ภาวะหมดประจำเดือนคืออะไร ประโยชน์ของไฟโตเอสโตรเจน ไฟโตเอสโตรเจน คืออะไร


1,145 ผู้ชม


ภาวะหมดประจำเดือนคืออะไร ประโยชน์ของไฟโตเอสโตรเจน ไฟโตเอสโตรเจน คืออะไร

 


ประโยชน์ของไฟโตเอสโตรเจน

           การศึกษาทางระบาดวิทยาซึ่งเป็นการศึกษาในกลุ่มคนจำนวนมาก พบว่าคนตะวันตกเป็นเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และมะเร็งต่อมลูกหมากสูงกว่าคนเอเชีย โดยมีสมมุติฐานว่า อาหารของคนเอเชีย เช่น คนญี่ปุ่น คนจีน น่าจะมีผลต่อการสร้างฮอร์โมนหรือกระบวนการชีวเคมีในเซลล์ของคน โดยมีหลักฐานแสดงว่าสารประกอบที่มีสูตรโครงสร้างคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน เรียกว่า “ไฟโตเอสโตรเจน” ซึ่งพบมากในถั่วเหลือง เมล็ดธัญพืชหลายชนิด และผลเบอร์รี่มีฤทธิ์ป้องกันมะเร็งได้ โดยมีผลต่อการสร้างฮอร์โมนเพศ กระบวนการเมตาบอลิซึม (การเผาผลาญ) การทำงานของเอนไซม์ การสร้างโปรตีน การเพิ่มจำนวนและการเปลี่ยนสภาพของเซลล์มะเร็ง การเจริญเติบโตของหลอดเลือด เป็นต้น
           ดังนั้น  การกินอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจนอาจช่วยส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคบางอย่างได้ เช่น โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งของเนื้อเยื่อระบบสืบพันธ์ และโรคกระด๔กพรุน (Osteoporosis)

ไฟโตเอสโตรเจน คืออะไร
           ไฟโตเอสโตรเจนเป็นสารประกอบที่พบได้ในพืชมากกว่า ๓๐๐ ชนิด แต่มีมากที่สุดในถั่วเหลือง โดยออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง และกระตุ้นการเจริญของอวัยวะสืบพันธุ์ของสัตว์ตัวเมีย แต่ออกฤทธิ์ได้ต่ำกว่าฮอร์โมนเอสโตรเจนของคน
           ไฟโตเอสโตรเจนมีคุณสมบัติคล้ายเอสโตรเจน สามารถแย่งที่กับเอสโตรเจนในการจับกับตัวรับเอสโตรเจนที่มีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย และชักนำให้เกิดการตอบสนองเฉพาะต่อเอสโตรเจนโดยทั่วไปเนื้อเยื่อระบบสืบพันธ์มีตัวรับเอสโตรเจนมากกว่าเป็นร้อยถึงพันเท่าของเซลล์กระดูกและเซลล์อื่นๆ ในร่างกาย
           มีงานวิจัยบ่งชี้ว่า ระดับไฟโตเอสโตรเจนในเลือดของคนหลังกินอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจนในปริมาณปกติสามารถป้องกันการเติบโตของเซลล์ที่ถูกกระตุ้นด้วยเอสโตรเจนได้ ดังนั้นไฟโตเอสโตรเจนจึงอาจจะลดหรือยับยั้งฤทธิ์ของเอสโตรเจนที่มีต่อเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่ตอบสนองต่อเอสโตรเจนได้ เช่น เนื้อเยื่อเต้านม เป็นต้น การบริโภคไฟโตเอสโตรเจนจึงอาจช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมได้
           เราสามารถแบ่งไฟโตเอสโตรเจนออกได้เป็น ๓ ชนิด ได้แก่ ไอโซฟลาโวน (Isoflavones) คูเมศแตน (coumestans) และลิกแนน (lignan) ไฟโตเอสโตรเจนที่พบมากในอาหารที่กินเป็นประจำวันคือ ไอโซฟลาโวน ซึ่งมีในถั่วหลายชนิด แหล่งอาหารสำคัญของไฟโตเอสโตรเจนที่ร่างกายของคนได้รับคือ ถั่วเหลือง ในถั่วเหลืองมีไอโซฟลาโวนที่สำคัญคือ ไดซีน (daidzein) และจีนีสทีน (genistein)
                                 

