เข้าเฝือกอ่อน เฝือกอ่อน การใส่เฝือก อุปกรณ์ดามกระดูกและข้อ
“เฝือก” อุปกรณ์ดามกระดูกและข้อ | |
|
บทความโดย : อ.นพ.บวรฤทธิ์ จักรไพวงศ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า “เฝือก” ในฐานะอุปกรณ์ที่ช่วยดามกระดูกให้เข้าที่ แต่ในความเป็นจริงเฝือกมีบทบาทอื่นอีก และใช้อย่างไรจึงเกิดประโยชน์สูงสุด มีความรู้มาฝากค่ะ
| จากวันนั้นถึงวันนี้ เฝือกได้มีพัฒนาการมาแล้วหลายรุ่น ตั้งแต่ทำจากไม้ ลักษณะเป็นซี่ถักติดกันเป็นแผ่นสำหรับดามกระดูกหัก ซึ่งแพทย์แผนโบราณจะจัดดึงกระดูกให้เข้าที่ แล้วทาด้วยน้ำมันมนต์ พันห่อแขนขานั้นๆ ไว้ด้วยเฝือก เพื่อให้อวัยวะส่วนนั้นได้อยู่นิ่งๆ เป็นการลดความเจ็บปวด ลดบวม และทำให้กระดูกหักนั้นติดกันดีดังเดิม ต่อมาได้มีการพัฒนาวัสดุอื่นมาใช้เป็นเฝือกแทนไม้ ได้แก่ ปูน ปลาสเตอร์ หรือเฝือกปูน และสารสังเคราะห์ หรือที่มักเรียกว่า “เฝือกพลาสติก” ทำจากไฟเบอร์กลาสเรซิน ที่มีน้ำหนักเบา แข็งแรง และยังปรับแต่งรูปทรงให้เหมาะสมกับอวัยวะส่วนนั้น เฝือกมีอยู่ 2 ชนิด คือ 1.เฝือกปูน ทำจากปูนพลาสเตอร์มาเคลือบบนผ้าฝ้าย เมื่อใส่แล้วก็จะมีสีขาว นิยมใช้กัน เนื่องจากราคาค่อนข้างถูก การใส่เฝือกและการตัดเฝือก ดัดเฝือกก็ทำได้ง่าย แต่มีน้ำหนักค่อนข้างมาก แตกร้าวง่าย ระบายอากาศไม่ค่อยดี อาจทำให้คันเพราะความอับชื้น ยิ่งถูกน้ำ เฝือกก็จะเละ เสียความแข็งแรง ซึ่งเมื่อใส่เฝือกปูนแล้วจะต้องใช้เวลา 2 -3 วัน เฝือกจึงแข็ง ดังนั้นจึงไม่ควรเดินลงน้ำหนักก่อนเมื่อใส่เสร็จใหม่ๆ และ 2.เฝือกพลาสติก เป็นพลาสติกสังเคราะห์ มีน้ำหนักเบา ระบายอากาศได้ดี แข็งแรง ทนทาน และเมื่อถ่ายภาพรังสี จะเห็นกระดูกได้ชัดเจนกว่า แต่ราคาแพง เวลาตัดเฝือก ดัดเฝือกทำได้ยาก ทำให้ต้องตัดออกและใส่เฝือกใหม่อีกครั้ง แต่ข้อดีคือ เฝือกพลาสติกแห้งเร็วภายใน 1 ชั่วโมง เมื่อไหร่เข้าเฝือก 1.กระดูก ข้อ เคลื่อนหรือหัก เพื่อให้อวัยวะส่วนนั้นอยู่นิ่งๆ ลดอาการบวม อักเสบหาย 2.แก้ไขความผิดรูปของอวัยวะ ให้กลับมามีรูปทรงที่ปกติ และทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์ต่อไป 3.ป้องกันการหดรั้งของกล้ามเนื้อ หรือเนื้อเยื่ออื่นๆ เช่น แผลจากไฟไหม้ น้ำร้อนลวก ดูแลตนเองและเฝือก โดยทั่วไป แพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจซ้ำประมาณ 1-2 สัปดาห์หลังใส่เฝือก ถ้าเฝือกหลวมก็อาจต้องเอกซเรย์และเปลี่ยนเฝือกให้ใหม่ ถ้าเฝือกแน่นและแข็งแรงดีอยู่ แพทย์ก็จะนัดทุก 1-2 เดือน เพื่อเอกซเรย์กระดูก จนกว่ากระดูกจะติดสนิท ซึ่งแพทย์จะใส่เฝือกไว้ประมาณ 4-6 อาทิตย์ แต่กระดูกจะติดสนิทนั้นจะต้องใช้เวลาถึง 4-6 เดือน ดังนั้น ถึงแม้ว่าจะเอาเฝือกออกแล้ว