ริดสีดวงทวารหนัก โรคริดสีดวงทวาร วิธีรักษาโรคริดสีดวงทวาร


2,760 ผู้ชม


ริดสีดวงทวารหนัก โรคริดสีดวงทวาร วิธีรักษาโรคริดสีดวงทวาร

 

ริดสีดวงทวาร

 นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ 
ขอบคุณข้อมูลนิตยสารหมอชาวบ้าน 


           อาการถ่ายอุจจาระออกเป็นเลือดแดงสดเป็นครั้งคราว โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย มักมีสาเหตุจากโรคริดสีดวงทวาร มักมีอาการกำเริบขณะท้องผูก หรือนั่งเบ่งถ่ายนานๆ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากมีอาการถ่ายเป็นเลือดรุนแรง หรือเรื้อรัง หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆ (เช่น ซีด ดีซ่าน ท้องบวม น้ำหนักลด มีก้อนโผล่ออกมานอกทวาร) หรือพบในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปี ก็ควรจะปรึกษาแพทย์ เพื่อหาสาเหตุที่ร้ายแรงอื่นๆ

ชื่อภาษาไทย           ริดสีดวงทวาร
ชื่อภาษาอังกฤษ        Hemorrhoids, Piles
สาเหตุ                  
           ริดสีดวงทวาร เป็นภาวะที่หลอดเลือดดำในบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพอง (ขอด) เป็นหัว แล้วมีการปริแตกของผนังหลอดเลือดขณะเบ่งถ่ายอุจจาระ ทำให้มีเลือดออกเป็นครั้งคราวอาจพบเป็นเพียงหัวเดียว หรือหลายหัวก็ได้
           ถ้าเกิดจากหลอดเลือดดำที่อยู่ใต้ผิวหนังตรงปากทวารหนัก เรียกว่า ริดสีดวงภายนอก (External hemorrhoid) ซึ่งอาจจะมองเห็นจากภายนอกได้ ถ้าเกิดจากหลอดเลือดดำที่อยู่ใต้เยื่อเมือกที่อยู่ลึกเข้าไปในทวารหนัก เรียกว่า ริดสีดวงภายใน (internal hemorrhoid) ซึ่งจะตรวจพบเมื่อใช้กล้องส่องตรวจ
           เหตุที่หลอดเลือดดำในบริเวณทวารหนักเกิดการปูดพองเป็นหัว มักเนื่องจากมีภาวะความดันสูงในหลอดเลือดดำจากสาเหตุต่างๆ เช่น การนั่ง หรือยืนนานๆ การเบ่งถ่ายอุจจาระ (เช่น ท้องผูก ท้องเดินบ่อย) น้ำหนักมาก ภาวการณ์ตั้งครรภ์ ไอเรื้อรัง เป็นต้น
           นอกจากนี้ อาจพบว่าร่วมกับโรคในช่องท้อง เช่น ก้อนเนื้องอกในช่องท้อง มะเร็งลำไส้ใหญ่ ต่อมลูกหมากโต ตับแข็ง เป็นต้น ภาวะเหล่านี้อาจทำให้เกิดความดันสูงในหลอดเลือดดำจนกลายเป็นโรคริดสีดวงทวารได้

                                 
อาการ                
           ส่วนมากจะมีอาการเลือดออกทางทวารหนักเป็นเลือดแดงสดเกิดขึ้นขณะถ่ายอุจจาระอาจสังเกตว่ามีเลือดเปื้อนกระดาษชำระ หรือปนมากับอุจจาระ หรือมีเลือดไหลเป็นหยดลงโถส้วม โดยไม่รู้สึกเจ็บปวดแต่อย่างใด
             บางรายอาจรู้สึกเจ็บที่ทวารหนัก และถ่ายอุจจาระลำบาก บางรายอาจมีอาการคันก้น
             ถ้าริดสีดวงอักเสบ หรือหลุดออกมาข้างนอกอาจทำให้มีอาการปวดรุนแรงถึงกับนั่ง ยืน หรือเดินไม่สะดวก และคลำได้ก้อนนุ่มๆ สีคล้ำๆ ที่ปากทวารหนัก
             ถ้ามีเลือดออกมาก หรือออกเรื้อรังเป็นแรมเดือนแรมปี อาจมีอาการซีด (หน้าซีด เปลือกตาและริมฝีปากซีด)