ถั่วเหลืองกับสุขภาพ

-ถั่วเหลืองกับภาวะหมดประจำเดือน
  ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนมักมีอาการร้นวูบวาบ หงุดหงิด มีอาการทางผิวหนังและเยื่อบุบริเวณช่องคลอด (อักเสบ แห้ง) รวมทั้งมีอัตราการเป็นโรคกระดูกพรุน และอัตราเสี่ยงต่อโรคหัวใจขาดเลือดสูง การใช้ฮอร์โมนทดแทนแม้จะช่วยลดการไม่สุขสบายที่เกิดขึ้นแต่ก็มีความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านม การกินอาหารที่ทำจากถั่งเหลืองซึ่งมีไอโซฟลาโวนเป็นส่วนประกอบและมีสูตรโครงสร้างคล้ายเอสโตรเจนอย่างสม่ำเสมอ จึงอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้หญิงที่ไม่ต้องการใช้ฮอร์โมนทดแทน เพื่อช่วยลดอาการร้อนวูบวาบแล้วยังอาจช่วยป้องกันโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนรวมทั้งลดระดับไขมันในเลือดได้ มีการศึกษาจำนวนมากที่บ่งชี้ว่าการกินโปรตีนถั่วเหลืองที่มีไอโซฟลาโวนหรือการเสริมไอโซฟลาโวนสามารถเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกและลดอาการร้อนวูบวาบที่เกิดจากภวชาวะหมดประจำเดือน
           การศึกษาในประเทศญี่ปุ่นพบว่าผู้หญิงญี่ปุ่นที่กินผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองมากทั้งในแง่ปริมาณรวมของถั่วเหลือง และไอโซฟลาโวนจะมีความถี่ของอาการร้อนวูบวาบน้อยกว่า
           จากการวิเคราะห์ผลงานวิจัย ๑๐ เรื่อง เพื่อศึกษาประโยชน์ของการกินถั่วเหลืองและไอโซฟลาโวน พบว่าผลการศึกษายังมีความขัดแย้งกันคือ
           มี ๔ การศึกษาที่แสดงถึงประโยชน์ของการกินไอโซฟลาโวน ตั้งแต่ ๓๔-๑๓๔ มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งในรูปแป้งถั่วเหลือง โปรตีนถั่วเหลืองหรือสกัดใส่แคปซูลในการช่วยลดกลุ่มอาการที่เกิดจากภาวะหมดประจำเดือน
           ขณะเดียวกันอีก ๖ งานวิจัยไม่แสดงความแตกต่างระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

- ถั่วเหลืองกับโรคกระดูกพรุน
           โรคกระดูกพรุน เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของกระดูกทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เกิดกระดูกหักได้ง่ายแม้ได้รับการกระทบกระเทือนเพียงเล็กน้อย สาเหตุที่พบได้บ่อยและสำคัญมากที่สุดคือ การขาดเอสโตรเจนจากการหมดประจำเดือน
           ทั้งนี้ ผู้หญิงหมดประจำเดือนจะมีการสูญเสียเนื้อกระดูกประมาณร้อยละ ๓-๕ ต่อปี ในเวลา ๓-๕ ปีแรกของการหมดประจำเดือน ทำให้มวลกระดูกลดลงประมาณร้อยละ ๑๕ หลังจากนั้นอัตราการสูญเสียเนื้อกระดูกลดลงสู่ระดับเดิมคือ ร้อยละ ๐.๕-๑ ต่อปี จนเข้าสู่วัยสูงอายุ
           แม้ว่าการเสริมแคลเซียมในช่วงวัยทองไม่สามารถจัดผลของการขาดเอสโตรเจนได้ แต่จะช่วยลดผลที่เกิดจากการขาดแคลเซียมได้ ทั้งนี้ ผู้หญิงควรได้รับแคลเซียมจากอาหารวันละ ๘๐๐-๑,๒๐๐ มิลลิกรัม อาหารที่มีแคลเซียมสูงได้แก่ นม ปลาทอดกรอบกินได้ทั้งกระดูก กุ้งแห้ง เต้าหู้ เป็นต้น
           จากการศึกษาการได้รับแคลเซียมในผู้ใหญ่ชาวไทย พบว่ามีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ๓๖๑ มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งเป็นปริมาณที่ต่ำกว่าที่ควรได้รับประจำวันมาก
           การศึกษาทางระบาดวิทยาได้แสดงให้เห็นว่าการได้รับแคลเซียมน้อยกว่า ๕๐๐ มิลลิกรัมต่อวัน มีความสัมพันธ์กับอัตราเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการเกิดสะโพกหักในชาวยุโรป และการเสริมแคลเซียมมีผลป้องกันการเกิดกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรที่ได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ
           การทดลองในหนูพบว่า จีนีสทีน (ไอโซฟลาโวนชนิดหนึ่ง) ให้ผลคล้ายยาประเภทเอสโตรเจนที่ว่า พรีมาริน (Premarin®) โดยสามารถลดการสูญเสียมวลกระดูกได้ โปรตีนถั่วเหลืองสามารถป้องกันการสูญเสียเนื้อกระดูกที่เกิดจากขาดฮอร์โมนจากรังไข่ของหนูที่ถูกตัดรังไข่ทิ้ง (เกิดการสร้างมวลกระดูกมากกว่าการสลายกระดูก)
           สำหรับการศึกษาในคนนั้น ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปผลว่า ไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลืองป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ เนื่องจากแม้ว่าจะมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า มีการสูญเสียของมวลกระดูกน้อยกว่าหรือมวลกระดูกมากกว่าในกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับไอโซฟลาโวนเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม แต่ก็มีการศึกษาที่ไม่เห็นความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่ได้รับและไม่ได้รับไอโซฟลาโวนจากถั่วเหลือง ดังนั้น ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จึงแนะนำให้กินผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากถั่งเหลือง เพื่อให้ร่างกายได้รับไอโซฟลาโวนมากกว่าจะกินเป็นเม็ดยา

