จะมีความเข้มข้นมากขึ้นเมื่ออายุครรภ์มากขึ้น  และจะขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะ
เราใช้ฮอร์โมน Beta HCG  ในการตรวจภาวะการตั้งครรภ์โดยการเจาะเลือด  ตั้งแต่วันที่ 9-10  หลังจากปฏิสนธิ  และตรวจโดยการใช้ชุดตรวจปัสสาวะ  ตั้งแต่วันที่ 15 เป็นต้นไป  หลังจากวันดังกล่าว ความชัดเจนจะยิ่งมีมากขึ้น
ดังนั้น  ถ้าเราทราบวันตกไข่  หรือวันปฏิสนธิเราก็จะรู้ว่าควรจะตั้งครรภ์ได้เมื่อไร
ในกรณีที่ไม่ทราบวันตกไข่ ทราบแต่วันมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย ก็พอจะประยุกต์ใช้ได้คือ เมื่อมีเพศสัมพันธ์และเชื้ออสุจิเข้าไปที่ปากมดลูก  มันอาจจะมีชีวิตรอปฎิสนธิได้นานที่สุด 5 วัน  หมายความว่า  ถ้าไข่ตกภายใน 5 วัน หลังการมีเพศสัมพันธ์  ยังมีโอกาสตั้งครรภ์ได้  ถ้าเกินนั้นไม่ควรจะมีการตั้งครรภ์
ดังนั้น ถ้ามีการตั้งครรภ์ ควรตรวจเลือดเป็นบวกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย 15 วัน  หรือตรวจปัสสาวะเป็นบวก หลังจากมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย 20 วันขึ้นไป ถ้าตรวจแล้วเป็นลบก็แปลว่าไม่ตั้งครรภ์  ตัวอย่างเช่น  ไม่ทราบวันตกไข่  มีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย 1  มกราคม   ไข่ที่ตกวันที่ 1-5 มกราคม  มีโอกาสได้รับปฏิสนธิ  ไข่ที่ตกวันที่ 6 มกราคม  หรือหลังจากนั้นไม่ควรได้รับการปฏิสนธิ  ดังนั้น  ถ้าตรวจเลือดวันที่  15  มกราคม  หรือ ตรวจปัสสาวะวันที่ 20  มกราคม  ก็จะบอกได้เลยว่าตั้งครรภ์หรือไม่ตั้งครรภ์
โดยสรุปก็คือ การตรวจปัสสาวะเพื่อการทดสอบด้วยตนเองเป็นเพียงการทดสอบเบื้องต้นที่จะบอกว่าตนเอง “น่าจะ”  ตั้งครรภ์หรือไม่  ถ้าได้ผลบวก  แต่อาการของเราไม่ตรงกับอาการที่น่าจะท้อง  หรือตรงกันก็ตาม  แต่ผลตรวจแตกต่างออกไปก็ควรที่จะปรึกษาแพทย์ที่ใช้วิธีตรวจที่แม่นยำมากขึ้น  เช่นการตรวจเลือดหาระดับฮอร์โมนการตั้งครรภ์  หรือการทำ อัลตราซาวนด์  เป็นต้น


แหล่งที่มา : vibhavadi.com

อัพเดทล่าสุด