การแยกโรค  
           ๑.  แผลปริที่ปากทวาร (Anal fissure) จะมีอาการเจ็บปวดทันที่ทุกครั้งที่ถ่ายอุจจาระ และมีเลือดสดออกมาเป็นลายติดอยู่ที่อุจจาระ หรือเปื้อนกระดาษชำระ ส่วนน้อยที่ออกมาเป็นหยดเลือด บางรายอาจมีอาการปวดมากจนกลัวการถ่ายอุจจาระ (ทำให้มีอาการท้องผูก) บางรายอาจมีอาการคันร่วมด้วย โรคนี้บางครั้งแยกออกจากริดสีดวงไม่ได้ชัดเจน ซึ่งต้องอาศัยการตรวจร่างกาย จะพบว่ามีรอยแผลปริที่ปากทวารตามแนวยาว โดยเฉพาะตรงแนวกึ่งกลางของผนังทวารด้านหลัง
           ๒.  ปลิงเข้าทวารหนัก  จะมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสด มักมีอาการหลังลงแช่น้ำในห้วย หนอง คลอง บึง
           ๓.  เลือดออกในทางเดินอาหารส่วนตัน (กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็กส่วนตัน) ซึ่งอาจเกิดจากการอักเสบรุนแรง เป็นแผล หรือมะเร็ง ผู้ป่วยตจะมีอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดดำๆ (ไม่ใช่เลือดสดแบบริดสีดวงทวาร) และอาจมรอาการซีดร่วมด้วย ถ้าเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารอาจมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง น้ำหนักลดร่วมด้วย
           ๔.  ตับแข็ง  จะมี่อาการถ่ายเป็นเลือดสดแบบริดสีดวงทวาร แต่จะมีอาการดีซ่าน (ตาเหลือง ตัวเหลือง) ท้องบวม อาจเห็นหลอดเลือดที่บริเวณหน้าท้องพองโต
           ๕.  มะเร็งลำไส้ใหญ่ จะมีอาการถ่ายเป็นเลือดสดแบบริดสีดวงทวาร แต่จะเป็นเลือดเรื้อรังเกือบทุกวัน บางคนอาจมีอาการท้องผูกสลับท้องเดิน หรือน้ำหนักลดร่วมด้วย พบมากในคนอายุเกิน ๔๐ ปี ดังนั้น ผู้ที่มีอายุเกิน ๔๐ ปี หากมีอาการถ่ายเป็นเลือดสดแบบริดสีดวงทวาร ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อทำการตรวจให้แน่ชัด

การวินิจฉัย 
           แพทย์มักจะวินิจฉัยจากอาการบอกเล่าของผู้ป่วยเป็นส่วนใหญ่ ในรายที่ไม่แน่ใจหรือสงสัยจะมีสาเหตุร้ายแรงซ่อนเร้นอยู่ภายในลำไส้ใหญ่ ก็จะทำการตรวจพิเศษ โดยการใช้กล้องส่องตรวจทวาร หรือลำไส้ใหญ่ (Proctoscope, signoidoscope, colonoscope) บางครั้งอาจต้องเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยการสวนแป้งแบเรียม (barium enema)

การดูแลตนเอง 
             เมื่อพบว่า มีอาการถ่ายเป็นเลือดสดเพียงเล็กน้อย โดยไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ยารักษาริดสีดวงทวาร
  ควรระวังอย่าให้ท้องผูก โดยการดื่มน้ำมากๆ และกินผักและผลไม้ให้มากๆ ถ้ายังท่องผูกให้กินยาระบาย เช่น ยาระบายแมกนีเซีย
  อย่ายืนนานๆ หรือนั่งเบ่งอุจจาระนานๆ
ควรไปพบแพทย์เมื่อมีลักษณะข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้
๑. ถ่ายออกเป็นเลือดจำนวนมาก
๒. ถ่ายเป็นเลือดทุกวันเกิด ๗ วัน
๓. มีอาการเจ็บปวดที่ทวารหนัก
๔. มีก้อนโผล่ออกมานอกทวาร
๕. หน้าตาซีดเซียว
๖. น้ำหนักลด
๗. ดีซ่าน หรือท้องบวม
๘. พบในคนอายุมากกว่า ๔๐ ปี
๙. มีความวิตกกังวล

การรักษา
           เมื่อตรวจพบว่าเป็นริดสีดวงทวาร แพทย์จะให้การรักษาตามลักษณะความรุนแรงของโรค   ถ้าเป็นเพียงเล็กน้อย จะแนะนำการปฏิบัติตัวต่างๆ (ระวังอย่าให้ท้องผูก หลีกเลี่ยงการนั่งเบ่งถ่ายนานๆ) และถ้าท้องผูกมาก ก็จะให้ยาระบาย
           ถ้ามีอาการปวดที่ริดสีดวงเนื่องจากมีการอักเสบ แพทย์จะให้ยาบรรเทาปวด แนะนำให้นั่งแช่ก้นในน้ำอุ่นจัดๆ วันละ ๒-๓ ครั้ง ครั้งละ ๑๕-๓๐ นาที และใช้ยาเหน็บริดสีดวงทวารวันละ ๒-๓ ครั้ง จนอาการบรรเทา (ปกติใช้เวลาประมาณ ๑๐ วัน)
           ในรายที่มีภาวะซีดร่วมด้วย แพทย์จะให้ยาบำรุงเลือด เช่น ยาเม็ดเฟอร์รัสซัลเฟต
           ถ้าหัวริดสีดวงหลุดออกมาข้างนอก แพทย์จะใส่ถุงมือใช้ปลายนิ้วชุบวาสลีนหรือสบู่ให้หล่อลื่นแล้วดันหัวกลับเข้าไป
           ในรายที่เป็นมาก (เช่น มีเลือดออกบ่อย เจ็บปวดบ่อย) อาจต้องรักษาด้วยการฉีดยาเข้าที่หัวริดสีดวงให้ฝ่อ หรือใช้ยางรัดให้หัวริดสีดวงฝ่อ หรือรักษาด้วยแสงเลเซอร์ ถ้าไม่ได้ผล อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

ภาวะแทรกซ้อน   
           ถ้ามีอาการถ่ายเป็นเลือดเรื้อรัง อาจทำให้เกิดภาวะซีด (โลหิตจาง)

 การดำเนินโรค  
           ผู้ที่เป็นริดสีดวงทวาร มักมีอาการกำเริบเป็นครั้งคราว เมื่อมีการเบ่งอุจจาระ เช่น ขณะท้องผูก หรือท้องเดิน ส่วนใหญ่มักจะไม่มีความรุนแรง แต่จะเป็นๆ หายๆ น่ารำคาญ หรือทำให้รู้สึกวิตกกังวล
             เมื่อได้รับการรักษาด้วยวิธีพิเศษ เช่น การฉีดยา การใช้ยางรัด การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ การผ่าตัด ส่วนใหญ่มักจะหายขาด ส่วนน้อยอาจมีหัวริดสีดวงเกิดขึ้นใหม่ และมีอาการถ่ายเป็นเลือดสดได้อีก

การป้องกัน
 
๑. ระวังอย่าให้ท้องผูก ด้วยการดื่มน้ำมากๆ กินผักและผลไม้ให้มากๆ และออกกำลังกายเป็นประจำ
๒. หลีกเลี่ยงการนั่งเบ่งถ่ายอุจจาระนานๆ

ความชุก
   โรคนี้พบได้บ่อยในคนทุกวัย  

ผู้หญิงวัยทองกับประโยชน์ของถั่วเหลือง
           บทความเรื่อง “ผู้หญิงวัยทองกับถั่วเหลือง” นี้ผู้เขียนหวังว่าจะกระตุ้นให้ผู้อ่านเกิดความสนใจอยากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของตนเอง ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของการสร้างเสริมสุขภาพ
การสร้างเสริมสุขภาพคือกระบวนการที่ช่วยให้ผู้คนสามารถควบคุมและเพิ่มพูนสุขภาพให้กับตนได้

             “ผู้หญิงวัยทองกับประโยชน์ของถัวเหลือง” เป็นการรวบรวมข้อมูลจากวารสารวิชาการต่างๆ รวมกับองค์ความรู้ที่คณะผู้วิจัยได้รับจากงานวิจัย เรื่อง ผลของการกินอาหารที่มีปริมาณของถั่วเหลืองมากต่อระดับไขมันและไลปิดเพอร์ออกซิเดชันในเลือดและอาการจากภาวะหมดระดูของหญิงไทยวัยทอง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ประจำปี พ.ศ.๒๕๔๕

                                       


แหล่งที่มา : vcharkarn.com

อัพเดทล่าสุด