ยาเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง ฮอร์โมนอกโต ยาปรับฮอร์โมนเพศชาย


3,126 ผู้ชม


ยาเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง ฮอร์โมนอกโต ยาปรับฮอร์โมนเพศชาย

 

การดูแลตนเองเมื่อมีภาวะโปรเจสเตอโรนต่ำ

ผู้ช่วยศาสตราจารย์เปรมฤทัย  น้อยหมื่นไวย

ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (progesterone) เป็นฮอร์โมนเพศหญิงชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการควบคุมพัฒนาการและการทำงานของระบบสืบพันธุ์ การขาดโปรเจสเตอโรนส่งผลกระทบต่อการทำหน้าที่ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายและจิตใจ แต่มักถูกมองข้ามความสำคัญเนื่องจาก อาการและอาการแสดงของภาวะโปรเจสเตอโรนต่ำแตกต่างจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน  การป้องกันภาวะโปรเจสเตอโรนต่ำ เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมสุขภาวะที่ดี และป้องกันได้ โดยเฉพาะในสตรีวัยเจริญพันธุ์และวัยหมดประจำเดือน ชายวัยทองและชายที่มีปัญหาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ

อิทธิพลของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนและภาวะขาดฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน

โปรเจสเตอโรนเป็นฮอร์โมนที่ผลิตขึ้นในต่อมหมวกไตและรังไข่โดยเริ่มจากสารต้นตอคือคอเลสเตอรอล ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากอาหารและส่วนน้อยสร้างได้เอง             ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเป็นฮอร์โมนที่สำคัญต่อการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศหญิงซึ่งส่วนใหญ่ผลิตจากรังไข่ ภายใต้การควบคุมของฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองที่เรียกว่า luteinizing hormone (LH)  ทำให้เกิดการตกไข่ การมีระดู และทำให้เยื่อบุมดลูกให้มีการเจริญหนาตัวขึ้นและมีเลือดมาเลี้ยงที่มดลูกมากขึ้น เพื่อให้มดลูกมีความเหมาะสมแก่การฝังตัวของไข่ที่ผสมแล้ว  เกิดการตั้งครรภ์ และช่วยป้องกันการแท้งบุตร  ระดับของโปรเจสเตอรอนจะสูงขึ้นสูงสุดภายหลังตกไข่ผ่านไป 1 สัปดาห์ และลดลงอย่างรวดเร็วหลังตกไข่ประมาณ 10 วัน ทำให้เกิดการหลุดลอกของชั้นเยื่อบุมดลูกที่เคยมีเลือดมาหล่อเลี้ยงและเกิดเป็นประจำเดือนออกมา นอกจากนี้โปรเจสเตอโรนยังช่วยในการควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ ป้องกันภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ช่วยปรับสมดุลการทำงานของเอสโตรเจน และกระตุ้นการผลิตคอลลาเจนทำให้ผิวหนังมีความยืดหยุ่น

เมื่อมีอายุมากขึ้นการทำหน้าที่ของรังไข่และอัณฑะลดลง  ฮอร์โมนเพศจะเริ่มลดลงเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไป ทำให้เกิดอาการวัยทอง  หญิงในช่วงวัยทองจะมีการสร้างโปรเจสเตอโรนและเอสโตรเจนลดลง ส่วนในชายจะมีแอนโดรเจนลดลง ฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนส่วนหนึ่งผลิตได้จากอวัยวะอื่น ได้แก่ ตับ ต่อมหมวกไตส่วนนอก เป็นต้น ฮอร์โมนส่วนนี้จะมีบทบาทสำคัญในการชดเชยฮอร์โมนเพศที่ลดลงในช่วงวัยทองของชีวิต การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศในร่างกาย ทำให้เกิดอาการของวัยทอง ได้แก่  มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อออกตอนกลางคืน ความจำเสื่อม นอนหลับไม่สนิท หมดความสนใจเรื่องเพศสัมพันธ์ ปัสสาวะเล็ด หงุดหงิด ซึมเศร้า เจ้าอารมณ์ เป็นต้น ภาวะความผิดปกติเหล่านี้จะเกิดแตกต่างกันไปในแต่ละคน

ผู้มีโปรเจสเตอโรนต่ำอาจเกิดขึ้นร่วมกับภาวะเอสโตรเจนต่ำหรือไม่ก็ได้  ภาวะขาดโปรเจสเตอโรนนอกจากพบได้ในผู้ที่อยู่ในวัยทอง ยังพบได้บ่อยในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ ผู้มีปัญหาของระบบการเผาผลาญในร่างกาย โรคอ้วน มีภาวะเครียดเรื้อรัง มีภาวะทุพโภชนาการ ขาดการออกกำลังกาย ผู้สูบบุหรี่ หรือได้รับยาบางชนิด การขาดโปรเจสเตอโรนหรือมีโปรเจสเตอโรนต่ำมักมีอาการของเอสโตรเจนเกิน (estrogen dominance) จะมีผลทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ รู้สึกอ่อนเพลีย หงุดหงิด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ อารมณ์ปรวนแปร ปวดกล้ามเนื้อ ผมร่วง ขาดความยืดหยุ่นของผิวหนัง ไม่มีประจำเดือนหรือมีไม่ปกติ มีบุตรยาก เสี่ยงต่อการเป็นโรคของต่อมไทรอยด์และถุงน้ำดี และภาวะกระดูกพรุน

การตรวจหาระดับโปรเจสเตอโรนสามารถตรวจได้จากน้ำลาย เลือดและปัสสาวะ ในปัจจุบันมีการผลิตชุดตรวจสอบระดับฮอร์โมนเพศจำหน่ายในต่างประเทศ เพื่อตรวจหาระดับของ estradiol, testosterone, DHEA(น่าจะใช้คำว่า androgenจะเข้าใจง่ายกว่า), cortisol และ progesterone จากน้ำลาย ซึ่งสามารถนำไปตรวจเองที่บ้านได้ ซึ่งค่าปกติของระดับโปรเจสเตอโรนในน้ำลาย อยู่ประมาณ 0.8-1.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ในขณะที่ค่าปกติของระดับโปรเจสเตอโรนในเลือดอยู่ประมาณ   0.3-0.5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร การตรวจระดับโปรเจสเตอโรน เป็นการเฝ้าระวังการขาดสมดุลของระดับฮอร์โมนเพศ ในทางคลินิกค่าระดับโปรเจสเตอโรนในเลือดจะให้ค่าที่น่าเชื่อถือและมีความสำคัญในการพิจารณาปรับขนาดของฮอร์โมนเพศทดแทน

การรักษาและการดูแลตนเอง

ในทางคลินิก การให้ฮอร์โมนทดแทนเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาโรคทางนรีเวช โรคของต่อมไร้ท่อและการคุมกำเนิดในสตรี ในปัจจุบันการให้โปรเจสเตอโรนใช้ในการรักษาภาวะเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่และเนื้องอกในกล้ามเนื้อมดลูกและเป็นฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยทอง รวมทั้งสตรีหลังคลอดที่มีภาวะซึมเศร้า โดยให้โปรเจสเตอโรนร่วมกับวิตามินบี 6 (pyridoxine)  หลักการของการใช้ฮอร์โมนทดแทนในวัยทองก็คือ การควบคุมความสมดุลของระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนร่วมกัน โดยระดับโปรเจสเตอโรนที่เพิ่มขึ้น มีผลกระตุ้นและยับยั้งการทำงานของเอสโตรเจน การใช้โปรเจสเตอโรนจึงต้องควบคุมให้ระดับเอสโตรเจนเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ด้วย