- ถัวเหลืองกับโรคหัวใจขาดเลือด

           โดยทั่วไปหญิงวัยหมดระดูจะมีเอชดีแอลโคเลสเตอรอล (HDL-cholesterol ซึ่งเป็นไขมันชนิดดี) ลดลงและแอลดีแอลโคเลสเตอรอล (LDL-cholesterol ซึ่งเป็นไขมันชนิดเลว) เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการลดลงของระดับเอสโตรแจน ปัจจัยต่อไปนี้ได้แก่ภางะไขมันในเลือดสูง ความดันเลือดสูง การสูบบุหรี่ เบาหวาน อ้วน การขาดการออกกำลังกาย และดื่มเหล้า เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่เพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด การศึกษาทางระบาดวิทยาพบว่า ประชากรที่กินอาหารที่มีโปรตีนจากพืชสูงจะมีอุบัติการณ์ของการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดและความชุกของภาวะของโคเลสเตอรอลในเลือดสูงต่ำกว่าประชากรที่กินอาหารที่มีโปรตีนจากสัตว์สูง
           รายงานการวิเคราะห์ผลงานวิจัยจำนวน ๓๘ เรื่องโดยแอนดอร์สันและคณะเมื่อปี พ.ศ.๒๕๓๘ บ่งชี้ว่า การกินโปรตีนถั่วเหลืองเฉลี่ย ๔๗ กรัมต่อวันทำให้ระดับโคเลสเตอรอลทั้งหมด (Total cholesterol) แอลดีแอลโคเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดลดลงร้อยละ ๙, ๑๓ และ ๑๐ ตามลำดับ
           ในเวลาต่อมา (พ.ศ.๒๕๔๒) องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา และสมาคมแพทย์โรคหัวใจในสหรัฐอเมริกาได้ให้คำแนะนำว่า การกินโปรตีนจากถั่วเหลือง ๒๕ กรัมต่อวัน และให้โปรตีนจากถั่วเหลืองเป็นส่วนหนึ่งของอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและโคเลสเตอรอลต่ำ จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้

- ถั่วเหลืองกับโรคมะเร็ง
           มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งมดลูก และมะเร็งรังไข่ ซึ่งเป็นมะเร็งชนิดที่สัมพันธ์กับฮอร์โมนในร่างกาย และโรคหัวใจขาดเลือด มีอุบัติการณ์ต่ำกว่าในเอเชียและยุโรปตะวันออกเมื่อเทียบกับประเทศตะวันตก มีรายงานว่าประเทศญี่ปุ่นมีอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งที่พึ่งฮอร์โมนต่ำสุด
           ผู้อพยพชาวเอเชียที่อยู่ในประเทศตะวันตกที่ยังกินอาหารตามประเพณีดั้งเดิมของตนมีอัตราเสี่ยงต่อโรคไม่สูงขึ้น แต่กลุ่มที่หันไปบริโภคแบบตะวันตกมีอัตราเสี่ยงต่อโรคสูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเกี่ยวข้องกับไฟโตเอสโตรเจน โดยขึ้นกับปริมาณถั่วเหลืองที่แต่ละท้องถิ่นบริโภค เช่น
           -คนญี่ปุ่นกินผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองวันละ ๒๐๐ มิลลิกรัม
           - คนเอเชียจะได้รับไอโซฟลาโวนจากอาหารวันละ ๒๕-๔๕ มิลลิกรัมจากอาหารจำพวกถั่วเหลืองเมล็ดแห้งสูงกว่าคนในประเทศตะวันตก ซึ่งได้รับน้อยกว่า ๕ มิลลิกรัมต่อวัน
           - ผู้หญิงญี่ปุ่นที่กินซุปเต้าเจี้ยวมากจะมีอัตราเสี่ยงต่อโรคมะเร็งต่ำกว่า 
           - ผู้ชายญี่ปุ่นที่กินเต้าหู้มากกว่า ๕ ครั้งต่อสัปดาห์ มีอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นครึ่งหนึ่งของผู้ชายที่กินเต้าหู้น้อยกว่า ๑ ครั้งต่อสัปดาห์
           - คนญี่ปุ่นกินเต้าหู้มากมีอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารต่ำ 
           - คนจีนที่กินถั่วเหลืองมากกว่า ๕ กิโลกรัมต่อปี มีอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งกระเพาะอาหารลดลงร้อยละ ๔๐
           - หญิงจีนที่กินอาหารที่ประกอบด้วยถั่วเหลืองน้อยกว่า ๑ ครั้งต่อสัปดาห์ มีอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งปอดเป็น ๓.๕ เท่า และมะเร็งเต้านมเป็น ๒ เท่า ของหญิงจีนที่กินอาหารที่ประกอบด้วยถั่วเหลืองทุกวัน
                                 


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด