ปลายฝนต้นหนาว โรคทางเดินหายใจ สาเหตุโรคทางเดินหายใจ


1,112 ผู้ชม


ปลายฝนต้นหนาว โรคทางเดินหายใจ สาเหตุโรคทางเดินหายใจ

 

ปลายฝนต้นหนาว..ระวังโรคทางเดินหายใจ
โดย : พ.ญ.ศิริพัฒนา ศิริธนารัตนกุล  

         โรคระบบทางเดินหายใจในเด็กเป็นโรคที่พบได้บ่อยตลอดทั้งปี โดยเฉพาะช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอากาศจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว และเด็กจะมีอาการทางระบบหายใจได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่... 
ทั้งนี้เพราะทางเดินหายใจของเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ คือ นอกจากจะมีขนาดเล็กจึงเกิดการอุดตันทางเดินหายใจได้ง่ายแล้ว ภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคต่างๆ ยังมีน้อยกว่าผู้ใหญ่ด้วยค่ะ เรามาดูกันก่อนดีไหมคะว่า ลักษณะทางเดินหายใจของเด็กนั้นเป็นอย่างไร เมื่อเกิดอาการต่างๆ ขึ้นจะได้เข้าใจว่าอาการนั้นๆ เกิดจากทางเดินหายใจส่วนใด แพทย์จะให้การรักษาอย่างไร และคุณพ่อคุณแม่จะช่วยดูแลได้อย่างไรบ้างนะคะ ระบบหายใจของเด็กไม่เหมือนผู้ใหญ่อวัยวะและระบบต่างๆ ในร่างกายเด็กมีการเจริญพัฒนาอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่อยู่ในครรภ์จนกระทั่งหลังคลอด ระบบหายใจก็เช่นเดียวกันค่ะ มีการค่อยๆ เพิ่มขนาดทั้งส่วนกว้างและส่วนยาวของท่อทางเดินหายใจ จำนวนและขนาดของถุงลมก็เพิ่มขึ้นจนทำให้ปริมาตรของปอดในช่วง 12 ปี แรกของชีวิตเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่าของทารกแรกเกิด และ เพิ่มเป็น 12-15 เท่าเมื่ออายุ 12 ปี อัตราการหายใจของเด็กก็แตกต่างจากผู้ใหญ่ เด็กยิ่งเล็กยิ่งหายใจเร็ว กล่าวคือ ในทารกแรกเกิดปกติจะหายใจประมาณ 50 ครั้งต่อนาที หรือสูงสุดไม่เกิน 60 ครั้งต่อนาที เด็กทารก 6 เดือนหายใจประมาณ 30 ครั้งต่อนาที และเด็กอายุ 1-5 ปี ปกติจะหายใจประมาณ 24 ครั้งต่อนาทีค่ะ เปรียบไปก็คล้ายระบบท่อส่งอากาศ ทางเดินหายใจนั้นถ้าจะเปรียบไปก็เหมือนระบบท่อส่งอากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายในร่างกาย บริเวณถุงลมในปอดเป็นที่สำหรับร่างกายดึงเอาก๊าซออกซิเจนจากอากาศไปใช้ และแลกเปลี่ยนปล่อยเอาของเสีย คือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมากับลมหายใจออก การเดินทางของอากาศจากภายนอกเข้าสู่ภายในร่างกายต้องผ่านระบบต่างๆ หลายขั้นตอนเพื่อให้อากาศที่ลงสู่ปอดนั้นสะอาดและเหมาะสมกับร่างกายของเราที่สุดค่ะ เรามาตามไปดูกันดีกว่าว่า อากาศที่เข้าไปในจมูกของเราแล้วจะต้องผ่านไปทางไหนกันบ้าง... เลาะเลียบทางเดินหายใจส่วนบน * ด่านแรกคือบริเวณโพรงจมูก ถ้าเปรียบโพรงจมูกนี้กับถ้ำ ขนจมูกก็คงจะเทียบได้กับรากไม้ที่ห้อยระย้าจากเพดานถ้ำลงมาระเกะระกะ เพื่อเป็นตัวดักฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดใหญ่กว่า 10-15 มิลลิเมตรไม่ให้เล็ดลอดเข้าไปได้ ผนังและเพดานถ้ำ มี "ระบบปรับอากาศ" อัตโนมัติ ซึ่งประกอบไปด้วยเส้นเลือดฝอยเล็กๆ จำนวนมากมาหล่อเลี้ยงให้ความอบอุ่นและชุ่มชื้นแก่อากาศที่ผ่านเข้ามา เพื่อให้อากาศที่จะลงสู่ปอดมีความชื้น และอุ่นพอเหมาะ ระบบปรับอากาศนี้จะมีไปตลอดทางจนถึงหลอดลมใหญ่ค่ะ * โพรงจมูกส่วนต่อไปคือส่วนที่ลึกเข้าไป เยื่อบุจมูกบริเวณนี้จะยื่นเข้ามาในโพรงคล้ายแท่นที่มีซอกหลืบเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการให้ความอบอุ่นชุ่มชื้นกับอากาศ ในกะโหลกศีรษะ ข้างๆ โพรงจมูกบริเวณนี้จะเป็นโพรงอากาศที่เรียกว่า "ไซนัส" (paranasal air sinuses) ไซนัสเหล่านี้จะมีเยื่อบุผิวเชื่อมต่อกับเยื่อบุของจมูก และมีรูเล็กๆ ที่เปิด ติดต่อกับบริเวณโพรงจมูก ดังนั้นเชื้อโรคจึงอาจรุกรานผ่านเข้าไปได้ * อากาศจะผ่านต่อไปยังคอ ซึ่งเป็นส่วนที่เชื่อมกับช่องปากจากคอก็จะไปถึงกล่องเสียง กล่องเสียงของเด็กจะมีกระดูกอ่อนหุ้มอยู่โดยรอบ และเป็นส่วนที่ค่อนข้างแคบ ดังนั้น ในเด็กยิ่งเล็กหากมีการอักเสบหรือบวมบริเวณกล่องเสียง ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ ทางเดินหายใจที่กล่าวมาถึงข้างต้นนี้ คือทางเดินหายใจส่วนบน ถัดจากกล่องเสียงลงไป คือทางเดินหายใจส่วนกลาง ได้แก่ หลอดลมใหญ่ข้างซ้ายและขวา หลอดลม แขนงเล็ก หลอดลมฝอย และเนื้อปอดค่ะ "พลลาดตระเวน" กับกลไกการป้องกันตัวเองของปอด เยื่อบุทางเดินหายใจเป็นเซลล์ที่เรียงรายอยู่ผิวบนสุดส่วนต้นๆ ของทางเดินหายใจ เซลล์เหล่านี้จะมีรูปทรงสูง มีหลายชนิด เช่น เซลล์ที่มีขนอ่อนอยู่ด้านบน แต่ละเซลล์จะมีขนอ่อนอยู่ถึง 275 อัน ขนอ่อนเหล่านี้จะพัดโบกด้วยความถี่ 1,000 ครั้งต่อนาที การพัดโบกนี้ต้องอาศัยน้ำและสารคัดหลั่งที่ผลิตออกมาจากเซลล์อีกชนิดหนึ่งที่มีรูปร่างคล้ายถ้วย การโบกของขนอ่อนจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันค่ะ คือ โบกไล่ขึ้นไปส่วนบนด้วยอัตรา 10 มิลลิเมตรต่อนาที กลไกนี้จึงมีความสำคัญมากในการขับสิ่งแปลกปลอมขนาด 1-5 มิลลิเมตรที่หลงเข้าไปในทางเดินหายใจ กล่าวโดยสรุป คือ ฝุ่นขนาดใหญ่จะถูกกรองไว้โดยขนจมูก ฝุ่นขนาดกลางตกลงบนผิวที่มีน้ำและมูกแล้วถูกขับโดยการโบกของขนอ่อน ส่วนฝุ่นขนาดเล็กกว่า 1 มิลลิเมตร จะลงลึกสุดถึงถุงลมเล็กๆ ในปอดได้ บริเวณถุงลมนี้เซลล์จะแบนลง และไม่มีขนอ่อนแล้ว เพราะจะต้องทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ ฉะนั้นการทำหน้าที่ต่อสู้เชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมใน ที่นี้จึงต้องอาศัย "พลลาดตระเวน" ค่ะ "พลลาดตระเวน" คือเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่ง เซลล์นี้มีหน้าที่คอยสำรวจตรวจตราว่ามีศัตรูแปลกปลอมมาหรือไม่ ถ้าพบว่ามี มันจะเดินทางแทรกเข้าไปในระหว่างเนื้อเยื่อและออกมาข้างนอกบริเวณผิวของทางเดินหายใจได้ เมื่อพบเป้าหมายก็จะคืบคลานเข้าไปโอบล้อมและกินเสียก่อนที่ศัตรูจะทำอันตรายต่อปอด ในภาวะปกติ กลไกเหล่านี้จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจได้ แต่ในภาวะบางอย่างเช่น การได้รับควันบุหรี่ ภาวะขาดอาหาร การได้รับสารเสพย์ติดหรือแอลกอฮอล์ เหล่านี้จะทำให้เกิดการบกพร่องในการทำงานของขนอ่อนและ "พล ลาดตระเวน" จึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นค่ะ การไอคือกลไกป้องกันตัวเองอย่างหนึ่ง นอกจากกลไกที่กล่าวมาแล้ว หากมีการสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไป ร่างกายจะมีปฏิกิริยาตอบสนองส่งสัญญาณประสาทจากศูนย์ควบคุมที่สมองลงมาที่กล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจให้หดตัวและเพิ่มกำลังในการอัดลมเป่าออกมาอย่างรวดเร็ว เกิดเสียงที่เราเรียกว่า "การไอ" นั่นเอง การไอจะขับมูกส่วนเกินในทางเดินหายใจออกไปด้วยความแรงถึง 300 มิลลิเมตรปรอทเลยทีเดียว การไอจะเกิดขึ้นเมื่อทางเดินหายใจได้รับความระคายเคืองด้วย เช่น เป็นหวัด เจ็บคอ เวลาล้มตัวลงนอน แล้วมีน้ำมูกไหลลงในคอก็จะไปกระตุ้นให้หลอดลมหดตัวและเกิดการไอด้วย เสียงไอที่เกิดจากการอักเสบทางเดินหายใจจะมีความแตกต่างกันตามตำแหน่ง ที่เป็น เช่นระคายคอจะไอเสียงแห้งๆ ไอจากกล่องเสียงอักเสบจะเป็นเสียงก้องคล้ายเสียงสุนัขเห่า หลอดลมอักเสบหรือปอดอักเสบจะไอแบบมีเสมหะอยู่ลึกๆ ค่ะ ใช้ยาแก้ไอช่วยให้ลูกหยุดไอดีไหม ? อาการไอเป็นสัญญาณเตือนว่าเกิดปัญหาขึ้นในระบบหายใจ จึงไม่ควรกินยาระงับการไอโดยยังไม่ทราบสาเหตุของการไอค่ะ ยาระงับการไอเป็นยาที่ออกฤทธิ์กดศูนย์ควบคุมการไอที่สมอง จึงต้องเลือกใช้อย่างระมัดระวัง ส่วนใหญ่เด็กที่ไอมักจะเกิดจากมีเสมหะ หากใช้ยาหยุดการไอกลับจะทำให้เสมหะคั่งค้าง จึงไม่ได้กำจัดเสมหะที่เป็นสาเหตุที่แท้จริงของการไอ ยาแก้ไอที่ใช้ในเด็กส่วนมากเป็นยาขับเสมหะและยาละลายเสมหะค่ะ ยาขับเสมหะจะกระตุ้นเยื่อบุกระเพาะอาหารทำให้เกิดการหลั่งน้ำเมือกในทางเดินหายใจมากขึ้น เสมหะจะมากขึ้นในระยะแรก เมื่อไอไล่เสมหะออกหมดจึงจะหยุดไอ ส่วนยาละลายเสมหะจะลดความเหนียวของเสมหะลง จึงถูกขับออกง่ายขึ้นค่ะ คุณพ่อคุณแม่ที่เคยสงสัยว่า ทำไมกินยาแก้ไอแล้วลูกไอมากขึ้น คงจะเข้าใจแล้วนะคะว่าเป็นเพราะยานั้นคือยาขับเสมหะ ไม่ใช่ชนิดกดอาการไอค่ะ แพทย์จะพิจารณาใช้ยากดการไอในรายที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น เช่นไอมากจนพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือการไอที่เจ็บปวด เช่นคนไข้หลังผ่าตัดหรือไอจากเยื่อหุ้มปอดอักเสบ หากเราช่วยให้เสมหะออกได้ดีเท่าใด เด็กก็จะหายจากการไอมากขึ้น และ เสมหะจะออกได้ดีเมื่อ 1.เสมหะไม่เหนียว...ต้องให้เด็กดื่มน้ำมากขึ้น เพราะน้ำคือยาละลายเสมหะ ที่ดีที่สุด 2.เสมหะไม่ติดค้างในหลอดลม ช่วยได้โดยการเคาะปอด ในเด็กที่นอนป่วย ให้ขยับเปลี่ยนท่านอนพลิกทางซ้ายบ้างทางขวาบ้าง อย่าให้นอนในท่าเดียวนาน ๆ 3.รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ ยาปฏิชีวนะ และยาละ ลายเสมหะ 



แหล่งที่มา : 108health.com

อัพเดทล่าสุด