การรักษาด้วยฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนหรือสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์คล้ายโปรเจสเตอโรน ได้แก่ โปรเจสติน (progestins)  และโปรเจสโตรเจน(progestrogens) ในรูปของยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน ยาฉีด ครีมและเจลสำหรับช่องคลอด ซึ่งช่วยในการรักษาภาวะไม่มีประจำเดือนหรือมามากผิดปกติ โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ และอะดีโนไมโอซิส ใช้รักษาผู้ที่มีการแท้งบ่อย ช่วยทำให้อาการขาดโปรเจสเตอโรนบางอย่างดีขึ้นได้ ช่วยทำให้เจริญอาหาร ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคกระดูกพรุน การใช้โปรเจสเตอโรนในขนาดสูงจะมีผลในการกระตุ้นการทำงานของรังไข่ในระยะแรก และมีผลในการยับยั้งการทำงานของรังไข่ในระยะยาว ทำให้เกิดอาการหมดประจำเดือนก่อนวัยได้  การรักษาโดยการให้ฮอร์โมนทดแทนโดยใช้โปรเจสเตอโรนมักให้ร่วมกับเอสโตรเจนเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่มดลูก เนื่องจากโปรเจสเตอโรนมีผลทำให้เกิดการเพิ่มและเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุมดลูก

โปรเจสเตอโรนสังเคราะห์หรือโปรเจสติน(Progestins)อาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้ทั้งด้านร่างกาย  จิตใจ และเมตาบอลิก ผลข้างเคียงที่พบบ่อยได้แก่ อาการคัดตึงเต้านม ท้องอืด ซึมเศร้า ไมเกรน ความดันโลหิตสูง การใช้ฮอร์โมนเพศมีทั้งผลดีและผลเสียต่อร่างกาย การรักษาด้วยฮอร์โมนจึงควรอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์ ความเข้าใจผลของยา และการดูแลตนเองอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดผลข้างเคียงของการรักษาได้  มีรายงานวิจัยพบว่าการดื่มนมถั่วเหลืองที่มีไอโซฟลาโวน (isoflavones) ช่วยเพิ่มระดับโปรเจสเตอโรนและป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้การใช้ฮฮร์โมนโปรเจสเตอโรนในหญิงก่อนวัยทองอาจยังไม่มีความจำเป็นเท่าใดนัก การดูแลสุขภาพตรวจร่างกายทุกปี การออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ รวมทั้งอาหารที่มีไฟโตเอสโตรเจน ถั่วเหลือง ธัญญพืชต่างๆ การดูแลจิตใจให้เป็นสุข น่าจะเป็นหนทางที่ดีที่สุดสำหรับทั้งหญิงและชายวัยทอง

บรรณานุกรม

Cicchinelli, B.  (1995). A Cry for Help: Postpartum Depression. International Journal of Childbirth Education, 10(1), 42-43.  Retrieved March 5, 2011, from ProQuest Nursing & Allied Health Source. (Document ID: 592416971).

Lanzafame, F. (2010) Hypogonadism and aging. Lanzafame BMC Geriatrics, 10 (Suppl 1), L23

Lydeking-Olsen, E., Jens-Erik Beck-Jensen, Setchell, K.D.R., Holm-Jensen, T.(2003). Soymilk or progesterone for prevention of bone loss: a 2 year randomized, placebo-controlled trial. Eur J Nutr ,43,246-7

Shuk-Mei Ho. (2003). Estrogen, Progesterone and Epithelial Ovarian Cancer. Reproductive Biology and Endocrinology, 1, 73-81.

Suzy Cohen, R.Ph. (2010). Weight Gain Tied To Low Progesterone. McClatchy – Tribune Business News,March 28,  Retrieved March 5, 2011, from ABI/INFORM Dateline. (Document ID: 1996811481).                 No evidence for benefit of progesterone in PMS. (2001, October). Chemist & Druggist,26.  Retrieved March 5, 2011, from ProQuest Nursing & Allied Health Source. (Document ID: 85543217).

 


แหล่งที่มา : blog.stouhealth.org

อัพเดทล่าสุด