ก็ควรระมัดระวังและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่เช่นนั้นก็อาจจะหักซ้ำได้ ในขณะที่ใส่เฝือกอยู่ต้องระวัง อย่าทำให้เฝือกเปียกน้ำ อย่าตัดเจาะหรือใช้ของแข็งแยงเข้าไปในเฝือก และหากมีผิดปกติ เช่น เมื่อมีอาการปวดมากยิ่งขึ้น หรือบวมที่บริเวณต่ำกว่าขอบเฝือก เนื่องจากการไหลเวียนของ เลือดไม่ดี เมื่อนิ้วมือหรือนิ้วเท้าข้างที่เข้าเฝือก มีสีเขียวคล้ำ หรือซีด ขาวบวมมากขึ้นหรือมีอาการชา เมื่อไม่สามารถขยับเขยื้อนนิ้วมือ หรือนิ้วเท้าข้างที่ใส่เฝือกได้ เมื่อมีวัตถุแปลกปลอมหลุดเข้าไปในเฝือก อาจทำให้เกิดแผลกดทับและติดเชื้อตามมาได้ เมื่อพบว่าเฝือกหลวม บุบสลายหรือแตกหัก มีเลือด น้ำเหลือง หรือหนองไหลซึม ออกมาจากเฝือกหรือมีกลิ่นเหม็น ซึ่งหากมีอาการผิดปกติเช่นนี้ ควรพบแพทย์โดยด่วน
| | เอ็กซเรย์กระดูกหักใส่เฝือก | | | | ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อใส่เฝือก 1.เฝือกหลวม เนื่องจากอวัยวะภายในเฝือกยุบบวมลง หรือเข้าเฝือกไม่กระชับตั้งแต่แรก 2.เฝือกคับหรือแน่นเกินไป จากการบวมที่เกิดหลังการเข้าเฝือก 3.การเข้าเฝือกนานเกินไป ทำให้ข้อติดยึด 4.การถอดเฝือกออกเร็วเกินไป โดยที่กระดูกยังไม่ติดกันดี ทำให้การเคลื่อนหลุดของปลายกระดูกที่หัก เกิดติดผิดรูป ติดช้าหรือไม่ติด พึงเข้าใจการเข้าเฝือก เป็นวิธีรักษาอย่างหนึ่ง มิใช่การลงโทษหรือการซื้อขายของ ที่อาจต่อรอง ลดหย่อนในลักษณะที่ผิดหลักการได้ คุณอาจรู้สึกรำคาญ หงุดหงิด แต่นั่นก็คืออุปกรณ์ที่ช่วยให้คุณหายจากโรคได้ ---------------------------------------------------------------- ศิริราชชวนร่วมกิจกรรมฟรี **3-4 มิ.ย.งาน “ศิริราชรักษ์สิ่งแวดล้อม” เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ที่โถงอาคาร 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชมนิทรรศการทางวิชาการด้านอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม รับความรู้และเคล็ดลับปลูกต้นไม้นานาชนิดพร้อมรับต้นไม้ฟรี การประกวดไม้ดอกไม้ประดับ พรรณไม้ และสิ่งประดิษฐ์จากของเหลือใช้ สาธิตการทำน้ำสมุนไพร น้ำหมักชีวภาพ ฯลฯ การจำหน่ายต้นไม้ ดอกไม้นานาชนิด พิเศษ 4 มิ.ย.เพลิดเพลินกับการประกวด Miss Recycle 2010 และการแสดง Siriraj Mini Concert จากดารานักแสดงช่อง 3 เวลา 13.00 น.สอบถาม โทร. 0 2419 9948 - 9 **11 มิ.ย. บรรยายให้ความรู้เรื่อง “มะเร็งเต้านม” ที่ตึกสยามินทร์ ชั้น 7 โดย ศ.ดร.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ เวลา 10.00-11.30 น.สำรองที่นั่ง โทร. 0 2419 7419, 0 2419 8990 -------------------------------------------------------- | |
แหล่งที่มา : manager.co.th , ASTVผู้จัดการออนไลน์