เจ็บหน้าอก ก่อนมีประจำเดือน ดูอาการเจ็บหน้าอกซ้าย เจ็บหน้าอกทะลุกลางหลัง


4,183 ผู้ชม


เจ็บหน้าอก ก่อนมีประจำเดือน ดูอาการเจ็บหน้าอกซ้าย เจ็บหน้าอกทะลุกลางหลัง

 


หัวใจ (Heart)
หัวใจเป็นอวัยวะที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อ มีขนาดเท่ากำปั้น ภายในกลวง หัวใจจะอยู่ใต้กระดูกหน้าอก โดยมีตำแหน่งอยู่ในบริเวณส่วนกลางของหน้าอก ค่อนข้างไปทางซ้ายเล็กน้อย
หัวใจมีหน้าที่สูบฉีดโลหิตเพื่อนำพาออกซิเจนและธาตุอาหารไปยังทุกส่วนของร่างกาย หัวใจแบ่งออกเป็น 4 ห้อง มี 2 ห้องบน และ 2 ห้องล่าง หัวใจซีกขวารับโลหิตที่ใช้แล้วจากร่างกาย แล้วสูบฉีดไปยังปอดเพื่อรับออกซิเจน โลหิตที่มีออกซิเจนก็จะกลับไปยังหัวใจด้านซ้าย และก็จะถูกสูบฉีดโลหิตผ่านเส้นเลือดใหญ่ไปยังทุกส่วนของร่างกาย
ลิ้นปิดเปิดในหัวใจมี 4 ลิ้น มีตำแหน่งอยู่ระหว่างหัวใจห้องบนและหัวใจห้องล่าง และที่เส้นเลือดหลักในหัวใจ ลิ้นหัวใจทำหน้าที่กั้นเพื่อให้การสูบฉีดโลหิตไหลไปในทิศทางเดียว
ในขณะที่ร่างกายพักผ่อน หัวใจจะมีอัตราการเต้นประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที การเต้นหรือการบีบตัวแต่ละครั้งเกิดจากตัวกระตุ้นทางกระแสไฟฟ้าซึ่งถูกกระตุ้นโดยเซลล์พิเศษที่ชื่อ SA node กระแสไฟฟ้าที่ถูกกระตุ้นจาก SA node จะเดินทางผ่านชุดเส้นใยนำไฟฟ้าที่อยู่ทั่วทั้งห้องหัวใจ ซึ่งเป็นสาเหตุของการบีบตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ
หลอดเลือดหัวใจ
หัวใจต้องการออกซิเจนเช่นเดียวกับอวัยวะอื่นในร่างกาย เพื่อที่จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลอดเลือดหัวใจ (Coronary arteries) นำโลหิตที่เต็มไปด้วยออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ
หลอดเลือดหัวใจแตกแขนงมาจากหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) โดยหลอดเลือดหัวใจจะพาดอยู่บริเวณพื้นผิวของหัวใจ และจะแยกเป็นเส้นเลือดแขนงย่อยมากมายที่นำโลหิตไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โดยปกติแล้ว ผนังภายในหลอดเลือดหัวใจจะมีลักษณะเรียบ การสะสมของชั้นไขมันและตะกอนอื่นๆ ซึ่งเรียกว่า ภาวะการสะสมไขมันภายในผนังหลอดเลือด (atherosclerosis) นั้นเป็นผลเสียต่อหลอดเลือด เนื่องจากจะไปขัดขวางการไหลของโลหิต ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพที่ร้ายแรง เช่น อาการเจ็บที่หัวใจอย่างรุนแรง หรือหัวใจวาย
หากเปรียบเทียบง่ายๆ การสะสมไขมันหรือตะกอนในหลอดเลือดก็จะเหมือนกับการสะสมของคราบสนิมในท่อน้ำเก่าๆ มีเพียงโลหิตจำนวนน้อยท่านั้นที่จะไหลผ่านไปได้ จึงเป็นเหตุให้เกิดความไม่สมดุลระหว่างความต้องการออกซิเจนของกล้ามเนื้อหัวใจ กับประสิทธิภาพของหลอดเลือดแคบๆ นี้
หัวใจขาดเลือดคืออะไร
เมื่อหัวใจไม่ได้รับโลหิตที่มีออกซิเจนอย่างพอเพียง ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บปวดที่เรียกว่าหัวใจขาดเลือด (Angina) ซึ่งมีสาเหตุจากการกระตุกในหลอดเลือดหัวใจ อาการดังกล่าวเป็นการเตือนว่าหัวใจต้องการออกซิเจนมากขึ้น
อาการที่แสดงถึงโรคหัวใจขาดเลือดของแต่ละคนจะแตกต่างกันไป เช่น
เจ็บ ปวด หรือรู้สึกไม่สบาย
แน่นท้อง
เป็นตะคริว
ชา
หายใจลำบาก
จุกเสียด
แน่นหน้าอก
ร้อน
เหงื่อแตก
วิงเวียนศีรษะ

อาการดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในบริเวณหน้าอก ไหล่ หลังส่วนบน แขน คอ ในลำคอ หรือกราม เป็นต้น และอาจเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รู้สึกเครียด ขณะที่ใช้แรงมากในการทำกิจกรรม หรือหลังมื้ออาหารหนักๆ อย่าละเลยโรคหัวใจขาดเลือด การพักผ่อนและการรักษาด้วยยาเป็นวิธีที่ช่วยลดอาการหัวใจขาดเลือดอย่างได้ผล
หัวใจวายหรือกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันคืออะไร
หัวใจวายเกิดขึ้นจากมีการอุดตันที่หลอดเลือดหัวใจ เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจก็เหมือนกับท่อน้ำที่ต่อไปยังหัวใจ ดังนั้นหากมีลิ่มเลือด การอุดตัน หรือการกระตุกของกล้ามเนื้อก็อาจขัดขวางการไหลของโลหิตไม่ให้เป็นไปอย่างสะดวก หัวใจในส่วนที่ไม่ได้รับออกซิเจนอาจจะถูกทำลายอย่างถาวร การทำลายที่มีต่อกล้ามเนื้อหัวใจเกิดขึ้นเมื่อเซลล์ต่างๆ ในหัวใจอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน เซลล์เหล่านี้จึงตายและเกิดเป็นเยื่อพังผืดขึ้นในบริเวณที่ถูกทำลายนี้
กล้ามเนื้อหัวใจของท่านรักษาตัวเองได้อย่างไร
หลังจากมีอาการหัวใจวาย บริเวณกล้ามเนื้อหัวใจที่ถูกทำลายจะได้รับการรักษาด้วยกลไกของร่างกายและเกิดเป็นเนื้อเยื่อพังผืดขึ้นที่บริเวณนั้น หลอดเลือดเล็กๆ สามารถขยายตัวออกได้เพื่อช่วยหล่อเลี้ยงบริเวณรอบๆ เนื้อเยื่อพังผืดหรือบริเวณที่ถูกทำลาย นับตั้งแต่วันที่มีอาการหัวใจวายแล้ว เนื้อเยื่อพังผืดจะเริ่มก่อตัวขึ้นใน 3-4 สัปดาห์ และก่อตัวเป็นเนื้อเยื่อพังผืดถาวรตั้งแต่สัปดาห์ที่ 6 ถึง 3 เดือน การหมุนเวียนของโลหิตแบบใหม่รอบบริเวณที่ถูกทำลายนี้เรียกว่า collateral circulation การออกกำลังกายแบบแอโรบิกจะมีส่วนช่วยสร้างทางเดินโลหิตแบบใหม่นี้ การพักผ่อนและการเพิ่มการทำกิจกรรมทีละเล็กทีละน้อยเป็นกุญแจไปสู่ความสำเร็จ การออกกำลังกายแบบแอโรบิกจะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรง และช่วยให้การสูบฉีดโลหิตเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ภาวะหัวใจล้มเหลว
ภาวะหัวใจล้มเหลว (Congestive heart failure - CHF) เกิดขึ้นเมื่อหัวใจไม่สามารถสูบฉีดโลหิตให้ไหลเวียนไปทั่วทุกส่วนของร่างกายได้อย่างพอเพียง เมื่อหัวใจอ่อนแอหรือถูกทำลาย ความสามารถในการสูบฉีดโลหิตอาจน้อยลง ผลที่ตามมาคือมีการคั่งของโลหิตในห้องหัวใจ ปอด หรือส่วนอื่นๆ ในร่างกาย
อาการของหัวใจล้มเหลว
  • หายใจเข้าได้ลำบาก อาจจะเป็นตลอดเวลา เป็นขณะออกกำลังกายหรือใช้แรงมาก หรือเป็นเฉพาะในเวลากลางคืน
  • น้ำหนักตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยเป็นการสะสมของน้ำในร่างกายมากกว่าไขมัน
  • มือ เท้า หรือท้องบวม
  • เหนื่อยมาก
  • ไอแห้ง ไออย่างรุนแรงและบ่อย
  • นอนหลับยาก
อาการเหล่านี้ส่วนใหญ่สามารถควบคุมได้ด้วยการพักผ่อน ควบคุมอาหารและการใช้ยา
ท่านสามารถควบคุมอาการเหล่านี้ได้โดย
พบแพทย์เมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น และรับประทานยาตามแพทย์สั่ง จะช่วยป้องกันอาการบวมน้ำและป้องกันการเพิ่มขึ้นของการหดเกร็งตัวของหัวใจ ชั่งน้ำหนักตัวและบันทึกไว้ทุกวัน ถ้าหากน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างกะทันหันให้รีบติดต่อหรือไปพบแพทย์โดยด่วน ควบคุมไม่ให้รับประทานอาหารที่มีโซเดียม (เกลือ) ตามที่แพทย์ของท่านได้แนะนำไว้ และพักผ่อนเมื่อรู้สึกเหนื่อย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้หัวใจไม่ต้องทำงานหนักจนเกินไป
หัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmia)
ความเสียหายที่เกิดกับหัวใจอาจมีผลต่อระดับของกระแสไฟฟ้าในหัวใจ และทำให้จังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Arrhythmias) คือการถูกรบกวนซึ่งมีผลให้จังหวะการเต้นของหัวใจเปลี่ยนไป ภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ โดยจังหวะที่เปลี่ยนไปนั้นอาจเป็นในลักษณะเต้นช้าเกินไป เร็วเกินไป จังหวะไม่สม่ำเสมอ หรืออาจเกิดอาการทั้งหมดที่กล่าวมา บางกรณีก็จัดเป็นอาการร้ายแรง อาการต่างๆ นี้สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยารับประทาน และอาจต้องผ่าตัดในบางกรณี อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะบางประเภทอาจะต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าช่วยให้หัวใจเต้นสม่ำเสมอ (pacemaker) อาการหัวใจเต้นผิดจังหวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิตอาจต้องรักษาด้วยการปล่อยกระแสไฟฟ้ากระตุ้นหัวใจ (defibrillation) เพื่อทำให้หัวใจกลับมาเต้นในจังหวะปกติอีกครั้ง
สาเหตุของโรคหัวใจคืออะไร
คำถามที่เกี่ยวกับการเป็นโรคหัวใจหลายประเด็นไม่สามารถหาคำตอบได้ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่อาจบ่งชี้ว่าน่าจะมีส่วนในการพัฒนาไปสู่การเป็นโรคหัวใจได้
ปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันก็คือนิสัยหรือบุคลิกลักษณะเฉพาะบุคคลที่อาจเป็นตัวเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ ปัจจัยเสี่ยงแบ่งออกเป็นสองประเภท คือ (1) ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้และสามารถปรับเปลี่ยนได้ และ (2) ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้และไม่สามารถเปลี่ยนแปลง ควรตระหนักว่าท่านอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอายุ เพศ หรือประวัติสุขภาพของคนในครอบครัวได้ แต่ท่านสามารถเปลี่ยนแปลงหรือชะลอโรคด้วยการตั้งใจควบคุมปัจจัยเสี่ยงที่ท่านกำหนดเองได้ ท่านก็จะสามารถป้องกันปัญหาโรคหัวใจที่จะเกิดขึ้นอนาคตได้
ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้
ประวัติในครอบครัว หากมีประวัติของพ่อ แม่ ปู่ย่าตายาย หรือพี่น้องเป็นโรคหัวใจ ท่านก็มีโอกาสมากที่จะหัวใจวาย รูปแบบการใช้ชีวิตในแต่ละวันก็อาจจัดอยู่ในปัจจัยนี้เช่นเดียวกับเรื่องพันธุกรรม
อายุ 55 ปีขึ้นไป โรคหลอดเลือดหัวใจมีความเกี่ยวเนื่องกับอายุที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ยิ่งมีอายุมากขึ้นเท่าไรก็มีโอกาสเกิดไขมันในผนังหลอดเลือดมากขึ้นเท่านั้น
เพศ จากงานวิจัยแสดงให้เห็นว่า โรคหลอดเลือดหัวใจพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งอาจจะมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนเพศหญิงตัวหนึ่งที่ช่วยควบคุมปริมาณไขมันให้อยู่ในระดับพอดี ซึ่งผู้หญิงในวัยหลังหมดประจำเดือนก็มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นด้วย
ปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้
การสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ก่อให้เกิดมะเร็งปอด หลอดลมอักเสบ และถุงลมโป่งพอง คนที่สูบบุหรี่มีโอกาสเสี่ยงต่อหัวใจวายมากกว่าสองเท่า และมีโอกาสเสียชีวิตจากโรคหัวใจอย่างกะทันหันคิดป็นสองถึงสี่เท่าของคนไม่สูบบุหรี่ นอกจากนี้การสูบบุหรี่ยังเป็นอันตรายต่อสมาชิกในครอบครัวด้วย สารนิโคตินในบุหรี่เป็นสาเหตุที่ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ และเพิ่มความดันโลหิตให้สูงขึ้น คาร์บอนมอนนอกไซด์ในควันบุหรี่จะเกาะติดกับฮีโมโกลบินในเลือดได้ง่ายกว่าออกซิเจน ดังนั้นหัวใจอาจจะไม่ได้รับออกซิเจนพอกับความต้องการ นอกจากนี้สารเคมีเหล่านี้ก็อาจจะทำความเสียหายให้กับผนังหลอดเลือดด้วย เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรสูบบุหรี่
ความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตสูงสามารถกระตุ้นให้กระบวนการของการสะสมไขมันที่ผนังหลอดเลือดเกิดได้เร็วขึ้น และทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้น เนื่องจากต้องสูบฉีดโลหิตแรงขึ้นเพื่อจะส่งไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย
ความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่ออาการหัวใจวาย หัวใจล้มเหลว หรือภาวะสมองขาดเลือด ท่านสามารถควบคุมความดันโลหิตได้ด้วยการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด รู้จักผ่อนคลายและหาวิธีจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้น
โคเลสเตอรอลสูง โคเลสเตอรอลคือไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายเราสามารถผลิตขึ้นและพบในอาหารบางชนิด เมื่อเริ่มมีภาวะของโรคหลอดเลือดหัวใจเกิดขึ้น พบว่าโคเลสเตอรอลเป็นส่วนประกอบหลักของไขมันที่พบและมีการสะสมในหลอดเลือดหัวใจ ยิ่งมีระดับโคเลสโตรอลในเลือดสูงมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการพัฒนาและเติมโตของโรคมากขึ้นเท่านั้น เพื่อรักษาระดับการรักษาระดับโคเลสเตอรอลในเลือดให้เป็นปกติ จึงจำเป็นที่จะต้องวางแผนการรับประทานอาหารโดยเลือกแต่อาหารที่มีไขมันและโคเลสเตอรอลต่ำเท่านั้น
เบาหวาน โรคเบาหวานคือความผิดปกติที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง สาเหตุเกิดจากร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้ (ฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ช่วยนำน้ำตาลออกจากเลือดไปยังเซลล์ต่างๆ ในร่างกาย) หรืออาจเกิดจากร่างกายต่อต้านอินซูลินที่มีอยู่ การมีภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานอาจเป็นสาเหตุของการทำลายผนังภายในของหลอดเลือด และยังกระตุ้นให้มีคราบสะสมเกาะภายในผนังหลอดเลือดอีกด้วย
ไลฟ์สไตล์แบบนั่งอยู่กับที่ (Sedentary lifestyle) การไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวร่างกายอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ การออกกำลังกายเป็นประจำมีประโยชน์สุขภาพร่างกายเป็นอย่างมาก เช่น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจแข็งแรงและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดระดับโคเลสเตอรอล ควบคุมน้ำหนักตัว และยังช่วยลดความเครียดของท่านได้อีกด้วย ถ้าโดยปกติท่านไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ (ประมาณสัปดาห์ละ 3-5 ครั้งเป็นอย่างน้อย) อีกทั้งรูปแบบการทำงานส่วนใหญ่จะนั่งอยู่กับโต๊ะ ไม่ค่อยต้องเคลื่อนไหวร่างกาย แสดงว่าคุณมีไลฟสไตล์แบบนั่งอยู่กับที่
การเริ่มโปรแกรมการออกกำลังกายอย่างปลอดภัยหลังการเกิดอาการหัวใจวายหรือการผ่าตัดบายพาสจะสามารถช่วยให้อาการของท่านดีขึ้นอย่างรวดเร็วและช่วยป้องกันปัญหาโรคหัวใจที่อาจเกิดขึ้นในภายหลังได้ เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมากที่จะออกกำลังกายโดยเริ่มจากการเคลื่อนไหวอย่างช้าๆ ก่อน แล้วจึงค่อยเพิ่มระดับขึ้นทีละน้อย และสนุกกับการออกกำลังกาย หลายคนพบว่าการเข้าร่วมกับโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจของเรา (ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพ-บำรุงราษฎร์) ซึ่งโปรแกรมนี้ได้ออกแบบแนวทางการฟื้นฟูที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้เริ่มออกกำลังกายอย่างปลอดภัย และเหมาะกับความจำเป็นของแต่ละบุคคล
ปัจจัยอื่นที่ควรพิจารณาถึง
อาหาร อาหารที่มีไขมันและโคเลสเตอรอลต่ำ ช่วยป้องกันการสะสมไขมันในผนังหลอดเลือด อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคืออาหารที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันจากเนื้อสัตว์ อาหารฟาสต์ฟู้ด เนย และผลิตภัณฑ์จากนมที่ไม่พร่องไขมัน
ความเครียด ความเครียดในเชิงลบจะมีผลต่อสุขภาพร่างกายในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่หัวใจวายไปจนถึงปวดศีรษะจากความตึงเครียด พยายามเรียนรู้ที่จะตระหนักถึงการตอบสนองต่อความเครียดของตัวเอง รวมถึงคาดการณ์สถานการณ์ที่เป็นตัวกระตุ้นความเครียดให้ได้ ก็จะสามารถช่วยให้ท่านหลีกเลี่ยงภาวะที่ทำให้เกิดความเครียดได้
ความอ้วน ถ้าอ้วนหรือน้ำหนักตัวมากเกินไป หัวใจของท่านต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อส่งโลหิต ออกซิเจน และสารอาหารต่างๆ ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อทั่วร่างกาย หากเทียบการทำกิจกรรมประเภทเดียวกัน หัวใจของคนที่มีน้ำหนักตัวมากจะทำงานหนักมากกว่าคนที่มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ การลดน้ำหนักด้วยการออกกำลังกายและควบคุมอาหารสามารถช่วยให้เราควบคุมความเสี่ยงต่อโรคอื่นได้อีกด้วย
การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากเป็นเวลานานจะมีส่วนทำให้ปริมาณไขมัน (ไตรกลีเซอไรด์) ในเลือดมีระดับสูง และอาจจะทำลายกล้ามเนื้อหัวใจของท่านด้วย จึงเป็นการลดสมรรถภาพของหัวใจในการสูบฉีดเลือดไปยังส่วนอื่นของร่างกาย
ท่านจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นโรคหัวใจหรือไม่
โดยทั่วไปแล้ว มักจะไม่มีสัญญาณเตือนว่าได้ป่วยเป็นโรคหัวใจแล้ว แพทย์สามารถใช้การทดสอบสมรรถภาพของหัวใจ เมื่อมีปัญหาด้านหัวใจเกิดขึ้น
ประวัติสุขภาพและการตรวจร่างกาย
การตรวจร่างกายโดยละเอียดช่วยให้ระบุได้ว่าเป็นโรคหัวใจ หรือกำลังจะเริ่มเป็นโรคหัวใจ ประวัติสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน จะมีข้อซักถามหลายๆ ข้อ เช่น ประวัติการสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ และนิสัยการออกกำลังกาย ข้อมูลเกี่ยวกับประวัติสุขภาพของตนเองและของบุคคลภายในครอบครัวก็เป็นองค์ประกอบสำคัญเช่นเดียวกัน
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG or ECG)
ECG เป็นคำย่อของคำภาษาอังกฤษว่า Electrocardiogram ภาษาไทยเรียกว่าการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นการตรวจรูปแบบของจังหวะคลื่นไฟฟ้าหัวใจ แผ่นนำไฟฟ้าจะถูกวางบนหน้าอกเพื่อจับสัญญาณกระแสไฟฟ้า ซึ่งจะพิมพ์ออกมาบนกระดาษกราฟ รูปแบบของสัญญาณที่สม่ำเสมอแสดงว่าหัวใจทำงานปกติ แต่ถ้ามีความแตกต่างในบางจุดของรูปแบบสัญญาณไฟฟ้าก็อาจแสดงว่ามีบริเวณหนึ่งบริเวณใดของหัวใจได้รับบาดเจ็บหรือถูกทำลาย วิธีการตรวจประเภทนี้ไม่ซับซ้อนและสามารถรับการตรวจได้ทั่วไป
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test)
การทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายก็คล้ายกับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจคือ จะมีแผ่นตะกั่วชุดหนึ่งแปะติดกับหน้าอก มีการบันทึกในขณะที่ออกกำลังกาย เช่น การเดินบนสายพาน หรือการขี่จักรยานอยู่กับที่ การออกกำลังกายนี้จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น และความดันเลือดเพิ่มสูงขึ้น การทดสอบนี้ใช้วัดค่าการตอบสนองของหัวใจต่อความเครียดทางร่างกายด้วย เช่น ความผิดปกติเกี่ยวกับกระแสไฟฟ้าในร่างกาย จำนวนของเลือดที่ไหลไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจ และกล้ามเนื้อหัวใจที่ตอบสนองต่อการออกกำลังกาย
การตรวจหาระดับเอนไซม์ในเลือด (Blood enzyme tests)
Cardiac enzymes คือสารที่อยู่ในเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ เมื่อหัวใจถูกทำลาย เอนไซม์ตัวนี้จะถูกปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด การตรวจเลือดหาด้วยวิธีการนี้จะแสดงให้เห็นถึงระดับเอนไซม์ที่เพิ่มขึ้นหากคุณมีภาวะหัวใจวาย
การตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram)
การตรวจคลื่นหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนความถี่สูงใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อจับภาพเคลื่อนไหวของหัวใจ แพทย์จะศึกษาภาพเพื่อวัดและระบุถึงการทำงานและโครงสร้างของหัวใจ
การตรวจ Radionuclide Scan
Radionuclide Scan เป็นการตรวจโดยใช้รังสีฉีดเข้ากระแสเลือดและไหลเข้าสู่หัวใจ กล้องชนิดพิเศษจะถ่ายภาพหัวใจแสดงบนจอภาพ เพื่อแพทย์จะได้สังเกตเห็นถึงการทำงานที่ผิดปกติของหัวใจของท่าน
การวินิจฉัยด้วยการสวนหัวใจ
การวินิจฉัยด้วยการสวนหัวใจเป็นการตรวจเอ็กซเรย์โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยสอดสายยางขนาดเล็กเข้าทางหลอดเลือดที่ขาหนีบและสอดไปตามเส้นเลือดที่เข้าสู่หัวใจ สารมีสีชนิดพิเศษจะถูกฉีดผ่านสายยางนี้ เส้นเลือดในบริเวณที่มีภาวะตีบหรืออุดตันก็จะสามารถตรวจพบจากจอภาพเอ็กซเรย์
การรักษา
การรักษาโรคหัวใจมีอยู่หลายวิธี แพทย์จะใช้ปัจจัยหลายๆ ข้อมาพิจารณาร่วมกัน เพื่อที่จะวินิจฉัยว่าควรใช้วิธีใดในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ปัจจัยต่างๆ ที่แพทย์นำมาพิจาณา ได้แก่
  • จำนวนของเส้นเลือดที่อุตัน
  • บริเวณที่เส้นเลือดอุดตัน
  • ประวัติการใช้ยา
  • ความต้องการของผู้ป่วย
การรักษาโดยการใช้ยา
การรักษาโรคหัวใจโดยใช้ยานั้นมีอยู่หลายชนิด และแต่ละวิธีนั้นก็ส่งผลได้แตกต่างกัน การรักษาด้วยยาบางชนิดจะช่วยลดการทำงานหนักของทำงานของหัวใจ (heart stress) และมีอีกหลายชนิดที่ช่วยเพิ่มสมรรถภาพในการสูบฉีดโลหิตของหัวใจของผู้ป่วย
มัณฑนากรหลอดเลือดหัวใจโดยลูกโป่งถ่างขยายและการใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angioplasty and Stent Placement)
มัณฑนากรหลอดเลือดหัวใจโดยลูกโป่งถ่างขยาย (PTCA) และการใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือดหัวใจ เป็นการรักษาวิธีหนึ่งที่ใช้เปิดจุดอุดตันในหลอดเลือดจากภายในหลอดเลือด โดยใช้วิธีเดียวกับการวินิจฉัยด้วยการสวนหัวใจ คือจะสอดสายยางเข้าทางเส้นเลือดที่ขาหนีบหรือที่แขน และสอดไปตามเส้นเลือดสู่หัวใจ ตรงปลายสายยางนี้จะมีลูกโป่งขนาดเล็กอยู่ เมื่อสายยางจะทะลุผ่านหลอดเลือดที่อุดตันอยู่ ก็จะถูกทำให้ขยายตัวเพื่อขยายหลอดเลือดและเปิดทางให้กับการไหลของโลหิต ถ้าอยู่ในบริเวณที่สามารถทำได้ก็จะฝังขดลวดขยายหลอดเลือด (stent) ขดลวดนี้ทำหน้าที่เป็นโครงในหลอดเลือดตรงส่วนที่อุดตัน เพื่อเปิดให้หลอดเลือดขยายออกได้ดีขึ้น
การผ่าตัดเปิดหัวใจ
การผ่าตัดเปิดหัวใจจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีการไหลเวียนของเลือดเปลี่ยนไปอันเนื่องมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจ หรือปัญหาโรคหัวใจอื่นๆ การผ่าตัดหัวใจแบบธรรมดาได้แก่
  • การตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ
  • การผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมแซมลิ้นหัวใจ
  • การผ่าตัดปิดรูรั่วผนังหัวใจช่องบน
  • การผ่าตัดกล้ามเนื้อหัวใจ
  • การผ่าตัดโรคหลอดเลือดแดงโป่งพอง
การตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ (Coronary artery surgery)
การตัดต่อหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจเป็นการผ่าตัดเพื่อใช้เส้นเลือดดำจากร่างกายมาต่อโดยข้ามผ่านเส้นเลือดแดงหลักที่มีการอุดตัน หลอดเลือดที่นำมาใช้ ได้แก่ หลอดเลือดดำที่ขา (saphenous vein) หลอดเลือดแดงจากหน้าอก (internal mammary artery) หลอดเลือดบริเวณปลายแขนด้านใน (radial artery) หรือหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงกระเพาะ (Gastroepiploic artery) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญของท่านจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกใช้หลอดเลือดจากส่วนไหนมาใช้ในการผ่าตัด ซึ่งจะขึ้นอยู่กับจำนวนและตำแหน่งที่เกิดการอุดตันเป็นหลัก การผ่าตัดบายพาสนี้จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปสู่กล้ามเนื้อหัวใจ เพื่อบรรเทาอาการปวดรุนแรงบริเวณหัวใจ และช่วยให้หัวใจทำหน้าที่ได้ดีขึ้น
การผ่าตัดเปลี่ยนและซ่อมแซมลิ้นหัวใจ (Heart valve surgery)
ลิ้นหัวใจอาจมีอาการผิดปกติหรือถูกทำลายตั้งแต่กำเนิด การติดเชื้อ (ไข้รูมาติกหรือไข้ดำแดง) และมีอาการแย่ลงเมื่ออายุมากขึ้น รอยแผลหรือความหนาเกิดขึ้นกับลิ้นหัวใจ จะทำให้ลิ้นหัวใจเปิดยากขึ้น หรือไม่สามารถปิดได้สนิท ลิ้นหัวใจที่ถูกทำลายอาจจะซ่อมแซมได้ แต่โอกาสที่จะต้องเปลี่ยนลิ้นหัวใจมีมากว่า โดยอาจเป็นลิ้นหัวใจเทียมที่ทำจากวัสดุหรือที่ทำจากเนื้อเยื่อคนหรือสัตว์มากกว่าก็ได้
การผ่าตัดปิดรูรั่วผนังหัวใจด้านบน (Atrial septum defect)
Atrial septum คือผนังกั้นห้องหัวใจด้านบน รูรั่วที่ผนังหัวใจด้านบน (ASD) คือภาวะที่มีช่องเปิดที่ผนังหัวใจด้านบน หรือที่เรียกว่า "รูรั่วภายในหัวใจ" ซึ่งเป็นภาวะการไม่เจริญเป็นผนังปิดที่สมบูรณ์ตั้งแต่ช่วงที่เป็นทารกอยู่ในครรภ์ การผ่าตัดปิดรูรั่วก็เพื่อให้โลหิตได้ไหลเวียนผ่านห้องหัวใจต่างๆ ได้ตามเส้นทางที่ควรจะเป็น


แหล่งที่มา : bumrungrad.com

อัพเดทล่าสุด